เล่าเรื่อง “ผี-ผี-ฮาโลวีน” และ แจ็คผู้กล้าท้าซาตาน

Halloween กับเล่าเรื่อง “ผี-ผี-ฮาโลวีน” และ แจ็คผู้กล้าท้าซาตาน มาร่วมหาคำตอบของที่มา Jack of the Lantern ว่ามาจากไหน
Share

 

ปลายเดือนตุลาคมเป็นโอกาสที่ร้านรวงต่างๆ จะจัดโปรโมชัน แต่งบรรยากาศ ผี-ผี ชวนลูกค้าเข้ามาร่วมกิจกรรมหลอนๆ ในช่วงเทศกาลที่คนไทยรอคอยอย่าง Halloween

 

หนึ่งในไอเทมที่จะขาดเสียมิได้คือ “ฟักทอง” แกะเป็นหน้าปีศาจ รู้จักกันในชื่อ “แจ็ค-โอ-แลนเทิร์น” (Jack O’Lantern หรือ Jack of the Lantern)

“แจ็ค” กับ “ฟักทอง” เกี่ยวข้องกันอย่างไร? ต้องย้อนกลับไปในช่วงศตวรรษที่ 17…

 

Halloween ในแบบชาวไอริช มาสู่ฟักทองแกะสลัก

นิทานปรัมปราของชาวไอริชเล่ากันว่า บรรดาชาวนามักต้องเผชิญกับการรังควาญของซาตานที่ตระเวนข่มขู่ขอพืชผล แต่ไม่ใช่กับ “แจ็ค” ที่ไม่เคยเกรงกลัว ซ้ำยังใช้ทริกหลอกตรึงซาตานไว้กับไม้กางเขนอีกต่างหาก

โดยครั้งแรกแจ็คใช้อุบายหลอกล่อให้ซาตานแปลงร่างเป็นเหรียญ แล้วนำเหรียญใส่ไว้ในกระเป๋าติดกับไม้กางเขน และข้อเสนอว่าถ้าอยากคืนกลับสู่ร่างเดิมต้องสัญญาว่าจะไม่มายุ่งกับเขาเป็นเวลา 1 ปี

หลังจากนั้น 1 ปี ซาตานไม่เข็ด กลับมาอีก คราวนี้แจ็คออกอุบายให้ปีนขึ้นไปบนต้นไม้ แล้วฉวยโอกาสสลักต้นไม้เป็นรูปไม้กางเขน ทำให้ซาตานติดกับดัก หนีไปไหนไม่ได้ จนกว่าจะรับปากว่า เมื่อเขาตายแล้วจะไม่นำวิญญาณเขาลงนรก ซาตานไม่มีทางเลือกจึงต้องรับปาก

เมื่อแจ็คเสียชีวิต ความที่เป็นคนเจ้าเล่ห์ สวรรค์ไม่ต้อนรับ ขณะเดียวกันก็ไม่อาจลงนรกได้เพราะติดสัญญาซาตาน วิญญาณจึงต้องเร่ร่อนไปตลอดกาล

ชาวไอริชจึงหาวิธีป้องกันตัวเองจากการถูกวิญญาณของแจ็คหลอกหลอน ด้วยการแกะสลักหัวผักกาดเป็นหน้าผีน่ากลัวเพื่อไล่แจ็ค

ต่อมา เมื่อชาวไอริชอพยพมายังสหรัฐอเมริกา พวกเขานำประเพณีแกะสลักหน้าผีบนพืชผักมาด้วย โดยแกะสลักบนฟักทองแทน เนื่องจากเป็นผักที่พบเจอได้ทั่วไปในสหรัฐฯ

 

ตำนานวันปล่อยผี มาจากชนพื้นเมืองบนเกาะอังกฤษ

ส่วนที่มาของ “วันปล่อยผี” มาจากชาวเซ็ลต์ (Celt) กลุ่มชนพื้นเมืองในประเทศอังกฤษ ที่เชื่อว่าวันที่ 31 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันที่ประตูนรกจะเปิด (เวลา 6 โมงเย็น 6 นาที 6 วินาที) ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวโลกมนุษย์และโลกคนตายจะมาบรรจบกัน วิญญาณของผู้ที่เสียชีวิตในปีนั้นจะกลับมาเยี่ยมบ้าน

บ้างเชื่อว่าจะมีวิญญาณร้ายฉวยโอกาสขึ้นมาสิงสู่ผู้คน เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกวิญญาณเหล่านี้มาหลอกหลอนหรือเข้าสิง จึงปลอมตัวเป็นผี ดับไฟในบ้านทุกดวงเพื่อซ่อนตัวจากวิญญาณเหล่านั้น

น่าสนใจว่า ความเชื่อเรื่องโลกหลังความตาย เรื่องนรก-สวรรค์ มีปรากฎอยู่ในหลายประเทศ รวมทั้งความเชื่อวันที่ประตูนรกเปิด เชื่อมต่อระหว่างโลกมนุษย์กับโลกคนตาย

ตัวอย่างเช่น ไทยเราที่มี “ประเพณีสารทเดือนสิบ” เชื่อกันว่าในช่วงเดือนสิบตามปฏิทินทางจันทรคติ ปู่ย่าตายาย ญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้วจะกลับมาพบลูกหลาน และเปรตที่มีกรรมหนักจะได้รับการปล่อยตัวขึ้นมาจากยมโลก ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 เรียกว่า “วันรับตายาย” และจะต้องกลับสู่นรกภูมิในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 เรียกว่า “วันส่งตายาย” จึงมีการจัดงานบุญอุทิศส่วนบุญกุศลให้แก่บรรพชนในสองวันดังกล่าว

สำหรับที่มาของชื่อ ฮาโลวีน (Halloween) นั้น สารานุกรมบริแทนนิกาอธิบายว่า ในช่วงคริสตศตวรรษที่ 8 คริสตจักรโรมันคาทอลิกได้ประกาศให้วันสมโภชนักบุญทั้งหลาย (All Saint’s Day) ตรงกับวันที่ 1 พฤศจิกายน ทำให้วันก่อนหน้าเป็นวันศักดิ์สิทธิ์ หรือ All Hallows’ Eve ที่ต่อมากร่อนเสียงเป็นคำว่า ฮาโลวีน (Halloween) ตรงกับวันที่ 31 ตุลาคมนั่นเอง.

 

หมายเหตุ : ประเพณีสารทเดือนสิบ เทศกาลรำลึกถึงผู้จากไป

ประเพณีสารทเดือนสิบ เป็นประเพณีสำคัญที่จัดขึ้นเพื่อทำบุญอุทิศแก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว ตรงกับวันสิ้นเดือน 10 หรือ แรม 15 ค่ำ เดือน 10 ซึ่งเป็นช่วงที่พืชพันธุ์ธัญญาหารกำลังออกดอกออกผล

พิธีสารทมีต้นกำเนิดมาจากพิธีของพราหมณ์ เมื่อชาวนาเก็บเกี่ยวรวงข้าวสาลีอันเป็นผลผลิตแรก จะนำมาทำเป็นข้าวมธุปายาสและสาคูเพื่อเลี้ยงพราหมณ์ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ข้าวในนา และเพื่อเป็นการเซ่นไหว้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไป ต่อมาเมื่อคนเปลี่ยนมานับถือพระพุทธศาสนา จึงนำแนวคิดนี้มาปฏิบัติด้วย

พระยาอนุมานราชธนได้กล่าวไว้ในสารานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานว่า การชิงเปรตที่ปฏิบัติกันในประเพณีสารทเดือนสิบนี้ มีลักษณะคล้ายกับการทิ้งกระจาดของจีน แต่การทิ้งกระจาดของจีนมีเป้าหมายตรงกับการตั้งเปรต-ชิงเปรตเพียงบางส่วนเท่านั้น กล่าวคือการทิ้งกระจาดของจีนเป็นการทิ้งทานให้แก่พวกผีไม่มีญาติ

ส่วนการชิงเปรตของไทยเป็นการอุทิศส่วนกุศลไปให้ทั้งผี (เปรต) ที่เป็นญาติพี่น้องของตนเองและที่ไม่มีญาติด้วย นอกจากนี้วิธีการปฏิบัติในการทิ้งกระจาดและการชิงเปรตก็แตกต่างกันด้วย ผู้เฒ่าผู้แก่หลายคนได้ยืนยันว่าการชิงเปรตไม่เป็นความอัปมงคลแก่ผู้ชิงเปรตแต่อย่างใด

ในทางตรงกันข้ามกลับถือว่าเป็นการทำบุญด้วยซ้ำไป เพราะชื่อว่าบุตรหลานของเปรตตนใดชิงได้ เปรตตนนั้นย่อมได้รับส่วนนั้น เพียงแต่ว่าผู้ชิงต้องระมัดระวังในการที่อาหารหรือขนมที่ตั้งเปรตอาจตกหล่นลงพื้น ซึ่งจะทำให้เกิดความสกปรกและเป็นอันตรายต่อสุขภาพเท่านั้น

ประเพณีในช่วงเดือนสิบนี้ มีการจัดขึ้นในทุกภาคของประเทศโดยเรียกชื่อแตกต่างกันไป เช่นในภาคใต้ เรียกว่าประเพณีชิงเปรต ภาคเหนือเรียกว่า ประเพณีเดือนสิบสองเป็ง ถือปฏิบัติกันในช่วงกลางพรรษา คือตั้งแต่วันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 12 เหนือ (ประมาณเดือน10ตามการนับแบบจันทรคติของไทย)

สำหรับภาคกลาง การทำบุญเดือน 10 เรียกว่าวันสารทไทย ตรงกับวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ประมาณปลายเดือนกันยายน–ตุลาคม มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย

 

หากผู้อ่านสนใจ ในเรื่องราวของการใช้ชีวิต หรือเรื่องของวันสำคัญๆ จากทั่วโลก สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ ที่นี่

rabbit2themoon

rabbit2themoon

คอลัมนิสต์หน้าไม่ใหม่ เคยพำนักอยู่ใต้ชายคามติชน ประจำกอง บก.นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ก่อนขยับมาเป็นผู้สื่อข่าวเซ็กชั่นประชาชื่น เขียนสัมภาษณ์บุคคล-สกู๊ปเชิงไลฟ์สไตล์-ท่องเที่ยว-อาหาร-จิปาถะ สถานะปัจจุบัน นอกจากเป็นคอลัมนิสต์ ยังเป็นนักเขียนอิสระ เขียนบทความเชิงประชาสัมพันธ์

Related Articles