สงกรานต์เดือด “ร้อนทะลุพิกัด” เตือน! ระวัง Heat Stroke เสี่ยงมะเร็งผิวหนัง

Heatstroke และมะเร็งผิวหนัง เรื่องต้องระวังในภาวะช่วง สงกรานต์เดือด สองโรคที่เหมือนเป็นของแถมจากเทศกาลที่ทุกคนรอคอย
Share

 

ร้-อ-น…อะไรเบอร์นี้!

 

เสียงบ่นที่ลอยมาเข้าหูบ่อยครั้งจากคนรอบกายตอกย้ำถึงอุณหภูมิความร้อนที่ปีนี้ไม่ธรรมดา เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมากรมอุตุนิยมวิทยาถึงกับออกประกาศเตือนค่าดัชนีความร้อน (Heat Index) พิกัดบางนาที่พุ่งสูงทะลุ 50 องศา ให้เฝ้าระวังสุขภาพ เสี่ยงเกิด Heatstroke หรืออาการที่เรียกว่า ลมแดด

ดัชนีความร้อน หรือ Heat Index อาจมิใช่ตัวเลขจริงจากปรอท โดยเป็นการนำค่าอุณหภูมิของอากาศที่ตรวจวัดได้จริงและความชื้นสัมพัทธ์ของอากาศมาทำการวิเคราะห์หาค่าที่เป็นตัวแทนของอุณหภูมิที่คนเรารู้สึกได้ในขณะนั้น เพื่อบอกความเสี่ยงที่ร่างกายจะได้รับผลกระทบจากความร้อน แต่…นี่คือ WARNING อีกครั้งและอีกครั้ง

แม้ว่าเมื่อปลายปีที่แล้วต่อต้นปีนี้จะเกิดสภาพอากาศที่แปรปรวน ร้อนจัดสลับเย็นสบายเป็นระยะๆ ด้วยอิทธิพลของพายุฤดูร้อน ให้ความรู้สึกเหมือนหน้าหนาวทอดยาวขึ้นบ้าง

ทว่า นับแต่นี้โลกเราเข้าสู่โหมดความร้อนกันยาวๆ ถึง 4 ปี สืบเนื่องจากปรากฏการณ์ลานีญาที่เกิดต่อเนื่องมา 3 ปีซ้อนได้สิ้นสุดลงแล้ว ก้าวเข้าสู่เอลนีโญ บรรดานักอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าอาจเกิดสภาพภูมิอากาศแบบขั้วตรงข้ามรุนแรงกว่าที่ผ่านมากว่า 50%

ไม่เพียงส่งผลต่อภัยแล้ง ยังทำให้อุณหภูมิโดยเฉลี่ยของโลกเพิ่มสูงขึ้นอีก!

สงกรานต์เดือด ร้อนแรงทะลุพิกัด ระวัง Heatstroke

เมษายนเป็นเดือนที่มีอากาศร้อนอบอ้าวมากที่สุดในรอบปี

ใครมีแผนจะเดินทางออกต่างจังหวัด หรือหลบร้อนไปนอนทะเล ต้องเตรียมกายเตรียมใจรับมือกับความร้อน และเฝ้าระวังดูแลสุขภาพให้จงดี

ที่น่าเป็นกังวลคือ รังสียูวี ที่มาพร้อมช่วงเวลาแดดแรงจัดเวลาประมาณ 10.00-15.00 น. เพราะหากอยู่ท่ามกลางแสงแดดจัดโดยตรงอย่างเต็มที่ในช่วงเวลานี้ เพียง 15-20 นาที อาจทำให้ผิวหนังเกรียมแดด (sun burn) เสี่ยงต่อมะเร็งผิวหนัง ทั้งยังอาจส่งผลกระทบต่อดวงตา เช่น เกิดต้อกระจก เป็นต้น

ปัจจุบันสามารถเช็คค่าดัชนีรังสียูวี (UV Index) ได้โดยง่ายจากสมาร์ทโฟน ซึ่งนอกจากบอกอุณหภูมิอากาศ ฝนตกแดดจ้า ความชื้น ความเร็วลม ยังมีดัชนีรังสียูวีอีกด้วย เพื่อเตือนให้ป้องกันตนเองจากรังสีอัลตราไวโอเลต ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพ

สำหรับ ค่าดัชนีรังสียูวี เป็นการวัดปริมาณความเข้มข้นของรังสียูวีที่ฉายลงมาบนพื้นผิวโลก แบ่งออกเป็น 5 ระดับ ดังนี้

  • ระดับที่ 1 “สีเขียว” (0-2) ความเสี่ยงต่ำ กระนั้นสวมแว่นกันแดดในวันที่ท้องฟ้าโปร่ง
  • ระดับที่ 2 “สีเหลือง” (3-5) ความเสี่ยงปานกลาง ควรปกปิดผิวด้วยเสื้อผ้า หากต้องอยู่กลางแจ้งให้หลีกเลี่ยงในช่วงเที่ยงวัน เนื่องจากเป็นช่วงที่มีแสงมากที่สุด
  • ระดับที่ 3 “สีส้ม” (6-7) ความเสี่ยงสูง ควรแต่งกายให้มิดชิด สวมหมวก สวมแว่นกันแดด ใช้ครีมกันแดดที่มี SPF มากกว่า 30 และ PA มากกว่า 3+  อยู่กลางแจ้งให้น้อยกว่า 3 ชั่วโมง
  • ระดับที่ 4 “สีแดง” (8-10) ความเสี่ยงสูงมาก เริ่มส่งผลเสียรุนแรงต่อผิวหนังและดวงตา ควรใช้ครีมกันแดดที่มี SPF มากกว่า 30 และ PA มากกว่า 3+ สวมเสื้อผ้ากันแดด สวมแว่นกันแดด สวมหมวกปีกกว้าง และไม่อยู่กลางแดดเป็นเวลานาน
  • ระดับที่ 5 “สีม่วง” (มากกว่า 11 ขึ้นไป) ความเสี่ยงสูงสุด ควรหลีกเลี่ยงการออกแดด เพราะแสงอาทิตย์จะเผาไหม้ผิวหนัง และส่งผลเสียต่อดวงตาในเวลาไม่กี่นาที จึงควรระมัดระวังอย่างมาก ใช้ครีมกันแดดที่มี SPF มากกว่า 30 และ PA มากกว่า 3+ สวมเสื้อแขนยาวและกางเกงขายาว สวมแว่นกันแดด สวมหมวกที่สามารถปกปิดได้มิดชิด และหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งนานกว่า 3 ชั่วโมง

ทั้งนี้ โดยปกติค่าดัชนีรังสียูวี ในประเทศไทยอยู่ระหว่าง 8 – 14 ขึ้นอยู่กับฤดูกาลและ ภูมิอากาศในแต่ละสถานที่ การดูแลผิวด้วยการใช้ครีมกันแดดเป็นประจำทุกวันทั้งใบหน้าและผิวกายจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะเด็กอ่อนและผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพผิวหนังอ่อนแอหรือแพ้แสงแดด ควรหลีกเลี่ยงการได้รับแสงแดดระหว่างเวลา 10.00-15.00 น.

นอกจากนี้ควรดื่มจิบน้ำบ่อยๆ และหากรู้สึกหน้ามืด เวียนศีรษะ ตาพร่า ร้อนแต่เหงื่อไม่ออก ให้รีบเข้าที่ร่มในทันทีเพราะนั้นคือสัญญาณภาวะของโรคลมแดด หรือฮีทสโตรก ที่รุนแรงในถึงชีวิต

…เรื่องของสุขภาพและความปลอดภัยต้องมาก่อน เมื่อเตรียมสุขภาพพร้อม ขันพร้อม มาลัยพร้อม น้ำอบพร้อม–ปืนฉีดน้ำก็ด้วย–เริ่มออกเดินทางกันได้เลย…สุขสันต์วันสงกรานต์!

หมายเหตุ

โรคลมแดด คือภาวะที่อุณหภูมิในร่างกายสูงเกิน 40.5 องศาเซลเซียส เกิดจากการที่อยู่ในสถานที่ที่อุณหภูมิร้อนมากๆ และร่างกายไม่สามารถปรับตัวลดอุณหภูมิให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้ ส่งผลเสียต่อระบบประสาท หัวใจ และไต เป็นเหตุให้เสียชีวิตได้

ส่วนสาเหตุของโรคลมแดดนั้นมาจากการอยู่ในสถานที่ที่อากาศร้อนจัด โดยเฉพาะขณะที่อากาศร้อนชื้น หรือการออกกำลังกายอย่างหนัก โดยเฉพาะเมื่อออกกำลังกายในสถานที่ที่อากาศร้อน อาจมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่กระตุ้นให้เป็นโรคลมแดดได้ง่ายขึ้น เช่น การสวมใส่เสื้อผ้าที่หนาเกินไปจะทำให้เหงื่อระบายได้ยาก การดื่มแอลกอฮอล์ ร่างกายอยู่ในภาวะขาดน้ำ ทานน้ำน้อย เป็นต้น

กลุ่มคนที่มีโอกาศเป็นโรคลมแดดได้มากกว่าผู้อื่นอาทิ เด็กเล็ก และผู้สูงอายุ (อายุเกิน 65 ปี) มีการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงได้ช้า และเสี่ยงต่อภาวะขาดน้ำได้ง่าย, ทหารที่ต้องฝึกหนัก หรือ นักกีฬาที่ต้องเล่นกีฬาในที่ที่อุณหภูมิร้อนจัด, ผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับอากาศร้อน เช่น ต้องเดินทางไปประเทศที่อุณหภูมิอากาศร้อนกว่า หรือเจอมรสุมพายุฤดูร้อน, ผู้ที่ทานยาบางชนิด ได้แก่ ยาลดความดันโลหิตบางประเภท ยาขับปัสสาวะ ยารักษาโรคจิตเวช ยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก ยาระบาย ยาบ้า โคเคน และผู้ที่มีโรคหัวใจ โรคปอด โรคอ้วน หรือเคยเป็นโรคลมแดดมาก่อน

อาการของโรคลมแดดที่คุณอาจสังเกต หรือตรวจเช็คได้ง่ายๆ เช่น อุณหภูมิร่างกายสูงเกิน 40.5 องศาเซลเซียส มีอาการผิดปกติทางระบบประสาท ได้แก่ ลุกลี้ลุกลน พูดช้า สับสน ชัก เพ้อ หมดสติ ต่อมเหงื่อทำงานผิดปกติไป เช่น อยู่ในสถานที่ร้อนจัด แต่ไม่มีเหงื่อออก คลื่นไส้ อาเจียน ผิวหนังและหน้าเปลี่ยนเป็นสีออกแดง เหนื่อย หายใจเร็ว ใจสั่น ชีพจรเต้นเร็วผิดปกติ ปวดศีรษะ หรือไตวาย ปัสสาวะสีเข้มผิดปกติ เอนไซม์ในกล้ามเนื้อสูงผิดปกติ

วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นก่อนรีบนำส่งโรงพยาบาล คือ ผู้ป่วยที่มีอาการควรรีบหลบแดด ย้ายมาอยู่ในที่ร่ม ถอดเสื้อคลุมที่ไม่จำเป็นออก ทำให้ร่างกายเย็นด้วยวิธีต่างๆ เช่น รดตัวด้วยน้ำเย็น เช็ดตัวด้วยน้ำเย็นโดยเฉพาะที่บริเวณหลังคอ ข้อพับ และขาหนีบ เป่าพัดลมที่มีไอน้ำเย็น เปิดแอร์ ดื่มน้ำ และน้ำเกลือแร่ให้มากๆ เพื่อไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ และป้องกันไม่ให้ร่างกายสูญเสียเกลือแร่

ขอบคุณข้อมูลจาก โรงพยาบาลกรุงเทพ-เชียงใหม่ : โรคลมแดด (Heat Stroke) โรคใหม่ที่คุณควรรู้ไว้

 

สำหรับท่านผู้อ่านที่ชื่นชอบและติดตามอ่านบทความทางด้าน การใช้ชีวิตและเรื่องราวทั่วไป สามารถอ่านเรื่องราวและบทความเพิ่มเติมได้ ที่นี่ 

rabbit2themoon

rabbit2themoon

คอลัมนิสต์หน้าไม่ใหม่ เคยพำนักอยู่ใต้ชายคามติชน ประจำกอง บก.นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ก่อนขยับมาเป็นผู้สื่อข่าวเซ็กชั่นประชาชื่น เขียนสัมภาษณ์บุคคล-สกู๊ปเชิงไลฟ์สไตล์-ท่องเที่ยว-อาหาร-จิปาถะ สถานะปัจจุบัน นอกจากเป็นคอลัมนิสต์ ยังเป็นนักเขียนอิสระ เขียนบทความเชิงประชาสัมพันธ์

Related Articles