Internet of Thing trending to Service : เลิกเรียกว่าสิ่งเล็กๆ หน้าที่แค่ Sensor

IoT trending to Service
Share

 

ปี 2022 ถึงเวลาเปลี่ยนโฉม IoT สู่การบริการ

ได้เวลา IoT เติบโตเต็มที่ บรรดาผู้จำหน่ายต่างทยอยกันนำเสนอ IoT แบบควบรวมแอปพลิเคชันไว้ด้วยกัน เพื่อการใช้งานที่ง่ายและพร้อมมือมากขึ้น แต่ความปลอดภัยก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องระวังกันเช่นเดิม

Internet of Things เป็นเทคโนโลยีที่ได้รับความนิยมกันมานานหลายปีแล้ว ยิ่งในช่วงที่มีการระบาดของโควิดอย่างหนัก ผู้คนต้องทำงานจากระยะไกล ก็ยิ่งผลักดันให้มีการใช้ IoT กันมากขึ้นกว่าเดิมมาก และเมื่อ IoT เริ่มโตเต็มที่ ผู้จำหน่ายก็เริ่มสบช่อง ด้วยการขายแอปพลิเคชันที่ช่วยให้ใช้งานได้อย่างเต็มรูปแบบ ทำให้ IoT ไม่ได้เป็นแค่องค์ประกอบให้ธุรกิจไว้ใช้สร้างระบบเองอีกต่อไป

การระบาดครั้งใหญ่ของ COVID-19  นอกจากจะทำให้เทคโนโลยี IoT เติบโตอย่างรวดเร็วแล้ว ยังรวมไปถึงเรื่องการบำรุงรักษาที่คาดการณ์ล่วงหน้าได้ สำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ และระบบออโตเมชั่นที่ควบคุมเรื่องต่างๆ รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกในระบบขนส่ง  ซึ่งในหลายพื้นที่เหล่านั้น IoT ช่วยจำกัดเวลาเข้าไปที่หน้างาน เนื่องจากการสอดส่องดูแลระบบจากระยะไกล ไม่จำเป็นต้องเข้าไปซ่อมบำรุงด้วยตัวเอง เพราะบางฟังก์ชัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการตรวจสอบบางอย่างและงานบริการบางประเภทสามารถดูแลจัดการได้จากระยะไกลได้อย่างเต็มรูปแบบ จึงช่วยลดเวลาที่พนักงานต้องเข้าไปทำงานที่หน้างานได้

IoT trending to Service in 2022

แอปฯ IoT เชิงการค้ามาแรง

Gartner เผยถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของ IoT ที่จะไม่ใช่แค่การเชื่อมต่อแบบพื้นฐานธรรมดา ที่ผู้จำหน่ายฮาร์ดแวร์แค่ขายเรื่องการเอาข้อมูลจากอุปกรณ์และเซนเซอร์ต่างๆ ที่ติดตั้งในภาคสนามส่งขึ้นคลาวด์ แต่จะมุ่งไปสู่แอปพลิเคชันที่ผสานรวมการทำงานอย่างเต็มรูปแบบ

“สิ่งที่คืบหน้าอย่างแท้จริงในปี 2564 และถือเป็นแนวโน้มที่โดดเด่นคือแอปพลิเคชันธุรกิจที่เป็นระบบปิดมากขึ้น ซึ่งเราเห็นบริษัทหลายแห่งเปิดตัวกลยุทธ์ที่ห้ามขายแพลตฟอร์ม IoT อย่างเดียว แต่ให้ขายแอปพลิเคชัน พร้อม IoT” Al Velosa รองประธานและนักวิเคราะห์ของ Gartner กล่าว

Velosa ยังพูดว่าการเปลี่ยนจากการขายส่วนประกอบ ไปสู่ขายเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถือเป็นสัญญาณการเติบโตที่ดีในตลาด IoT   โดยในอดีต บริษัทอย่าง Sigfox อาจนำเสนอระบบเชื่อมต่อเครือข่ายให้กับธุรกิจที่มีอุปกรณ์ปลายทางสำหรับเชื่อมต่อและใช้แบ็คเอนด์บนคลาวด์ แต่ปัจจุบัน ทั้ง GE, Siemens และบริษัทอื่นๆ กำลังขายเทคโนโลยีเพื่อการดำเนินงานในรูปของบริการแบบครบวงจร แต่นั่นก็ยังไม่เรียกว่าเป็นจุดจบของผู้จำหน่ายแบบสแตนด์อโลน เพราะมันหมายถึงว่าผู้จำหน่ายเหล่านี้ มีแนวโน้มว่าจะสามารถขายผลิตภัณฑ์หรือบริการของตนให้กับผู้จำหน่ายรายอื่น แทนที่จะขายเข้าองค์กร

“ความคิดริเริ่มด้าน IoT เหล่านี้กำลังกลายเป็นความจริงเข้าไปทุกที และขยายวงกว้างขึ้น กุญแจสำคัญในตอนนี้คือ ความคิดริเริ่มที่องค์กรของคุณให้ความสำคัญ ต้องสามารถตอบโจทย์เรื่องความปลอดภัย ให้ศักยภาพในการปรับขยายขีดความสามารถได้หลากหลายยิ่งขึ้น” Michele Pelino นักวิเคราะห์หลักของ Forrester กล่าว

ความกังวลเรื่องความปลอดภัย

การมุ่งเน้นที่ IoT  มากขึ้น สะท้อนให้เห็นได้ชัดจากการใช้จ่ายที่เกิดขึ้น โดยล่าสุดที่ Gartner ได้จัดทำสำรวจผู้มีอำนาจตัดสินใจด้านไอทีเกี่ยวกับเทคโนโลยีเกิดใหม่ พบว่าการลงทุนใน IoT ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา โดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 400,000 ดอลลาร์ต่อองค์กร จะเพิ่มเป็น 600,000 ดอลลาร์ในปี 2565

การรักษาความปลอดภัยก็ยังคงเป็นปัญหาอยู่ ส่วนใหญ่เป็นเพราะ IoT นั้นต้องการความปลอดภัยในหลายระดับ ไม่ว่าจะเป็นที่อุปกรณ์ปลายทาง เครือข่าย และบนคลาวด์ก็ตาม เพราะในปี 2564 ก็มีการโจมตีอุปกรณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง และไม่มีวี่แววว่าจะลดน้อยถอยลงแต่อย่างใด และความรับผิดชอบในการรักษาความปลอดภัยก็จะแตกต่างกันไป ตามบทบาทของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแต่ละราย อย่างผู้ให้บริการระบบเครือข่ายก็มีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องการเชื่อมต่อที่ปลอดภัย ผู้จำหน่ายอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยก็ต้องดูแลความปลอดภัยในส่วนนี้ และผู้ให้บริการระบบคลาวด์ต้องดูแลความปลอดภัยสำหรับแบ็กเอนด์ ปัญหาเรื่องความปลอดภัย จึงต้องร่วมกันดูแลในคนละส่วน

ความกังวลเรื่องความปลอดภัยเหล่านี้ จะเป็นปัญหาที่ใหญ่ขึ้นในอีกไม่ช้า เนื่องจากมีการนำ IoT มาใช้กันแพร่หลายมากขึ้น และมีการตั้งค่าการใช้งานที่ละเอียดซับซ้อนมากขึ้น เหล่านี้คือสิ่งที่กำลังมา

อนาคตของ IoT ที่ยั่งยืน

IoT เหมือนเป็นการให้ความหวังสำหรับอนาคต ปัจจัยขับเคลื่อนหลักประการหนึ่งในการลงทุนกับ IoT ในอนาคตอันใกล้คือความยั่งยืน อย่างน้อยส่วนหนึ่งก็เป็นด้วยข้อกำหนดด้านกฎระเบียบที่เพิ่มขึ้นในหลายอุตสาหกรรม

เทคโนโลยี IoT ให้ประโยชน์มากมายได้ตามต้องการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของระบบบำรุงรักษาอาคาร ที่ช่วยให้แน่ใจว่าห้องว่างที่ไม่มีใครใช้ จะไม่มีการเปิดไฟทิ้งไว้ ตลอดจนการติดตั้งระบบในอุตสาหกรรม เพื่อตรวจสอบการใช้พลังงานส่วนเกินหรือควบคุมเรื่องการปล่อยมลพิษ

“IoT…เป็นสิ่งที่เข้ามาเชื่อมโยงกระบวนการเหล่านี้เข้าด้วยกัน และให้ข้อมูลเชิงลึกแบบเรียลไทม์ที่นำมาใช้งานร่วมกันได้ เพื่อให้ตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืนได้แบบเรียลไทม์เช่นกัน” Pelino กล่าว

สุดท้ายคงต้องตามดูกันว่า อนาคตจริงๆ ของ IoT นั้นจะเปลี่ยนไปสู่การบริการรูปแบบใด เมื่อไหร่ และจะสมบูรณ์เพียบพร้อมปลอดภัยได้มากน้อยแค่ไหน

Credit บทความตั้งต้น : IoT in 2022: IoT turns into a service, NetworkWorld USA

innomatter

innomatter

ข่าวไอที นวัตกรรม พลังงาน และความยั่งยืน

Related Articles