กรมสงเสริมอุตสาหกรรม ชูกลยุทธ์เชื่อมโยงทุนวัฒนธรรมและเทคโนโลยี คาดกระตุ้นเศรษฐกิจกว่า 300 ล้านบาท

RESHAPE THE FUTURE กลยุทธ์ใหม่ของ DIPROM เชื่อมโยงทุนวัฒนธรรมและเทคโนโลยี สร้างการเติบโตอย่างมั่นคงยั่งยืน
Share

 

ในภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกเจอปัญหา อุตสาหกรรมการผลิตของไทยต้องหาช่องทางใหม่เพื่อการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน ภาครัฐเป็นอีกส่วนหนึ่งที่จำเป็นต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเติบโตในครั้งนี้

 

DIPROM ชู “เปิดโลกวัสดุใหม่ด้วยนวัตกรรมและการออกแบบเชิงสร้างสรรค์”
เชื่อมโยงทุนวัฒนธรรมและเทคโนโลยี คาดกระตุ้นเศรษฐกิจกว่า 300 ล้านบาท ด้วยกลยุทธ์ “RESHAPE THE FUTURE : โลกเปลี่ยน อุตสาหกรรมปรับ พร้อมรับอนาคต”

 

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม ชูกลยุทธ์ “โลกเปลี่ยน อุตสาหกรรมปรับ พร้อมรับอนาคต” เดินเครื่องออกสตาร์ทกิจกรรม “เปิดโลกวัสดุใหม่ด้วยนวัตกรรมและการออกแบบเชิงสร้างสรรค์” (DIPROM The Unlock Materials Design) ผ่านแนวคิด “From Local To Luxury” ดึงผู้เชี่ยวชาญด้านวัสดุ นักออกแบบ และผู้ประกอบการที่พร้อมสนุกไปกับการผสมผสานและพัฒนาวัสดุใหม่เพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์มุ่งสู่สากล คาดกระตุ้นมูลค่าทางเศรษฐกิจเงินสะพัดหมุนเวียนกว่า 300 ล้านบาท

 

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ภายใต้การบริหารงานของนางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาและยกระดับศักยภาพของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมไทยในการปรับตัว เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในบริบทต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจและพร้อมรับกับอนาคต

โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสร้างสรรค์มีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยยุคใหม่   บนพื้นฐานของการใช้องค์ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ และการใช้ทรัพย์สินทางปัญญาเชื่อมโยงกับทุนทางวัฒนธรรมและเทคโนโลยี นวัตกรรมสมัยใหม่ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรม เพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์และบริการ สร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ และเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน

ประกอบกับประเทศไทยมีความได้เปรียบในแง่ความหลากหลายทางชีวภาพ ทุนทางสังคม วัฒนธรรม และภูมิปัญญา รวมถึงความโดดเด่นของแหล่งท่องเที่ยวที่สามารถดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งผู้ประกอบการยุคใหม่ต้องมีความพร้อมทั้งทักษะการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ และทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์มาพัฒนาให้เกิดมูลค่าเพิ่มแก่สินค้าและบริการที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบัน

ในปี 2567 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม มีแผนขับเคลื่อนผู้ประกอบการและภาคอุตสาหกรรมภายใต้นโยบาย “RESHAPE THE FUTURE : โลกเปลี่ยน อุตสาหกรรมปรับ พร้อมรับอนาคต” ผ่านกลยุทธ์การปรับตัวให้ก้าวทันอุตสาหกรรมใหม่ “RESHAPE THE INDUSTER” เพื่อให้ผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์มุ่งเน้นการปรับตัวสู่การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคสมัยใหม่

โดยอาศัยนวัตกรรมและการออกแบบ (Design Innovation) ด้วยการประยุกต์ใช้วัสดุต่อทุนทางวัฒนธรรมควบคู่การผลักดันซอฟต์เพาเวอร์ไทย ผ่านการเปิดตัวกิจกรรม “เปิดโลกวัสดุใหม่ด้วยนวัตกรรมและการออกแบบเชิงสร้างสรรค์” (DIPROM The Unlock Materials Design) ภายใต้ชื่องาน The Cultural Discovery ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 ณ มิวเซียมสยาม   ที่ผ่านมา

ดีพร้อม” ได้ออกแบบกระบวนการเรียนรู้ในรูปแบบการลงพื้นที่อย่างมีส่วนร่วม (Action Research) ที่ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการทำงานข้ามสายงานร่วมกับชุมชน นักวิจัย และนักออกแบบ รวมถึงการ “คิด” และ “ทดลอง” อย่างมีระบบจนกระทั่งได้แนวทางการพัฒนาวัสดุใหม่ “ปลดล็อค” วัสดุเดิม สร้างโอกาสในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีความ “ใหม่” ในเชิงวัสดุ

โดย “ดีพร้อม” ได้ระดมผู้เชี่ยวชาญและนักออกแบบระดับสากลทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ มาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ ช่วย “คิด” และ ช่วย “ทดลอง” ร่วมกับผู้ประกอบการทั้งในรูปแบบ Creative Seminar การร่วมทำ Design Workshop รวมถึงการพัฒนาวัสดุใหม่อย่างสร้างสรรค์ พร้อมลงลึกในรายละเอียดการทดสอบ ทดลอง ตลอดระยะเวลา 6 เดือนข้างหน้า

ทั้งนี้ ดีพร้อมเชื่อมั่นว่ากิจกรรมนี้จะมีบทบาทสำคัญในการยกระดับศักยภาพและช่วยผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมในการปรับตัวเรียนรู้ทรัพยากรทางวัฒนธรรมและเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่น ตลอดจนเรียนรู้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในการใช้เทคโนโลยีและองค์ความรู้วัสดุศาสตร์ในการยกระดับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนเองให้มีจุดเด่นและอัตลักษณ์เชิงพื้นที่ในการแข่งขันในระดับสากลในอนาคตควบคู่กับการผลักดันซอฟเพาเวอร์ไทยไปพร้อมกัน

อีกทั้ง จะสามารถสร้างปรากฏการณ์ “ปลดล็อควัสดุสร้างสรรค์เพื่องานออกแบบใหม่ (The Unlock Materials Design)” สำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่ สร้างโอกาสทางการตลาดกระตุ้นยอดขาย สร้างรายได้หมุนเวียนในเศรษฐกิจได้ไม่น้อยกว่า 300 ล้านบาทในอนาคต

 

Remark:

ความแตกต่างที่สำคัญระหว่างความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม:

– คุณภาพของความคิดใหม่ ๆ และนำไปสู่ความเป็นจริงคือความคิดสร้างสรรค์  ส่วนการดำเนินการตามความคิดสร้างสรรค์เพื่อให้ได้สิ่งใหม่ๆออกมา ในการปฏิบัติคือนวัตกรรม

– ความคิดสร้างสรรค์เป็นกระบวนการจินตนาการ ส่วนนวัตกรรมเป็นกระบวนการที่มีประสิทธิผลออกมาเป็นรูปธรรม

– ความคิดสร้างสรรค์ไม่สามารถวัดผลได้  แต่นวัตกรรมสามารถวัดผลได้

– ความคิดสร้างสรรค์เกี่ยวข้องกับการสร้างความคิดที่ใหม่และไม่เหมือนใคร ตรงกันข้ามนวัตกรรมเกี่ยวข้องกับการนำเสนอสิ่งที่ดีกว่าเข้าสู่ตลาด

– ความคิดสร้างสรรค์ไม่จำเป็นต้องใช้เงิน (หรืออาจจะใช้น้อยในการจัดระดมสมอง,สำรวจ เป็นต้น) ในทางกลับกันนวัตกรรมต้องใช้เงินเป็นจำนวนมากในการค้นคว้า ทดสอบ ผลิตออกมา

– ไม่มีความเสี่ยงในเรื่องของความคิดสร้างสรรค์หรือมีความเสี่ยงน้อย ในขณะการพัฒนานวัตกรรมมักจะมีความเสี่ยงในด้านต่างๆเสมอ

 

แล้วความเกี่ยวข้อง ของนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์

ความคิดสร้างสรรค์ เป็นจุดกำเนิดแรกของนวัตกรรม เพราะ นวัตกรรมดีๆหลายชิ้น ก่อกำเนิดมาจากความคิดสร้างสร้างสรรค์  ความคิดสร้างสรรค์มีได้เยอะมาก  เพราะความคิดที่แปลกใหม่ แนวทางการแก้ปัญหาใหม่ คิดได้ตลอด แต่นวัตกรรมที่สามารถออกมาเป็นผลลัพธ์ เป็นชิ้นเป็นอันนั้นมีน้อยค่ะ นวัตกรรมจึงเป็นการนำความคิดสร้างสรรค์ Creativity มาต่อยอดออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรมให้จับต้องได้ สร้างประโยชน์ให้กับผู้คน และสามารถสร้างผลประโยชน์ในเชิงพาณิยช์ได้

 

สำหรับข่าวสาร บทความ ที่เกี่ยวข้องกับวงการ อุตสาหกรรม สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ ที่นี่

 

Related Articles