Back to Basic นิเวศปลอดภัย เริ่มจากสิ่งเล็กๆ ใกล้ตัว

Share

 

Back to Basic นิเวศปลอดภัย เริ่มจากสิ่งเล็กๆ ใกล้ตัว

 

มิถุนายนถือเป็นเดือนของการเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆ ความหวังใหม่ๆ อีกครั้ง

กทม.ได้พ่อเมืองคนใหม่ ไม่ต้องสัญญาว่าจะหางบประมาณมาลงทุนจัดหา “ของเล่น”  ไฮเทคโนโลยีมาอำนวยความสะดวกใหม่ๆ ให้เมือง แค่รู้จักใช้เทคโนโลยีในสถานการณ์ที่ใช่

…เริ่มต้นจากสิ่งเล็กๆ ค่อยๆ ปรับแก้จากเส้นเลือดฝอย…เส้นเลือดใหญ่ก็จะดีขึ้นในที่สุด

วันที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมาเป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก ถัดมาอีก 3 วัน วันที่ 8 มิถุนายนเป็นวันมหาสมุทรโลก ล้วนพูดถึงในสิ่งเดียวกัน ย้ำเตือนให้ทุกผู้คนใส่ใจดูแลสิ่งแวดล้อมก่อนจะสายเกินไป

ขยะ” คือหนึ่งในปัญหาสำคัญของเมือง โดยเฉพาะขยะพลาสติก ประเทศไทยสร้างขยะพลาสติกปีละประมาณ 2.1 ล้านตัน คิดเป็นปริมาณ 12% ของขยะทั้งหมดของประเทศ ซึ่งมีเพียงหนึ่งในสี่ของขยะพลาสติกนี้เท่านั้นที่นำไปรีไซเคิล ที่เหลือทำการฝังกลบ

ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ส่งผลให้มีขยะพลาสติกเพิ่มมากขึ้นกว่า 36% นั่นหมายความว่าก่อนหน้านี้ที่มีความพยายามในการรณรงค์ลด ละ เลิกพลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง ต้องกลับมาเซ็ตซีโร่ เริ่มต้นใหม่อีกครั้ง

ที่ผ่านมาเรามักกล่าวถึงระยะเวลาอันยาวนานของการย่อยสลายขยะพลาสติก เฉพาะแค่ถุงพลาสติกใช้เวลานานถึง 450 ปี แต่ในความเป็นจริงช่วงเวลาระหว่างการย่อยสลายกลายเป็นไมโครพลาสติกและนาโนพลาสติก สร้างการปนเปื้อนและเป็นภัยคุกคามของระบบนิเวศมากมาย อาทิ เข้าไปปนเปื้อนในห่วงโซ่อาหารของสิ่งมีชีวิตทางทะเล เนื่องจากเข้าใจผิดว่าเป็นอาหาร ไม่เพียงกับกรณีของพะยูนน้อยมาเรียมที่จบชีวิตลงเมื่อ 3 ปีก่อน ยังมีทั้งเต่าทะเล วาฬบรูด้า ไม่ต้องเอ่ยถึงสัตว์บกอีกมากมาย ตั้งแต่ช้าง เก้ง กวาง แพะ ลิง ฯลฯ

ว่ากันถึงผลกระทบกับระบบนิเวศทางทะเล ประเด็นที่นักวิชาการเฝ้าจับตามองคือ Five Gyre” เกาะขยะกลางมหาสมุทรแปซิฟิกที่เกิดจาการรวมตัวของขยะทางทะเล กินพื้นที่ราว 3 เท่าของประเทศฝรั่งเศส ประกอบไปด้วยขยะประมาณ 80,000 ตัน น้ำหนักเทียบเท่าเครื่องบินเจ็ท 500 ลำ

ส่วนใหญ่เป็นชิ้นส่วนของพลาสติกประเภท Thermoplastic Thermoset และ Elastomers ซึ่งเมื่อถูกกัดกร่อนโดยธรรมชาติและแสงแดดนานเข้าจะกลายเป็นไมโครพลาสติก และนาโนพลาสติก กระบวนการย่อยสลายนี้สามารถเกิดได้ทั้งบนดินและในน้ำ สามารถผ่านเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารของมนุษย์โดยสะสมอยู่ในสัตว์ทะเลชนิดต่างๆ รวมทั้งนกที่หากินทางทะเล และสาหร่ายทะเล เป็นต้น

สำหรับประเทศไทย นับเป็นประเทศเบอร์ต้นๆ ที่สร้างขยะต่อคนต่อปีมากเป็นอันดับ 12 ของโลก และเป็นอันดับ 1 ของเอเชีย คือมากถึง 70 กิโลกรัมต่อคนต่อปี

ขณะที่ขยะพลาสติกคร่าชีวิตสัตว์ต่างๆ ไปไม่น้อย ปฏิเสธไม่ได้ว่าปลายอีกด้านย่อมเป็นมนุษย์ที่ต้องรับผลจากการกระทำนั้นด้วย

ข้อมูลจากสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รายงานว่ามีการพบไมโครพลาสติกในกระเพาะอาหารของปลาเศรษฐกิจบริเวณตอนล่างของอ่าวไทยตะวันตก รวมไปถึงหอยกาบ หอยสองฝาบริเวณชายฝั่งอ่าวไทยตะวันออก

โดยไมโครพลาสติกที่สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กบริโภคเข้าไป อาจก่อให้เกิดการอุดตันระบบย่อยอาหาร และขัดขวางการทำงานของฮอร์โมน ซึ่งอาจนำไปสู่การเกิดโรคมะเร็ง การกลายพันธุ์ หรือการเสียชีวิตอย่างฉับพลัน นอกจากนี้ยังพบว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ไมโครพลาสติกจะเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ผ่านการบริโภคสัตว์น้ำที่มีการปนเปื้อนไมโครพลาสติก ซึ่งอาจก่อผลกระทบต่อสุขภาพได้

ล่าสุด เป็นครั้งแรกที่นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยในอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ตรวจพบไมโครพลาสติกในเลือดของผู้บริจาค 17 รายจากทั้งหมด 22 ราย แม้จะเป็นผลการวิจัยจากห้องปฏิบัติการ ซึ่งยังต้องมีการตรวจสอบซ้ำในกลุ่มตัวอย่างที่มากขึ้นกว่านี้ ทั้งยังไม่สามารถฟังธงได้ว่าไมโครพลาสติกส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์อย่างไร แต่…นี่คือการส่งสัญญาณสำคัญ!

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ “เรา” จะลุกขึ้นมาใส่ใจสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการลดขยะพลาสติก เริ่มจากสิ่งเล็กๆ ในชีวิตประจำวัน คนละไม้ละมือเพื่อลดการปนเปื้อนในระบบนิเวศ เพื่อโลกที่สะอาดและปลอดภัย สำหรับทุกชีวิต.

 

rabbit2themoon

rabbit2themoon

คอลัมนิสต์หน้าไม่ใหม่ เคยพำนักอยู่ใต้ชายคามติชน ประจำกอง บก.นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ก่อนขยับมาเป็นผู้สื่อข่าวเซ็กชั่นประชาชื่น เขียนสัมภาษณ์บุคคล-สกู๊ปเชิงไลฟ์สไตล์-ท่องเที่ยว-อาหาร-จิปาถะ สถานะปัจจุบัน นอกจากเป็นคอลัมนิสต์ ยังเป็นนักเขียนอิสระ เขียนบทความเชิงประชาสัมพันธ์

Related Articles