ผ่าความสำเร็จ Tesla ในการเป็น role model รถไฟฟ้าคันแรกที่คนนึกถึง

Tesla Motor กับทุกเคล็ดลับความสำเร็จในการพารถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์ Tesla จนกลายเป็น Role Model ที่หลายๆ คนใช้เป็นตัวตั้งตนในการเลือกซื้อรถไฟฟ้า
Share

 

เราจะพาไปเจาะเหตุผลหลัก ที่ทำให้ Tesla Motor สามารถผลักดันให้ Model 3 หรือ Y กลายเป็นรถไฟฟ้าสามัญประจำบ้านสำหรับหลายตลาด ไม่รวมปัจจัยเรื่องของราคา

 

ถึงวันนี้ เมื่อพูดถึงรถยนต์ไฟฟ้า แบรนด์ที่ pop-up ขึ้นมาในหัวของใครหลายคน ก็คือ Tesla เพราะเป็นเจ้าแรกที่แปะยี่ห้อมากับคำว่ารถยนต์ไฟฟ้า ด้วยความล้ำและความสุดโต่งของเจ้าของแบรนด์ ทำให้ทั้ง Elon Musk และ Tesla กลายเป็นที่รู้จักกันดีในเวลารวดเร็ว และเมื่อกระแสความอินไม่เข้าใครออกใคร หลายคนถึงกับต้องสร้างเหตุผลให้กับตัวเองว่า รถ Tesla คือ “ของมันต้องมี”

3 ความต่าง นำไปสู่ “ของมันต้องมี”

สิ่งที่ทำให้ Tesla แตกต่างจากทุกบริษัทที่ผลิตสินค้าประเภทเดียวกัน ที่มีคุณสมบัติคล้ายกัน คือความเป็น Elon Musk ผู้ถือหุ้นใหญ่เจ้าของเดียวกับ SpaceX StarLink และ Twitter และ 3 ความต่างของ Tesla ที่โดดเด่น ฉีกจากความเป็นบริษัทในอุตสาหกรรมยานยนต์อื่นๆ ที่เห็นได้ชัด ประเด็นแรกก็คือ เทคโนโลยี ที่มาพร้อมวิธีคิดที่แฝงอยู่ในตัวผลิตภัณฑ์

Tesla Motor กับความต่างในอุตสาหกรรมยานยนต์ (โดยเฉพาะในไทย)

เรายังไม่พูดถึงความต่างด้านกายภาพ ซึ่งความต่างประเด็นแรกก็คือ รถยนต์ทุกรุ่นของ Tesla ถูกออกแบบด้วยแนวคิด Minimalism หมายถึงทุกอย่างต้องง่าย ตั้งแต่เรื่องการทดลองขับ เรื่อยมาจนถึงการจองรถ รับรถ ที่ลูกค้าสามารถติดต่อผ่านโลกออนไลน์ได้อย่างสะดวก แตกต่างจากความคุ้นชินเดิมๆ ของผู้บริโภคที่ทุกขั้นตอนแทบจะต้องผ่านพนักงานขายตัวเป็นๆ

แนวทางของ Tesla เริ่มจาก ถ้าคุณอยากลองรถ คุณสามารถทำได้วิธีการเดียวคือ การจองแบบออนไลน์ ซึ่งจะจองผ่านเว็บไซต์ www.tesla.com/th_th ก็ได้ หรือติดต่อจองผ่าน Line@ Official ก็ได้อีกเช่นกัน แต่ปัจจุบันมีศูนย์ Tesla Service Center แค่เพียงแห่งเดียว อยู่ที่ศูนย์การค้า Paseo รามคำแหง โดยเพิ่งเปิดตัวไปเมื่อต้นปี ส่วนใครจะลองขับ ใครจะรับรถก็ไปที่นี่ที่เดียวเลย

How to order Tesla car

หากลองรถกลับมาแล้วตกลงปลงใจว่าจะซื้อ มีวิธีการเดียวอีกเช่นกัน คือจองผ่านเว็บไซต์เดิมตอนไปขอจองเวลาทดลองขับนั่นแหละ สุดท้ายคือการจ่ายค่าจองรถ 3,000 บาท ที่เหลือคือการตรวจสอบความถูกต้องแล้วก็รอทางบริษัทติดต่อกลับมา

เมื่อรถรุ่นที่จองไปถูกผลิตเสร็จสรรพจากโรงงานในจีนและพร้อมขึ้นเรือมายังเมืองไทย ก็จะมีอีเมลติดต่อมาอีกครั้งเพื่อตรวจสอบความถูกต้อง ทั้งตรวจสอบวิธีการชำระเงินว่าสดหรือผ่อน เรื่อยไปจนถึงเรื่องการจดทะเบียน ซึ่ง ณ จุดนี้ 70% ของลูกค้าคนไทยจะรู้สึกขัดใจเป็นอย่างมาก เพราะวันที่รับรถ จะได้ป้ายทะเบียนแบบป้ายขาวทันที แทนที่จะเป็นป้ายแดงให้ได้ชื่นใจว่าเป็นรถใหม่

กลับมาที่ 3 เทคโนโลยี ที่สร้างความต่าง

เรากลับมาที่ไฮไลต์ของ 3 เทคโนโลยีที่ทำให้ Tesla นั้นแตกต่างจากรถยนต์รายอื่นๆ ที่เคยมีมาบนโลก แถมในวันนี้ Tesla เองก็กลายเป็น Benchmark ด้านเทคโนโลยีที่ใส่อยู่ในตัวรถ ขนาดที่ผู้ผลิตชั้นนำของโลกที่เดิมไม่เคยมองกระบวนการผลิตของ Tesla มาวันนี้ยังต้องคารวะ ชาบู ชาบู กันเลยทีเดียว

เรามาเริ่มกันที่กระบวนการผลิตตัวถังรถยนต์ Tesla ทุกรุ่น หลังจากที่ Elon Musk เข้าถือหุ้นใหญ่ของ Tesla ในปี 2004 สิ่งที่ Elon เข้ามาเติมฝันจากผู้ก่อตั้งสองคนก็คือ การทำให้เทคโนโลยีรถไฟฟ้า กลายเป็นยานยนต์ในโลกความจริงให้ได้ Showcase แรกหลังจากที่ Elon เข้ามาก็คือการนำเอาความรู้ทั้งหมดจากงานศึกษามาใช้ในการออกรถคันแรกภายใต้ชื่อ Tesla Roadster ที่มีราคาแพงมาก ต่อมาปี 2013 Model S คือ Showcase ที่สองสำหรับรถยนต์นั่งสี่ประตูขนาดกลาง (สำหรับตลาดอเมริกา) ซึ่งสนนราคาอยู่ที่ประมาณ 90,000 เหรียญสหรัฐ

ในระหว่างที่ออก Model S นี่เอง Elon ก็มองหาว่าจะลดต้นทุนในการผลิตรถยนต์นั่งให้เหมาะสมได้อย่างไร สิ่งแรกก็คือการวิ่งหาโรงงานที่เหมาะสำหรับขึ้นไลน์ผลิต และสุดท้ายก็ได้ดีลที่แสนพิเศษด้วยการเข้าซื้อโรงงานใน Fremont California โดยที่โรงงานนี้เป็นโรงงานประกอบรถยนต์เก่าของ Toyota (และนี่อาจจะเป็นอีกหนึ่งเบาะแส ที่ทำให้หลายคนมองเห็นความเกี่ยวพันกันระหว่าง Tesla, Toyota Elon และ Akio Toyoda ถึงขนาดที่ Toyota เคยมีรถยนต์ Rav4EV ออกมาขายและใช้เทคโนโลยีการขับเคลื่อนทั้งหมดรวมถึงประกอบในโรงงานของ Tesla)

ณ โรงงานแห่งนี้ เป็นที่ถือกำเนิดของเครื่องจักรยักษ์หนึ่งเดียวในโลกและมีเพียง Tesla เจ้าเดียวที่ใช้งานอยู่ (น่าจะเพราะติดลิขสิทธ์ เนื่องจาก Tesla เป็นผู้ออกแบบเครื่องจักรนี้เพื่อการผลิตรถของตัวเองเท่านั้น) โดยเจ้ายักษ์นี้มีชื่อว่า GigiaPress อาศัยโครงสร้างแท่นอัดไฮโดรลิคแรงอัดสูงของ iDara ซึ่งถือว่าเป็นบริษัทชั้นนำด้านอุตสาหกรรมแท่นปั๊มไฮโดรลิคอยู่แล้ว

Tesla's Gigapress

สิ่งที่ทำให้ GigaPress เหนือกว่าแท่นปั๊มชิ้นส่วนประกอบรถยนต์ธรรมดา ก็คือ Tesla ออกแบบให้มันสามารถปั๊มขึ้นรูปชิ้นส่วนที่ต่อเนื่องกันพร้อมๆ กันในครั้งเดียว เช่น หากคุณต้องการปั๊มขึ้นรูปของกรอบโครงสร้างหลังคา เครื่องปั๊มแบบเดิมอาจจะต้องปั๊มชิ้นส่วนออกมาทีละ 1 ชิ้น แต่กับ GigiaPress นั้นทำได้ม้วนเดียวจบ ลดทั้งจำนวนชิ้นส่วน วัตถุดิบและย่นระยะเวลาไปได้มาก

สำหรับ GigaPress เวอร์ชันล่าสุดที่เตรียมนำไปใช้กับโรงงานในอินเดียและเม็กซิโกนั้น Tesla ระบุว่าจะสามารถลดขั้นตอนการผลิตได้ประมาณ 30% ถ้าให้เทียบก็คือสามารถปั๊มชุดช่วงท้ายของรถ Model 3 ได้เกือบครบภายในครั้งเดียว

แม้ว่าจะใช้เครื่องจักรที่รวบรัดขั้นตอนขนาดนี้ Tesla ยังได้รับคำชมจากวิศวกรของ Toyota จากการนำรถ Model 3 รุ่นปัจจุบันไปถอดเพื่อศึกษา โดยเหล่าวิศวกรของ Toyota ก็ได้ให้ความเห็นออกสื่อว่า กระบวนการผลิตและประกอบชิ้นส่วนของ Tesla นั้นล้ำหน้าพวกเขาไปมาก

Motor ที่ออกแบบมาเพื่อการเป็นรถยนต์ไฟฟ้า

Tesla's drivetrain with Electric Motor

หัวใจสำคัญของการเป็นรถยนต์ไฟฟ้า คือการมีมอเตอร์ไว้ขับเคลื่อนตัวรถ แต่ Tesla คิดไว้ละเอียดลึกซึ้งกว่านั้น คือเลือกที่จะศึกษาวิจัยเรื่องของมอเตอร์ที่ให้มากกว่าแค่การขับเคลื่อน นั่นคือเรื่องของประสิทธิภาพการทำงาน ทั้งความแรงและการใช้พลังงานได้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

Elon Musk เคยพูดถึงการเลือกใช้มอเตอร์ในรถ Tesla ไว้ในสารคดีของ Discovery Channel ว่า “เมื่อรถของเราใช้ชื่อว่า Tesla นั่นหมายถึงว่าเราต้องสืบสานความรู้และนำความรู้เหล่านั้นมาใช้เพื่อเป็นเกียรติต่อ Nichola Tesla นักวิทยาศาสตร์ผู้อาภัพ”

ด้วยมอเตอร์แบบแม่เหล็กถาวรไฟฟ้ากระแสสลับที่ใช้ขับเคลื่อนจากด้านท้าย และมอเตอร์แบบแม่เหล็กเหนี่ยวนำสำหรับการขับเคลื่อนทางด้านหน้า บวกกับการค้นคว้าหาวิธีการสร้างแกนกลางและการพันเส้นลวดเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพการทำงานและใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ถึงตอนนี้มอเตอร์รุ่นอัพเดตที่ใช้แกนกลางแบบคาร์บอนถูกจัดอยู่ในมอเตอร์ที่แรงและทรงประสิทธิภาพมากที่สุด 1 ใน 3 ของรถยนต์ไฟฟ้าแบบที่ผลิตออกขายโดยทั่วไป

เทคโนโลยีที่ 3 ที่ Tesla ออกแบบเองก็คือเรื่องของแบตเตอรี่ ซึ่งปัจจุบันเรื่องของเซลล์แบตทางบริษัทอาจเปลี่ยนไปให้ผู้ผลิตชั้นนำของโลกอย่าง CATL ผลิต และดูเหมือนสนใจอยากทำงานร่วมกับดาวรุ่งอย่าง BYD อยู่ด้วย แต่เดิมนั้น Tesla เองก็เคยเป็นผู้กำหนดมาตรฐานเซลล์แบตสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า

Tesla New type Battery 4680
Credit Picture : www.blink-drive.com

ซึ่งปัจจุบันแบตขนาด 18650 และ 2170 คือที่ใช้กัน แต่บริษัทได้ประกาศว่าจะมีการนำเอาแบต 4680 มาใช้ และสิ่งที่น่าสนใจกว่านั้น ก็คือระบบบริหารจัดการพลังงานต่างหาก (Energy Management Systems) ซึ่ง Tesla ถือเป็นหนึ่งในบริษัทชั้นนำของโลกที่มีระบบนี้ ทำให้รถยนต์ Tesla ทุกรุ่น มีการใช้พลังงานไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ทั้งหมดที่เล่ามา คือความสุดด้านเทคโนโลยีและความต่างที่ Tesla มี เพื่อเป็นความรู้พื้นฐานสำหรับคนที่กำลังมองหารถยนต์ไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ใดก็ตาม เพราะการเลือกรถก็คล้ายกับการเลือกแฟน ต้องคบกันด้วยความสบายใจ ไม่ใช่เพราะใครบอกว่าดี บางคนอาจชอบรูปลักษณ์ บางคนอาจชอบนิสัย สิ่งสำคัญคือความชอบของแต่ละคนล้วนแตกต่างกันไป แค่เลือกให้ถูกใจเราก็พอ

 

สำหรับผู้อ่านที่ติดตาม ข่าวสาร และ บทความที่เกี่ยวกับ ยานยนต์ไฟฟ้า สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ ที่นี่

Related Articles