ยอดจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าพุ่ง 500% : วิเคราะห์ปัจจัยเบื้องต้น เทรนด์มา หรือ ฮือฮาตามกระแส

Thailand BEV ขยายตัว 5 เท่า ด้วยเพราะเหตุใด ตามหาปัจจัยที่ช่วยส่งเสิรมการเติบโตอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าไปด้วยกัน
Share

 

จากคราวที่แล้ว มีการเกริ่นไปแล้วว่าแวดวงรถยนต์ไฟฟ้าในเมืองไทยกำลังอู้ฟู่ โตไป 500% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว บ้างก็พูดว่าคนไทยพร้อมแล้ว แต่บ้างก็ แซะ ว่าเพราะคนไทยบูชา หลวงพ่ออีลอน ตามกระแสกันเยอะเกินไป

 

ข่าวอัพเดตล่าสุดมีบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ทั้งแบบพลังงานผสมและทั้งแบบบริโภคไฟฟ้าอย่างเดียวเข้ามาตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ที่มีไฟฟ้าเกี่ยวข้องอีกถึง 2 ราย ยิ่งทำให้เรื่องนี้น่าสนใจขึ้นอีกนิดว่า ในอดีตเราพยายามเป็นทั้งเสือตัวที่ 5 ของเอเซียด้วยอุตสาหกรรมยานยนต์ แถมด้วยคำหวานอ้อล้อให้เราเป็นถึง “Detroit of Asia” แต่ภาพพวกนั้นก็หายไปตั้งแต่ยุค “ต้มยำกุ้ง”

กลับมาที่เรื่องหลักของเรา ด้วย Factor ต่อจากนี้ที่คนในอุตสาหกรรมยานยนต์เขามองว่านี่คือ ปัจจัย ในการทำให้ภาคยานยนต์ไฟฟ้านั้น กำลังชูคอแผ่แม่เบี้ยตามเสียงเป่าปี่ที่เป็นนโยบายส่งเสริมของรัฐบาลที่พิสูจน์แล้วว่าไม่ใช่การตำน้ำพริกละลายแม่น้ำครั้งใหม่ที่มีกับภาคอุตสาหกรรมยานยนต์

ปัญหาสถานีชาร์จไฟ ไม่ใช่เรื่องกังวลของ Thailand BEV Owner อีกต่อไป

นอกจากระยะทางขับขี่ที่ไกลขึ้นแล้ว การมีสถานีชาร์จไฟฟ้าที่เข้าถึงง่าย และครอบคลุมหลายพื้นที่ในประเทศไทยก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสนับสนุนการตัดสินใจเลือกซื้อรถยนต์ BEV สถานีชาร์จไฟฟ้าเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในการซื้อรถยนต์ BEV แนวโน้มสถานีชาร์จไฟฟ้าในประเทศไทยที่เพิ่มขึ้นและกระจายครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ รวมทั้ง หัวจ่ายไฟฟ้าถูกพัฒนาให้ใช้ระยะเวลาการชาร์จที่สั้นลงด้วยหัวจ่ายแบบ Fast Charge ซึ่งเป็นการชาร์จโดยใช้ไฟฟ้ากระแสตรง (DC) โดยจะใช้เวลาชาร์จไฟจนถึงระดับ 80% ของความจุแบตเตอรี่เฉลี่ยไม่เกิน 1 ชั่วโมง จะช่วยคลายความกังวลและเป็นแรงขับเคลื่อนกระตุ้นให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อรถยนต์ BEV เพิ่มขึ้น

ภาพแสดงจำนวนสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ถึงเดือนธันวาคม 2563
ที่มา : สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย

ข้อมูลจาก สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน พบว่า ปัจจุบันสถานีชาร์จไฟฟ้าในประเทศไทยมีจำนวน 944 สถานี กระจายครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ ขณะที่ข้อมูลจากสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ณ เดือน ก.ย. 2565 ไทยมีจำนวนหัวจ่ายไฟรวม 2,572 หัวจ่าย เพิ่มขึ้น 13%YOY เป็นหัวจ่ายไฟฟ้ากระแสตรง (DC) 46% เพิ่มขึ้น 53%YOY และ หัวจ่ายไฟฟ้ากระแสสลับ (AC) 54% ลดลง 8%YOY

สถานีชาร์จไฟฟ้าจะตั้งอยู่ในกรุงเทพและปริมณฑลเป็นหลัก และมีแนวโน้มขยายไปสู่พื้นที่ต่างๆ ในเขตต่างจังหวัดมากขึ้น โดยมีจุดให้บริการสาธารณะหรือตามอาคารต่างๆ เช่น ห้างสรรพสินค้า พื้นที่จอดรถ MRT คอนโดมิเนียม อาคารสำนักงาน นอกจากนี้ ยังมี Application เพื่อใช้ค้นหาตำแหน่งที่ตั้ง ดูข้อมูลหัวชาร์จที่พร้อมใช้งาน หรือจองคิวการชาร์จล่วงหน้าเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้งานอีกด้วย

แนวโน้มจำนวนสถานีชาร์จไฟฟ้าในประเทศไทยคาดว่าเติบโตขึ้น ตามนโยบายการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า 30@30 โดยประเมินว่า หัวจ่ายไฟฟ้าแบบ Fast Charge มีแนวโน้มเพิ่มในปี 2568 เป็น 2,200 – 4,400 หัวจ่าย และปี 2573 เพิ่มเป็น 12,000 หัวจ่าย โดยสถานีชาร์จไฟฟ้าจะครอบคลุมทั้งเมืองใหญ่ พื้นที่ท่องเที่ยว จุดแวะพัก และพื้นที่ชุมชน โดยมีแรงหนุนจากนโยบายภาครัฐ การตื่นตัวของภาคเอกชนและกระแสความต้องการใช้รถ BEV ที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ข้อมูลล่าสุดจาก คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) อนุมัติส่งเสริมการลงทุนสร้างสถานีชาร์จ BEV กับผู้ประกอบการ 5 ราย มีหัวจ่ายไฟฟ้ารวม 7,036 หัวจ่าย แบ่งเป็นหัวจ่ายไฟฟ้าแบบ Fast Charge 3,086 หัวจ่าย ยอดเงินลงทุนรวม 2,175 ล้านบาท ทำให้ในอนาคตประเทศไทยจะมีจำนวนสถานีชาร์จไฟฟ้ามากที่สุดในอาเซียน

นอกจากนี้ เครื่องชาร์จ BEV ในที่อยู่อาศัย (Wallbox) เป็นอีกหนึ่งทางเลือกของผู้ใช้รถ BEV แม้แนวโน้มสถานีชาร์จไฟฟ้าจะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง หัวจ่ายไฟที่สถานีชาร์จไฟฟ้าถูกพัฒนาให้ใช้ระยะเวลาการชาร์จต่อครั้งที่สั้นลง แต่ยังคงต้องใช้ระยะเวลาชาร์จอย่างน้อย 40–60 นาที

การติดตั้งอุปกรณ์ชาร์จรถยนต์ BEV ในที่อยู่อาศัย จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของผู้ใช้รถยนต์ BEV เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการเสียเวลาเดินทางไปสถานีชาร์จไฟฟ้า หรือ ไม่มีสถานีชาร์จไฟฟ้าอยู่บริเวณใกล้บ้าน อย่างไรก็ตาม อาจไม่เหมาะสำหรับผู้ที่เร่งรีบเนื่องจากต้องใช้ระยะเวลา 4–5 ชั่วโมง สำหรับชาร์จไฟจนถึงระดับ 80% ของความจุแบตเตอรี่

ต้นทุนการเดินทางที่ถูกกว่า ราคาน้ำมันที่ไม่ยอมลง ปัจจัยที่พาโตตัวเลข

Thailand BEV Owner ไม่หยุด

Cost of Ownership ของรถยนต์ BEV ว่าโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 2.85 บาท/กม. ประหยัดกว่ารถยนต์ทั่วไปในท้องตลาดที่ 3.47 บาท/กม. อยู่ถึง 18% ทั้งนี้ ต้นทุนการใช้งานประเมินจากค่าเชื้อเพลิงทั้ง ไฟฟ้า น้ำมัน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องทั้ง การซ่อมบำรุง ประกันภัย และภาษีประจำปี สำหรับการขับขี่รถยนต์ปีละ 10,000 กม. เป็นระยะเวลาทั้งสิ้น 4 ปี หรือ 40,000 กม.

โดย สาเหตุที่ทำให้รถยนต์ BEV มีต้นทุนการใช้งานที่ต่ำเป็นเพราะจุดเด่นด้านค่าเชื้อเพลิงที่ 0.73-0.83 บาท/กม. ซึ่งประหยัดกว่ารถยนต์ทั่วไปในท้องตลาดที่มีค่าใช้จ่ายดังกล่าวในช่วง 1.29-1.63 บาท/กม. อย่างเห็นได้ชัด ส่วนค่าใช้จ่ายอื่นๆ ทั้งค่าซ่อมบำรุง ประกันภัย และภาษีประจำปีพบว่าไม่แตกต่างกันมากนัก

แต่ประเด็นเรื่องของ เบี้ยประกันภัยในรถยนต์ไฟฟ้าที่แพงมากนั้น ด้วยความที่ ณ ตอนนี้มันคือสิ่งใหม่ความเข้าใจของทั้งผู้ขาย ผู้ซื้อ บริษัทประกัน ก็ยังปรับหากันไม่ได้มากนัก แต่ปัจจุบันทาง คปภ. เองก็ได้ยื่นมือเข้ามาเป็นตัวประสานแล้วอีกไม่นานในกลุ่มของรถยนต์ไฟฟ้าแบบกลุ่มผู้ใช้ทั่วไปราคาค่าประกันน่าจะเริ่มปรับตัวลงมาให้พออุ่นใจกันได้บ้าง

ผู้เล่น มากหน้าหลายตากำลังมา ทำตลาดตื่นตัว

อีกส่วนที่เป็นตัวได้รับแรงกระตุ้นจากนโยบายภาครัฐก็คือ เมื่อนโยบายเปิดกว้างผู้ผลิตจำนวนมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากทางประเทศจีนนั้นก็จัดทัพไม่ใช่แค่เข้ามาขาย แต่มาใหญ่ขนาดตั้งฐานการผลิตและเตรียมใช้ประเทศไทยเพื่อส่งออกไปยังภูมิภาคอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มประเทศที่ใช้รถยนต์พวงมาลัยขวา

เดิมทีเราเคยพูดถึง  MG GWM Neta Ford BYD Horizon ไปแล้ว ล่าสุดมีข่าวว่า GAC บริษัทผู้ผลิตยานยนต์อันดับ 3 ของจีนกำลังสนใจและตกลงในเบื้องต้นที่จะมาลงทุนตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ในประเทศไทยแล้ว นี่ถือว่าเป็นความเคลื่อนไหวสำคัญในอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย ที่เพียงช่วง 10 ปีนี้เรามีการขยายฐานของอุตสาหกรรมในแง่ของโรงงานผลิต

นั่นแปลว่านับจากอีก 2-3 ปีหลังจากนี้ เฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยนั้นจะเริ่มได้เห็น Portion การผลิตรวมถึงการส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าในจำนวนที่น่าสนใจ และถ้าเป็นไปตามที่หวังไว้ตัวเลขของรถไฟฟ้าที่ถูกประทับตาว่า Made in Thailand จะไปปรากฏในทั่วโลก เป็นของวางขายคู่กันกับ MIC Made in China ของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าจีน

 

ครั้งหน้าจะมาอัพเดตตัวเลขยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าอีกครั้ง เพื่อแสดงให้เห็นว่ากระแสรถไฟฟ้านี้บ้านเราไม่แผ่วแน่ๆ ถ้าไม่มีเหตุการณ์อะไรผิดแปลกเกิดขึ้นเสียก่อน

Related Articles