คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change หรือ IPCC) เปิดเผยข้อมูลว่า ภายในปี 2045 ผู้คน 135 ล้านคนทั่วโลกอาจต้องละทิ้งถิ่นที่อยู่อาศัย เพราะผืนดินที่เคยอยู่และทำกินได้แปรสภาพเป็นทะเลทราย
เราคงเคยได้ยินว่า พื้นที่แห้งแล้งที่สุดของประเทศไทยเมื่อครั้งอดีตคือ ทุ่งกุลาร้องไห้ แต่ในวันนี้กลับกลายเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวหอมมะลิที่ดีที่สุดของโลก แต่หลายคนอาจไม่เคยรู้ว่า กว่าจะเปลี่ยนพื้นที่แล้งที่สุดในประเทศให้กลายเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของคนไทยและชาวโลก ต้องอาศัยเวลานับหลายสิบปีในการฟื้นสภาพดิน
ล่าสุด มีบริษัท Startup จากประเทศนอร์เวย์ชื่อ Desert Control ได้นำนวัตกรรมซึ่งเป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ เปลี่ยนผืนทะเลทรายของประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ให้กลายเป็นแหล่งเพาะปลูกพืชทั่วไปด้วยเวลาเพียงแค่ 7 ชั่วโมงเท่านั้น!
Liquid Nanoclay เทคโนโลยีเปลี่ยนทะเลทราย ให้กลายเป็นแหล่งอาหาร
Kristian Olesen นักวิทยาศาสตร์ชาวนอร์เวย์ ได้คิดค้นสิ่งนี้ขึ้นเมื่อปี 2000 โดยเทคโนโลยีนี้เป็นความลับเบื้องหลังความสำเร็จอันน่าทึ่งของ Desert Control เพราะเมื่อฉีดลงบนทราย ก็จะสามารถเปลี่ยนให้เป็นดินกักเก็บน้ำทำให้พืชงอกเงย และเจริญเติบโตได้
ถามว่าเทคโนโลยีนี้คืออะไรมันเป็นวัสดุที่ผสมด้วยเนื้อดินและน้ำ โดยมีลักษณะเป็นของเหลวที่มีความหนืดสูง ดินที่ใช้มากที่สุดในวัสดุนี้คือดินเหนียว (clay) ซึ่งถูกกรองและกระตุ้นให้เกิดการแยกตัวออกเป็นละอองขนาดนาโน (nanoscale particles) ซึ่งสามารถผสมรวมกับน้ำได้เป็นชนิดของละอองน้ำขนาดเล็ก
ละลองน้ำที่ว่าสามารถควบคุมและปรับเปลี่ยนคุณสมบัติของน้ำทั่วไปได้ โดยละอองดินนาโนจะมีความสามารถในการกักเก็บน้ำในชั้นดิน ซึ่งสามารถนำไปใช้ในหลายแขนงงาน เช่น งานก่อสร้าง การปรับปรุงการเกษตรกรรม และการบำบัดน้ำเสีย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการสิ่งแวดล้อม รวมถึงการใช้ในงานอื่นๆ อีกมากมาย โดยถือเป็นเทคโนโลยีที่มีศักยภาพที่โดดเด่น ช่วยแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับน้ำและดินในระดับท้องถิ่นและนานาชาติได้
Liquid Nanoclay ถูกนำไปใช้ในหลายอุตสาหกรรม
แม้ว่าเทคโนโลยีใหม่นี้ดูจะให้ผลลัพธ์ที่น่าทึ่ง แต่แท้จริงทำมาจากน้ำและดินเหนียว โดยความลับของบริษัทคือสามารถเปลี่ยนดินเหนียวหนักๆ ให้กลายเป็นของเหลวที่บางราวกับน้ำ หลังจากพ่นบนผืนทรายเพื่อซึมผ่านชั้นบนสุดไม่ถึงกี่สิบเซนติเมตร เมื่อดินเหนียวเกาะกับอนุภาคทราย ก็จะก่อตัวเป็นดินที่กักเก็บความชื้นได้ แม้จะไม่อุดมสมบูรณ์เท่ากับดินสีเข้มก็ตาม แต่สามารถรองรับการปลูกพืชได้อย่างแน่นอน
ตอนนี้สตาร์ทอัพ Desert Control มีเป้าหมายอยู่ที่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเป็นตลาดที่มีความมั่งคั่ง ปัจจุบันนำเข้าอาหารมากกว่า 90% เนื่องจากทะเลทรายไม่สามารถปลูกพืชให้เจริญเติบโตได้ โดยเทคโนโลยีนนี้ได้รับการพิสูจน์ใช้งานแล้วกับการเปลี่ยนทะเลทรายที่แห้งแล้งให้กลายเป็นดิน แต่ยังมีข้อจำกัดด้านราคา
ข้อมูลราคาอ้างอิงจาก CNN ระบุว่าค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนทรายให้เป็นดินจะมีราคาตั้งแต่ 2-5 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตารางเมตร (11 ตารางฟุต) ซึ่งเป็นราคาที่ไม่ถูกเลย
ที่ผ่านมา มีหลายหน่วยงานที่วิจัยในเรื่อง ของเทคโนโลยีใหม่นี้ รวมถึงมีการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ มากมาย ซึ่งโดยทั่วไป ส่วนใหญ่จะเป็นงานที่ต้องการปรับเปลี่ยนคุณสมบัติของดินที่เป็นส่วนผสมของงาน เช่น
1. งานก่อสร้าง โดยนำมาใช้เพิ่มความแข็งแรงและความเป็นกรด-ด่างของผิวถนน โครงสร้างอาคาร และฐานรากพืช เมื่อผสม Liquid Nanoclay เข้ากับดินหรือวัสดุก่อสร้าง จะช่วยลดการเจือปนของน้ำในดินในกรณีที่เกิดการรั่วไหลของน้ำกระจายสู่พื้นที่ จึงช่วยลดปัญหาแหล่งกำเนิดของหลุมพังและทรายไหลในโครงสร้าง
2. เกษตรกรรม มีการนำมาช่วยเพิ่มความชื้นในดิน ทำให้พืชมีสภาพแข็งแรงและเติบโตได้ดีมากขึ้นในสภาวะดินที่แห้งและขาดน้ำ
3. การบำบัดน้ำเสีย ด้วยการนำมาใช้ในกระบวนการบำบัดน้ำเสีย ช่วยกักเก็บสารประกอบอันตรายและสิ่งสกปรกในน้ำ เช่น โลหะหนัก สารเคมี และสารประกอบอื่นๆ จึงช่วยลดความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อมและป้องกันการปล่อยสารพิษเข้าสู่แหล่งน้ำในชั้นดิน
4. อุตสาหกรรมน้ำ มีการนำ เทคโนโลยีใหม่นี้มาใช้ในกระบวนการตรวจวัดและควบคุมการรั่วไหลของน้ำในระบบท่อ ด้วยการเพิ่ม Liquid Nanoclay ลงในน้ำในระบบท่อ เพื่อทำให้น้ำมีความหนืดสูงขึ้น และลดการสูญเสียน้ำในระบบ ช่วยประหยัดการใช้น้ำและลดค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาระบบน้ำ
ข้อดีก็มาก แต่ก็มีข้อเสียอยู่
การนำ เทคโนโลยีใหม่นี้ มาใช้งานอาจเกิดผลเสียบางอย่างได้ ดังต่อไปนี้
1. เกิดการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของดิน ได้แก่ความหนืดของดิน ความเป็นกรด-ด่าง หรือการเจริญเติบโตของพืช ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อระบบนิเวศและสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง การศึกษาและประเมินผลกระทบต่อดินและระบบนิเวศจึงเป็นสิ่งสำคัญก่อนนำมาใช้งาน โดยดูเรื่องประเภทของงานและสภาพแวดล้อมที่ต้องการใช้
2. ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบที่ต้องการกับดิน หากเลือกใช้เทคโนโลยีใหม่นี้ที่ไม่เหมาะสมกับชนิดของดิน อาจทำให้เกิดปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ต่างๆ กับองค์ประกอบทางเคมีและชนิดของดินที่ใช้ และเกิดผลกระทบต่อการแยกตัวขององค์ประกอบในดินที่ส่งผลในเรื่องความหนืด ความสามารถในการกักเก็บน้ำ หรือคุณสมบัติอื่นที่ไม่ได้ผลตามต้องการ
3. ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การใช้ อาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว เนื่องจากการแยกตัวของละอองดินนาโน อาจเกิดการสะสมในสิ่งแวดล้อมและส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำ พืช หรือสังคมชุมชนที่อาศัยในบริเวณนั้น การประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการตรวจสอบความปลอดภัยจึงเป็นสิ่งสำคัญก่อนที่จะนำมาใช้ในงานต่างๆ
4. การใช้เทคโนโลยีนี้ ควรมีการวิเคราะห์และการตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนเพื่อปรับปรุงและให้ได้ผลลัพธ์ที่เหมาะสมและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องในระดับต่างๆ
นวัตกรรมในเรื่องนี้แสดงให้เห็นถึงความพยายามของมนุษย์ ในการท้าทายธรรมชาติ เพื่อเปลี่ยนคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่แห้งแล้งหรือยากต่อการเพาะปลูกให้ดีขึ้น ซึ่งยังคงต้องพัฒนาต่อไป เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น และอยู่ในต้นทุนที่เหมาะสม
สำหรับท่านที่ติดตามอ่าน บทความและข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับ นวัตกรรม สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ ที่นี่