“มงกุฎ” มิสยูนิเวิร์สยังคงเป็นความใฝ่ฝันของสาวงามจากทั่วทุกมุมโลก เป็นประตูเปิดสู่โอกาสต่างๆ มากมายในชีวิตที่ผู้หญิงคนหนึ่งจะได้รับ
เวทีประกวดมิสยูนิเวิร์สเป็นเวทีที่ทรงพลัง เป็นซอฟต์ พาวเวอร์ที่สามารถขับเคลื่อนทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม รวมถึงการยกสถานะทางสังคมในระดับประเทศและนานาชาติ ดังที่ แอน-จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ นักธุรกิจหญิงข้ามเพศเจ้าของบริษัทผู้จัดการประกวดนางงามจักรวาลคนใหม่ ตั้งเป้าใช้ธุรกิจองค์กรนางงามจักรวาลในการขับเคลื่อนไทยสู่โลกใน 5 ด้าน ได้แก่ อาหาร (Food) แฟชั่น (Fashion) การจัดงานเทศกาล (Festival) ภาพยนตร์ (Film) และศิลปะการต่อสู้ (Fighting)
Miss Universe เวทีความหวังร่วมของหลายประเทศ
หลายคนอาจมองว่า การประกวดนางงามเป็นเรื่องของทุนนิยม กระนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าเวทีนี้ก็สร้างโรลโมเดลที่เป็นแรงบันดาลใจสร้างการเปลี่ยนแปลงได้มากมายเช่นกัน
ไม่แปลกที่ในหลายๆ ประเทศจะมีโรงเรียนฝึกสอนการเป็นนางงาม เช่น เวเนซูเอลา ฟิลิปปินส์ อินเดีย ฯลฯ รวมทั้งประเทศไทย
ที่มากกว่านั้นโรงเรียนเตรียมพร้อมการเป็นนางงามเหล่านี้คือความหวังของหญิงสาวขาดโอกาส เช่นที่ “ฟิลิปปินส์” แหล่งผลิตนางงามที่เป็นความภาคภูมิใจของคนในประเทศ ที่นี่มีโรงเรียนสอนการเป็นนางงามในหลายๆ เมือง ทั้งที่เปิดอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ บางแห่งแม้ไม่เก็บค่าสอนและยังมีสวัสดิการให้กับนักเรียน แต่ก็ยังเป็นความยากลำบากสำหรับหญิงสาวหลายๆ คน มีไม่น้อยที่ก้าวเข้ามาสมัครพร้อมกับถุงใส่เสื้อผ้า ขณะเดียวกันก็มีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำที่ครอบครัวมีฐานะแนะนำให้เข้ามาเตรียมความพร้อมหวังคว้าดาวบนเวทีประกวด
กล่าวกันว่าความชื่นชอบนางงามฝังรากในฟิลิปปินส์ตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยครั้งนั้นนิยมให้สาวสวยที่เรียกกันว่า “Carnival Queens” ทำหน้าที่เหมือนพรีเซ็นเตอร์สินค้าท้องถิ่นในแต่ละภูมิภาค ความชื่นชอบนี้ยิ่งชัดเจนมากขึ้นหลังจากที่ Gloria Diaz ชนะการประกวดเป็นมิสยูนิเวิร์สคนแรกของประเทศในปี 1969 นับแต่นั้นมาความเฟื่องฟูของธุรกิจการประกวดนางงามก็เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว
ไม่เพียงการประกวด Miss Universe หรือนางงามจักรวาล เวทีที่ย่อมลงไปหน่อย อย่าง มิสเวิล์ด มิสอินเตอร์เนชันแนล มิสเอิร์ธ ตลอดจนเวทีในระดับท้องถิ่นสร้างความคึกคักให้กับเศรษฐกิจในประเทศ รวมทั้งด้านการท่องเที่ยว ขณะที่บรรดาหญิงสาวเองต่างตระหนักว่า เวทีเหล่านี้คือ “โอกาส” ยกสถานะทางสังคมของเธอและครอบครัวได้ชั่วพริบตา
“ป๋าดัน” แห่งวงการประกวด
เช่นเดียวกับ “เวเนซูเอลา” อีกประเทศเบ้าหลอมนางงามที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้ ถ้านับเฉพาะเวทีมิสยูนิเวิร์ส สาวงามจากเวเนซูเอลาขึ้นทำเนียบไปแล้ว 7 คน ไม่นับอันดับข้างเคียง เช่นปีนี้ที่ Amanda Dudamel ตัวเต็งที่คว้าตำแหน่งรองมิสยูนิเวิร์สอันดับ 1 ทั้งเป็นชาติเดียวที่เป็นตำนานการครองเก้าอี้นางงามจักรวาล 2 ปีซ้อน คือ Dayana Mendoza ในปี 2008 และปีต่อมา Stefanía Fernández นางงามจากประเทศเดียวกันก็เข้ามาแตะมือคว้ามงกุฎนางงามจักรวาลไปครองต่อ
เบื้องหลังของมิสยูนิเวิร์สเวเนซูเอลาที่สามารถพิชิตมงกุฎเวทีแล้วเวทีเล่าต้องบอกว่ามาจาก Osmel Ricardo Sousa Mansilla ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นซาร์แห่งวงการประกวดนางงาม เขาเข้าร่วมองค์การประกวดมิสเวเนซูเอลา ในปี 1969 เป็นผู้แนะนำเทคนิคต่างๆ ให้กับว่าที่ผู้เข้าร่วมการประกวด ก่อนจะขึ้นเป็นผู้อำนวยการกองประกวดและประธานองค์การประกวดมิสเวเนซูเอลาในปี 1981
ตำแหน่งมิสยูนิเวิร์ส 6 ครั้ง มิสอินเตอร์เนชันแนล 5 ครั้ง มิสเวิล์ด 4 ครั้ง และ มิสเอิร์ธ 1 ครั้ง ล้วนเป็นผลงานที่เกิดขึ้นหลังจากที่เขาเข้ามาเป็นประธานกองประกวดของเวเนซุเอลาทั้งสิ้น
นอกจากการกำหนดโปรแกรมฝึกอย่างหนักให้กับว่าที่ผู้เข้าประกวดแต่ละคนแล้ว ออสเมล ซูซา บอกว่า ต้องมีการวางแผนในทุกขั้นตอนโดยเฉพาะเวทีระดับนานาชาติ ข้อมูลพื้นฐานทุกอย่าง รวมทั้งรายละเอียดเกี่ยวกับผู้เข้าประกวดแต่ละประเทศล้วนเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องรู้ โปรแกรมการฝึกจึงต้องปรับเปลี่ยนทุกปี
“จริงๆ แล้วเราไม่มีมาตรฐานกลางที่ชี้วัด แต่อย่างน้อยหน้าตาต้องดูดี ที่สำคัญคือ ส่วนสูงและความมีเสน่ห์ที่จะเป็นหมัดเด็ดจับใจคณะกรรมการให้ได้บนเวทีประกวด” ซูซา บอก
Miss Universe ทุนนิยมบนขนบเดิม
ในแง่ของความงาม ปฏิเสธไม่ได้ว่านางงามอินเดียมีความโดดเด่นไม่ด้อยกว่าชาติใดบนเวทีประกวด
แต่เบื้องหลังกว่าจะมีวันนี้ของหญิงสาวเหล่านั้นบอกเลยว่า…ไม่ง่าย! ท่ามกลางสังคมปิตาธิปไตย ที่ถือเพศชายเป็นใหญ่ แม้ว่าปัจจุบันจะเป็นสังคมประชาธิปไตยแล้วก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติสิทธิและความเท่าเทียมกันระหว่างเพศยังน้อยมาก
“อินเดีย” เป็นประเทศที่สตรีต้องอดทนยืนหยัดต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมมานานนัก จวบจนปัจจุบันการกีดกันทางเพศยังไม่จางลงง่ายๆ
ดลลดา ชื่นจันทร์ นักวิจัยผู้ช่วยประจำศูนย์เอเชียใต้ศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ถึงเบื้องหลังธุรกิจประกวดนางงามของอินเดียว่า การประกวดนางงามในอินเดียว่าเริ่มต้นขึ้นในปี 1952 จากภาคเอกชนและนักธุรกิจอินเดีย โดยสาวงามจะใส่ชุดประจำชาติ แต่งหน้าเข้มตามขนบ ผู้ชนะการประกวดจะทำหน้าที่เป็นเหมือนนางแบบสิ่งทอที่สื่อถึงความพอเพียงตามแนวคิดของมหามตะ คานธี
แม้ว่าในยุคแรกเริ่มจะมีเสียงคัดค้านการประกวดว่าขัดต่อธรรมเนียมนิยมของอินเดีย แต่ไม่เป็นผลเนื่องจากผู้เข้าประกวดจำกัดสิทธิเฉพาะวรรณะระดับกลางและสูง ทั้งด้วยมองว่าเป็นเรื่องแบบตะวันตก นานวันเข้ากระแสความนิยมการประกวดนางงามของอินเดียก็ค่อยๆ เติบโตขึ้นโดยมีปัจจัยสนับสนุนคือ การมาของโลกการค้าเสรี
“แก่นแกนที่เป็นจุดแข็งของนางงามอินเดียถูกสร้างและผลักดันมาอย่างยาวนาน ความเท่าทันกระแสโลกและการแสดงออกถึงความเป็นขนบดั้งเดิมแทรกในตัวตนของนางงาม บนโจทย์ที่ว่า นางงามอินเดียจะต้องสะท้อนอัตลักษณ์และคุณค่าแบบหญิงอินเดีย คำกล่าวของนางงามอินเดียจึงมักเกี่ยวข้องกับความรู้สึกโอบอ้อมอารี ความเป็นแม่ ความเป็นผู้หญิง ความอนุรักษ์นิยม พวกเธอต้องสนใจในกิจกรรมการกุศล และต้องภาคภูมิใจและย้ำชัดถึงความเป็นอินเดีย”
ที่ผ่านมามีสาวงามตัวแทนอินเดียที่ครองตำแหน่งผู้หญิงที่สวยที่สุดในจักรวาลมาแล้ว 3 คน คือ Sushmita Sen มิสยูนิเวิร์สปี 1994 Lara Dutta มิสยูนิเวิร์สปี 2000 และ Harnaaz Sandhu มิสยูนิเวิร์สปี 2021
กระนั้น สตรีเพศชาวอินเดียยังคงต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อสิทธิและความเท่าเทียมอย่างหนัก โดยอาศัยเวทีประกวดเป็นหนึ่งในการสร้างโอกาส ประกาศว่าผู้หญิงทุกคนมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญอย่างถูกต้อง และเสรีภาพในการเลือกเส้นทางชีวิตของตนเอง.
Credit ภาพ: Missuniverse.in.th
ถ้าคุณชอบเรื่องราวของ สาระ ความรู้รอบตัวเกี่ยวกับการใช้ชีวิต ติดตามอ่านเพิ่มเติมได้ ที่นี่