ชวนไปนอนนับดาว! 1-5 มีนาคม 68 การมาของดาวดวงที่ 7 ใน “พาเหรดดาวเคราะห์” 

Share

 

25 มกราคมที่ผ่านมา บนฟากฟ้าเกิดปรากฏการณ์ที่หาดูได้ยาก ดาวเคราะห์ 6 ดวงในระบบสุริยะเรียงตัวกัน พาดเป็นแนวจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ไปตะวันออกเฉียงเหนือ

กล่าวคือถ้ามองไปบนท้องฟ้าจะเห็นดาวเคราะห์ที่ว่า ไล่เรียงจากทางทิศตะวันตกไปตะวันออก ได้แก่ ดาวเสาร์ ดาวศุกร์ ดาวพฤหัสบดี และดาวอังคาร ส่วนอีก 2 ดวง คือ ดาวยูเรนัส และดาวเนปจูน เนื่องจากอยู่ไกลเกิน ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า

การเรียงตัวของดาวเคราะห์ทั้งหกเช่นนี้เรียกกันว่า “พาเหรดของดาวเคราะห์” (Planetary parade) ซึ่งในความเป็นจริงไม่ได้เรียงกันเป็นเส้นตรงแน่ว แต่เกาะกลุ่มเรียงตัวอยู่ระนาบเดียวกันในวิถีสุริยะ

…เสียดายก็แต่ว่า บ้านเราน่าจะมองเห็นไม่ค่อยชัดเพราะวิกฤตฝุ่นคลุมเมือง!

การมาแจมของดาวเคราะห์ดวงที่ 7

ทั้งนี้ ระบบสุริยะประกอบไปด้วยดาวเคราะห์บริวารของดวงอาทิตย์ทั้งหมด 8 ดวง ฉะนั้น ถ้าจะให้ว๊าวจริงๆ ต้องมาเข้าแถวเรียงกันครบทั้งเจ็ด ซึ่งดวงที่ขาดหายไปคือ “ดาวพุธ” ที่เมื่อวันชุมนุม 25 มกราคม อยู่อีกฟากของดวงอาทิตย์ และดาวเคราะห์อีกดวงที่ไม่ได้เอ่ยถึงในทีนี้คือ “โลก”

ทั้งหมดต่างโคจรวนรอบดาวฤกษ์ (ดวงอาทิตย์) ที่เป็นศูนย์กลาง ด้วยอัตราความเร็วที่แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น ดาวพุธที่อยู่ใกล้กับดวงอาทิตย์มากที่สุด ใช้เวลาโคจรรอบดวงอาทิตย์ 1 รอบ นาน 88 วัน ขณะที่โลกใช้เวลา 365 วัน ส่วนดาวเนปจูนที่อยู่รอบนอกสุดของระบบสุริยะ ใช้เวลาถึง 60,190 วัน

แน่นอนว่า ที่สุดแล้วสักวันดาวเคราะห์ทุกดวงจะต้องมีโอกาสโคจรมาอยู่บนระนาบเดียวกัน ซึ่งวันที่ว่ากำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 1-5 มีนาคมนี้!

โดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร. หรือ NARIT) รายงานว่า ในช่วงวันที่ 1-5 มีนาคม 2568 นับเป็นโอกาสทองที่ดาวเคราะห์ดวงที่ 7 คือ “ดาวพุธ” จะโคจรเข้ามาร่วมแจมด้วย กลายเป็นการเรียงตัวของดาว 7 ดวง (seven planets alignment)

เป็นปรากฏการณ์ที่น่าตื่นเต้น และสำคัญยิ่งในทางดาราศาสตร์ เป็นโอกาสอันดีที่นักดาราศาสตร์จะได้ศึกษาทำความเข้าใจดาวบริวารที่เป็นเพื่อนบ้านของเราให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

โอกาสทองของการสำรวจอวกาศ

แล้วปรากฏการณ์ดาวทั้ง 7 มาเรียงตัวกันส่งผลกระทบต่อโลกหรือไม่?

แม้ว่ายังไม่มีการยืนยันว่าส่งผลกระทบโดยตรงต่อโลก แต่ในทางอ้อมนักวิทยาศาสตร์ส่วนหนึ่งเชื่อว่าจะกระทบต่อ “วัฏจักรสุริยะ” (solar cycle) คือวงจรความเคลื่อนไหวของการเกิดปรากฏการณ์ต่างๆ บนดวงอาทิตย์ เช่น ลมสุริยะ โซลาร์แฟลร์ หรือการปลดปล่อยมวลโคโรนา ซึ่งการเฝ้าระวังปรากฏการณ์เช่นนี้เป็นประโยชน์ต่อการพยากรณ์สภาพอากาศบนโลก รวมทั้งป้องกันความเสี่ยงต่อผลกระทบจากการปลดปล่อยพลังงานของดวงอาทิตย์ เช่น ระบบสื่อสารดาวเทียม ระบบบอกพิกัดจีพีเอส เป็นต้น

การเรียงตัวของดวงดาวยังมีประโยชน์ต่อการศึกษาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ โดยอาศัยช่วงเวลาที่เกิดปรากฏการณ์ Transit คือดาวเคราะห์เคลื่อนผ่านหน้าดาวฤกษ์ (ดวงอาทิตย์) ทำให้แสงที่เคยสว่างจ้ามัวลง สามารถศึกษารายละเอียดของดาวเคราะห์นั้นๆ เช่น ขนาดและวงโคจรที่แน่นอน ชั้นบรรยากาศของดาวนั้นๆ ฯลฯ

เอาเป็นว่า ปักหมุดเฝ้ารอกันได้เลย 1-5 มีนาคม ถ้าท้องฟ้าแจ่มใส ไร้ฝุ่นตัวร้าย ใครมีกล้องดูดาวก็ขนกันมา ปูเสื่อนอนรอชมการเรียงตัวของดาวเคราะห์ทั้งเจ็ดบนฟากฟ้ากัน.

สำหรับผู้ที่ชื่อชอบงานเขียนของ Rabbit2TheMoon สามารถอ่านเรื่องอื่นๆ ก่อนหน้าได้ ที่นี่

rabbit2themoon

rabbit2themoon

คอลัมนิสต์หน้าไม่ใหม่ เคยพำนักอยู่ใต้ชายคามติชน ประจำกอง บก.นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ก่อนขยับมาเป็นผู้สื่อข่าวเซ็กชั่นประชาชื่น เขียนสัมภาษณ์บุคคล-สกู๊ปเชิงไลฟ์สไตล์-ท่องเที่ยว-อาหาร-จิปาถะ สถานะปัจจุบัน นอกจากเป็นคอลัมนิสต์ ยังเป็นนักเขียนอิสระ เขียนบทความเชิงประชาสัมพันธ์

Related Articles