โลกยานยนต์ไฟฟ้า ต้องโค้งงามๆ ให้กับ Rimac กับรถใส่ถ่านที่เร็วที่สุดในโลก

Rimac Nevera ผลงานล่าสุดของ Mate Rimac รถไฟฟ้าพาคุณไปด้วยความเร็วที่เข็มวัดความเร็วไปหยุดที่ 412 กม./ชม. พร้อมที่มาของแบรนด์
Share

 

อัตราเร่งจาก 0-100 กม/ชม. ในเวลาไม่ถึง 2 วินาที ก็ว่าจี๊ดใช่ย่อย แต่เดี๋ยวก่อน มันยังไม่สุด เพราะรถไฟฟ้าคันล่าสุดของค่ายออกมากระหน่ำสร้างความจี๊ดคูณสองด้วยการพาคุณไปด้วยความเร็วที่เข็มวัดความเร็วไปหยุดที่ 412 กม./ชม.

 

แม้ว่า Rimac Nevera จะไม่ได้ครองบัลลังค์ รถยนต์ ที่เร็วที่สุดในโลก แต่อย่างน้อยมันคือ รถใส่ถ่าน หรือรถยนต์ไฟฟ้าจากสายการผลิตจริงที่สามารถทำความเร็วสูงสุดในระดับที่เกิน 400 กม./ชม. และขยับจาก 0-100 ในเวลาไม่ถึง 2 วินาที เชื่อว่ามีน้อยคนที่จะทนกับสภาพความหวือขนาดนั้นได้

คำถามคือ Rimac Automobili นั้นคือใคร ทำไมอยู่ดีๆ ถึงสามารถสร้างรถยนต์ที่เร็วติดอันดับ 5 ของโลก เรามาทำความรู้จักกับบริษัทรถยนต์รายนี้ พร้อมดูผลงานล่าสุดอย่าง Rimac Nevera ที่พาให้แบรนด์นี้ มีที่ยืนในระดับโลกได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว

Rimac Technology
Picture : Rimac Automobili

 

Rimac Automobili จากฝันสู่ถนนของหนุ่มน้อยโครเอเชีย

จากข้อมูลน่าสนใจที่ว่า ในปี 2009 หนุ่มน้อยที่มีความชื่นชอบในการแก้ปัญหาและการสร้างสรรค์ มีแรงบันดาลใจจากการแข่งขันรถยนต์ไฟฟ้าและการสร้างรถยนต์เอง ชื่อของเขาคือ Mate Rimac ที่หอบความฝันมาประกาศสู่โลกยานยนต์ได้ อีกทั้งโชคดีที่มีนักลงทุนมองเห็นคุณค่าเหล่านั้น

แต่เดิม Mate มาสายวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ และก็เป็นเช่นผู้ชายหลายร้อยคนบนโลกที่หลงใหลกับรถสปอร์ตและ Supercar พร้อมมีความหวังอันสูงส่งว่า เมื่อโตขึ้นจะต้องสร้างรถยนต์ของตัวเองขึ้นให้ได้ โดยมองไปถึงการคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เข้ามาแก้ Pain Point ต่างๆ จากทั้งในอดีตและปัจจุบัน อย่างแรกคือเรื่องของพลังงานเพราะในใจของ Mate คิดอยู่เพียงแค่ รถไฟฟ้า เท่านั้น

ประวัติส่วนตัวของ Mate น่าสนใจมาก ตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นเด็กมัธยมปลาย เขาส่งสิ่งประดิษฐ์เข้าประกวดทั้งระดับชาติและนานาชาติ แน่นอนว่าได้รางวัลมากมายจากสิ่งประดิษฐ์อย่างถุงมือที่สามารถใช้งานแทนคีย์บอร์ดและเมาส์ในช่วงปี 2006-2007 ปี จนต่อมาเขานึกสนุกด้วยการเอา BMW Series 3 ของที่บ้านเอามาเปลี่ยนระบบขับเคลื่อนใหม่ให้กลายเป็นรถไฟฟ้า โดยตั้งชื่อให้มันว่า BMW e-M3

นี่คือประกายไฟ ที่ปะทุขึ้นครั้งแรกที่ทำให้ไอเดียของ Supercar พลังงานไฟฟ้าเกิดขึ้น หลังจากหนึ่งปีผ่านไป Rimac Automobili ก็ถูกจดทะเบียนขึ้นใน Sveta Nedelja, Croatia ในปี 2008 ด้วยพนักงานเริ่มต้นเพียง 11 คน และผ่านมาถึงปี 2011 Concept One ไฮเปอร์คาร์คันแรกของโลกที่ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าล้วนๆ ก็ออกมาเผยโฉมอวดสายตาชาวโลกในงานแสดงรถยนต์ระดับโลก Frankfurt Motor Show โดยที่รถคันนี้ใช้เวลาในการสร้างเพียงแค่ 5 เดือนเท่านั้น!

ในปีเดียวกันบริษัทได้ส่งเจ้า BMW e-M3 ต้นแบบความสนุกของ Mate ลองเข้าท้าชิงสถิติรถยนต์ไฟฟ้าที่เร่งได้เร็วที่สุดในโลก FIA World records for the fastest accelerating electric car ผลก็คือสามารถทุบสถิติเรียบ 5 ครั้งติดต่อกัน

 

ออกโชว์ตัวทั่วโลกในการแข่งขัน FIA Formula E Championship จนระดมทุนได้

หลายคนคงรู้ว่าในการพัฒนารถยนต์สักหนึ่งคัน สิ่งหนึ่งที่ต้องมีและสำคัญอย่างยิ่งคือ เรื่องของเงินทุน เช่นเดียวกันมีการผ่านขั้นตอนการระดมทุนหลายรอบเช่นกัน จนปัจจุบันบริษัทมีเงินทุนระดับ 876 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยใช้เวลาในการระดมทุนถึง 9 รอบ ปัจจุบันบริษัทอยู่ในระดับการระดมทุนที่ Series D

ความสำเร็จนี้น่าจะมาจากการเข้าร่วมรายการแข่งขัน FIA Formula E Championship ซึ่งก็เหมือนการแข่ง F1 ของโลกรถไฟฟ้า ข้อมูลบางกระแสเปิดเผยว่าเป็นเพราะ บริษัทเอง ได้ร่วมพัฒนาเทคโนโลยีสำคัญๆ ที่ใช้ในแพลตฟอร์มของ Formula E เลยทำให้บริษัทได้รับโอกาสในการพาเจ้า Concept_One สู่สายตาชาวโลกท่ามกลางนักลงทุนและกองทุนรายใหญ่ระดับโลก

Battery Pack in Rimac Nevera
Picture : Rimac Automobili

ตัวอย่างเช่น SoftBank Vision Fund, Goldman Sachs, Porsche Ventures, Kia Motors และ Hyundai Motor Company รวมแล้ว 10 ราย โดยมีกองทุนจากบริษัทในอุตสาหกรรมยานยนต์เข้ามาร่วมลงทุนด้วย ซึ่งไม่น่าแปลกใจว่าเทคโนโลยีอันโดดเด่นนั้นจะถูกนำไปใช้กับรถไฟฟ้ารุ่นใหม่ๆ ที่ออกสู่ตลาดด้วยเช่นกัน อย่างน้อยเท่าที่เห็นในตอนนี้คือ Porsche Tycan

ปี 2015 เปิดตัว รถ Tajima e-Runner รถแข่งแบบ Time Attack ให้กับ Nobuhiro Monster Tajima นักแข่งชื่อดังชาวญี่ปุ่นในรายการแข่งขันขับรถขึ้นภูเขา Pikes Peak International Hill Climb ในรัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา ผลการแข่งขัน Monster Tajima จบเป็นที่สองรองจากรถยนต์น้ำมัน

หลังจากนั้นในปีต่อมา บริษัทเปิดตัวเวอร์ชันสำหรับขายจริงของ Concept_One ปีถัดมามีการประกาศการลงทุนครั้งใหญ่จากบริษัทผู้ผลิตแบตเตอรี่รายใหญ่ที่สุดของเอเซีย ทำให้บริษัทสามารถขยายทีมทำงานเป็น 200 คน และเปิดตัวโครงการเพื่อเตรียมนำนวัตกรรมของบริษัทกระจายสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลก

2018 ถือว่าเป็นปีที่ดีของ บริษัท เพราะ Porsche (ที่ไม่ใช่ Porsche Ventures) เข้าร่วมเป็นผู้ถือหุ้นพร้อมกับเปิดตัว C Two รถต้นแบบคันที่สองของบริษัทใน Geneva Motor Show นอกจากนั้นยังได้ขยายศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีในประเทศจีนที่เมืองเซี่ยนหยาง พร้อมพนักงานจำนวน 400 คน

หลังจากนั้นการลงทุนก็หลั่งไหลเข้ามา โดยบริษัท Hyundai Motor Company เข้ามาเป็นอีกหนึ่งผู้ถือหุ้นนอกเหนือจาก Porsche AG ทำให้ Rimac สามารถวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ อีกทั้งได้มีการส่งต่อสิ่งที่บริษัทสามารถพัฒนาไปยังบริษัทรถยนต์รายอื่นๆ อย่าง Aston Martin, Cupra, Renault, Automobili Pininfarina, Koenigseg และอีกหลายราย

ปี 2020 ถือเป็นก้าวสำคัญ บริษัทสามารถพัฒนา C Two เข้าสู่ขั้นตอนสุดท้ายก่อนที่จะพัฒนาสู่กระบวนผลิตจริง และสายพานการผลิตจริงของรถรุ่นดังกล่าวก็เกิดขึ้น พร้อมทั้งจำนวนพนักงานก็เพิ่มเป็น 700 คน ซึ่งนับว่าโตเร็วมากและมีจำนวนพนักงานสูสีกับผู้ผลิต Supercar เจ้าใหญ่ของโลกเลยทีเดียว

ปี 2021 สร้างข่าวใหญ่อีกครั้ง ด้วยการประกาศเข้าควบรวมกิจการของ Bugatti แบรนด์รถยนต์ระดับไฮเปอร์คาร์จากฝรั่งเศส ที่ถือหุ้นโดย Volkswagen AG ผ่านการกำกับดูของ Porsche AG โดยภายหลังจากการควบรวมกิจการสำเร็จทั้งสองแบรนด์จะถูกดูแลโดย Porsche AG เหมือนเดิม

นั่นแปลว่าวันนี้ บริษัทคือผู้ผลิตรถยนต์ที่ถือครองสถิติทั้งสองประเภท สถิติแรกก็คือรถยนต์ไฟฟ้าที่เร่งความเร็วดีที่สุดในโลกจาก BMW e-M3 ซึ่งเกิดจากฝีมือของ Mate และ Bugatti Chiron Super Sport 300+ ที่เคยเป็นเจ้าของสถิติโลกที่ความเร็ว 436.8 กม./ชม.

 

Rimac NEVERA ผลงานชิ้นล่าสุด และที่สุดในทุกเทคโนโลยีบนโลกนี้

จากรถต้นแบบอย่าง C Two ได้ถูกนำมาพัฒนาต่อยอดทั้งในด้านวิศวกรรมและกระบวนการผลิตจากโรงงานในโครเอเชีย ทำให้รถไฟฟ้าคันนี้เรียกได้ว่าเข้าใกล้คำว่า สมบูรณ์แบบ มากกว่าต้นแบบใดๆ ที่บริษัทสร้างขึ้นมาก่อนหน้านี้ หากจะถามว่าเจ้าไฮเปอร์คาร์ไฟฟ้านี้มีพละกำลังมากแค่ไหน คร่าวๆ ก็คือพลังจากการปั่นของมอเตอร์ไฟฟ้าจำนวน 4 ตัวที่สร้างพลังงานประมาณ 1.4 เมกะวัตตส์ เทียบได้กับ 1,914 แรงม้า แรงบิดมหาศาล 2,360 นิวตันเมตร ที่พร้อมกระชากใจคนขับจากหยุดนิ่งแตะความเร็ว 100 กม./ชม. ใน 1.97 วินาที ที่ 300 กม./ชม. ใน 9.3 วินาที

เพื่อที่จะทำให้ได้ตัวเลขที่บอกไปแล้ว บริษัทต้องวิจัยเทคโนโลยีใหม่หมดไม่ว่าจะเป็นมอเตอร์ไฟฟ้าที่ใช้ในการขับเคลื่อนแต่ละล้อ ประสานกับระบบควบคุมแรงบิดที่ชุดมอเตอร์กระทำไปแต่ละล้อให้รถทั้งคันสามารถขับเคลื่อนไปได้อย่างนุ่มนวลและสอดประสานกันอย่างลงตัวที่สุด เพราะหากเกิดความผิดพลาดเพียงเสี้ยวเดียวที่ความเร็วสูงสุด 412 กม./ชม. นั่นหมายถึงความเสียหายทั้งรถและชีวิตของผู้โดยสาร

การออกแบบระบบถ่ายทอดกำลังที่ Rimac ประกาศว่าล้ำหน้าที่สุดนั้น นอกจากจะทำให้การนำเอาพลังงานทั้งหมดถ่ายทอดสู่การขับเคลื่อนที่มีประสิทธิภาพแล้ว นี่อาจเป็นสูตรลับที่เคยทำให้รถไฟฟ้าอย่าง Porsche Tycan สามารถทำการออกตัวแบบ Launch Control ได้ต่อเนื่องหลายสิบครั้ง แตกต่างจากรถไฟฟ้าอื่นๆ ที่เมื่อดึงพลังจากการออกตัวด้วยแรงบิดมหาศาลแล้ว จะทำแบบต่อเนื่องไม่ได้

 

ด้วยสนนราคา 2.2 ล้านเหรียญสหรัฐ และจำนวนจำกัดเพียง 150 คัน ทำให้ยากเหลือเกินที่จะได้เห็นไฮเปอร์คาร์ไฟฟ้าคันนี้ในเมืองไทย แต่เชื่อเถอะว่าอีกไม่นานคุณอาจจะได้ขับรถไฟฟ้าสักคันที่มีเทคโนโลยีพัฒนาโดยบริษัทนี้ในเร็ววันก็เป็นได้

 

สำหรับผู้อ่านที่สนใจเรื่องเกี่ยวกับ ยานยนต์ไฟฟ้าและพลังงานทางเลือกใหม่ๆ สามารถ คลิกที่นี่ เพื่ออ่าน ข่าวและบทความอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

Related Articles

“เกีย เซลส์ (ประเทศไทย)” จัดงาน “Kia EV Playground” สนามเด็กเล่นแห่งแรกที่เกียชวนเด็กๆ มาเรียนรู้เกี่ยวกับพลังงานสะอาด พร้อมสัมผัส The Kia EV5 และ The Kia EV9 ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 12 พฤษภาคม 2567 ที่เมกาบางนา