เรื่องจี๊ด-จี๊ด ของ “ยีสต์” ตัวน้อย

Share

 

ยิ่งใกล้เทศกาลแห่งความสุข จิตใจไม่ค่อยอยู่กับเนื้อกับตัว นึกถึงแต่วาระที่จะได้พบปะสังสรรค์กับเพื่อนฝูงที่เว้นวรรคกันมานาน ได้แลกเปลี่ยนเรื่องราวดีๆ ชี้ชวนกันรับประทานอาหารแซ่บๆ และ…เครื่องดื่มสีอำพันที่มีไอเย็นเกาะพราว

 

ฟังว่าเช่นนี้สายกรีนมักกรีดเสียงแหวกอากาศมา เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ไม่ดี แทบไม่มีประโยชน์ ดื่มมากทำให้ความสามารถในการขับขี่ลดลง เช่นเดียวกับขนมปังที่ถูกบูลี่มานานว่า นอกจากเป็นของว่างแบบฟาส์ตแทร็กแล้ว กินเยอะก็ไม่ดี ทำให้อ้วน เพราะมีแต่แป้งที่เปลี่ยนเป็นน้ำตาลสะสมอยู่ในหลอดเลือด

แต่ใครจะรู้ว่าทั้งสองสิ่งที่ถูกแบล็กลิสต์จากสายสุขภาพว่าไม่ดีนั้น มีบางสิ่งร่วมกันที่นักวิจัยยอมรับว่า เยี่ยม!

 

ใช่ กำลังพูดถึง “ยีสต์” ที่ทำให้ขนมปังฟูนุ่มน่ารับประทาน (Baker yeast) และยีสต์ที่นำมาหมักทำเบียร์ ไวน์ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อื่นๆ (Brewer Yeast) เพราะมีงานวิจัยชี้ชัด รวมทั้งนักวิชาการ นักโภชนาการทั้งหลายต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า สารสกัดจากยีสต์ (yeast extract) นั้นทรงคุณค่านัก โดยเมื่อเปรียบเทียบยีสต์กับข้าวสาลีซึ่งเป็นอาหารที่ให้วิตามินบีสูง พบว่ายีสต์มีวิตามินบี 1 มากกว่าถึง 10 เท่า มีวิตามินบี 2 มากกว่า 8 เท่าและมีวิตามินบี 3 มากกว่า 10 เท่า

 

ทว่า กว่าจะได้ออกมาเป็นสารสกัดจากยีสต์นั้นไม่ง่าย ต้องอธิบายก่อนว่า ยีสต์เป็นจุลินทรีย์ขนาดเล็ก เติบโตได้ทั้งในสภาวะที่มีออกซิเจนและไม่มีออกซิเจน แบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือยีสต์ขนมปัง” มีคุณสมบัติในการสร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าแอลกอฮอล์ และทนแอลกอฮอล์ต่ำ กล่าวคือ ยีสต์ประเภทนี้ใช้น้ำตาลในแป้งขนมปังเป็นอาหารแล้วคายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา ทำให้เนื้อขนมปังเป็นรูพรุน

ยีสต์ทำขนมปัง
Source: https://pixabay.com

 

และ “บริวเวอร์ ยีสต์” มีประสิทธิภาพในการสร้างแอลกอฮอล์และทนแอลกอฮอล์สูง แต่สร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้น้อย ยีสต์กลุ่มนี้เมื่ออยู่ในสภาวะที่มีออกซิเจนน้อยๆ จะทำหน้าที่เปลี่ยนน้ำตาลเป็นแอลกอฮอล์

 

Source: https://pixabay.com

สารสกัดจากยีสต์ ได้จากการสกัดไซโตพลาสซึม (cytoplasm) ซึ่งเป็นของเหลวภายในเซลล์ยีสต์ (yeast) มีลักษณะเป็นของเหลวสีน้ำตาล มีสารส่วนประกอบหลักคือโปรตีนและมีวิตามิน แร่ธาตุหลายชนิดที่มีประโยชน์และมีกลิ่นหอมคล้ายเนื้อสัตว์ ให้รสอุมามิ จึงมักใช้ในการปรุงรสอาหารแทนผงชูรส

 

ที่สำคัญคือ การใช้เป็นสารเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใช้เป็นอาหารเสริมสุขภาพสำหรับบุคคลที่อ่อนแอขาดสารอาหาร โดยอ้างอิงจากงานวิจัยเกี่ยวกับคุณประโยชน์และสารอาหารในยีสต์ พบว่ามีโปรตีนสูงถึง 50 เปอร์เซ็นต์ เป็นแหล่งโปรตีนที่สมบูรณ์แบบ มีกรดอะมิโนเกือบทุกชนิดในปริมาณที่สมดุล มีวิตามินบีทุกชนิด และมีโครเมียม ซึ่งเป็นตัวประกอบสำคัญของสารอาหารที่ช่วยให้พลังงานในร่างกายคงที่อยู่เสมอ ลดอาการเป็นลมหน้ามืด ช่วยปรับระดับน้ำตาลในเลือดได้ ลดไขมันอุดตันในเส้นเลือด

 

อีกจุดขายของสารสกัดจากยีสต์คือ คุณสมบัติของการป้องกันมะเร็ง โดยจากรายงานทางการวิจัยพบว่าในยีสต์นอกจากจะมีธาตุเหล็ก แคลเซียม และโพแทสเซียม ปัจจุบันมีการใช้ยีสต์ผลิตแคโรทีนอยด์และเบต้า-แคโรทีน ซึ่งให้ประโยชน์ในการป้องกันรังสียูวีในแสงแดด และมีสารต้านอนุมูลอิสระ จึงช่วยปกป้องเซลล์ เนื้อเยื่อและอวัยวะต่างๆ ที่เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคเรื้อรัง ตั้งแต่สภาพที่แก่ก่อนวัย โรคมะเร็ง โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด โดยพบว่าหากรับประทานเบต้าคาร์โรทีนร่วมกับวิตามินอีและวิตามินซี จะช่วยเสริมประสิทธิภาพในการปกป้องเซลล์เนื้อเยื่อและอวัยวะต่างๆ ของร่างกายได้ดียิ่งขึ้น เบต้า-แคโรทีนยังให้ผลกระตุ้นเซลล์ภูมิต้านทานในร่างกายให้มีประสิทธิภาพการทำงานต้านสิ่งแปลกปลอมได้ดีขึ้น

…จี๊ด ไม่จี๊ด สารสกัดจากยีสต์ต้องมาละ

 

แต่-แต่ คุณสมบัติเริ่ดๆ จี๊ดๆ ที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นหมายถึง “สารสกัดจากยีสต์” (yeast extract) ซึ่งปัจจุบันใช้เป็นองค์ประกอบหนึ่งในบรรดาอาหารเสริมสุขภาพ

 

มิได้หมายถึง ให้หันมากินขนมปังแทนข้าว หรือทุ่มเทกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์…เสียเมื่อไหร่.

 

rabbit2themoon

rabbit2themoon

คอลัมนิสต์หน้าไม่ใหม่ เคยพำนักอยู่ใต้ชายคามติชน ประจำกอง บก.นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ก่อนขยับมาเป็นผู้สื่อข่าวเซ็กชั่นประชาชื่น เขียนสัมภาษณ์บุคคล-สกู๊ปเชิงไลฟ์สไตล์-ท่องเที่ยว-อาหาร-จิปาถะ สถานะปัจจุบัน นอกจากเป็นคอลัมนิสต์ ยังเป็นนักเขียนอิสระ เขียนบทความเชิงประชาสัมพันธ์

Related Articles