เปลือย “แมวส้ม” ผู้กุมหัวใจทาสไว้ในกำมือ กับปริศนาชวนท้าทายนักวิทย์

Share

 

วันที่ 1 กันยายนของทุกปีเป็นวันยกย่องแมวส้ม หรือ “Ginger Cat Appreciation Day” ที่ก่อตั้งโดยนายคริส รอย  ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ชาวอเมริกัน ที่ผันตัวเป็นนักเคลื่อนไหวสิทธิสัตว์ รณรงค์ให้คนหันมาให้ความสำคัญและดูแลใส่ใจกับน้องเหมียวสีส้ม

อันที่จริงนายรอยไม่ได้เจาะจงเฉพาะแต่แมวสีส้มเท่านั้น เพราะไม่ว่าจะเป็นแมวสีไหนก็มีโอกาสถูกทอดทิ้ง ถูกทำร้ายได้เหมือนกัน เพียงแต่แมวที่นายรอยพบเจอ และนำมาเลี้ยงดูกระทั่งตกหลุมรักเป็นแมวส้ม จึงรณรงค์ให้คนใส่ใจดูแลแมวส้ม ซึ่งถูกทอดทิ้งมากเป็นอันดับ 2 รองจากแมวดำ

พร้อมกันนี้ได้ทำแอปพลิเคชัน “Doobert” ซึ่งเป็นชื่อเดียวกับแมวส้มจรที่เขาเก็บมาเลี้ยง เพื่อเป็นสื่อกลางสำหรับติดต่อหาบ้านและศูนย์พักพิงสัตว์ ร่วมกับอาสาสมัครทั่วโลก โดยทำงานร่วมกับองค์กรกว่า 1,200 แห่งทั่วอเมริกาเหนือ สร้างฐานอาสาสมัครของผู้รักและชื่อชอบสัตว์เลี้ยงมากกว่า 27,000 คน

ทั้งนี้ ถ้าสืบค้นข้อมูลในปัจจุบันตามที่มีผู้ทำสำรวจวิจัยพฤติกรรมแมวและความเห็นจากบรรดาทาสจะพบว่า ทาสมีความเอ็นดูและถูกตกโดยแมวส้มมากกว่าแมวสีอื่นด้วยซ้ำ มักมองกันว่า น่ารัก น่าฟัด น่ากอด และน่าอื่นๆ อีกมากมาย แต่ก็ใช่ว่าแมวสีอื่นจะไม่น่ารัก ของพรรค์นี้อยู่ที่รสนิยมและลางเนื้อชอบลางยาเสียมากกว่า

อย่างไรก็ตาม สำหรับนักวิทยาศาสตร์ แมวส้มกลับเป็นความท้าทาย ชวนให้ค้นหาความลับที่เป็นปริศนาซ่อนอยู่มากมาย นอกจากคำถามที่ว่า ทำไมหน้าผากแมวส้มทุกตัวต้องมีอักษร M หรือ แมวส้มส่วนใหญ่ทำไมจึงพบเห็นแต่เพศผู้ รวมไปถึงความเซ็กซี่ที่ชวนให้กอดรัดฟัดเหวี่ยงเป็นเพราะอะไร ทั้งยังเป็นที่ถวิลหาของแมวเพศเมียเช่นกัน

แมวส้มกับมนุษย์จะว่าไปแล้วไม่น่าจะมีอะไรที่ใกล้เคียงกัน นอกจากหัวใจรักที่เกี่ยวกระหวัดร้อยรัดระหว่าง 1 คน กับ 1 (หรือหลาย) แมว แต่เชื่อไหมว่า ขนสีส้มของแมวมาจากเม็ดสีที่เรียกว่า “ฟีโอเมลานิน” ซึ่งพบในผมสีแดงของมนุษย์เช่นกัน

แล้วขนสีส้มมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมของแมวหรือไม่ ทำไมใครหลายๆ คนต่างตกเป็นทาสแมวส้ม?

คาเรน วู (Karen Wu) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ทางจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เขียนบทความเกี่ยวกับแมวส้มใน Psychology Today โดยอ้างอิงงานวิจัยของปอนเทียร์และคณะ เผยแพร่เมื่อปี 1995 (Pontier et al.(1995) ที่ทำการสำรวจและศึกษาแบบสุ่มกับกลุ่มตัวอย่างประชากรแมว 59 ถึง 491 ตัวในฝรั่งเศสระหว่างปี 1982 ถึง 1992 ซึ่งได้ทำการตรวจสอบความถี่และความแปรปรวนของยีนที่ทำให้เกิดขนสีส้มในแมว ระบุว่า ด้วยขนาดตัวของแมวส้มที่โดยเฉลี่ยใหญ่กว่า และมีน้ำหนักมากกว่าแมวสีอื่น จึงดู “เซ็กซี่” ดึงดูดใจแมวตัวเมียอื่นๆ มากกว่า

แต่…แต่เหรียญย่อมมีสองด้าน ถึงแม้จะดูเซ็กซี่ยั่วยวนใจมากกว่า แต่พฤติกรรมของแมวที่มีขนสีส้มมักจะ “ก้าวร้าว” จึงมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตมากกว่าแมวสีอื่นจากอุบัติเหตุ หรือจากการต่อสู้กับแมวด้วยกันเอง จึงพบแมวส้มในเขตชนบทมากกว่าในเมืองที่มีประชากรแมวหนาแน่นกว่า โดยนักวิทยาศาสตร์คาดว่าในสภาพที่ประชากรแมวมีความแออัดน้อยกว่า แมวมักจะผสมพันธุ์จับคู่กันเพียงตัวเดียว ขณะที่ในสังคมเมือง แมวทั้งตัวผู้และตัวเมียต่างมีคู่ผสมพันธุ์กันหลายตัว

แม้ความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมกับสีขนอาจเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจว่ามีความเชื่อมโยงกัน แต่ความสัมพันธ์นี้ก็สามารถพบได้ในสัตว์อื่นๆ เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นหนูและนก ยีนบางตัวที่กำหนดพฤติกรรมหรือลักษณะทางกายภาพอื่นๆ เช่นขนาดของร่างกาย อาจได้รับการสืบทอดควบคู่ไปกับยีนที่กำหนดการสร้างสีขน

ประเด็นความก้าวร้าวของแมวสีส้มยังถูกตอกย้ำในงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียเดวิส ที่เผยแพร่เมื่อปี 2021 ที่ระบุว่า แมวที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวต่อมนุษย์นอกจากแมวตัวเมียสีขาวดำ สีเทาขาว ก็คือ แมวสีส้ม

กระนั้น งานวิจัยไม่ได้ระบุหรือยืนยันความเชื่อที่ว่าแมวสีส้มมีความน่ารักและเป็นมิตรกว่า แต่ถ้าพิจารณายีนที่ทำให้เกิดขนสีส้มที่เชื่อมโยงกับ “เพศ” (โครโมโซม X) ส่งผลให้มีความเป็นไปได้ที่แมวสีส้มจะเป็นตัวผู้มากกว่าตัวเมีย ประกอบกับคำกล่าวที่ว่า แมวตัวผู้มีความเป็นมิตรมากกว่าแมวตัวเมียเล็กน้อย อาจพออนุโลมนำมาใช้อธิบายได้ว่า ทำไมมนุษย์จึงรู้สึกว่าแมวส้มมีความเฟรนด์ลี่มากกว่าแมวสีอื่น

…จริงหรือไม่ ใช่แน่หรือเปล่า ยังเป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ต้องไขปริศนาที่ดำมืดเหล่านี้ของน้องสีส้มกันต่อไปอีกนาน.

rabbit2themoon

rabbit2themoon

คอลัมนิสต์หน้าไม่ใหม่ เคยพำนักอยู่ใต้ชายคามติชน ประจำกอง บก.นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ก่อนขยับมาเป็นผู้สื่อข่าวเซ็กชั่นประชาชื่น เขียนสัมภาษณ์บุคคล-สกู๊ปเชิงไลฟ์สไตล์-ท่องเที่ยว-อาหาร-จิปาถะ สถานะปัจจุบัน นอกจากเป็นคอลัมนิสต์ ยังเป็นนักเขียนอิสระ เขียนบทความเชิงประชาสัมพันธ์

Related Articles