โลกยานยนต์ไฟฟ้า ต้องโค้งงามๆ ให้กับ Rimac กับรถใส่ถ่านที่เร็วที่สุดในโลก

Rimac Nevera ผลงานล่าสุดของ Mate Rimac รถไฟฟ้าพาคุณไปด้วยความเร็วที่เข็มวัดความเร็วไปหยุดที่ 412 กม./ชม. พร้อมที่มาของแบรนด์
Share

 

อัตราเร่งจาก 0-100 กม/ชม. ในเวลาไม่ถึง 2 วินาที ก็ว่าจี๊ดใช่ย่อย แต่เดี๋ยวก่อน มันยังไม่สุด เพราะรถไฟฟ้าคันล่าสุดของค่ายออกมากระหน่ำสร้างความจี๊ดคูณสองด้วยการพาคุณไปด้วยความเร็วที่เข็มวัดความเร็วไปหยุดที่ 412 กม./ชม.

 

แม้ว่า Rimac Nevera จะไม่ได้ครองบัลลังค์ รถยนต์ ที่เร็วที่สุดในโลก แต่อย่างน้อยมันคือ รถใส่ถ่าน หรือรถยนต์ไฟฟ้าจากสายการผลิตจริงที่สามารถทำความเร็วสูงสุดในระดับที่เกิน 400 กม./ชม. และขยับจาก 0-100 ในเวลาไม่ถึง 2 วินาที เชื่อว่ามีน้อยคนที่จะทนกับสภาพความหวือขนาดนั้นได้

คำถามคือ Rimac Automobili นั้นคือใคร ทำไมอยู่ดีๆ ถึงสามารถสร้างรถยนต์ที่เร็วติดอันดับ 5 ของโลก เรามาทำความรู้จักกับบริษัทรถยนต์รายนี้ พร้อมดูผลงานล่าสุดอย่าง Rimac Nevera ที่พาให้แบรนด์นี้ มีที่ยืนในระดับโลกได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว

Rimac Technology
Picture : Rimac Automobili

 

Rimac Automobili จากฝันสู่ถนนของหนุ่มน้อยโครเอเชีย

จากข้อมูลน่าสนใจที่ว่า ในปี 2009 หนุ่มน้อยที่มีความชื่นชอบในการแก้ปัญหาและการสร้างสรรค์ มีแรงบันดาลใจจากการแข่งขันรถยนต์ไฟฟ้าและการสร้างรถยนต์เอง ชื่อของเขาคือ Mate Rimac ที่หอบความฝันมาประกาศสู่โลกยานยนต์ได้ อีกทั้งโชคดีที่มีนักลงทุนมองเห็นคุณค่าเหล่านั้น

แต่เดิม Mate มาสายวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ และก็เป็นเช่นผู้ชายหลายร้อยคนบนโลกที่หลงใหลกับรถสปอร์ตและ Supercar พร้อมมีความหวังอันสูงส่งว่า เมื่อโตขึ้นจะต้องสร้างรถยนต์ของตัวเองขึ้นให้ได้ โดยมองไปถึงการคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เข้ามาแก้ Pain Point ต่างๆ จากทั้งในอดีตและปัจจุบัน อย่างแรกคือเรื่องของพลังงานเพราะในใจของ Mate คิดอยู่เพียงแค่ รถไฟฟ้า เท่านั้น

ประวัติส่วนตัวของ Mate น่าสนใจมาก ตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นเด็กมัธยมปลาย เขาส่งสิ่งประดิษฐ์เข้าประกวดทั้งระดับชาติและนานาชาติ แน่นอนว่าได้รางวัลมากมายจากสิ่งประดิษฐ์อย่างถุงมือที่สามารถใช้งานแทนคีย์บอร์ดและเมาส์ในช่วงปี 2006-2007 ปี จนต่อมาเขานึกสนุกด้วยการเอา BMW Series 3 ของที่บ้านเอามาเปลี่ยนระบบขับเคลื่อนใหม่ให้กลายเป็นรถไฟฟ้า โดยตั้งชื่อให้มันว่า BMW e-M3

นี่คือประกายไฟ ที่ปะทุขึ้นครั้งแรกที่ทำให้ไอเดียของ Supercar พลังงานไฟฟ้าเกิดขึ้น หลังจากหนึ่งปีผ่านไป Rimac Automobili ก็ถูกจดทะเบียนขึ้นใน Sveta Nedelja, Croatia ในปี 2008 ด้วยพนักงานเริ่มต้นเพียง 11 คน และผ่านมาถึงปี 2011 Concept One ไฮเปอร์คาร์คันแรกของโลกที่ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าล้วนๆ ก็ออกมาเผยโฉมอวดสายตาชาวโลกในงานแสดงรถยนต์ระดับโลก Frankfurt Motor Show โดยที่รถคันนี้ใช้เวลาในการสร้างเพียงแค่ 5 เดือนเท่านั้น!

ในปีเดียวกันบริษัทได้ส่งเจ้า BMW e-M3 ต้นแบบความสนุกของ Mate ลองเข้าท้าชิงสถิติรถยนต์ไฟฟ้าที่เร่งได้เร็วที่สุดในโลก FIA World records for the fastest accelerating electric car ผลก็คือสามารถทุบสถิติเรียบ 5 ครั้งติดต่อกัน

 

ออกโชว์ตัวทั่วโลกในการแข่งขัน FIA Formula E Championship จนระดมทุนได้

หลายคนคงรู้ว่าในการพัฒนารถยนต์สักหนึ่งคัน สิ่งหนึ่งที่ต้องมีและสำคัญอย่างยิ่งคือ เรื่องของเงินทุน เช่นเดียวกันมีการผ่านขั้นตอนการระดมทุนหลายรอบเช่นกัน จนปัจจุบันบริษัทมีเงินทุนระดับ 876 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยใช้เวลาในการระดมทุนถึง 9 รอบ ปัจจุบันบริษัทอยู่ในระดับการระดมทุนที่ Series D

ความสำเร็จนี้น่าจะมาจากการเข้าร่วมรายการแข่งขัน FIA Formula E Championship ซึ่งก็เหมือนการแข่ง F1 ของโลกรถไฟฟ้า ข้อมูลบางกระแสเปิดเผยว่าเป็นเพราะ บริษัทเอง ได้ร่วมพัฒนาเทคโนโลยีสำคัญๆ ที่ใช้ในแพลตฟอร์มของ Formula E เลยทำให้บริษัทได้รับโอกาสในการพาเจ้า Concept_One สู่สายตาชาวโลกท่ามกลางนักลงทุนและกองทุนรายใหญ่ระดับโลก

Battery Pack in Rimac Nevera
Picture : Rimac Automobili

ตัวอย่างเช่น SoftBank Vision Fund, Goldman Sachs, Porsche Ventures, Kia Motors และ Hyundai Motor Company รวมแล้ว 10 ราย โดยมีกองทุนจากบริษัทในอุตสาหกรรมยานยนต์เข้ามาร่วมลงทุนด้วย ซึ่งไม่น่าแปลกใจว่าเทคโนโลยีอันโดดเด่นนั้นจะถูกนำไปใช้กับรถไฟฟ้ารุ่นใหม่ๆ ที่ออกสู่ตลาดด้วยเช่นกัน อย่างน้อยเท่าที่เห็นในตอนนี้คือ Porsche Tycan

ปี 2015 เปิดตัว รถ Tajima e-Runner รถแข่งแบบ Time Attack ให้กับ Nobuhiro Monster Tajima นักแข่งชื่อดังชาวญี่ปุ่นในรายการแข่งขันขับรถขึ้นภูเขา Pikes Peak International Hill Climb ในรัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา ผลการแข่งขัน Monster Tajima จบเป็นที่สองรองจากรถยนต์น้ำมัน

หลังจากนั้นในปีต่อมา บริษัทเปิดตัวเวอร์ชันสำหรับขายจริงของ Concept_One ปีถัดมามีการประกาศการลงทุนครั้งใหญ่จากบริษัทผู้ผลิตแบตเตอรี่รายใหญ่ที่สุดของเอเซีย ทำให้บริษัทสามารถขยายทีมทำงานเป็น 200 คน และเปิดตัวโครงการเพื่อเตรียมนำนวัตกรรมของบริษัทกระจายสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลก

2018 ถือว่าเป็นปีที่ดีของ บริษัท เพราะ Porsche (ที่ไม่ใช่ Porsche Ventures) เข้าร่วมเป็นผู้ถือหุ้นพร้อมกับเปิดตัว C Two รถต้นแบบคันที่สองของบริษัทใน Geneva Motor Show นอกจากนั้นยังได้ขยายศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีในประเทศจีนที่เมืองเซี่ยนหยาง พร้อมพนักงานจำนวน 400 คน

หลังจากนั้นการลงทุนก็หลั่งไหลเข้ามา โดยบริษัท Hyundai Motor Company เข้ามาเป็นอีกหนึ่งผู้ถือหุ้นนอกเหนือจาก Porsche AG ทำให้ Rimac สามารถวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ อีกทั้งได้มีการส่งต่อสิ่งที่บริษัทสามารถพัฒนาไปยังบริษัทรถยนต์รายอื่นๆ อย่าง Aston Martin, Cupra, Renault, Automobili Pininfarina, Koenigseg และอีกหลายราย

ปี 2020 ถือเป็นก้าวสำคัญ บริษัทสามารถพัฒนา C Two เข้าสู่ขั้นตอนสุดท้ายก่อนที่จะพัฒนาสู่กระบวนผลิตจริง และสายพานการผลิตจริงของรถรุ่นดังกล่าวก็เกิดขึ้น พร้อมทั้งจำนวนพนักงานก็เพิ่มเป็น 700 คน ซึ่งนับว่าโตเร็วมากและมีจำนวนพนักงานสูสีกับผู้ผลิต Supercar เจ้าใหญ่ของโลกเลยทีเดียว

ปี 2021 สร้างข่าวใหญ่อีกครั้ง ด้วยการประกาศเข้าควบรวมกิจการของ Bugatti แบรนด์รถยนต์ระดับไฮเปอร์คาร์จากฝรั่งเศส ที่ถือหุ้นโดย Volkswagen AG ผ่านการกำกับดูของ Porsche AG โดยภายหลังจากการควบรวมกิจการสำเร็จทั้งสองแบรนด์จะถูกดูแลโดย Porsche AG เหมือนเดิม

นั่นแปลว่าวันนี้ บริษัทคือผู้ผลิตรถยนต์ที่ถือครองสถิติทั้งสองประเภท สถิติแรกก็คือรถยนต์ไฟฟ้าที่เร่งความเร็วดีที่สุดในโลกจาก BMW e-M3 ซึ่งเกิดจากฝีมือของ Mate และ Bugatti Chiron Super Sport 300+ ที่เคยเป็นเจ้าของสถิติโลกที่ความเร็ว 436.8 กม./ชม.

 

Rimac NEVERA ผลงานชิ้นล่าสุด และที่สุดในทุกเทคโนโลยีบนโลกนี้

จากรถต้นแบบอย่าง C Two ได้ถูกนำมาพัฒนาต่อยอดทั้งในด้านวิศวกรรมและกระบวนการผลิตจากโรงงานในโครเอเชีย ทำให้รถไฟฟ้าคันนี้เรียกได้ว่าเข้าใกล้คำว่า สมบูรณ์แบบ มากกว่าต้นแบบใดๆ ที่บริษัทสร้างขึ้นมาก่อนหน้านี้ หากจะถามว่าเจ้าไฮเปอร์คาร์ไฟฟ้านี้มีพละกำลังมากแค่ไหน คร่าวๆ ก็คือพลังจากการปั่นของมอเตอร์ไฟฟ้าจำนวน 4 ตัวที่สร้างพลังงานประมาณ 1.4 เมกะวัตตส์ เทียบได้กับ 1,914 แรงม้า แรงบิดมหาศาล 2,360 นิวตันเมตร ที่พร้อมกระชากใจคนขับจากหยุดนิ่งแตะความเร็ว 100 กม./ชม. ใน 1.97 วินาที ที่ 300 กม./ชม. ใน 9.3 วินาที

เพื่อที่จะทำให้ได้ตัวเลขที่บอกไปแล้ว บริษัทต้องวิจัยเทคโนโลยีใหม่หมดไม่ว่าจะเป็นมอเตอร์ไฟฟ้าที่ใช้ในการขับเคลื่อนแต่ละล้อ ประสานกับระบบควบคุมแรงบิดที่ชุดมอเตอร์กระทำไปแต่ละล้อให้รถทั้งคันสามารถขับเคลื่อนไปได้อย่างนุ่มนวลและสอดประสานกันอย่างลงตัวที่สุด เพราะหากเกิดความผิดพลาดเพียงเสี้ยวเดียวที่ความเร็วสูงสุด 412 กม./ชม. นั่นหมายถึงความเสียหายทั้งรถและชีวิตของผู้โดยสาร

การออกแบบระบบถ่ายทอดกำลังที่ Rimac ประกาศว่าล้ำหน้าที่สุดนั้น นอกจากจะทำให้การนำเอาพลังงานทั้งหมดถ่ายทอดสู่การขับเคลื่อนที่มีประสิทธิภาพแล้ว นี่อาจเป็นสูตรลับที่เคยทำให้รถไฟฟ้าอย่าง Porsche Tycan สามารถทำการออกตัวแบบ Launch Control ได้ต่อเนื่องหลายสิบครั้ง แตกต่างจากรถไฟฟ้าอื่นๆ ที่เมื่อดึงพลังจากการออกตัวด้วยแรงบิดมหาศาลแล้ว จะทำแบบต่อเนื่องไม่ได้

 

ด้วยสนนราคา 2.2 ล้านเหรียญสหรัฐ และจำนวนจำกัดเพียง 150 คัน ทำให้ยากเหลือเกินที่จะได้เห็นไฮเปอร์คาร์ไฟฟ้าคันนี้ในเมืองไทย แต่เชื่อเถอะว่าอีกไม่นานคุณอาจจะได้ขับรถไฟฟ้าสักคันที่มีเทคโนโลยีพัฒนาโดยบริษัทนี้ในเร็ววันก็เป็นได้

 

สำหรับผู้อ่านที่สนใจเรื่องเกี่ยวกับ ยานยนต์ไฟฟ้าและพลังงานทางเลือกใหม่ๆ สามารถ คลิกที่นี่ เพื่ออ่าน ข่าวและบทความอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

Related Articles