On Road Testing ว่าด้วยเรื่องของระยะเดินทางรถยนต์ไฟฟ้า กับการใช้งานจริงใกล้เคียงกันแค่ไหน

On Road Testing ทดลองหาระยะจริงเทียบมาตรฐานรถยนต์ไฟฟ้า ด้วยถนนจริง สภาพการจราจรจริง และระดับความเร็วการเดินทางจริง
Share

 

ที่ผ่านมาเราเคยคุยกันเรื่องของ NEDC VS WLTP กันไปบ้างแล้ว ซึ่งคนส่วนใหญ่เริ่มเข้าใจกันแล้วว่าระยะเดินทางที่ผู้ผลิตบอกมานั้น มันไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ในชีวิตจริง แต่สิ่งที่คนส่วนใหญ่อยากรู้ว่าเอาเข้าจริงแล้วควรยึดตัวเลขตรงไหนไว้พักพิงใจในการขับรถยนต์ไฟฟ้ากันดี

 

ถึงวันนี้คงมีหลายคนที่ได้เป็นเจ้าของหรืออย่างน้อยก็ได้ไปลองขับรถยนต์ไฟฟ้ากันมาบ้างแล้ว แต่คำถามที่ดูเหมือนยังไม่สามารถ เคลียร์ใจ ให้กับคนขับรถยนต์ไฟฟ้าทั่วไปก็คือ เราสามารถเชื่อระยะทางที่เราเห็นที่หน้าจอของรถที่แสดงให้เราเห็นได้แค่ไหนกัน

ถ้าใครยังไม่เข้าใจเรื่องของมาตรฐานระยะทางของรถยนต์ไฟฟ้าที่มีใช้สำหรับบอกผู้บริโภคในเมืองไทย สามารถย้อนกลับไปอ่านบทความ เรื่องวุ่นๆ ของวัยรุ่นเสียบปลั๊ก : 2 มาตรฐานบอกระยะ เกิดภาวะ ว๊า!!! วุ่นใจ ได้ เพราะว่าในบ้านเรานั้นยังไม่ได้กำหนดว่าจะใช้ตัวไหนเป็นมาตรฐาน ทำให้ทุกครั้งที่คุณๆ อ่านสเปกของรถยนต์ไฟฟ้าต้องอ่านให้ละเอียดว่าใช้มาตรฐานไหน

 

On Road Testing

เบื้องต้นเมื่อเราเริ่มเข้าใจกันแล้วว่า เวลาจะดูคุณสมบัติในเรื่องของระยะทางของรถยนต์ไฟฟ้าหนึ่งคันตัวเลขที่เห็นจะต้องมองจากมาตรฐานแบบไหน อะไรที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงในการใช้งานมากที่สุด โดยข้อสรุปเบื้องต้นนอกจากการทดลองขับของทีมงานกอง บก. Innomatter และจากการสอบถามผู้เชี่ยวชาญหลายๆ ท่าก็บอกว่า WLTP นั้นคือที่ดีสำหรับยึดเป็นมาตรฐาน

แต่ก็ไม่ได้ไปด้อยค่าว่า NEDC นั้นจะเป็นตัวเลขที่มีปัญหาอะไร เพียงแต่รูปแบบของการทดสอบนั้นเนื่องด้วยเป็นมาตรฐานที่ใช้กันมานาน ทำให้รูปแบบของการใช้งานของคนในทึกวันนี้ก็เปลี่ยนแปลงตามไปด้วยทำให้มันเกิดความคลาดเคลื่อนมากเกินไป ตัวเลขที่อาจจะกำหนดคร่าวๆ ก็คือถ้าคุณเห็น NEDC ระยะเท่าไหร่ ระยะจริงจะหายไปสัก 23-25%

สำหรับคราวนี้ ทีม บก. Innomatter ได้ทำการทดสอบจริงกับรถยนต์ไฟฟ้าที่เรียกว่าเป็นกระแสที่สุด ณ ตอนที่เขียนบทความนี้ นั่นก็คือ BYD Seal Performance โดยที่ได้กำหนดโจทย์ไว้ว่าจะทดสอบในแบบใช้งานตามชีวิตปกติ ไม่ซิ่ง ไม่ขับขี่แบบหวาดเสียว เน้นการใช้งานในชีวิตประจำวัน

ก่อนเคลื่อนตัวรถออกจากสถานที่ เรามาดูคุณสมบัติของรถ BYD Seal Performance กันก่อน

  • ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ขนาด 390 kW. แปลงออกมาเป็นแรงม้าได้ที่ 523 แรงม้า
  • แบตเตอรี่แบบ LFP ขนาด 82.56 kWh.
  • ระยะทางคาดการณ์จากทางบริษัทผู้ผลิตต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง 580 กม. (นี่คือตัวเลขที่เราอยากรู้ ว่าใกล้กันแค่ไหน)

หากอ้างอิงจากอัตราความคลาดเคลื่อนระหว่างมาตรฐาน NEDC vs WLTP นั้น จะเท่ากับระยะ NEDC ÷ 1.27 จะได้ตัวเลขโดยประมาณของระยะ WLTP

เมื่อหยิบเอาตัวเลขในกระดาษของ BYD Seal Performance ที่ 580 กม. ต่อชาร์จบนมาตรฐาน NEDC เมื่อแปลงมาสู่มาตรฐาน WLTP จะเหลือประมาณ 456 กม. ตามทฎษฎีแล้วในการขับจริงระยะที่หายไปจะเท่ากับ 116 กม. โอเคเมื่อเราได้ตัวเลขเชิงทฤษฎีตั้งต้นไว้แล้วก็ถึงเวลาลองจริง

 

On Road Testing เพราะสายตาหลอกกันไม่ได้

สำหรับระยะทางที่ได้นำรถออกมาทดสอบนั้น ด้วยความที่เป็นรถทดสอบที่ยืมมาจากตัวแทนจำหน่ายแห่งหนึ่ง ทำให้ไม่สามารถทดสอบด้วยระยะทางที่มากนัก แต่จะบอกว่าตัวเลขที่เราคำนวณไว้ข้างบนนั้นสิ่งที่ลืมไปก็คือปัจจัยทางด้านเทคโนโลยี แต่เราขอหยิบออกไว้ก่อน เพราะมันก็อยู่ที่สภาพการใช้งานของแต่ละพื้นที่และคนขับที่มีวิธีการแตกต่างกัน

หลังจากที่พาตัวรถออกห่างจากจุดจอดแรกออกไป 15 กิโลเมตร แล้วลองสังเกตที่หน้าจอแสดงระยะทางและอัตราการใช้ไฟฟ้าปรากฏว่าระบบรายงานออกมาว่ารถยนต์ไฟฟ้าคันที่นำมาทดสอบกินพลังงานที่ประมาณ 15.5-16 kWh. ต่อ 100 กิโลเมตร นั่นอาจจะเพราะช่วงระยะแรกนั้นเราเคลื่อนที่ช้าๆ สลับตามภาวการณ์จราจร

หลังจากที่หลุดจากสภาพการจราจรที่ติดขัด เข้าสู่สภาพของทางที่โล่งกว้างพื้นที่ถนนกว้างเกินกว่า 4 เลนส์ต่อทิศทาง ทำให้สามารถเริ่มทดลองความเร็วเดินทางที่ไม่เกิน 120 กม ต่อชั่วโมง โดยทั้งหมดของการทดสอบนั้นใช้รูปแบบการขับขี่แบบ Normal ตลอดเวลา เพื่อเป็นการเปรียบเทียบลักษณะของการใช้งานโดยทั่วไป

ผลก็คือที่ความเร็วเดินทางนั้น อัตราการใช้พลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็น 18-20 kWh ต่อ 100 กิโลเมตร โดยจากการทดสอบจะพบว่าช่วงความเร็วที่ 100-110 กิโลเมตรต่อชั่วโมงนั้นเป็นย่านความเร็วที่รถรุ่นนี้ใช้พลังงานได้อย่างเหมาะสมที่สุด รวมถึงทีการทดลองในความเร็วที่มากกว่าระดับ 120 จะเห็นว่าอัตราการชัพลังงานพุ่งไปถึงระดับ 21-25 kWh เลยทีเดียว

ทำให้เราขอหยิบตัวเลขเฉลี่ยในอัตราการใช้ไฟฟ้าที่ 18 kWh. ต่อ 100 กิโลเมตร มาใช้จะเท่ากับ 458 กิโลเมตรต่อการชาร์จไฟเต็ม 100% ของรถยนต์ไฟฟ้า BYD Seal Performance ซึ่งก็ใกล้เคียงกับการคำนวณทางทฤษฎีก่อนการลองขับจริง

แต่นี่เรายังไม่ได้รวมเอาปัจจัยของรถที่มีระบบ Recuperate หรือระบบชาร์จไฟกลับจากทั้งการเบรกและการถอนคันเร่ง ซึ่งรถยนต์ไฟฟ้าแต่ละรุ่นนั้นก็จะมีระบบที่แตกต่างกันไป สำหรับรถที่นำมาทดสอบนั้นแม้จะไม่มีระบบคันเร่งแบบ i-Peddle แต่ก็ยังมีความสามารถที่เปิดให้มีการหน่วงพลังงานจากทั้งการถอนคันเร่งและเบรคคืนกลับแบตเตอรี่ เพียงแต่ในปริมาณที่ไม่มากเท่านั้น

 

ถึงเวลาที่กำหนดมาตรฐานสำหรับประเทศไทยหรือยัง

อย่างที่เห็นในการทดสอบการขับขี่จริงในการทดสอบของเรานั้น ตัวเลขที่บริษัทรถยนต์หลายค่ายโดยเฉพาะค่ายจากจีนนั้นยังคงใช้อยู่ก็คือ NEDC ซึ่งแม้กระทั่งตอนนี้ในจีนแผ่นดินใหญ่เองก็มีการกำหนดมาตรฐานใหม่สำหรับเป็นค่ากลางให้กับรถยนต์ไฟฟ้าที่ขายในประเทศ

ก็เข้าใจว่าตัวเลขแบบ NEDC มันทำให้หัวใจโดยเฉพาะลูกค้านั้นว้าวุ่นอยู่ไม่น้อย เพราะทุกวันนี้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ที่ยังไม่กล้าหรือยังไม่คิดที่จะเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้านั้น ปัจจัยหนึ่งคือเรื่องของระยะทางซึ่งถึงแม้ว่าการนำเอามาตรฐาน NEDC มาใช้ก็ไม่ใช่เรื่องผิดอย่างไร

เพราะหากเราลองพิจารณาตัวเลขใน Eco Sticker สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ตัวเลขที่บริษัทผู้ผลิตส่งมาให้นั้นก็ยังเลือกใช้มาตรฐานที่แตกต่างกัน แต่ว่าอยู่ภายใต้รูปแบบที่ Compatible กับทางสำนักงานที่ประกาศยอมรับ

แต่หากจะเป็นการดีว่าฝั่งบริษัทที่เกี่ยวกับธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าจะรวมตัวกันประกาศว่า ต่อจากนี้เป็นต้นไปเราจะเลือกระบุตัวเลขใน Eco Sticker ของทุกบริษัททุกรุ่นด้วยมาตรฐานสมัยใหม่อย่าง WLTP ทั้งหมดก็จะเป็นเรื่องที่ดี อย่างน้อยก็ช่วยลดข้อครหาที่ อคติชน ที่มักยกวลีสำหรับการด้อยค่ารถยนต์ไฟฟ้าไว้ว่า ตัวเลขระยะทางเกินความเป็นจริงมาก

สรุปโดยรวมก็คือ วันนี้เรื่องของรถยนต์ไฟฟ้าใกล้ตัวมากขึ้นและกำลังกลายเรื่องเรื่องธรรมดามากขึ้น เทคโนโลยีวันนี้ก็ไม่ใช่เรื่องราวไกลตัวอย่างหนังหรือนิยายวิทยาศาสตร์อีกต่อไป ความกลัวหรือความไม่รู้ต่างๆ นั้นมีคำตอบในตัวของมันเอง อยู่ที่คุณจะพร้อมเมื่อไหร่ไม่ต้องเป็นผู้บุกเบิกแต่อย่าเป็นคนสุดท้ายหรือคนที่ตกยุคเป็นพอ

 

innomatter

innomatter

ข่าวไอที นวัตกรรม พลังงาน และความยั่งยืน

Related Articles