ในอนาคตข้างหน้าใครอยากออกไปสำรวจอวกาศ หรือ เป็นเจ้าของดาวเทียมสักดวงอาจติดต่อใช้บริการได้ที่…จีน!
แค่ชื่อ “ถนนสายจรวด” ก็พาเอาจินตนาการโลดแล่นไปถึงภาพของถนนสายที่เปิดพื้นที่โล่งเป็นลานปล่อยจรวด
แม้ว่าอะไรก็เป็นไปได้บนโลกใบนี้ แต่-แต่งานนี้บอกได้เลยว่า ไม่ใช่แน่นอน
ต้องยอมรับว่าทุกวันนี้ความก้าวหน้าทางด้านอวกาศและการบินของจีนไม่เป็นรองใคร
จีนลงทุนในอุตสาหกรรมอวกาศด้วยเหตุผลหลายประการ รวมถึงการพัฒนาเชิงกลยุทธ์ เศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ดังที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กล่าวว่า…
“ภารกิจของจีนคือ สำรวจจักรวาลอันกว้างใหญ่ พัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศ และสร้างจีนให้เป็นมหาอำนาจในอวกาศ”
ความสนใจในอุตสาหกรรมอวกาศของจีนเริ่มขึ้นในช่วงปี 2493 แต่มาเริ่มก่อตั้งองค์การอวกาศแห่งชาติจีน (CNSA) ในปี 2536 นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาภารกิจเพื่อการสำรวจอวกาศก็ค่อยๆ ไต่ระดับ มีความก้าวหน้าอย่างมาก เช่น ปล่อยดาวเทียมดวงแรก ส่งมนุษย์ขึ้นสู่ห้วงอวกาศ สำรวจดวงจันทร์ สำรวจดาวอังคาร ฯลฯ พร้อมๆ กับการก้าวขึ้นเทียบเคียงเป็นผู้เล่นหลักในเวทีอวกาศนานาชาติ
ปี 2564 รัฐบาลจีนส่งเสริมการลงทุนของเอกชนในอุตสาหกรรมอวกาศ นำไปสู่การจัดตั้งบริษัทยานอวกาศเชิงพาณิชย์มากกว่า 400 แห่ง
ในส่วนของกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจจรวดเชิงพาณิชย์ที่ผ่านมาได้ดำเนินการปล่อยอากาศยานในปี 2566 รวม 26 ครั้ง มีอัตราความสำเร็จสูงถึงร้อยละ 96 และยังพัฒนาการใช้ดาวเทียมเชิงพาณิชย์ทั้งหมด 120 ดวง คิดเป็นร้อยละ 54 ของดาวเทียมทั้งหมดที่ส่งขึ้นสู่ห้วงอวกาศในปี 2566 ปัจจุบันยังมีส่วนร่วมในการพัฒนาจรวดแบบใช้ซ้ำ โดยคาดว่าจะประสบความสำเร็จในปี 2567-2568
ล่าสุด Galactic Energy สตาร์ทอัพสัญชาติจีนเตรียมเปิดตัว Pallas-1 จรวดแบบใช้ซ้ำลำแรกที่พัฒนาขึ้นในจีน ที่จะทะยานขึ้นสู่วงโคจรในปลายปี 2567 นี้
กลับมาที่ “ถนนสายจรวด” ชื่อนี้มีที่มาอย่างไร?
ข้อมูลจากสำนักเศรษฐกิจและเทคโนโลยีสารสนเทศ เทศบาลกรุงปักกิ่ง รายงานว่า กรุงปักกิ่งมีผู้ประกอบการที่มีความเชี่ยวชาญด้านอวกาศเชิงพาณิชย์ จำนวน 157 ราย ซึ่งรวมทั้งสตาร์ทอัพด้านการปล่อยดาวเทียมเชิงพาณิชย์ทั้งหลาย โดยกลุ่มบริษัทที่เกี่ยวกับจรวดจะกระจุกตัวอยู่ทางตอนใต้ของเมืองปักกิ่ง ขณะที่ผู้ประกอบการเกี่ยวกับดาวเทียมจะรวมกันอยู่ทางตอนเหนือของเมือง
ทั้งนี้ สตาร์ทอัพด้านจรวดและอุตสาหกรรมอวกาศของจีนนอกจาก Galactic Energy ยังมีอีกหลายบริษัท ได้แก่ LandSpace, i-Space, LinkSpace, ExPace, OneSpace และ Deep Blue Aerospace ซึ่งสองบริษัทแรกคือ iSpace และ LandSpace กำลังพัฒนาจรวดแบบใช้ซ้ำ และมีแผนจะเปิดตัวเที่ยวบินแรกพร้อมกันในปี 2568
นอกจากเป็นการส่งเสริมมาตรการการพัฒนาอุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ตดาวเทียม และจัดสรรการสนับสนุนโครงการปล่อยอากาศยานเชิงพาณิชย์ 41 โครงการ คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 100 ล้านหยวน หรือราว 500 ล้านบาท เทศบาลกรุงปักกิ่งเตรียมจัดตั้ง “ถนนสายจรวด” เป็นศูนย์กลางการวิจัยและการผลิตเพื่อความก้าวหน้าของการบินและอวกาศเชิงพาณิชย์
ถือเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามบ่มเพาะการสร้างสรรค์นวัตกรรมในภาคอุตสาหกรรมดังกล่าวของเมืองหลวง โดยเพิ่มการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานภาคพื้นดิน เกื้อหนุนการก่อสร้างกลุ่มดาวเทียม บ่มเพาะการประยุกต์ใช้ข้อมูลอวกาศเป็นวงกว้าง และบุกเบิกการค้าข้อมูลจากดาวเทียม…บอกแล้วว่าไม่ได้มาเล่นๆ.