จาก “ส้วม” ถึงโลกร้อน  From TOILET to The World

Share

ถ้าไม่มีส้วม โลกนี้จะเกิดอะไรขึ้น?

 

เกิดความปั่นป่วนแน่นอน ไม่ต้องดูอื่นไกลปัจจุบันปั๊มน้ำมัน (จุดแวะพัก) ที่มีห้องน้ำสะอาดกลายเป็นจุดดึงดูดนักเดินทางให้แวะเข้าไปใช้บริการ ซึ่งรวมไปถึงการใช้ห้องน้ำห้องส้วมในการสร้างจุดขาย อาทิ ส้วมทองคำ ห้องน้ำติดแอร์ ปั๊มน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย นั่นหมายถึงมีห้องน้ำจำนวนมากมายนับไม่ถ้วน ปั๊มที่ส้วมสะอาดและจัดจ้านในย่านนี้ ฯลฯ

ไปจนถึงมีการจัดอันดับ Top 10 ห้องน้ำที่สวยสุดสุด ไม่ไปไม่ได้ เพื่อเชิญชวนให้ผู้ผ่านทางต้องแวะเข้าไปชม-แชะ-ใช้แล้วแชร์ให้โลกรู้

ขณะเดียวกันในอีกหลายๆ พื้นที่บนโลกใบนี้ เช่นทางฟากฝั่งทวีปแอฟริกายังคงมีพื้นที่ที่ไม่มีส้วมใช้งาน รวมถึงมีส้วมแต่ไม่ถูกสุขลักษณะอีกจำนวนมาก กล่าวกันว่ามีประชากรโลกมากถึง 3.6 พันล้านคนที่เข้าไม่ถึงด้านการสาธารณสุข ส่งผลต่อสุขภาพที่เสื่อมโทรมของคนในพื้นที่เพราะสภาพแวดล้อมที่ไม่มีสุขอนามัยที่ดีพอ

…เหล่านี้คือระเบิดเวลาดีๆ นี่เอง เป็นจุดเริ่มต้นของการแพร่กระจายของเชื้อโรคต่างๆ สู่สาธารณะ ต้นเหตุของความเจ็บป่วย ส่วนมากจะเป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหาร เช่น โรคอหิวาตกโรค ท้องร่วง ไทฟอยด์ โรคบิด และโรคพยาธิใบไม้ โดยมีคนทั่วโลกป่วยด้วยโรคท้องร่วงกว่า 892 ล้านคน

เพราะ “ส้วม” ไม่ใช่แค่เรื่องของการขับถ่ายที่ได้รับการจัดระเบียบให้เป็นที่เป็นทาง และสุขอนามัยของมนุษยชาติเท่านั้น แต่ส้วมยังเกี่ยวข้องกับเรื่องของสิ่งแวดล้อมโดยตรง จึงมีการกำหนดให้วันที่ 19 พฤศจิกายนของทุกปีเป็น “วันส้วมโลก” (World Toilet Day) นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2544 เนื่องจาก ณ ขณะนั้นมีผู้คนทั่วโลกถึง 4.5 พันล้านคนที่มีส้วมไม่ได้มาตรฐาน และอีก 12 ปีต่อมาสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้มีมติเห็นชอบร่วมกันในการบรรจุวันส้วมโลกให้เป็นวันสำคัญของสหประชาชาติ เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหาของสุขาภิบาล โดยองค์การน้ำแห่งสหประชาชาติรับหน้าที่เป็นแม่งานดำเนินการ

ทุกปีเมื่อถึงวันที่ 19 พฤศจิกายน จึงมีการจัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการมีส้วมที่ถูกสุขลักษณะ อันหมายถึงสิทธิที่พึงมีพึงได้รับอย่างเท่าเทียมกันด้านการสาธารณสุขเพื่อความปลอดภัยในสุขภาพและลดความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อโรคในสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในระบบน้ำใต้ดินหรือน้ำบาดาล ทรัพยากรสำคัญที่เป็นแหล่งน้ำดื่มสำหรับคนเกือบครึ่งหนึ่งของทั่วโลก

ไม่เพียงน้ำบาดาลจะเป็นแหล่งน้ำอุปโภคบริโภคที่สำคัญของมนุษยชาติ ประมาณร้อยละ 40 ของน้ำใต้ดินยังใช้เพื่อการเกษตรแบบชลประทาน และอีกประมาณ 1/3 ของน้ำเพื่อการอุตสาหกรรม ช่วยรักษาระบบนิเวศ รักษากระแสน้ำของแม่น้ำ และป้องกันการทรุดตัวของดินและการบุกรุกของน้ำทะเล สังเกตได้ว่าในช่วงที่แล้งมากๆ จะพบว่าในหลายๆ พื้นที่เกิดเหตุการณ์การทรุดตัวของดิน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากระดับน้ำใต้ดินที่ลดลงจนเกินสมดุล น้ำบาดาลจึงเป็นส่วนสำคัญของกระบวนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ทั้งนี้ ความที่น้ำบาดาลเป็นแหล่งน้ำใต้ดินที่ “มองไม่เห็น” คนส่วนใหญ่จึงมักมองข้ามความสำคัญ ท่ามกลางสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงและหนักข้อมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่กิจกรรมของมนุษย์เรายังคงต้องพึ่งพาน้ำใต้ดินอยู่ โดยเฉพาะในหลายๆ พื้นที่มีการดึงเอาน้ำจากข้างใต้ขึ้นมาใช้ในกิจกรรมของมนุษย์มากเกินไปและก่อให้เกิดมลภาวะต่อน้ำใต้ดิน ที่สุดการขาดแคลนน้ำจะเพิ่มมากขึ้นๆ จนส่งผลกระทบต่อผู้คนประมาณ 2.7 พันล้านคนทั่วโลก

เนื่องในวาระของวันส้วมโลกปีนี้จึงมีการหยิบยก “น้ำใต้ดิน” ขึ้นมาเป็นประเด็นสำคัญในการอภิปรายแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อกระตุ้นให้เกิดความตระหนักถึงความสำคัญของน้ำบาดาล สอดรับกับหัวข้อการจัดงานวันน้ำโลกเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ว่าด้วยเรื่องของน้ำบาดาลในการจัดการทรัพยากรและเก็บรักษาเพื่อใช้เป็นแหล่งน้ำต่อไปในอนาคต

โดยมีแผนที่จะผลักดันให้เกิดการจัดงานส่งเสริมกิจกรรมขึ้นในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เพื่อสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาน้ำบาดาลอย่างยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป.

rabbit2themoon

rabbit2themoon

คอลัมนิสต์หน้าไม่ใหม่ เคยพำนักอยู่ใต้ชายคามติชน ประจำกอง บก.นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ก่อนขยับมาเป็นผู้สื่อข่าวเซ็กชั่นประชาชื่น เขียนสัมภาษณ์บุคคล-สกู๊ปเชิงไลฟ์สไตล์-ท่องเที่ยว-อาหาร-จิปาถะ สถานะปัจจุบัน นอกจากเป็นคอลัมนิสต์ ยังเป็นนักเขียนอิสระ เขียนบทความเชิงประชาสัมพันธ์

Related Articles