สกมช. ผนึกกำลัง หัวเว่ย เร่งปั้นบุคลากรด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ผ่านการแข่งขัน เพื่ออนาคตดิจิทัลอันปลอดภัยของประเทศไทย

Share

 

ปัจจุบันองค์กรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงประชาชนทั่วไปต่างเป็นส่วนหนึ่งของโลกไซเบอร์ เนื่องจากเทคโนโลยีดิจิทัลมีส่วนช่วยให้เราสามารถเข้าถึงบริการต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วและใช้งานได้อย่างสะดวกสบายขึ้นเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการโอนเงินผ่านแอปพลิเคชันออนไลน์ ที่ทำให้เราไม่ต้องเดินทางไปที่ธนาคารเอง หรือการส่งเอกสารผ่านอีเมล ทำให้ข้อมูลสำคัญจำนวนมากถูกส่งถึงกันได้ในเวลาเพียงไม่กี่วินาที อย่างไรก็ตาม ความสะดวกสบายเกินไปก็อาจกลายเป็นดาบสองคม เพราะมันทำให้บางครั้งหลายฝ่ายอาจไม่ได้นึกถึงประเด็นเรื่องความเป็นส่วนตัวหรือความปลอดภัย จนเกิดเป็นปัญหาลุกลามด้านการฉ้อโกง การขโมยข้อมูลสำคัญ หรือแม้แต่การเรียกค่าไถ่ทางไซเบอร์กับองค์กรขนาดใหญ่หลายแห่งทั่วโลก  ประเด็นเรื่อง “ความปลอดภัยทางไซเบอร์” จึงกลายเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกฝ่ายต้องหันมาร่วมมือกันพัฒนาความปลอดภัยของระบบ รวมถึงเร่งพัฒนาศักยภาพของบุคลากรด้านดิจิทัลที่ที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องการดูแลความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity) ของระบบโดยเฉพาะ เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อภัยคุกคามที่เสี่ยงจะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างทันท่วงที และพร้อมรับกับทั้งโอกาสและความท้าทายที่กำลังจะมาถึง

หน่วยงานภาครัฐอย่างสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) เล็งเห็นความสำคัญของทรัพยากรบุคคลด้านดิจิทัลและด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ที่จะต้องถูกป้อนเข้าตลาดแรงงานไทยให้เพียงพอ จึงได้ร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ที่เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีในภาคเอกชนอย่าง บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด จัดการแข่งขัน Thailand Cyber Top Talent 2023 ขึ้น โดยมุ่งหวังพัฒนาทักษะให้กลุ่มคนรุ่นใหม่มีความรู้ความสามารถด้านดิจิทัลที่เหมาะสม จนสามารถเป็นบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์โดยเฉพาะ และเป็นผลงานคุณภาพจากภาคการศึกษาไทยที่จะเดินทางเข้าสู่หน่วยงานหรือองค์กรไทยทุกแห่งในอนาคต

การแข่งขัน Thailand Cyber Top Talent 2023 แบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับมัธยมศึกษา ระดับอุดมศึกษา และระดับประชาชนทั่วไป โดยล่าสุดทีม Rebooster แชมป์เก่าตัวแทนจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ คว้ารางวัลชนะเลิศกลายเป็นแชมป์สมัยที่ 2 ติดต่อกัน หลังเอาชนะทีมจำนวน 354 ทีมจากทั่วประเทศที่เข้าร่วมการแข่งขัน ถือเป็นครั้งแรกที่สถาบันในระดับอุดมศึกษาของประเทศไทยสามารถทำได้ ส่งให้สมาชิกของทีมประกอบด้วย นรต.วรรณกร นุ่นประดิษฐ์ นรต.ทัศไนย มานิตย์ และ นรต.สุดฤทธิ์ วงษ์สุวรรณ จะได้รับสิทธิเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันในรายการ Cyber SEA Game 2023 ที่มีผู้ชนะจากทั่วภูมิภาคมาร่วมประชันฝีมือ

นรต.สุดฤทธิ์ วงษ์สุวรรณ ตัวแทนจากทีม Rebooster ผู้ชนะการแข่งขันได้กล่าวถึงประสบการณ์และความรู้ที่ได้จากการแข่งขัน Thailand Cyber Top Talent 2023 ว่า “การเข้าร่วมการแข่งขันทำให้ผมได้เจอกับเพื่อน ๆ หลายคน และยังได้แลกเปลี่ยนความรู้กับเพื่อนคนอื่น ๆ ในวงการ Cyber Security ของประเทศไทย ระหว่างการแข่งผมได้เรียนรู้เทคนิคในการเจาะระบบเพิ่มขึ้นมาก ทีมงานจะให้เรามาแข่งแฮกระบบและเว็บไซต์ต่าง ๆ โดยมีโจทย์มาให้เราทำ ฝั่งหนึ่งเป็นคนเจาะระบบและอีกฝั่งเป็นคนป้องกัน ซึ่งทีมผมก็ทำทั้งสองฝั่งและมีการวิเคราะห์ไฟล์ต่าง ๆ ซึ่งทีมเรามีคะแนนรวมสูงที่สุดจากผู้เข้าร่วมการแข่งขันทั้งหมด 831 ทีม จึงได้รางวัลชนะเลิศ ก่อนการแข่งขันผมได้เรียนรู้เรื่องไซเบอร์จากโรงเรียนนายร้อยตำรวจที่ได้ทำ MOU กับหัวเว่ย ให้ใช้เทคโนโลยีหัวเว่ย คลาวด์ จึงได้เรียนรู้ค่อนข้างมาก ซึ่งในอนาคตผมสนใจไปทำงานที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ที่มักจะรับคนที่มีความรู้ทักษะเกี่ยวกับด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์มาทำงาน ไปเป็นตำรวจที่ทำหน้าที่จับผู้ร้ายที่เปิดเว็บไซต์ผิดกฎหมาย เช่น เว็บพนัน หรือ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่ต้องตามหาต้นตอให้เจอ บางคนในทีมของเราอาจจะไปทำงานด้านพิสูจน์หลักฐาน เช่น การจัดการกับหลักฐานที่ถูกทำลายอย่างฮาร์ดดิสก์ ทุกครั้งที่มีการจัดการแข่งขันเกี่ยวกับด้านไซเบอร์ ผมรู้สึกดีใจมากที่คนไทยให้ความสนใจอยากรู้ว่ามันเกี่ยวกับอะไร ตัวผมเองก็ได้มีโอกาสไปหาความรู้ในด้านนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเชื่อว่าคนไทยหลายคนทั้งที่ร่วมแข่งและไม่ได้เข้าร่วมก็อยากรู้เกี่ยวกับเรื่องไซเบอร์ซีเคียวริตี้มากขึ้นด้วยเช่นกัน”

เขายังมองว่าการจะทำให้ประเทศไทยมีมาตรการรักษาความปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น อาจจะเริ่มจากการให้องค์กรต่าง ๆ ในไทยให้ข้อมูลที่สอดแทรกความรู้ด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์แก่คนไทยมากขึ้น เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ การเจาะระบบในรูปแบบฟิชชิง (Phishing) หรือการสร้างเว็บไซต์อย่างไรให้ว่าไม่มีช่องโหว่หรือมีช่องให้แฮกน้อย ซึ่งข้อมูลจากหลายปีที่ผ่านมาทำให้รู้ว่าเว็บไซต์ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยมีช่องโหว่ที่ตรวจพบได้เยอะมาก เนื่องจากเจ้าของเว็บไซต์เขียนโค้ดได้ไม่ปลอดภัย หรืออาจจะใช้บริการที่มีช่องโหว่ ทำให้แฮกเกอร์สามารถเจาะระบบเข้าไปได้ง่าย ๆ

ด้านนรต.วรรณกร นุ่นประดิษฐ์ ยังให้ข้อมูลเสริมว่าเทคโนโลยีอย่างปัญญาประดิษฐ์ (AI) ก็เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญที่สามารถช่วยป้องกันภัยคุกคามได้ แต่ก็ยังมีความแม่นยำต่ำและสามารถช่วยได้ในระดับพื้นฐานเท่านั้น จึงต้องรอการพัฒนาต่อยอดต่อไปในอนาคต ซึ่งปัจจุบันระบบ Cyber Security ของหัวเว่ยและผู้พัฒนาอีกหลายราย ๆ ก็ได้รับการออกแบบมาป้องกันภัยคุกคาม ได้ดี โดยผลิตภัณฑ์จะมีการอัปเดตอยู่เสมอเพื่อป้องกันช่องโหว่ใหม่ ๆ เพราะทุกระบบจะมีช่องโหว่อยู่ แต่ขึ้นอยู่กับว่าจะถูกตรวจพบเมื่อไหร่ ซึ่งเทคโนโลยีของหัวเว่ยมีคุณภาพที่ดีเยี่ยม เพราะมีระบบการตรวจสอบสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจน และทำได้ง่าย

ความสำเร็จในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งในความคืบหน้าสำคัญของโครงการฝึกอบรมบุคลากรด้านดิจิทัลในประเทศไทยของทาง สวทช. ที่มุ่งสร้างบุคลากรดิจิทัลในหน่วยงานรัฐของประเทศไทยที่ปัจจุบันมีเพียง 0.5% จากบุคลากรทั้งหมด 460,000 คน โดยการแข่งขัน Thailand Cyber Top Talent เป็นการร่วมมือกับ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ที่จัดขึ้นต่อเนื่องมาเป็นเวลา 3 ปี เพื่อพัฒนาบุคลากรไทยในด้านดิจิทัล ผ่านการจัดกิจกรรม การแข่งขัน การฝึกอบรม การเขียนโค้ดให้มีความรัดกุมปลอดภัย และยังสนับสนุนไปถึงเรื่องการสอบใบรับรองด้านวิศวกรเครือข่ายในรูปแบบต่าง ๆ อีกด้วย

ทั้งนี้บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด มีความตั้งใจที่จะส่งเสริมให้ประเทศไทยมีความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์เช่นเดียวกับทาง สกมช. โดยได้นำเทคโนโลยีชั้นนำเข้ามาช่วยสนับสนุนทางด้านการศึกษาให้กับหลาย ภาคส่วนของประเทศไทย นอกจากนี้ยังได้ร่วมสนับสนุนโครงการแข่งขันทักษะทางไซเบอร์กับ สกมช. และหน่วยงานอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านดิจิทัลของประเทศไทยผ่านการบ่มเพาะบุคลากร ตามพันธกิจของหัวเว่ยที่ว่า ‘เติบโตไปพร้อมกับประเทศไทย และร่วมสนับสนุนประเทศไทย’ เพื่อการผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลอย่างยั่งยืนในระดับภูมิภาคต่อไปในอนาคต

 

Related Articles