การสำรวจดวงจันทร์เป็นความท้าทายของนักบินอวกาศมานาน แต่จากนี้ทุกสิ่งจะง่ายขึ้น เมื่อมีตัวช่วยใหม่…
อะไรก็เกิดขึ้นได้ เมื่อมนุษย์มุ่งมั่นว่าจะสำรวจดวงจันทร์โดยละเอียด ทางด้านมืดของดวงจันทร์ก็ลุยมาแล้ว เป้าหมายคือ การค้นพบโลกใบใหม่เพื่อการลงหลักปักฐานของมนุษย์ในอนาคต ระยะหลังจึงได้เห็นว่าหลายต่อหลายประเทศเริ่มหันมาสำรวจดวงจันทร์อย่างเอาจริงเอาจังอีกครั้ง
แต่ทว่า อุปสรรคที่ขัดขวางการสำรวจคือ แสงสว่าง เนื่องจากบนดวงจันทร์นั้นมีช่วงเวลากลางวันที่สว่างไสวอยู่นาน 2 สัปดาห์ ก่อนจะสลับเป็นเวลากลางคืนอันมืดมิดอีก 2 สัปดาห์ เพื่อเอื้อต่องานสำรวจอย่างต่อเนื่อง จึงมีการเสนอให้ตั้ง “ประภาคาร” ทำหน้าที่เช่นเดียวกับบทบาทของประภาคารต่อนักเดินทะเล
โครงการสร้างประภาคารบนดวงจันทร์จึงอุบัติขึ้น โดยได้รับเลือกเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ 10-Year Lunar Architecture หรือ LunA-10 ของ DARPA (Defense Advanced Research Projects Agency) ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีของสหรัฐอเมริกา ก่อตั้งขึ้นสำหรับสำรวจและสนับสนุนเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อช่วยสร้างเศรษฐกิจบนดวงจันทร์
ทั้งนี้ โครงสร้างประภาคารซึ่งมี Honeybee Robotics เป็นผู้พัฒนา จะมีความสูงเกือบ 330 ฟุต หรือ 100 เมตร เป็นโครงสร้างที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ มีแผงโซลาร์เซลล์อยู่ด้านบน ขณะเดียวกันก็รวมเอาฟังก์ชันต่างๆ เช่น การกักเก็บและถ่ายโอนพลังงาน การสื่อสาร ส่งสัญญาณช่วยนำทาง ตลอดจนเฝ้าระวังเหตุต่างๆ รวมอยู่ในโครงสร้างพื้นฐานเดียวกัน
เรียกโครงสร้างดังกล่าวนี้ว่า LUNARSABER (Lunar Utility Navigation with Advanced Remote Sensing and Autonomous Beaming for Energy Redistribution) ตั้งเป้าว่าจะสามารถให้แสงสว่าง พลังงาน และการสื่อสารที่จำเป็นต่อการรองรับเศรษฐกิจบนดวงจันทร์
“เพราะแค่มีแสงสว่างอย่างต่อเนื่องนั้นยังไม่เพียงพอต่อการตั้งถิ่นฐานบนดวงจันทร์ แต่เรายังต้องการการสื่อสารกับโลกเพื่อให้ยานสำรวจดวงจันทร์ ระบบหุ่นยนต์ และอุปกรณ์อื่นๆ ทำงานได้” Vishnu Sanigepalli นักวิจัยหลักของ Honeybee Robotics ในภารกิจ LUNARSABER บอก
ล่าสุด นาซ่าได้ทำการทดสอบเทคโนโลยีที่คาดว่าจะทำงานเป็น ‘ประภาคาร’ บนดวงจันทร์ และให้ข้อมูลแบบเรียลไทม์ของนักบินอวกาศและหุ่นยนต์สำรวจ โดยส่งเครื่องสาธิต Lunar Node 1 (LN-1) ระบบนำทางอัตโนมัติไปกับยาน Odysseus ของบริษัท Intuitive Machines ซึ่งลงจอดบนดวงจันทร์เป็นผลสำเร็จเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นับเป็นก้าวสำคัญของเทคโนโลยีการนำทางบนดวงจันทร์
นาซ่าระบุว่า ระบบดังกล่าวซึ่งได้รับการทดสอบบนยานโอดิสเซียส สามารถเชื่อมโยงยานโคจรรอบโลก ยานลงจอด และนักบินอวกาศบนดวงจันทร์ได้ และช่วยในการยืนยันตำแหน่งของนักสำรวจแต่ละคนเมื่อเทียบกับสถานีภาคพื้นดินอื่นๆ ยานอวกาศในเครือข่าย และยานสำรวจที่กำลังเคลื่อนที่ในรูปแบบดิจิทัล เชื่อว่า ระบบดังกล่าวจะช่วยในการสำรวจและตั้งฐานบนดวงจันทร์ได้อย่างปลอดภัยยิ่งขึ้น
นาซ่าไม่เพียงคาดหวังว่า LN-1 จะเป็นรากฐานของเครือข่ายนำทางบนดวงจันทร์ที่ครอบคลุม ซึ่งจะช่วยให้การสื่อสารและการวางตำแหน่งทรัพยากรบนดวงจันทร์ราบรื่นยิ่งขึ้นแบบเรียลไทม์ ยังมีแผนจะปรับใช้ LN-1 สำหรับภารกิจบนดาวอังคารในอนาคต โดย Evan Anzalone นักวิจัยหลัก LN-1 จากศูนย์การบินอวกาศมาร์แชลล์ของนาซ่า ย้ำถึงศักยภาพของระบบที่จะเปลี่ยนแปลงการสำรวจทั้งดวงจันทร์และดาวอังคาร มองว่า LN-1 จะทำหน้าที่เป็นประภาคารที่นำทางสำหรับทุกองค์ประกอบของภารกิจ
การทดสอบ LN-1 ที่ประสบความสำเร็จของนาซ่าในครั้งนี้ นับเป็นการเปิดศักราชใหม่ของระบบนำทางบนดวงจันทร์ ซึ่งรับประกันความปลอดภัยและประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นสำหรับภารกิจในอนาคต.