Woven City ต้นแบบเมืองแห่งอนาคต ที่สอดประสาน คน พลังงาน เทคโนโลยี เป็นหนึ่งเดียว

Woven City พื้นที่ขนาด 175 เอเคอร์ ตั้งอยู่ใกล้กับภูเขาไฟฟูจิในเมืองซูโซโนะ จังหวัดชิซูโอกะ กับฝันต้นแบบเมืองอัจฉริยะของ Toyota
Share

 

ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา Toyota พยายามปั้นเมืองแห่งไอเดียมาหลายที่ ไม่ว่าจะ Aichi เมืองที่พัฒนาจากพื้นที่จัดงาน World Expo 2005 หรือ Shirakawa-Go เมืองย้อนยุควัฒนธรรมญี่ปุ่นแท้ๆ ล่าสุดกับเมืองใหม่ที่ฝันของบริษัทในการถ่ายทอดไอเดีย “เมืองในฝันแห่งอนาคต” ที่ คน พลังงานและเทคโนโลยี เป็นหนึ่งเดียว

 

พื้นที่ขนาด 175 เอเคอร์ ตั้งอยู่ใกล้กับภูเขาไฟฟูจิในเมืองซูโซโนะ จังหวัดชิซูโอกะ ห่างจากกรุงโตเกียวราว 100 กม. บนพื้นที่เดิมของโรงงานฮิกาชิ-ฟูจิของโตโยต้า มอเตอร์ ตะวันออก ญี่ปุ่น มีขนาดทั้งหมด 708,000 ตร.ม. นั่นคือที่ตั้งของ Mega Project ใหม่ล่าสุดจากยักษ์ใหญ่ด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ของญี่ปุ่นและโลกอย่าง Toyota

ในระยะแรกจะมีผู้อยู่อาศัย 360 คน ซึ่งประกอบด้วยผู้พัฒนาโครงการ ครอบครัวที่มีเด็ก และผู้สูงอายุในชุมชน ขณะที่ในอนาคตภายใน 5 ปีนับจากก่อสร้างแล้วเสร็จ ตั้งเป้าให้มีผู้อยู่อาศัยราว 2,000 คน ที่จะย้ายเข้ามาอยู่ในเมืองนี้ และใช้ชีวิตในบ้านอัจฉริยะ

Toyota  หมายมั่นปั้นมือว่าพื้นที่แห่งนี้จะคืออนาคตที่บริษัทเตรียมมอบให้แก้มนุษยชาติ ในฐานะของพื้นที่ในการทดลองแนวคิดของ “เมืองแห่งอนาคต” ที่ความจริงแล้วบริษัทนั้นวาดฝันมานานตั้งแต่ World Expo Aichi 2005

 

Woven City

คือชื่อของเมืองแห่งอนาคต ที่ Toyota วางแผนไว้ทดสอบยานยนต์ไร้คนขับ เทคโนโลยีอัจฉริยะและหุ่นยนต์ผู้ช่วยในชีวิตประจำวัน โดยสามารถรองรับคนอยู่อาศัยได้ราว 2,000 คน ซึ่งในนั้นรวมถึงเรื่องพลังงานโดยเฉพาะ ไฮโดรเจน เชื้อเพลิงที่บริษัทนั้นแม้จะจุดติดในระบบเครื่องยนต์แล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถจุดความสนใจและอยากนำมาใช้ในวงกว้างทั่วโลกได้เสียที ข่าวล่าสุดมีการชวนพันธมิตรเข้ามาสร้างต้นแบบของ เมืองอัจฉริยะ ด้วยแล้ว

Akio Toyoda อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ Toyota ได้อธิบายถึงความเป็น ต้นแบบเมืองอัจฉริยะแห่งใหม่นี้ไว้เมื่อครั้งวางศิลาฤกษ์โครงการย้อนกลับไปเมื่อ 3 ปีกว่าๆ ที่แล้วว่าเมืองแห่งนี้เป็นเหมือน “ห้องปฏิบัติการที่มีชีวิต” โดยจะอนุญาตให้นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ และวิศวกรได้ทดสอบเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่ในสภาพแวดล้อมในชีวิตจริงนั่นเอง

“ผู้คนในอาคารบ้านเรือนและยานพาหนะทั้งหมด จะสามารถเชื่อมต่อและสื่อสารกันผ่านดาต้าเเละระบบเซ็นเซอร์ โดยจะสามารถทดสอบเทคโนโลยี AI ได้ทั้งในโลกเสมือนและโลกจริง เพื่อเพิ่มศักยภาพให้ได้สูงสุด เราต้องการจะเปลี่ยนปัญญาประดิษฐ์ให้กลายเป็นระบบสารสนเทศอัจฉริยะ”

 

หลักการออกแบบ 3 ประการ

แนวทางของเราขับเคลื่อนด้วยหลักการที่แน่วแน่ 3 ประการ ได้แก่

  1. Human-Centered คำนึงถึงมนุษย์ในฐานะที่เป็นศูนย์กลางและการจัดลำดับความสำคัญตามความต้องการและความชอบของผู้คน
  2. Living Laboratory หรือห้องปฏิบัติการที่มีชีวิตซึ่งช่วยให้สามารถทดสอบเทคโนโลยีใหม่ๆ ในโลกแห่งความเป็นจริงได้อย่างราบรื่น และ
  3. Ever-Evolving หรือแนวทางการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง ซึ่งเทคโนโลยีและบริการใหม่ดังกล่าวจะต้องเติบโตและมีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง

Woven City จะนำเสนอการเคลื่อนไหว/การขับเคลื่อน (mobility) ซึ่งสอดคล้องกับความมุ่งมั่นของโตโยต้าที่ต้องการเป็น “Mobility for All” ด้วยการออกแบบทางหลากหลายประเภทที่เน้นมนุษย์เป็นศูนย์กลางทั้งบนดินและใต้พื้นดิน เพื่อให้มีการสัญจรอย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ โดยแยกการขนส่งเชิงพาณิชย์ การขนส่งในเมือง คนเดินเท้า และการขนส่งสาธารณะและส่วนบุคคลออกจากกัน

บนพื้นผิวของเมืองจะมีเส้นทางที่แตกต่างกัน 3 แบบ แบบแรกสำหรับการเคลื่อนที่แบบอัตโนมัติ หรือสำหรับยานพาหนะไร้คนขับ อีกแบบหนึ่งสำหรับคนเดินถนน และแบบสุดท้ายสำหรับทั้งคนเดินถนนและการเคลื่อนไหวส่วนบุคคล เช่น รถจักรยาน และสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า ส่วนใต้พื้นดินจะเป็นเส้นทางเฉพาะสำหรับการเคลื่อนย้ายสินค้าซึ่งจะมีการติดตั้งเครือข่ายโลจิสติกส์ของเมืองด้วย

Remark: Vision Mobility นี้ Toyota เองเคยนำออกมาเสนอแนวคิดยานยนต์เพื่อการขับเคลื่อนในอนาคตมาตั้งแต่ปี 2005 แล้ว โดยนำเสนอในพาวิลเลี่ยนของ Toyota เองในงาน World Expo 2005 Aichi, Nagoya

ภายใน Woven City ยังมีนวัตกรรมต่างๆ รวมถึงหุ่นยนต์ที่มีหน้าที่ในการช่วยเหลือและทำให้ชีวิตของผู้อยู่อาศัยดีขึ้น เทคโนโลยีเซ็นเซอร์ AI ที่สามารถตรวจสอบสุขภาพของผู้อยู่อาศัย และยานพาหนะอัตโนมัติที่ขับเคลื่อนด้วยตนเองสำหรับจัดส่งสินค้า

 

พลังงาน อีกหนึ่งในอนาคตที่จะได้เห็น

Credit Picture : Woven by Toyota

เซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนและพลังงานแสงอาทิตย์จะเป็นแหล่งพลังงานหลัก และที่สำคัญใน Woven City มีความต้องการผู้ที่จะเข้ามาพัฒนาและยกระดับในด้านการใช้พลังงานอย่างมาก ทำให้เกิดการรวมตัวของนักสร้างนวัตกรรมและนักพัฒนาในการรับฟังพันธมิตรที่มีศักยภาพในหลากหลายสาขา รวมถึงการศึกษา เกษตรกรรม พลังงาน และการขนส่งภายในเมือง

ปัจจุบัน ENEOS Corporation หนึ่งในบริษัทด้านพลังงานเจ้าใหญ่ของญี่ปุ่น ร่วมเป็นพันธมิตรกับทาง Toyota ในการทำการวิจัยขั้นสูงในการนำ ไฮโดรเจน มาผลิตสำหรับใช้เป็นพลังงานหลัก และตอบโจทย์การผลิตและการใช้ไฮโดรเจนที่ปราศจากคาร์บอนไดออกไซด์ภายในเมืองใหม่นี้

โดยในส่วนของ Woven Planet จะสร้างศูนย์กลางการสาธิตภายในและรอบๆ เมืองอัจฉริยะแห่งนี้ เพื่อให้บรรลุความเป็นกลางของคาร์บอน

 

เปลี่ยน Woven City สู่ Smart City ด้วย IoT

แน่นอนถ้าจะทำให้เมืองต้นแบบสำหรับอนาคตที่สมบูรณ์แบบ การสร้างเมืองใหม่นี้ในรูปแบบของ Smart City ย่อมเป็นเรื่องที่สำคัญ

หน้าที่นี้ถูกยกให้กับพันธมิตรยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคมอีกแห่งอย่าง NTT Corporation ในการปรับใช้เทคโนโลยีสื่อสารไร้สายยุคใหม่เข้ามาติดตั้งในลักษณะของ เซนเซอร์ หรืออุปกรณ์ต่างๆ รอบเมืองสำหรับการรายงานสถานะของทั้งเมืองผ่านไปยังศูนย์ความคุมกลาง

NTT ได้เลือกเอาเทคโนโลยียุคต่อไปของระบบ IoT เข้ามาติดตั้ง และไม่เพียงแต่อุปกรณ์ชิ้นเล็กๆ เหล่านี้ยังมีการปรับใช้เทคโนโลยีอย่าง EDGE Computing หรือระบบประมวลผลที่จุดเชื่อมต่อปลายทางหรือ เอดจ์ ร่วมกับเครือข่ายไร้สายความเร็วสูงอย่าง 5G Advance ซึ่งเป็นอีกระดับของการพัฒนาเทคโนโลยี 5G ที่มีการใช้กับผู้บริโภคทั่วไป

 

อาหารการกินสมบูรณ์ไปด้วยสุขภาพ

ภาพของการเป็นเมืองอัจฉริยะในอนาคต หลายคนอาจจะมองเห็นถึงภาพของประชากรที่เดินทางด้วย Hitech Mobility รวดเร็ว ไม่ติดขัด ปราศจากควันพิษ พร้อมระบบบริการข้อมูลข่าวสารที่รวดเร็วไม่ต้องรอการดาวน์โหลดเอกสาร ดีทุกอย่างแต่อาจจะต้องได้กินอาหารที่หน้าตาคล้ายที่กินกันบนอวกาศ ทั้งหน้าตา และรสชาติ แต่อาจไม่อร่อยและไม่ค่อยเจริญตาเพราะหน้าตาที่มองกี่ทีก็เหมือนก้อนดินน้ำมันสี่เหลี่ยม

พันธมิตรด้านอาหาร ถูกมอบให้กับ Nissin Foods ที่ได้ริเริ่มข้อตกลงร่วมกับโตโยต้าเพื่อส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ผ่านการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ ด้วยการนำเสนออาหารที่เป็นนวัตกรรมใหม่ของบริษัทนิชชิน ที่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างอาหารกับการยืดอายุขัยเพื่อสร้างสุขภาพที่ดี โดยอิงจากวิทยาศาสตร์ทางโภชนาการระดับโมเลกุลล่าสุด เพื่อจัดหา “อาหารโภชนาการที่สมบูรณ์” ในแบบเฉพาะบุคคล อร่อย และดีต่อสุขภาพสำหรับผู้ที่อยู่อาศัย

 

โดยสรุปนั้น Woven City คืออีกโมเดลอนาคตที่น่าสนใจอย่างมาก ในแง่ของการปรับใช้เทคโนโลยีด้านต่างๆ ทั้ง คน สิ่งแวดล้อม และพลังงาน ที่ไขว้กันไปมาสมชื่อเมืองที่ถูกถักทอเพื่อเชื่อมโยงกัน และในอีก 5 ปีถ้ามีโอกาสเราคงได้ไปเหยียบที่เมืองแห่งนี้ แล้วเอาทุกอย่างที่เกิดขึ้นจริงมาเล่าให้คุณๆ ได้ฟังกัน

 

สำหรับท่านผู้อ่านที่สนใจติดตาม บทความ และสาระน่ารู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลง และรูปแบบการใช้ชีวิต สามารถติดตามอ่านข่าวสารและบทความเพิ่มเติมได้ ที่นี่

Related Articles