เรื่องวุ่นๆ ของวัยรุ่นเสียบปลั๊ก : 2 มาตรฐานบอกระยะ เกิดภาวะ ว๊า!!! วุ่นใจ

NEDC VS WLTP เรื่องวุ่นๆ ของวัยรุ่นเสียบปลั๊ก : 2 มาตรฐานบอกระยะ เกิดภาวะ ว๊า!!! วุ่นใจ ตัวเลขไหนที่คนไทยควรเอาเป็นมาตรฐาน
Share

 

NEDC VS WLTP ศัพท์ทางเทคนิคสองคำที่ทำเอาวัยรุ่นเสียบปลั๊กในเมืองไทยหลายต่อหลายคนมึนงง จนต้องออกมาถามตรงๆ ว่า “นี่ฉันจะดูจากมาตรฐานตัวไหนดี ถึงจะได้ที่ใกล้เคียงกับระยะทางเดินทางได้จริง” เรื่องนี้ต้องขยายความให้เข้าใจกัน

 

มีเรื่องหนึ่งที่อาจจะเรียกว่าเป็นสิ่งที่ควรรู้สำหรับคนที่วางแผนจะเปลี่ยนจาก รถยนต์น้ำมัน หรือ ICE มาเป็น รถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV Car ก็คือเรื่องของระยะทางที่สามารถเดินทางโดยเฉลี่ยต่อการชาร์จไฟหนึ่งครั้ง แม้ว่าทุกวันนี้เราจะเริ่มมีความอุ่นใจมากขึ้นกับจำนวนของสถานีชาร์จไฟที่มีมากขึ้น แต่เรื่องระยะก็ยังคงเป็นปัจจัยของการตัดสินใจอยู่ดี

สำหรับในประเทศไทย รถยนต์ไฟฟ้า ที่ออกขายส่วนใหญ่จะใช้มาตรฐานอยู่ 2 ตัวในการบอกค่าเฉลี่ยระยะการเดินทางเอาไว้ นั่นก็คือ NEDC และ WLTP ซึ่งต้องบอกว่าแม้จะเป็นมาตรฐานยุโรปเหมือนกัน แต่ตัวเลขที่ได้มานั้นทำเอาหลายคนเข้าใจผิดได้ หรือเวลาเขาขิงกันว่ารถรุ่นไหนน่าใช้กว่ากันแล้วหยิบตัวเลขไปใช้ บางครั้งก็เล่นเอาคนฟังงงไปตามๆ กัน

 

NEDC ของเก่า เมื่อครั้ง 4 เต่าทองยังเลื่องชื่อ

ย่อมาจาก New European Driving Cycle ถูกกำหนดขึ้นมาในช่วง 1970-80 เป็นมาตรฐานแรกๆในยุโรป เน้นใช้งานในเมือง และ ถนนชานเมือง ปัจจุบันทางยุโรปเปลี่ยนมาใช้มาตรฐานใหม่คือ WLTP แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนผ่านในปี 2017 แต่มาตรฐาน NEDC ก็ยังมีการใช้งานในประเทศโซนเอเชีย อย่างจีน และ อื่นๆ

วิธีการทดสอบของ NEDC นั้น จะแบ่งการทดสอบเป็นในเมืองและนอกเมือง โดยนำรถขึ้น Dyno (Dynamo Meter หรือ เครื่องมือวัดกำลังรถยนต์) เพื่อทำการทดสอบ โดยมีการควบคุมอุณหภูมิของห้องทดสอบให้อยู่ระหว่าง 20-30 องศาเซลเซียส ไม่มีลม แล้วใช้วิธีการทดสอบที่มีขั้นตอนมากมายหลายอย่าง เหมือนเป็นการจำลองการใช้รถยนต์ในชีวิตประจำวันของคนเมื่อ 40 ปีที่แล้ว

และนั่นอาจทำให้ในปัจจุบัน NEDC กลายเป็นมาตรฐานที่ให้ตัวเลขคลาดเคลื่อนไปมาก มากจนคนส่วนใหญ่พูดว่าคำนี้มันแปลว่า Not Even Damn Close แปลเป็นไทยว่า ไม่ได้ใกล้ความจริงเลย  แต่แม้กระทั่ง Tesla ยังหยิบเอาตัวเลขจากการทดสอบบน NEDC มาใช้ในเมืองไทย

นั่นก็เพราะมันเป็นตัวเลขที่ทำให้คนไทย ไม่รู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจเวลาโดนผู้ใช้รถยนต์น้ำมันนั้นมา ขายขิง ในเรื่องของระยะทางก่อนต้องวิ่งหาตู้ชาร์จ

เอาเข้าจริงก็ไม่ใช่เรื่องแย่มากนัก เพราะอย่างน้อยมันก็คือมาตรฐานที่ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้านั้นยังพอยึดเป็นมาตรฐานได้ ส่วนว่าจะคลาดเคลื่อนขนาดไหนนั้นก็ค่อยว่ากัน เหมือนเช่นรถยนต์น้ำมันที่วันนี้มีทั้งการยังใช้มาตรฐาน UN R10x ต่างๆ ที่อัพเดตเรื่อยๆ แต่ในอดีตเราก็เห็นความแตกต่างของอัตราความสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงจริงกับตัวเลขจากการทดสอบด้วยมาตรฐานเช่นเดียวกัน

 

WLTP พัฒนาจากเดิม เวอร์ชันอัพเดตที่นิ่งใกล้เคียงยิ่งขึ้น

Worldwide Harmonised Light Vehicles Test Procedure หรือ WLTP มาตรฐานที่มาแทน NEDC ของทางยุโรปเช่นเดียวกัน ซึ่งปัจจุบันมาตรฐานตัวนี้ถูกนำไปใช้ในการหาอัตราสิ้นเปลืองของรถยนต์ทุกประเภทที่วิ่งในยุโรป ไม่ว่าจะน้ำมัน ไฮบริด หรือรถยนต์ไฟฟ้า

โดยการทดสอบบนมาตรฐานของ WLTP นั้นจะสมจริงมากขึ้น เพราะจะมีการนำรถยนต์ใดๆ ก็ตามที่มาทดสอบออกวิ่งบนถนนจริงด้วยทำให้ตัวเลขต่างๆ ของการทดสอบมีความแม่นยำกว่าการทดสอบเฉพาะในห้องทดลองที่มีการควบคุมตัวแปรคงที่ไว้นั่นเอง เพราะแน่นอนว่าสภาพการจราจรจริงนั้นมีตัวแปรมากกว่า อย่างน้อยก็เช่นอุณหภูมิที่อาจจะต่างจากห้องทดลอง

โดยมาตรฐานนี้เริ่มใช้งานในปี 2017 ที่ผ่านมา

 

NEDC VS WLTP เชื่อมาตรฐานไหนดี

การเปลี่ยนแปลงในเทคโนโลยีและการตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการข้อมูลที่เป็นความจริงกับสภาพการใช้งานจริงมากขึ้น ทำให้ WLTP ถูกพัฒนาขึ้น เพื่อทดสอบและวัดประสิทธิภาพของรถยนต์ในสภาพการขับขี่ที่เหมาะสมกับสภาพการใช้งานจริง

ดังนั้น ความแตกต่างระหว่าง NEDC และ WLTP จึงอยู่ที่วิธีการทดสอบและความแม่นยำในการวัดประสิทธิภาพ ซึ่งสำหรับผู้บริโภคแล้ว WLTP จะให้ข้อมูลที่สอดคล้องกับสภาพการใช้งานจริงมากกว่า NEDC  จึงช่วยให้ผู้บริโภคเลือกรถยนต์ที่ตรงกับความต้องการและสภาพการใช้งานของตนได้แม่นยำยิ่งขึ้น

ปัจจุบันส่วนใหญ่ผู้ผลิตและตลาดรถยนต์ได้เปลี่ยนไปใช้ข้อมูลตามมาตรฐาน WLTP เพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้องและโปร่งใสกับผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น ซึ่งสร้างความไว้วางใจในการเลือกรถยนต์ที่เหมาะสมกับความต้องการและสภาพการใช้งานจริงให้มากยิ่งขึ้น

สรุปคือว่า ถ้า ณ ตอนนี้โจทย์ของคุณคือการเลือกรถยนต์ไฟฟ้าหนึ่งคัน โดยที่ปัจจัยหนึ่งคือระยะทางเฉลี่ยที่ทำได้จากการชาร์จไฟหนึ่งครั้งแล้วไปได้ไกลเท่าไหร่ นอกจากตัวเลขที่บริษัทผู้ผลิตบอกไว้ในโบรชัวร์แล้วคุณต้องสังเกตุต่อว่าหลังตัวเลขระยะทางนั้นกำกับว่าใช้มาตรฐานใด

 

แปลงตัวเลข NEDC เป็น WLTP ง่ายๆ

เมื่อเรารู้แล้วว่าสองมาตรฐานนี้ตัวเลขไม่เท่ากัน โดย NEDC จะให้ตัวเลขมากกว่า WLTP อยู่พอสมควร คำถามก็คือจะมีวิธีการแบบไวๆ ที่จะทำให้เราได้ตัวเลขที่น่าจะใกล้ความจริงบ้างหรือไม่ ต้องบอกว่าไม่ใช่เรื่องยาก เพราะคณิตศาสตร์มีคำตอบให้เสมอ

เช่น ถ้าคุณตื่นตาตื่นใจกับตัวเลขของ Tesla Model3 รุ่น Long Range ที่ระบุระยะทางเมื่อชาร์จแบตเตอรี่เต็มไว้ที่ 681 กม. ให้เอาตัวเลข 1.27 ไปหาร จะได้ระยะบนมาตรฐานออกมาที่ 536 กม.

 

แค่มาตรฐานสองตัวนี้ก็เล่นเอาวัยรุ่นเสียบปลั๊กชาวไทยสับสน งงๆ กันไปบ้าง ยังมีมาตรฐานที่เข้มจัดอย่าง EPA ที่ใช้ในสหรัฐอเมริกา และ CLTC ของจีนที่ใช้กันภายใน อีกเรื่องก็คือยังไม่ได้มีการกำหนดจากทางหน่วยงานของรัฐว่าจะเลือกยึดมาตรฐานใดสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ก็หวังว่าคงชัดเจนในเร็ววันเพราะจะลดความสับสนไปได้มากทีเดียว

 

สำหรับท่านผู้อ่านที่ติดตามข่าวสาร ความเคลื่อนไหว และบทความ ในวงการรถยนต์ไฟฟ้าและพลังงานใหม่ สามารถติดตามอ่านเพิ่มเติมได้ ที่นี่

Related Articles