“Ozone” ผู้พิทักษ์ (โลก) ที่ไม่ได้น่ารักอย่างที่คิด ทำอย่างไรเมื่อชั้นบรรยากาศแคบลง?

“Ozone” ผู้พิทักษ์ (โลก) ที่ไม่ได้น่ารักอย่างที่คิด ทำอย่างไรเมื่อชั้นบรรยากาศแคบลง? ที่ที่เรารู้กับความจริงขของมนุษย์ที่กำลังทำลายตัวเอง
Share

เพราะดีต่อโลก ไม่ได้หมายความว่าดีต่อ (ร่างกาย) เรา ลืมไปได้เลยกับวาทกรรมที่ชวนกันไปทะเล…สูดโอโซนให้ฉ่ำปอด!

ในความเป็นจริง โอโซน  ไม่ได้ดีต่อร่างกาย และออกจะเป็นอันตรายด้วยซ้ำ ถือเป็นก๊าซพิษที่มนุษย์เราไม่ควรไปสัมผัสหรือสูดดม

รู้จัก Ozone

โอโซน ไม่ใช่อากาศที่มนุษย์เราใช้ในการหายใจ เป็นก๊าซไม่มีสีแต่มีกลิ่นเหม็นคาว เป็นพิษต่อระบบหายใจของสิ่งมีชีวิต ทั้งมีความไวต่อการทำปฏิกิริยากับสารอื่นๆ ในสิ่งแวดล้อม ความรู้สึกที่ว่าโอโซนดับกลิ่น ทำให้อากาศสดชื่นนั้นความจริงเกิดจากการที่โอโซนทำปฏิกิริยากับโมเลกุลของสารที่มีกลิ่นให้กลายเป็นอีกโมเลกุลซึ่งไม่มีกลิ่น ส่วนโอโซน (O3) จะถูกเปลี่ยนเป็นออกซิเจน (O2)

ที่สำคัญคือ การได้รับโอโซนเป็นประจำอาจเป็นอันตรายต่อปอด โดยเฉพาะในเด็กที่ระบบภูมิต้านทานยังไม่แข็งแรงเพียงพอ ทำให้เกิดระคายเคืองในระบบหายใจ ทำให้ภูมิคุ้มกันในระบบหายใจลดลง เกิดอาการหอบหืดและโรคหัวใจกำเริบ ทั้งอาจก่อผลข้างเคียงอย่างปวดศีรษะ แน่นท้อง ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน หรือแน่นหน้าอก เป็นต้น

การสูดโอโซนโดยตรงอาจก่อผลเสียหรืออันตรายแก่ระบบพันธุกรรม หรืออวัยวะสืบพันธุ์ได้ หากบริเวณดังกล่าวมีปริมาณโอโซนสูงมากเกินไปจะก่อเป็นก๊าซพิษส่งผลเสียต่อสุขภาพ และหากสัมผัสโอโซนในรูปของเหลวความเข้มข้นสูงบริเวณดวงตาหรือผิวหนังจะก่อความระคายเคือง ทำให้รู้สึกปวดแสบปวดร้อนได้ไปจนถึงอาการไหม้ที่รุนแรง

 

ความจริงแล้ว สิ่งที่เรารู้คืออะไร

แล้ว “โอโซน” คืออะไร? ทำไมต้องรณรงค์เป็นวาระโลก โดยในวันที่ 16 กันยายนของทุกปี ถือเป็นวันพิทักษ์โอโซนสากล (World Ozone Day)
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือ สสวท.ให้ความรู้ว่า “โอโซน” เป็นก๊าซอยู่ในชั้นบรรยากาศ สตราโทสเฟียร์ ซึ่งสูงจากพื้นดินที่ประมาณ 10 -50 กิโลเมตร ช่วยป้องกันรังสีจากแสงแดดที่จะเข้ามาทำร้ายมนุษย์ ทำให้ไม่ได้รับอันตรายจากรังสีอัลตราไวโอเลตและโรคทางผิวหนัง อย่าง โรคมะเร็งผิวหนัง โรคต้อเนื้อ โรคกระจกตาอักเสบ รวมถึงการมีผิวหนังที่แห้งและเหี่ยวก่อนวัยอันควร

The troposphere is the lowest layer of the atmosphere, where weather happens, and 80% of the atmosphere’s mass is concentrated. (Image: BlueRingMedia/Shutterstock)

ประโยชน์ของโอโซนถูกนำไปใช้ในการฆ่าเชื้อโรค ทำความสะอาด บำบัดน้ำเสีย รวมถึงใช้ในการกำจัดมลพิษในอากาศ ช่วยให้อากาศบริสุทธิ์มากขึ้น รวมถึงในทางการแพทย์ก๊าซโอโซนก็ยังถูกนำมาใช้ในการฆ่าเชื้อโรค เชื้อไวรัส ช่วยลดการอักเสบ และการอบโอโซนเพื่อสมานแผล

ทั้งนี้ หลายสิบปีที่ผ่านมา โอโซนถูกทำลายไปอย่างมากด้วยน้ำมือมนุษย์ ตัวการสำคัญคือ สาร CFCs (Chlorofluorocarbons) ที่มนุษย์สังเคราะห์ขึ้น เช่นใช้ในอุปกรณ์ให้ความเย็น อย่าง ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ และสเปรย์ฉีดพ่นต่างๆ

เมื่อโอโซนในชั้นบรรยากาศของโลกถูกทำลายมากเข้า จึงเกิดเป็นช่องโหว่โอโซน (ozone hole) ขนาดใหญ่ในหลายแห่งทั่วโลก ส่งผลให้รังสีอัลตราไวโอเลตสามารถผ่านมายังโลกได้โดยตรง ซึ่งเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตบนโลก เช่น โรคมะเร็งผิวหนังในคน การเจริญเติบโตที่ผิดปกติในพืช เป็นต้น

แม้เมื่อ 2 ปีก่อน วารสาร Nature รายงานผลการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์พบว่า ชั้นโอโซนในชั้นบรรยากาศทวีปแอนตาร์กติกา ซึ่งอยู่ในระดับความสูงประมาณ 10-20 กิโลเมตรจากพื้นดินกำลังฟื้นตัว ทำให้ช่องโหว่ของชั้นบรรยากาศปิดแคบลงในรอบ 30 ปี กระนั้นเชื่อว่าข่าวดีดังกล่าวน่าจะอยู่ไม่นาน เพราะการเพิ่มขึ้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มากขึ้นเรื่อยๆ ย่อมส่งผลต่อชั้นโอโซนของโลก

โดยเฉพาะบรรยากาศโลกชั้นสตราโตสเฟียร์ ซึ่งกำลังหดตัวบางลงอย่างน่าเป็นห่วง และจะยิ่งบางลงเรื่อยๆ หากมนุษย์ไม่ตัดลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างจริงจัง.

แม้ว่า โอโซน จะไม่ดีต่อ มนุษย์ แต่มันคือสิ่งจำเป็นต่อการดำรงอยู่ของดาวสีน้ำเงินที่เรียกว่า โลก และสำคัญอีกเรื่องคือมันช่วยให้โลกยังคงความสงบในด้านของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คงเริ่มพอเข้าใจกันแล้วว่าที่สภาพภูมิอากาศทั่วโลกเริ่มแปรปรวนมากขึ้น เพราะมนุษย์เรานี่แหละที่ไปทำให้มันเปลี่ยนไปเอง 

 

สำหรับท่านที่ติดตามอ่านผลงานของ rabbit2themoon สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ ที่นี่

rabbit2themoon

rabbit2themoon

คอลัมนิสต์หน้าไม่ใหม่ เคยพำนักอยู่ใต้ชายคามติชน ประจำกอง บก.นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ก่อนขยับมาเป็นผู้สื่อข่าวเซ็กชั่นประชาชื่น เขียนสัมภาษณ์บุคคล-สกู๊ปเชิงไลฟ์สไตล์-ท่องเที่ยว-อาหาร-จิปาถะ สถานะปัจจุบัน นอกจากเป็นคอลัมนิสต์ ยังเป็นนักเขียนอิสระ เขียนบทความเชิงประชาสัมพันธ์

Related Articles