วันแบบนี้ก็มีด้วย : 13 มกราคม National Sticker Day

Share

 

ใครจะคิดว่าในบรรดาวันสำคัญประจำปีจะมี “วันสติกเกอร์แห่งชาติ” กับเขาด้วย

 

“สติกเกอร์” ที่ว่า ไม่ใช่สติกเกอร์ไลน์ที่เพิ่งจะมาเริ่มแพร่หลายหลังจากที่มีสมาร์ทโฟน มีแอปพลิเคชันไลน์ แต่หมายถึงสติกเกอร์ที่ด้านหนึ่งเป็นกาวให้ลอกติดบนพื้นผิววัสดุ อย่าง สติกเกอร์วัดท่าไม้ เศรษฐีเรือทอง ฯลฯ ที่ติดตามกระจกท้ายรถยนต์

แต่…นั่นเป็นเพียงประเภทเดียวของสติกเกอร์

 

National Sticker Day เกิดขึ้นอย่างไร

 

เราจะคุ้นเคยกับสติกเกอร์รูปหัวใจที่ทำหน้าที่แจกจ่ายมิตรภาพ รอยยิ้ม ส่งต่อความสุข รวมทั้งแอบบอกรักให้แก่กันในวันวาเลนไทน์ สติกเกอร์รูปคาแรคเตอร์ตัวการ์ตูนแอนิเมชันที่เด็กน้อยรบเร้าให้คุณแม่ซื้อให้เพื่อติดบนสิ่งของแสนรัก

ยังมีสติกเกอร์ประเภทอื่นๆ อีกมากมายที่อยู่รายรอบตัวเรา จนกระทั่งมองข้ามความสำคัญ เช่น บนขวดยา บนบรรจุภัณฑ์ข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน สติกเกอร์บอมบ์แต่งรถยนต์ ติดโน้ตบุ๊ก ไปจนถึงสติกเกอร์บิ๊กไซส์เพื่อการประชาสัมพันธ์ อย่าง สติกเกอร์ติดข้างรถเมล์ รถไฟฟ้าบีทีเอส รวมถึงบนตึกระฟ้า หรือแม้กระทั่งสติกเกอร์รีดติดเสื้อผ้านั่นก็เป็นอีกหนึ่งพัฒนาการเช่นกัน

ประโยชน์ของสติกเกอร์นั้นมีมากมาย ไม่เพียงเพื่อการประชาสัมพันธ์ เพื่อการส่งต่อความสุข ถ้าย้อนกลับไปในยุคแรกเริ่มในศตวรรษที่ 19 ประมาณปี 1880 เมื่อครั้งที่ยังไม่มีการบัญญัติศัพท์อย่างเป็นทางการ จุดเริ่มต้นของ “สติกเกอร์” มาจากประโยชน์เพื่อการเป็นป้ายติดบนตัวสินค้าเพื่อบอกราคา จากการที่บรรดาพ่อค้าแม่ค้าทางฝั่งยุโรปใช้กาวหรือสิ่งของเหนียวๆ ทาบนกระดาษติดบนสินค้า

ราว 20 ปีต่อมา แผ่นติดบอกราคาสินค้าที่ว่ามีการพัฒนาคุณสมบัติจนสามารถลอกและติดใหม่อีกครั้งด้วยน้ำ รวมถึงความเหนียวแน่นที่มีมากขึ้น

 

National Sticker Day เกิดจากบริษัทนี้

 

อย่างไรก็ตาม กล่าวกันว่าคำว่า “สติกเกอร์” เป็นที่รู้จักอย่างเป็นทางการ พร้อมกับการมีขึ้นของ บริษัท เอเวอรี่ เดนนิสสัน (Avery Dennison) ในปี 1935 โดย นายโรเบิร์ต สแตนตัน เอเวอรี่ (R.Stanton Avery) ผู้พัฒนากระดาษสติกเกอร์สำหรับพิมพ์ฉลากและเครื่องทำฉลากขึ้นเป็นครั้งแรกของโลกที่ห้องใต้หลังคาเหนือร้านขายดอกไม้ใจกลางเมืองลอสแองเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา เบื้องต้นทำเป็นสติกเกอร์รูปกลม ภายใต้เครื่องหมายการค้า Kum Kleen Products

ด้วยคุณสมบัติเด่นคือ ติดแน่นแต่เมื่อลอกแล้วไม่ทิ้งรอยเอาไว้ จากเงินกู้ในการเริ่มต้น 100 ดอลลาร์ เพียง 6 เดือนแรกสามารถทำยอดขายได้ถึง 1,391 ดอลลาร์สหรัฐ ค่อยๆพัฒนาจนกลายเป็นบริษัทมูลค่า 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นผู้นำระดับโลกด้านการทำฉลากสติกเกอร์และบรรจุหีบห่อ การทำฉลากสินค้าและแสดงข้อมูลสินค้าสำหรับธุรกิจค้าปลีก รวมถึงผลิตภัณฑ์ฉลากต่างๆ ทั้งสำหรับใช้งานที่บ้านและที่ทำงาน

ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของ เอเวอรี ถูกใช้ในอุตสาหกรรมเกือบทุกประเภท ทั้งสติกเกอร์กาวไวต่อแรงกด ที่ใช้งานด้านกราฟิก เทปกาวและผลิตภัณฑ์ยึดติดอื่นๆ สำหรับการใช้ในอุตสาหกรรมการแพทย์ และการค้าปลีก นอกจากนี้ยังมีสินค้าประเภทป้าย ฉลาก ของประดับตกแต่งเครื่องแต่งกาย และเทคโนโลยี RFID (Radio Frequency Identification) ที่เป็นโซลูชันสำหรับการขายปลีกเครื่องนุ่งห่ม

ปัจจุบัน เอเวอรี เดนนิสสัน มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ เมืองเกลนเดล รัฐแคลิฟอร์เนีย มีพนักงานมากกว่า 32,000 คน มีสาขามากกว่า 130 แห่ง ในกว่า 50 ประเทศ ครอบคลุม 6 ทวีป รายงานยอดขายในปี 2020 อยู่ที่ 7,000 ล้านดอลลาร์

เอเวอรี เดนนิสสัน ได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในบริษัทอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐ 500 บริษัท จากนิตยสาร FORTUNE ในปี 1976 ซึ่งในปีเดียวกันนี้ได้เปลี่ยนชื่อเป็น เอเวอรี อินเตอร์เนชันแนล (Avery International)

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการยกย่องให้กับนักคิดค้นแผ่นแปะลอกได้คนแรกของโลก จึงกำหนดให้วันที่ 13 มกราคม เป็นวันสติกเกอร์แห่งชาติ หรือ National Sticker Day เพื่อเฉลิมฉลองให้แก่วันเกิดของเขา…โรเบิร์ต สแตนตัน เอเวอรี.

 

Remark : RFID (Radio Frequency Identification) คือ การระบุเอกลักษณ์ด้วยคลื่นวิทยุ มีลักษณะเป็นป้ายอิเล็กทรอนิกส์ (RFID Tag) ที่สามารถอ่านค่าได้โดยผ่านคลื่นวิทยุ เพื่อตรวจสอบ ติดตามและบันทึกข้อมูลที่ติดอยู่กับป้าย ในกรณีที่เป็นฉลากสินค้า RFID ก็จะถูกนำมาใช้ในการเก็บบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับสินค้า เพื่อให้สามารถทราบถึงที่มาที่ไปของสินค้าชิ้นนั้นได้ ทั้งข้อมูลผู้ผลิต วันที่ผลิต ส่วนประกอบ รวมถึงตำแหน่งของสินค้านั้นๆ โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยการสัมผัส (Contact-less) หรือต้องเห็นของสิ่งนั้น ทำงานโดยใช้เครื่องอ่านที่สื่อสารกับป้ายด้วยคลื่นวิทยุในการอ่านและเขียนข้อมูล

 

ถ้าคุณชอบเรื่องราวของ สาระ ความรู้รอบตัวเกี่ยวกับการใช้ชีวิต ติดตามอ่านเพิ่มเติมได้ ที่นี่

rabbit2themoon

rabbit2themoon

คอลัมนิสต์หน้าไม่ใหม่ เคยพำนักอยู่ใต้ชายคามติชน ประจำกอง บก.นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ก่อนขยับมาเป็นผู้สื่อข่าวเซ็กชั่นประชาชื่น เขียนสัมภาษณ์บุคคล-สกู๊ปเชิงไลฟ์สไตล์-ท่องเที่ยว-อาหาร-จิปาถะ สถานะปัจจุบัน นอกจากเป็นคอลัมนิสต์ ยังเป็นนักเขียนอิสระ เขียนบทความเชิงประชาสัมพันธ์

Related Articles