ผ่าความสำเร็จ Tesla ในการเป็น role model รถไฟฟ้าคันแรกที่คนนึกถึง

Tesla Motor กับทุกเคล็ดลับความสำเร็จในการพารถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์ Tesla จนกลายเป็น Role Model ที่หลายๆ คนใช้เป็นตัวตั้งตนในการเลือกซื้อรถไฟฟ้า
Share

 

เราจะพาไปเจาะเหตุผลหลัก ที่ทำให้ Tesla Motor สามารถผลักดันให้ Model 3 หรือ Y กลายเป็นรถไฟฟ้าสามัญประจำบ้านสำหรับหลายตลาด ไม่รวมปัจจัยเรื่องของราคา

 

ถึงวันนี้ เมื่อพูดถึงรถยนต์ไฟฟ้า แบรนด์ที่ pop-up ขึ้นมาในหัวของใครหลายคน ก็คือ Tesla เพราะเป็นเจ้าแรกที่แปะยี่ห้อมากับคำว่ารถยนต์ไฟฟ้า ด้วยความล้ำและความสุดโต่งของเจ้าของแบรนด์ ทำให้ทั้ง Elon Musk และ Tesla กลายเป็นที่รู้จักกันดีในเวลารวดเร็ว และเมื่อกระแสความอินไม่เข้าใครออกใคร หลายคนถึงกับต้องสร้างเหตุผลให้กับตัวเองว่า รถ Tesla คือ “ของมันต้องมี”

3 ความต่าง นำไปสู่ “ของมันต้องมี”

สิ่งที่ทำให้ Tesla แตกต่างจากทุกบริษัทที่ผลิตสินค้าประเภทเดียวกัน ที่มีคุณสมบัติคล้ายกัน คือความเป็น Elon Musk ผู้ถือหุ้นใหญ่เจ้าของเดียวกับ SpaceX StarLink และ Twitter และ 3 ความต่างของ Tesla ที่โดดเด่น ฉีกจากความเป็นบริษัทในอุตสาหกรรมยานยนต์อื่นๆ ที่เห็นได้ชัด ประเด็นแรกก็คือ เทคโนโลยี ที่มาพร้อมวิธีคิดที่แฝงอยู่ในตัวผลิตภัณฑ์

Tesla Motor กับความต่างในอุตสาหกรรมยานยนต์ (โดยเฉพาะในไทย)

เรายังไม่พูดถึงความต่างด้านกายภาพ ซึ่งความต่างประเด็นแรกก็คือ รถยนต์ทุกรุ่นของ Tesla ถูกออกแบบด้วยแนวคิด Minimalism หมายถึงทุกอย่างต้องง่าย ตั้งแต่เรื่องการทดลองขับ เรื่อยมาจนถึงการจองรถ รับรถ ที่ลูกค้าสามารถติดต่อผ่านโลกออนไลน์ได้อย่างสะดวก แตกต่างจากความคุ้นชินเดิมๆ ของผู้บริโภคที่ทุกขั้นตอนแทบจะต้องผ่านพนักงานขายตัวเป็นๆ

แนวทางของ Tesla เริ่มจาก ถ้าคุณอยากลองรถ คุณสามารถทำได้วิธีการเดียวคือ การจองแบบออนไลน์ ซึ่งจะจองผ่านเว็บไซต์ www.tesla.com/th_th ก็ได้ หรือติดต่อจองผ่าน Line@ Official ก็ได้อีกเช่นกัน แต่ปัจจุบันมีศูนย์ Tesla Service Center แค่เพียงแห่งเดียว อยู่ที่ศูนย์การค้า Paseo รามคำแหง โดยเพิ่งเปิดตัวไปเมื่อต้นปี ส่วนใครจะลองขับ ใครจะรับรถก็ไปที่นี่ที่เดียวเลย

How to order Tesla car

หากลองรถกลับมาแล้วตกลงปลงใจว่าจะซื้อ มีวิธีการเดียวอีกเช่นกัน คือจองผ่านเว็บไซต์เดิมตอนไปขอจองเวลาทดลองขับนั่นแหละ สุดท้ายคือการจ่ายค่าจองรถ 3,000 บาท ที่เหลือคือการตรวจสอบความถูกต้องแล้วก็รอทางบริษัทติดต่อกลับมา

เมื่อรถรุ่นที่จองไปถูกผลิตเสร็จสรรพจากโรงงานในจีนและพร้อมขึ้นเรือมายังเมืองไทย ก็จะมีอีเมลติดต่อมาอีกครั้งเพื่อตรวจสอบความถูกต้อง ทั้งตรวจสอบวิธีการชำระเงินว่าสดหรือผ่อน เรื่อยไปจนถึงเรื่องการจดทะเบียน ซึ่ง ณ จุดนี้ 70% ของลูกค้าคนไทยจะรู้สึกขัดใจเป็นอย่างมาก เพราะวันที่รับรถ จะได้ป้ายทะเบียนแบบป้ายขาวทันที แทนที่จะเป็นป้ายแดงให้ได้ชื่นใจว่าเป็นรถใหม่

กลับมาที่ 3 เทคโนโลยี ที่สร้างความต่าง

เรากลับมาที่ไฮไลต์ของ 3 เทคโนโลยีที่ทำให้ Tesla นั้นแตกต่างจากรถยนต์รายอื่นๆ ที่เคยมีมาบนโลก แถมในวันนี้ Tesla เองก็กลายเป็น Benchmark ด้านเทคโนโลยีที่ใส่อยู่ในตัวรถ ขนาดที่ผู้ผลิตชั้นนำของโลกที่เดิมไม่เคยมองกระบวนการผลิตของ Tesla มาวันนี้ยังต้องคารวะ ชาบู ชาบู กันเลยทีเดียว

เรามาเริ่มกันที่กระบวนการผลิตตัวถังรถยนต์ Tesla ทุกรุ่น หลังจากที่ Elon Musk เข้าถือหุ้นใหญ่ของ Tesla ในปี 2004 สิ่งที่ Elon เข้ามาเติมฝันจากผู้ก่อตั้งสองคนก็คือ การทำให้เทคโนโลยีรถไฟฟ้า กลายเป็นยานยนต์ในโลกความจริงให้ได้ Showcase แรกหลังจากที่ Elon เข้ามาก็คือการนำเอาความรู้ทั้งหมดจากงานศึกษามาใช้ในการออกรถคันแรกภายใต้ชื่อ Tesla Roadster ที่มีราคาแพงมาก ต่อมาปี 2013 Model S คือ Showcase ที่สองสำหรับรถยนต์นั่งสี่ประตูขนาดกลาง (สำหรับตลาดอเมริกา) ซึ่งสนนราคาอยู่ที่ประมาณ 90,000 เหรียญสหรัฐ

ในระหว่างที่ออก Model S นี่เอง Elon ก็มองหาว่าจะลดต้นทุนในการผลิตรถยนต์นั่งให้เหมาะสมได้อย่างไร สิ่งแรกก็คือการวิ่งหาโรงงานที่เหมาะสำหรับขึ้นไลน์ผลิต และสุดท้ายก็ได้ดีลที่แสนพิเศษด้วยการเข้าซื้อโรงงานใน Fremont California โดยที่โรงงานนี้เป็นโรงงานประกอบรถยนต์เก่าของ Toyota (และนี่อาจจะเป็นอีกหนึ่งเบาะแส ที่ทำให้หลายคนมองเห็นความเกี่ยวพันกันระหว่าง Tesla, Toyota Elon และ Akio Toyoda ถึงขนาดที่ Toyota เคยมีรถยนต์ Rav4EV ออกมาขายและใช้เทคโนโลยีการขับเคลื่อนทั้งหมดรวมถึงประกอบในโรงงานของ Tesla)

ณ โรงงานแห่งนี้ เป็นที่ถือกำเนิดของเครื่องจักรยักษ์หนึ่งเดียวในโลกและมีเพียง Tesla เจ้าเดียวที่ใช้งานอยู่ (น่าจะเพราะติดลิขสิทธ์ เนื่องจาก Tesla เป็นผู้ออกแบบเครื่องจักรนี้เพื่อการผลิตรถของตัวเองเท่านั้น) โดยเจ้ายักษ์นี้มีชื่อว่า GigiaPress อาศัยโครงสร้างแท่นอัดไฮโดรลิคแรงอัดสูงของ iDara ซึ่งถือว่าเป็นบริษัทชั้นนำด้านอุตสาหกรรมแท่นปั๊มไฮโดรลิคอยู่แล้ว

Tesla's Gigapress

สิ่งที่ทำให้ GigaPress เหนือกว่าแท่นปั๊มชิ้นส่วนประกอบรถยนต์ธรรมดา ก็คือ Tesla ออกแบบให้มันสามารถปั๊มขึ้นรูปชิ้นส่วนที่ต่อเนื่องกันพร้อมๆ กันในครั้งเดียว เช่น หากคุณต้องการปั๊มขึ้นรูปของกรอบโครงสร้างหลังคา เครื่องปั๊มแบบเดิมอาจจะต้องปั๊มชิ้นส่วนออกมาทีละ 1 ชิ้น แต่กับ GigiaPress นั้นทำได้ม้วนเดียวจบ ลดทั้งจำนวนชิ้นส่วน วัตถุดิบและย่นระยะเวลาไปได้มาก

สำหรับ GigaPress เวอร์ชันล่าสุดที่เตรียมนำไปใช้กับโรงงานในอินเดียและเม็กซิโกนั้น Tesla ระบุว่าจะสามารถลดขั้นตอนการผลิตได้ประมาณ 30% ถ้าให้เทียบก็คือสามารถปั๊มชุดช่วงท้ายของรถ Model 3 ได้เกือบครบภายในครั้งเดียว

แม้ว่าจะใช้เครื่องจักรที่รวบรัดขั้นตอนขนาดนี้ Tesla ยังได้รับคำชมจากวิศวกรของ Toyota จากการนำรถ Model 3 รุ่นปัจจุบันไปถอดเพื่อศึกษา โดยเหล่าวิศวกรของ Toyota ก็ได้ให้ความเห็นออกสื่อว่า กระบวนการผลิตและประกอบชิ้นส่วนของ Tesla นั้นล้ำหน้าพวกเขาไปมาก

Motor ที่ออกแบบมาเพื่อการเป็นรถยนต์ไฟฟ้า

Tesla's drivetrain with Electric Motor

หัวใจสำคัญของการเป็นรถยนต์ไฟฟ้า คือการมีมอเตอร์ไว้ขับเคลื่อนตัวรถ แต่ Tesla คิดไว้ละเอียดลึกซึ้งกว่านั้น คือเลือกที่จะศึกษาวิจัยเรื่องของมอเตอร์ที่ให้มากกว่าแค่การขับเคลื่อน นั่นคือเรื่องของประสิทธิภาพการทำงาน ทั้งความแรงและการใช้พลังงานได้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

Elon Musk เคยพูดถึงการเลือกใช้มอเตอร์ในรถ Tesla ไว้ในสารคดีของ Discovery Channel ว่า “เมื่อรถของเราใช้ชื่อว่า Tesla นั่นหมายถึงว่าเราต้องสืบสานความรู้และนำความรู้เหล่านั้นมาใช้เพื่อเป็นเกียรติต่อ Nichola Tesla นักวิทยาศาสตร์ผู้อาภัพ”

ด้วยมอเตอร์แบบแม่เหล็กถาวรไฟฟ้ากระแสสลับที่ใช้ขับเคลื่อนจากด้านท้าย และมอเตอร์แบบแม่เหล็กเหนี่ยวนำสำหรับการขับเคลื่อนทางด้านหน้า บวกกับการค้นคว้าหาวิธีการสร้างแกนกลางและการพันเส้นลวดเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพการทำงานและใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ถึงตอนนี้มอเตอร์รุ่นอัพเดตที่ใช้แกนกลางแบบคาร์บอนถูกจัดอยู่ในมอเตอร์ที่แรงและทรงประสิทธิภาพมากที่สุด 1 ใน 3 ของรถยนต์ไฟฟ้าแบบที่ผลิตออกขายโดยทั่วไป

เทคโนโลยีที่ 3 ที่ Tesla ออกแบบเองก็คือเรื่องของแบตเตอรี่ ซึ่งปัจจุบันเรื่องของเซลล์แบตทางบริษัทอาจเปลี่ยนไปให้ผู้ผลิตชั้นนำของโลกอย่าง CATL ผลิต และดูเหมือนสนใจอยากทำงานร่วมกับดาวรุ่งอย่าง BYD อยู่ด้วย แต่เดิมนั้น Tesla เองก็เคยเป็นผู้กำหนดมาตรฐานเซลล์แบตสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า

Tesla New type Battery 4680
Credit Picture : www.blink-drive.com

ซึ่งปัจจุบันแบตขนาด 18650 และ 2170 คือที่ใช้กัน แต่บริษัทได้ประกาศว่าจะมีการนำเอาแบต 4680 มาใช้ และสิ่งที่น่าสนใจกว่านั้น ก็คือระบบบริหารจัดการพลังงานต่างหาก (Energy Management Systems) ซึ่ง Tesla ถือเป็นหนึ่งในบริษัทชั้นนำของโลกที่มีระบบนี้ ทำให้รถยนต์ Tesla ทุกรุ่น มีการใช้พลังงานไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ทั้งหมดที่เล่ามา คือความสุดด้านเทคโนโลยีและความต่างที่ Tesla มี เพื่อเป็นความรู้พื้นฐานสำหรับคนที่กำลังมองหารถยนต์ไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ใดก็ตาม เพราะการเลือกรถก็คล้ายกับการเลือกแฟน ต้องคบกันด้วยความสบายใจ ไม่ใช่เพราะใครบอกว่าดี บางคนอาจชอบรูปลักษณ์ บางคนอาจชอบนิสัย สิ่งสำคัญคือความชอบของแต่ละคนล้วนแตกต่างกันไป แค่เลือกให้ถูกใจเราก็พอ

 

สำหรับผู้อ่านที่ติดตาม ข่าวสาร และ บทความที่เกี่ยวกับ ยานยนต์ไฟฟ้า สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ ที่นี่

Related Articles

“เกีย เซลส์ (ประเทศไทย)” จัดงาน “Kia EV Playground” สนามเด็กเล่นแห่งแรกที่เกียชวนเด็กๆ มาเรียนรู้เกี่ยวกับพลังงานสะอาด พร้อมสัมผัส The Kia EV5 และ The Kia EV9 ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 12 พฤษภาคม 2567 ที่เมกาบางนา

“เกีย เซลส์ (ประเทศไทย)” เปิดตัว “The Kia EV5” รถเอสยูวีขนาดกลาง ไฟฟ้า 100% ครบไลน์อัป ที่ให้ความอเนกประสงค์เต็มรูปแบบรุ่นแรกในไทย ราคาพิเศษช่วงเปิดตัวเริ่มต้น 1,249,000 บาท ในงานมอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 45