การเติบโตของเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศ รวมถึงเทรนด์ของการเปลี่ยนแปลงสู่ยุค Digital Transformation สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นเบื้องหลังที่สำคัญ คือ พลังงานไฟฟ้า ทว่าในยุคใหม่ การใช้พลังงานไฟฟ้าเองก็เปลี่ยนแปลงไปสู่รูปแบบใหม่ๆ มากขึ้นเช่นกัน ก่อให้เกิดการสรรหา “นวัตกรรมด้านพลังงาน” อย่างไม่หยุดยั้ง
จาก Datacenter ที่มั่นคง และต้องใช้กระแสไฟฟ้าเป็นพลังงานหลักเพื่อให้ระบบพร้อมทำงานตลอดเวลา เรื่อยไปจนถึงผู้ถือหุ้นในธุรกิจแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ที่ในวันนี้ ไม่ใช่แค่เรื่องของการซัพพลายชิ้นส่วนสำคัญให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ยุคใหม่ของเมืองไทย แต่ยังเปลี่ยนไปสู่ภาพของธุรกิจแนวใหม่ที่เกิดขึ้นแล้วในต่างประเทศ อย่าง รถยนต์ไฟฟ้า On-Demand เช่าเมื่อต้องการใช้ เหล่านี้คือ “นวัตกรรมด้านพลังงาน” ในรูปแบบใหม่ ที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในประเทศไทย
ความน่าสนใจในการนำเอา 5 นวัตกรรมด้านพลังงานยุคใหม่ เข้ามาในเมืองไทยนั้น จะส่งแรงกระเพื่อมไปสู่คลื่นลูกใหม่ที่กระทบต่อธุรกิจ อุตสาหกรรม และรูปแบบของสังคมที่จะเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง Innomatter.com ได้รับเกียรติจาก คุณเจมส์ รามา ปัทมินทรวิภาส ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน บริษัท บ้านปูเน็กซ์ จำกัด ที่มาช่วยไขปริศนา พร้อมเล่าถึงก้าวสำคัญในการพัฒนาขีดความสามารถด้านพลังงานเพื่อคนไทย ให้ก้าวสู่โลกยุคดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
BANPU องค์กรนวัตกรรมด้านพลังงาน
จุดยืนของ BANPU ที่ คุณเจมส์ อธิบายนั้น ไม่ได้เป็นแค่องค์กรที่รับหน้าที่ผลิตและจัดหาพลังงานไฟฟ้าเพื่อป้อนเข้าสู่ระบบของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) เท่านั้น แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมา บ้านปูเน็กซ์ (BANPU Next) มองว่าเป็นการลงทุนและเติบโตในส่วนของธุรกิจพลังงานหมุนเวียนและธุรกิจเทคโนโลยีด้านพลังงาน ที่ในปัจจุบัน ยังได้มีการขยายพอร์ตการลงทุนครอบคลุมถึงพลังงานสะอาดและเทคโนโลยี เพื่อตอบรับกระแสพลังงานแห่งโลกอนาคต ทำให้พอร์ตการลงทุนของ BPP มีความหลากหลายมากขึ้น นับเป็นการช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งการเติบโตในธุรกิจไฟฟ้า และช่วยขยายกำลังผลิตในส่วนของพลังงานหมุนเวียนได้ตามเป้าหมาย 800 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568
ในส่วนธุรกิจสามารถแยกออกได้เป็น 5 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) ธุรกิจระบบกักเก็บพลังงานหรือแบตเตอรี่ (Energy Storage System หรือ ESS) ธุรกิจซื้อขายไฟฟ้า (Energy Trading) ธุรกิจอี-โมบิลิตี้ (e-Mobility) และธุรกิจพลังงานฉลาด (Smart Energy)
ถึงเวลาของการลงทุน เพื่ออนาคต
จากในอดีตที่ทุกคนต่างรู้กันดีว่า กลุ่ม BANPU นั้นคือหนึ่งในธุรกิจจัดหาพลังงานไฟฟ้าซัพพลายให้กับ กฟน. แต่เมื่อพิจารณาจาก 5 กลุ่มธุรกิจที่มีการจัดสรรใหม่ โดยอยู่ในความรับผิดชอบของ BANPU Next นั้น สิ่งที่น่าสนใจมากก็คือ ธุรกิจระบบกักเก็บพลังงาน ธุรกิจ อี-โมบิลิตี้ และธุรกิจพลังงานฉลาด (Smart Energy)
คุณเจมส์ ได้พูดถึงที่มาของ 3 กลุ่มธุรกิจที่ดูแปลกใหม่น่าตื่นเต้นไม่เฉพาะกับคนทั่วไปแต่รวมถึงในบริษัทเองด้วย เพราะปัจจุบัน เทรนด์การใช้พลังงานเปลี่ยนไป ผู้บริโภคมองหาเทคโนโลยีพลังงานเข้ามาช่วยให้ธุรกิจใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และแนวโน้มการใช้ยานพาหนะไฟฟ้าจะมีมากขึ้น เนื่องจากช่วยลดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม และช่วยลดการใช้น้ำมันซึ่งเป็นทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป อีกทั้งภาครัฐยังมีนโยบายการใช้รถ EV และให้การสนับสนุนด้านภาษีและสิทธิประโยชน์หลายๆ อย่างเช่นกัน
เพื่อจูงใจให้คนหันมาใช้ EV ทาง BANPU Next เองก็มุ่งมั่นนำเสนอเทคโนโลยีพลังงานสะอาดที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า เพื่อให้เกิดการใช้ไฟฟ้าได้อย่างชาญฉลาด ซึ่งระบบกักเก็บพลังงาน หรือ Energy Storage System (ESS) เป็นเทคโนโลยีที่มีความสำคัญในการสร้างการเติบโตให้กับยานพาหนะไฟฟ้า รวมถึงการใช้ในโครงการต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกักเก็บพลังงานและเพิ่มรายได้จากการขายไฟที่กักเก็บโดยแบตเตอรี่หรือ ESS ดังกล่าว
กับคำถามที่ว่า การเข้าไปถือหุ้นใน Durapower ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าและกักเก็บพลังงานไฟฟ้าสำหรับการใช้งานที่มีฐานในประเทศจีน BANPU Next ได้มีการวางแผนที่จะเปิดโรงงานเพื่อผลิตแบตเตอรี่ในประเทศไทยหรือไม่นั้น คุณเจมส์ ตอบว่า “ณ ตอนนี้ยังคงอยู่ในช่วงพิจารณาทิศทางการเติบโตของตลาดควบคู่กันไป”
นโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเริ่มเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น
คุณเจมส์ ได้พูดถึงมุมมองของบริษัทฯ ว่าปัจจุบันประเทศไทยเริ่มมีนโยบายสนับสนุนการใช้ยานพาหนะไฟฟ้าอย่างเป็นรูปธรรมโดยเฉพาะการส่งเสริมเรื่องโครงสร้างพื้นฐานเพื่อปูทางไปสู่ยุคยานพาหนะไฟฟ้า หรือยุค e-Mobility เช่น นโยบาย ZEV (Zero Emission Vehicle) 100% ภายในปี 2578 ที่พร้อมสนับสนุนการใช้ยานพาหนะไฟฟ้า 100% ทุกประเภท ทั้ง EV car e-Bus e-Boat e-Tuktuk e-Scooter นโยบายติดตั้งสถานีชาร์จ และตั้งศูนย์ทดสอบมาตรฐานแบตเตอรี่ เป็นต้น
BANPU Next ในฐานะผู้ให้บริการระบบสัญจรทางเลือกแบบครบวงจรรายแรกของไทยในรูปแบบ Mobility As a Service (MaaS) เข้ามาเพิ่มโอกาสให้ผู้บริโภคและองค์กรธุรกิจในการเข้าถึงการใช้ยานพาหนะไฟฟ้าได้ง่ายขึ้น รวมถึงมีบริการที่ครอบคลุมระบบสัญจรทุกรูปแบบและครบวงจร ทั้งบริการยานพาหนะไฟฟ้า บริการสถานีชาร์จ และบริการหลังการขาย โดยมีพันธมิตรที่แข็งแกร่ง ไม่ว่าจะเป็น Durapower บริษัทที่เชี่ยวชาญด้านการออกแบบ ผลิตและติดตั้งระบบแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน (LiB) เออร์เบิน โมบิลิตี้ เทค ผู้ให้บริการรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า มูฟมี (MuvMi) ฮ้อปคาร์ ผู้ให้บริการรถเช่าในรูปแบบคาร์เเชริ่งบนเเอปพลิเคชัน HAUP บียอนด์กรีน บริษัทที่เป็นผู้นำด้านรถยนต์ไฟฟ้าอเนกประสงค์ครบวงจร และดูแลเรื่องบริการหลังการขาย และ อีโวลท์ เทคโนโลยี ผู้นำด้านสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร
แนวโน้มพลังงานสะอาด กับแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์
ต้องยอมรับว่าพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน เป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงกันมานาน แต่ดูเหมือนว่าการนำมาติดตั้งใช้งานจริง ยังมีแค่เพียงไม่กี่บริษัท แม้ว่าจะถูกพูดถึงในแง่ของการเป็นพลังงานไฟฟ้าหลักที่ควรนำมาใช้กันก็ตาม โดยในทัศนะของ คุณเจมส์ มองว่า แนวโน้มการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงสะอาด หรือ Renewable energy จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลมเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างไม่จำกัด และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ในส่วนของตลาดแบตเตอรี่ก็มีการเติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากมีการนำมาใช้กับรถ EV และยานพาหนะไฟฟ้าอื่นๆตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น และสามารถนำมาใช้กับโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนได้
และเพื่อช่วยเพิ่มความสามารถในการกักเก็บพลังงาน และนำไปไฟฟ้าส่วนนี้ไปขาย ซึ่งนับเป็นการเพิ่มรายได้ในการขายไฟฟ้าอีกหนึ่งช่องทาง บริษัทฯ ได้สร้าง Business Ecosystem ที่แข็งแกร่ง ด้วยการเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับผู้นำด้านเทคโนโลยีพลังงานที่หลากหลาย เพื่อให้สามารถนำเสนอโซลูชันพลังงานที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ทุกมิติ
ภาพรวมของธุรกิจผลิตพลังงานจะเป็นอย่างไร
ในวันที่เกิดกระแสความเปลี่ยนแปลงที่กระทบต่อธุรกิจมากมายในทั่วโลก องค์กรเล็กกลายเป็น ปลาที่ว่ายเร็ว สามารถแข่งขันกับปลาใหญ่ได้ ด้วยเทคโนโลยียุคใหม่ พลังงานคือปัจจัยพื้นฐานอย่างหนึ่งที่จะสามารถต่อยอดและผลักดันให้กระแสการเปลี่ยนแปลงที่เรียกว่า Digital Transformation นั้นเกิดขึ้นได้อย่างราบรื่น
ในมุมมองของบริษัทพลังงาน คุณเจมส์ มองว่า อนาคตระบบการผลิตไฟฟ้าจะมีขนาดเล็กลง รูปแบบการผลิตพลังงานจะเปลี่ยนไปจะเริ่มเป็นการผลิต-ขายแบบกระจายตัวให้กับผู้ใช้งานโดยตรงมากขึ้น เริ่มจากการติดตั้งระบบโซลาร์ฯ เพื่อผลิตไฟฟ้าไว้ใช้เอง
บริษัทฯ เล็งเห็นถึงแนวโน้มนี้มาตลอด จึงได้ขยายธุรกิจพัฒนา ‘5 โซลูชันพลังงานฉลาดเพื่อความยั่งยืน’ ประกอบด้วย โซลูชันฉลาดวิเคราะห์และการจัดการพลังงาน โซลูชันฉลาดผลิต โซลูชันฉลาดเก็บ โซลูชันฉลาดใช้ และโซลูชันฉลาดหมุนเวียน ที่นำเสนอบริการด้านพลังงานสะอาด และเทคโนโลยีพลังงานที่หลากหลายครบวงจร ตอบโจทย์ทุกความต้องการของลูกค้าทุกอุตสาหกรรม ทั้งกลุ่ม B2B B2G และ B2C
ในอนาคต พลังงานไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดจะสามารถซื้อขายกันได้ง่ายขึ้น โดยจะมีการใช้แหล่งพลังงานสะอาดที่หลากหลายในการผลิตไฟฟ้า ส่งผลให้สัดส่วนการใช้พลังงานสะอาดเพิ่มขึ้นจากอดีตที่มีสัดส่วนอยู่ประมาณ 5-10% ในอนาคตก็จะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นไปใกล้เคียงกับพลังงานจากก๊าซธรรมชาติ นับเป็นความท้าทายของธุรกิจผลิตพลังงานไฟฟ้า ธุรกิจพลังงานสะอาด รวมถึงธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่ต้องทรานส์ฟอร์มการใช้พลังงานรูปแบบเดิมมาสู่พลังงานที่สะอาดยิ่งขึ้น
นี่คือ การเปลี่ยนแปลง ที่เกิดขึ้นกับ BANPU Next ธุรกิจจัดหาพลังงานที่ไม่ได้พยุดนิ่งกับแค่การเป็นคนขายไฟ มาวันนี้ด้วยการขยายการลงทุนไปสู่พลังงานทางเลือกใหม่ๆ ทำให้ อนาคตพลังงานในไทยยังคงเชื่อมั่นได้ในระยะยาว