อะไรก็เกิดขึ้นได้บนโลกกลมๆ ใบนี้…
แม้แต่การพัฒนาสายพันธุ์ข้าว ที่ปัจจุบันไม่ต้องพูดถึงการปรับแต่งสายพันธุ์เพื่อให้ทนน้ำทนแล้งทนร้อน ทนโรคทนแมลงศัตรูพืช เพราะมีการก้าวข้ามไปถึงการปลูกเซลล์สัตว์ลงในเมล็ดข้าว!!!
อันที่จริงก่อนหน้านี้ใช่ว่าจะไม่เคยมี อย่างที่สิงคโปร์ก็เคยปลูกเซลล์สัตว์ลงในถั่วเหลือง และประสบความสำเร็จสามารถจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ได้อีกด้วย เพียงแต่พืชตระกูลถั่วมีข้อจำกัดอยู่มาก โดยเฉพาะในคนที่แพ้ถั่วอาจก่อให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิต
กลับมาที่การปลูกเซลล์สัตว์ลงในข้าว แน่นอนว่าประโยชน์โดยตรงคือ ช่วยเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการจากเซลล์สัตว์ นอกจากนี้ยังย่นระยะเวลาของการปลูกข้าวหรือเลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นอาหารอีกด้วย ที่สำคัญคือ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ
ข้าวไฮบริดที่ว่าคือ Beef Rice เกิดจากการนำเซลล์จากกล้ามเนื้อวัวและสเต็มเซลล์ไขมันจากวัวปลูกลงในเมล็ดข้าว โดยกระบวนการดังกล่าวกระทำบนจานเพาะเชื้อในห้องทดลอง ใช้เวลาเพียง 9-11 วัน เท่านั้น
เว็บไซต์ dezeen.com รายงานว่า นักวิจัยจากภาควิชาวิศวกรรมเคมีและชีวโมเลกุล จากมหาวิทยาลัยยอนเซแห่งเกาหลีใต้ได้คิดค้นสิ่งที่พวกเขาเชื่อว่าเป็นอาหารที่มีโปรตีนสูงอย่างยั่งยืน ในรูปแบบของ “Beef Rice” ซึ่งผลิตโดยการปลูกเซลล์วัวในเมล็ดข้าว
ผลปรากฏว่า ได้ข้าวไฮบริดที่เป็นสีชมพูอ่อนจากกระบวนการเพาะเลี้ยงเซลล์ โดยมีโปรตีนสูงกว่าข้าวทั่วไป 8% และมีไขมันมากกว่า 7%
ในขณะเดียวกันกระบวนการดังกล่าวสร้างคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่า 6.27 กิโลกรัมต่อโปรตีน 100 กรัม เทียบกับการเลี้ยงวัวเอาเนื้อที่สร้างคาร์บอนไดออกไซด์ 49.89 กิโลกรัมต่อโปรตีน 100 กรัม จึงมองว่าข้าวชนิดนี้เป็นทางเลือกเนื้อสัตว์ที่มีศักยภาพในอนาคต
ทั้งนี้ ข้อดีของการเลือกใส่เซลล์จากสัตว์ลงในเมล็ดข้าว เนื่องจากเมล็ดข้าวมีรูพรุนและมีโครงสร้างภายในที่อุดมสมบูรณ์ เซลล์จึงสามารถเจริญเติบโตได้ในลักษณะเดียวกันกับการเจริญเติบโตในสัตว์ โดยอาศัยเจลาตินจากปลาช่วยให้เซลล์ยึดติดกับเมล็ดข้าวได้ดียิ่งขึ้น
แม้ว่า Beef Rice อาจฟังดูเหมือนอาหารดัดแปลงพันธุกรรมรูปแบบหนึ่ง แต่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง DNA ในพืชหรือสัตว์ เพียงใช้กระบวนการเพาะเลี้ยงเนื้อสัตว์ลงในเมล็ดข้าวผ่านทางห้องทดลอง
นักวิจัยของมหาวิทยาลัยยอนเซ อธิบายว่ากระบวนการดังกล่าวคล้ายคลึงกับการใช้เนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงที่ปลูกในโปรตีนจากถั่วเหลือง ปัจจุบันยังมีผลิตภัณฑ์จากกระบวนการดังกล่าวจำหน่ายในสิงคโปร์ เพียงแต่มีข้อจำกัดที่ถั่วเหลืองเป็นพืชที่ให้สารที่ก่อภูมิแพ้และไม่มีศักยภาพในการกักเซลล์สัตว์มากเท่ากับข้าว
แม้ว่าในเบื้องต้นคุณค่าทางโภชนาการของ Beef Rice ยังมีอยู่น้อย กล่าวคือ มีโปรตีน 3,890 มิลลิกรัม และไขมัน 150 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม เทียบกับข้าวทั่วไปจะมีโปรตีนมากกว่าเพียง 310 มิลลิกรัม และไขมันมากกว่า 10 มิลลิกรัม แต่นักวิจัยยืนยันว่า สามารถปรับปรุงโดยเพิ่มเซลล์มากขึ้น ซึ่งจะสามารถบรรจุโปรตีนได้มากขึ้นเช่นกัน
“แม้ว่าเมล็ดข้าวลูกผสมยังคงมีปริมาณโปรตีนต่ำกว่าเนื้อวัว แต่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่สามารถปรับปรุงความจุของเซลล์ของเมล็ดข้าวจะช่วยปรับปรุงปริมาณสารอาหารของข้าวลูกผสมได้อย่างไม่ต้องสงสัย”
ถามว่าแล้วรสชาติเป็นอย่างไร เนื่องจากกระบวนการเพาะเลี้ยงเซลล์จะเปลี่ยนเนื้อสัมผัสและกลิ่นของข้าวเล็กน้อย ทำให้ข้าวมีความแน่นและเปราะมากขึ้น และทำให้เกิดกลิ่นที่ผสมๆ กันของกลิ่นเนื้อวัวจางๆ กับอัลมอนด์ออกเนยๆ น้ำมันมะพร้าว
เอาเป็นว่า นี่เป็นเพียงก้าวแรก ยังคงต้องพัฒนากันต่อไปอีก…
กระทั่ง นักวิจัยเองยังบอกว่าว่า ทีแรกไม่ได้คาดหวังว่าเซลล์จะเติบโตได้ดีขนาดนี้ในข้าว แต่ตอนนี้เริ่มมองเห็นความเป็นไปได้สำหรับอาหารไฮบริดที่ทำจากธัญพืช ซึ่งเชื่อว่าวันนี้มันจะสามารถใช้เป็นอาหารที่จะมาแก้ปัญหาความอดอยาก เป็นอาหารปันส่วนทางทหาร หรือแม้แต่อาหารอวกาศ.
สำหรับผู้ที่ชื่อชอบงานเขียนของ Rabbit2TheMoon สามารถอ่านเรื่องอื่นๆ ก่อนหน้าได้ ที่นี่