ความจริงที่เจ็บปวด งานวิจัยชี้ “คน” ความจำสั้นกว่า “ปลาทอง” และ 5 ทิปส์สำหรับสาวขี้ลืม

Share

 

และแล้วมายาคติที่มักเปรียบคนความจำสั้นกับปลาทองก็ถูกหักล้างลงอย่างสิ้นเชิง…

ไม่เพียงผลจากการทำวิจัยโดยทดสอบซ้ำแล้วซ้ำเล่าพบว่า ปลาทองไม่ได้ความจำสั้นแค่ไม่กี่วินาที แต่ยังมีข้อมูลจาก National Center for Biotechnology Information ที่บอกว่า มนุษย์ในปัจจุบันโดยเฉลี่ยมีความอดทนในการกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดอย่างจดจ่อน้อยลง เพียงแค่ 8 วินาทีเท่านั้น ขณะที่ปลาทองมี “ความสนใจระยะสั้น” อย่างน้อย 9 วินาที

ที่ย้ำว่า “ระยะสั้น” เพราะที่ผ่านมามีการทำวิจัยจากหลายๆ แห่งยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า ปลาทองมีความจำไม่ต่ำกว่า 3 เดือน และยังสามารถแยกแยะรูปร่าง สี และเสียงที่แตกต่างกันได้อีกด้วย

ยกตัวอย่างเช่น Culum Brown นักชีววิทยาทางทะเล มหาวิทยาลัย Macquarie ประเทศออสเตรเลีย ที่บอกว่าปลาทองมีความทรงจำที่ยาวนานมาก อาจจะเป็นสัปดาห์ เป็นเดือน หรือเป็นปี นอกจากนี้ปลาทองยังสามารถจดจำบุคคลได้แม้ไม่พบกันเป็นเวลานาน

ส่วนสถาบัน Technion Institute of Technology ประเทศอิสราเอล เคยทำการวิจัยและทดลองให้อาหารปลาทองโดยการใช้เสียง ปรากฏว่าเมื่อผ่านไป 4 – 5 เดือนปลาทองยังคงจำเสียงนั้นได้

นอกจากนี้ยังมีการทดสอบโดยการให้อาหารปลาทอง ณ ตำแหน่งเดิมของตู้ปลา พบว่าไม่เพียงปลาทองจดจำได้ว่าเจ้าของจะมาให้อาหารจากทางด้านไหน ยังจำได้แม้กระทั่งช่วงเวลาที่ให้อาหาร ทำให้สรุปได้ว่า ปลาทองมีความสามารถในการเรียนรู้และมีความจำที่ดีมาก

จากปลาทองกลับมาที่ “คน” บ้าง…

เคยมั้ย…ถามคำถามเดิมซ้ำ หรือถามไปแล้วจึงนึกได้ว่าเคยถามแล้ว?

เคยมั้ย…นึกคำที่ต้องการจะพูดไม่ออก เหมือนติดอยู่ที่ริมฝีปาก?

เคยมั้ย…ลืมว่าวางสิ่งของไว้ที่ไหน นึกเท่าไรก็นึกไม่ออก?

เคยมั้ย…ลืมเหตุการณ์ที่เพิ่งผ่านไป หรือลืมสิ่งที่เพิ่งพบเห็น เพิ่งอ่านไปไม่นาน?

เคยมั้ย…ลืมสิ่งที่ต้องทำ เช่น ลืมนัด ลืมงานสำคัญ ลืมจ่ายค่านู่นนี่นั่น?

…และอีกหลายๆ เคยมั้ย

ปัญหาของความจำระยะสั้นเป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่ประเด็นคือ บางครั้งความขี้ลืมกลับส่งผลกระทบกับคุณภาพและการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนในปัจจุบันมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการสนับสนุนให้เกิดอาการหลงๆ ลืมๆ ไม่ว่าจะเป็นการเสพติดความรวดเร็ว เสพติดโซเชียลมีเดีย ทำอะไรหลายๆ อย่างในเวลาเดียวกันทำให้ไม่มีความจดจ่อต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง

เช่น ระหว่างที่พูดคุยกับคู่สนทนา มือข้างหนึ่งถือสมาร์ทโฟน เลื่อนหน้าจอกดไลค์กดเลิฟ ทำให้การรับสารตกหล่น ไม่สมบูรณ์ เมื่อต้องนึกย้อนกลับมาอีกครั้งจะนึกได้เพียงสถานการณ์นั้นๆ แต่จดจำสารที่ได้รับไม่ได้ นั่นคือ เกิดการผิดพลาดของกระบวนการ input

คุณหมอจากโรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา อธิบายไว้อย่างเข้าใจง่ายๆ ในเว็บไซต์ synphaet.co.th ว่า กระบวนการจำของคนเราประกอบขึ้นจาก 3 ส่วน คือ input-processor-output เวลาจะนึกถึงเรื่องใด สมองเราก็จะทำการค้นข้อมูล (processor) ผ่านใยประสาทที่มีแขนงมากมาย เมื่อพบข้อมูลแล้ว สมองจึงทำการแสดงผล (output) ออกมาในรูปแบบต่างๆ อาจเป็นภาพ เช่นเราจำหน้าคนได้ หรือเป็นชุดของตัวเลข ตัวอักษร ที่เราเปล่งเสียง หรือเขียนออกมาได้

ปัญหาความจำเกิดสามารถเกิดได้จากทั้งสามส่วน เช่น อยู่ในภาวะเครียด มีเรื่องรุมเร้า ทำให้ไม่มีสมาธิจดจ่อ ส่วนของ input หรือ การรับข้อมูลก็จะเสียไป เช่นในคนที่มีอายุมากหรือวัยชรา บางคนหูตึงแต่ไม่รู้ตัว คนรอบข้างอาจเข้าใจว่าเป็นสมองเสื่อม แต่จริงๆ เกิดจากหูตึง คือมีปัญหาที่ input

นอกจากนี้ยังมีกรณีเกิดโรคบางโรค เช่น ไทรอยด์ผิดปกติ โรคติดเชื้อไวรัส โรคของปลอกหุ้มประสาท หรือโรคหลอดเลือดสมองเล็กๆ ตีบ จะรบกวน processor การส่งกระแสประสาท ทำให้ประสาทวิ่งช้า มีอาการคล้ายความจำไม่ดีได้ ลักษณะนี้จะเหมือนคนนึกอะไรนาน แต่พอใบ้ข้อมูล ก็จะ อ๋อ เพราะเสียแค่การส่งกระแสประสาทที่ช้าลง แต่ความจำยังอยู่

แต่ในรายที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ เปรียบได้กับการเสียการทำงานที่ศูนย์บัญชาการใหญ่ เนื้อสมองที่ทำงานโดยตรงคือ ฮิปโปแคมปัส มันฝ่อเหี่ยว เหมือนคอมพิวเตอร์ที่พังตรง CPU จำเป็นต้องรับการซ่อม

ทั้งนี้ การแก้ไขเพื่อลดความถี่ของอาการขี้หลงขี้ลืมในชีวิตประจำวันสามารถทำได้ด้วยการปรับพฤติกรรม ดังนี้

1.ดูแลสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ กินอาหารที่มีประโยชน์และหลากหลาย ทั้งเนื้อสัตว์ไขมันต่ำ โดยเฉพาะอาหารประเภทปลาทะเลที่ให้โปรตีน สารอาหารกลุ่มวิตามินบี แร่ธาตุที่จำเป็นต่อการทำงานของสมอง รวมทั้งผักผลไม้ที่หลากหลาย และพักผ่อนอย่างเพียงพอ

2.ออกกำลังกายสมอง เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เช่น การเรียนภาษา เล่นกีฬา ฝึกทักษะด้านต่างๆ รวมทั้งเล่นเกมที่กระตุ้นการทำงานของสมอง

3.ปรับตัวเพื่อรับมือกับปัญหาความจำสั้น เช่น วางแผนการทำงาน ทำกิจกรรมอย่างเป็นระบบ จดบันทึกสิ่งที่ต้องทำในแต่ละวัน วางของใช้ประจำวัน เช่น สมาร์ทโฟน กระเป๋าสตางค์ กุญแจบ้าน รีโมตทีวี ฯลฯ ในตำแหน่งเดิมอยู่เสมอ

4.อาจใช้ตัวช่วยเช่นอาหารเสริมบำรุงสมอง อย่าง น้ำมันปลา สารสกัดจากแปะก๊วย และสารอาหารกลุ่มวิตามินบี

5.ดูแลรักษาโรคที่เกี่ยวข้อง เช่น ภาวะซึมเศร้า โรคทางสมอง หรือการบาดเจ็บที่ส่งผลต่อสมองและความจำ รวมถึงการดื่มเครื่องผสมแอลกอฮอล์และบุหรี่

ที่สำคัญคือ การขจัดความเครียด รู้จักวางปัญหาที่เกินมือ ใช้การขอความช่วยเหลือจากผู้มีประสบการณ์แทนที่จะจมอยู่กับปัญหานั้นด้วยตัวคนเดียว รวมทั้งการฝึกการนั่งสมาธิ ช่วยกระตุ้นการทำงานของใยประสาท ทำให้กระบวนการจดจำมีประสิทธิภาพขึ้น.

rabbit2themoon

rabbit2themoon

คอลัมนิสต์หน้าไม่ใหม่ เคยพำนักอยู่ใต้ชายคามติชน ประจำกอง บก.นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ก่อนขยับมาเป็นผู้สื่อข่าวเซ็กชั่นประชาชื่น เขียนสัมภาษณ์บุคคล-สกู๊ปเชิงไลฟ์สไตล์-ท่องเที่ยว-อาหาร-จิปาถะ สถานะปัจจุบัน นอกจากเป็นคอลัมนิสต์ ยังเป็นนักเขียนอิสระ เขียนบทความเชิงประชาสัมพันธ์

Related Articles