เหตุการณ์ฝนถล่มสเปนที่เมืองวาเลนเซียและเมืองใกล้เคียงเมื่อวันที่ 29 ตุลาคมที่ผ่านมา ยิ่งเป็นการตอกย้ำถึงสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนอย่างหนัก ใครจะคิดว่าชั่วระยะเวลาเพียง 8 ชั่วโมง ด้วยปริมาณน้ำฝนที่มากกว่าฝนตกตลอดทั้งปี เป็นผลให้เกิดอุทกภัยฉับพลัน มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 95 ราย ผู้สูญหายอีกมากมาย
จะสังเกตว่าในระยะหลังผลพวงจากภาวะโลกเดือดเริ่มปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน รุนแรงและเกิดขึ้นบ่อยครั้งมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นความผันผวนของสภาพภูมิอากาศชนิดที่แทบคาดเดาไม่ได้
ไม่ว่าจะเป็นฟ้าร้องฟ้าผ่ารุนแรงมากขึ้นที่มากับพายุฝน หรือฝนที่ตกแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย หรือเทลงมาราวกับฟ้ารั่ว ฯลฯ เหล่านี้เป็นผลมาจากมหาสมุทรที่อุ่นขึ้น น้ำที่ระเหยจากผิวน้ำและพื้นดินอย่างรวดเร็ว อากาศที่ร้อนชื้นก่อตัวเป็นเมฆสะสมไอน้ำมากขึ้นเรื่อยๆ และกลายสถานะเป็นเหมือนระเบิด (ฝน) เวลา ที่พร้อมจะทิ้งบอมบ์ลงสู่พื้นดินได้ภายในช่วงเวลาสั้นๆ
ภาวะโลกร้อนสาเหตุฟ้าร้องฟ้าผ่ารุนแรงขึ้น
ภาวะโลกร้อนหรือโลกเดือดมีความเชื่อมโยงกับฟ้าร้องฟ้าผ่าอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น อากาศที่ร้อนมากขึ้น ทำให้การระเหยของน้ำจากพื้นดินและแหล่งน้ำในปริมาณมาก ซึ่งเป็นปัจจัยการก่อตัวของเมฆฝนและพายุ กอปรกับความไม่เสถียรของชั้นบรรยากาศที่เกิดจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น ทำให้เกิดกระแสลมรุนแรง การเคลื่อนตัวของมวลอากาศที่รวดเร็วส่งผลให้เกิดการเสียดสีระหว่างอนุภาคในอากาศ ก่อเกิดประจุไฟฟ้า เป็นสาเหตุของฟ้าแลบและฟ้าผ่า
ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงของรูปแบบสภาพอากาศเช่นนี้ยังเป็นที่มาของการเกิดพายุหมุนเขตร้อนที่รุนแรงขึ้น หรือการเกิดฝนตกหนักในพื้นที่ที่ไม่เคยเกิดมาก่อน ล้วนแต่เป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการเกิดฟ้าร้องฟ้าผ่า ซึ่งสามารถก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน ไม่ว่าจะโดยการถูกฟ้าผ่าโดยตรง หรือเกิดไฟไหม้จากฟ้าผ่า ส่งผลกระทบไปถึงระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นๆ
Rain Bomb สึนามิจากฟ้า
กลับมาที่ประเด็นของ Rain Bomb ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึง Rain Bomb ผ่านเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat ว่า โลกร้อนทำให้เกิด Rain Bomb มากยิ่งขึ้น
…ตัวอย่างมีให้เห็นทั่วไป เฉพาะช่วงนี้ก็มีทั้งน้ำท่วมภูเก็ต ออสเตรเลีย สวิตเซอร์แลนด์ ภาพรถที่ลอยไปตามน้ำไหลหลากดูน่ากลัว จนบางคนเปรียบเทียบว่า เหมือนสึนามิจากฟ้า…หากตกลงบนเขาหรือในป่า อาจเกิดน้ำไหลหลากฉับพลันลงมาในเมืองตามถนนหนทางที่กลายเป็นทางน้ำ รวมถึงโคลนถล่มตามมาในพื้นที่ที่ไม่เคยเกิด เช่น หายนะที่ลิเบีย หากตกลงในเมืองที่ราบแบบกรุงเทพฯ น้ำท่วมเร็วมาก
…การคาดการณ์ล่วงหน้าทำแทบไม่ได้ในระยะยาว ปกติก็เป็นการทำนายทั่วไปในพื้นที่กว้าง แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าเรนบอมบ์กำลังมา ให้เอารถขึ้นที่สูง ป้องกันน้ำเข้าบ้านทุกวิถีทาง ฯลฯ จึงต้องระวังรักษาตัวเองและทรัพย์สินให้มากที่สุด….”
Rain Bomb ไม่ใช่ แม่น้ำจากท้องฟ้า แต่น่ากลัวไม่แพ้กัน
ก่อนหน้าจะมีการบัญญัติศัพท์ Rain Bomb อย่างไม่เป็นทางการ แวดวงคนเฝ้าจับตามองถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเริ่มจะกล่าวถึงอีกปรากฏการณ์ที่เรียกกันว่า “แม่น้ำบนฟากฟ้า” หรือ “แม่น้ำในชั้นบรรยากาศ” (Atmospheric River หรือ AR)
แม้ว่า Rain Bomb และ แม่น้ำบนฟ้า จะเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับน้ำและฝนทั้งคู่ แต่มีลักษณะและผลกระทบที่แตกต่างกัน กล่าวคือ “Rain Bomb” เกิดจากเมฆอิ่มตัวด้วยน้ำฝนในปริมาณมากแล้วปลดปล่อยน้ำออกมาในเวลาอันสั้น ทำให้เกิดฝนตกหนักในพื้นที่ที่จำกัด
ขณะที่ “แม่น้ำบนฟ้า” เกิดจากการระเหยของมหาสมุทรหรือแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ถูกพัดพาโดยลมไปยังพื้นที่อื่นๆ มีลักษณะเป็นสายธารของไอน้ำที่มีความชื้นสูงในชั้นบรรยากาศ เหมือนแม่น้ำที่ไหลอยู่บนท้องฟ้า มีความกว้างประมาณ 400 – 600 กิโลเมตร เมื่อเคลื่อนที่บนบกอาจก่อเกิดเป็นฝนตกหนักหรือหิมะตกในปริมาณมาก ขนาดพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจะกว้างกว่าและระยะเวลาของฝนหรือหิมะที่ตกอาจยาวนานหลายวัน
ที่น่าสนใจคือ กระแสไอน้ำดังกล่าวไม่เพียงพัดพานำความชุ่มชื้นไปยังส่วนต่างๆ ของโลก แต่ขณะเดียวกันสามารถก่อเกิดพายุติดต่อกัน ทำให้ฝนตกปริมาณมากเทียบเท่าฝนตก 6 เดือนภายในเวลาเพียง 3 วันเท่านั้น ดังเช่นที่เกิดกับมลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา จนกลายเป็นเมืองใต้น้ำเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาก็เป็นเพราะปรากฏการณ์นี้
เราย้อนกลับไปแก้ไขอดีตไม่ได้ แต่ยังสามารถช่วยกันทำวันนี้ให้ดีที่สุดได้ ช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อม อย่างน้อยลดพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจกไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม.
สำหรับผู้ที่ชื่อชอบงานเขียนของ Rabbit2TheMoon สามารถอ่านเรื่องอื่นๆ ก่อนหน้าได้ ที่นี่