ไม่มีผึ้ง ไม่มีเรา
Save the Bees Save the World!
“If the bee disappeared off the face of the Earth, man would only have four years left to live.”
-อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์-
20 พฤษภาคม ของทุกปีบนหน้าปฏิทินสากลกำหนดให้เป็น “วันผึ้งโลก” (World Bee Day) ที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) มีมติให้ถือเอาวันเกิดของ Anton Janša ผู้บุกเบิกเทคนิคการเลี้ยงผึ้งสมัยใหม่ในประเทศสโลวีเนีย เป็นวันสัญลักษณ์ รณรงค์ให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกร่วมปกป้องแมลงผสมเกสรพืช (Pollinator) โดยเฉพาะ “ผึ้ง” ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญต่อการสร้างความมั่นคงทางอาหารของโลก
ทำไมจึงเป็น Anton Janša? แล้วเทคนิคการเลี้ยงผึ้งสมัยใหม่เป็นอย่างไร วันเกิดของเขาจึงกลายเป็นวันแห่งการปกป้องผึ้งของชาวโลก?
อธิบายสั้นๆ คือ “การเลี้ยงผึ้ง” ไว้เก็บน้ำหวานในยุคที่วิถีการเก็บน้ำผึ้งยังเป็นแบบฆ่ายกรังชิงน้ำผึ้ง!
ในความเป็นจริงไม่เพียงแค่ผึ้งที่มีความสำคัญแต่ระบบนิเวศ แต่แมลงเล็กๆ รวมถึงสิ่งมีชีวิตทั้งหมดล้วนอยู่ในห่วงโซ่อาหาร
อย่างล่าสุด อีเกีย เดนมาร์ก จับมือกับกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ Seedballs ล้อกับเมนูซิกเนเจอร์ Meatballs สร้างความตระหนักถึงความหลากหลายทางชีวภาพให้กับสาวกมีทบอลของอีเกีย โดยภายใน Seedballs ลูกกลมๆ ประกอบด้วยดินและเมล็ดพันธุ์ของดอกไม้ป่า มีทั้งดอก corncockles, chamomile และ poppies ที่จำเป็นต่อแมลงตัวเล็กๆ ที่อยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์
แค่นำ Seedballs ไปใส่ในกระถาง หรือแปลงดินในสวนหลังบ้าน แล้วรดน้ำ ก็จะเพิ่มแหล่งอาหารให้กับเจ้าแมลงเล็กๆ เหล่านั้นได้อยู่อย่างสุขสำราญ
ถามว่าถ้าวันหนึ่งผึ้งนักผสมเกสรเหล่านี้หายไปจากโลกจะเกิดอะไรขึ้น?
ทำไม อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ จึงบอกว่า เมื่อใดที่ผึ้งหายไปจากโลกนี้ 4 ปีให้หลังจะถึงคราวล่มสลายของมนุษยชาติ?
ย้อนกลับไปเมื่อ 15-16 ปีก่อน นักวิชาการทั้งหลายในสหรัฐอเมริกาถึงกับกุมขมับทันทีที่พบว่า มีประชากรผึ้งหายไปร้อยละ 30-90 อย่างไม่ทราบสาเหตุ ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่ต้องอาศัยผึ้งในการผสมเกสรดอกไม้ให้พืชออกผล คิดเป็นมูลค่าราว 15,000 ล้านดอลลาร์ และไม่ใช่แค่สหรัฐอเมริกา กับแคนาดาและหลายพื้นที่ในยุโรปก็เกิดปรากฏการณ์นี้เช่นกัน
ครั้งนั้นมีทั้งปัจจัยการระบาดของเห็บ verroa ที่กินผึ้งเป็นอาหารทั้งยังแพร่เชื้อไวรัสให้อีก และปัจจัยจากมนุษย์ เช่น การใช้ยาฆ่าแมลง และสารพิษในสิ่งแวดล้อม
ซึ่งไม่ใช่แค่ผลกระทบกับธุรกิจอุตสาหกรรม แต่สะเทือนไปถึงระบบนิเวศและห่วงโซ่อาหาร อันหมายถึงความมั่นคงทางอาหารของมนุษยชาติเลยทีเดียว เพราะ 3 ใน 4 ของพืชอาหารทั่วโลกต้องอาศัยแมลงเหล่านี้ รวมถึงผีเสื้อ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ผึ้ง” ทำหน้าที่ช่วยผสมเกสร
ลองแวะเข้าไปสำรวจสินค้าจากน้ำผึ้งแล้วละลานตา ละลายใจมากๆ
ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ผลผลิตจากแรงงานแมลงนักต่อยตัวน้อยๆ มากมาย เฉพาะแค่น้ำผึ้งก็มีให้เลือกสารพัด อาทิ น้ำผึ้งจากดอกลำไย น้ำผึ้งจากดอกลิ้นจี่ น้ำผึ้งจากดอกไม้ป่า ฯลฯ แต่ไม่ว่าจะเป็นน้ำผึ้งจากเกสรดอกไม้ชนิดใดล้วนให้คุณค่าทางโภชนาการมากมายไม่ต่างกัน
นี่ยังไม่นับผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ใช้น้ำผึ้งเป็นวัตถุดิบสำคัญทั้งเพื่อการอุปโภคและบริโภค อย่าง สบู่ โฟมล้างหน้า ครีมบำรุงผิว เครื่องประทินโฉมทั้งหลาย ชาผสมเกสรผึ้ง ไปจนถึงขนมและอาหารอีกสารพัน
ประเทศไทยเองทุกวันนี้มีการเลี้ยงผึ้งในระดับอุตสาหกรรม ผลิตน้ำผึ้งมากเป็นอันดับที่ 36 ของโลก และเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน รองจากเวียดนาม โดยไทยผลิตน้ำผึ้งได้ 10,110 ตัน มีการส่งออกไปยังไต้หวัน สหรัฐอเมริกา อินโดนีเซีย แคนาดา และจีน รวมมูลค่ากว่า 600 ล้านบาท นี่ยังไม่รวมผลผลิตที่ได้จากไขผึ้ง เกสร และนมผึ้ง
อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลาที่ผ่านมายังคงมีผึ้งจำนวนมากตายเพราะสารเคมีกำจัดแมลงศัตรูพืช ผนวกกับจำนวนพื้นที่ป่าลดลง มีงานวิจัยชี้ว่า ร้อยละ 40 ของแมลงผสมเกสรทั่วโลกเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอันเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกที่ทำให้อุณหภูมิโลกเปลี่ยน ฤดูกาลเปลี่ยน ความสมบูรณ์ของอาหารลดน้อยลง ยังก่อเกิดศัตรูพืชและโรคใหม่ๆ ที่บ่อนทำลายประชากรสัตว์เหล่านี้
ทาง FAO จึงเรียกร้องให้ประเทศต่างๆร่วมกันปกป้องแมลงผสมเกสรพืช โดยเฉพาะผึ้ง ด้วยการส่งเสริมการเกษตรที่ปลอดภัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ไม่เพียงลดความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของผึ้งเท่านั้น ผลิตภัณฑ์จากน้ำผึ้งเหล่านี้จะปลอดการปนเปื้อนด้วย นับว่าวิน-วินด้วยกันทั้งโลก…Save the Bees Save the World!
Photo : Wiktionary.org