ดาวหางในรอบห้าหมื่นปี กำลังมาเยือนโลก เตรียมตัวกันให้ดี!

Share

 

โดย พระจันทร์สีเงิน

 

ขณะที่เรากำลังเข้าสู่ช่วงปลายเดือนมกราคม ดาวหางดวงหนึ่งกำลังเคลื่อนตัวใกล้โลกในทุกขณะ ดาวดวงนี้จะเข้าใกล้ที่สุดเพื่ออวดโฉมให้ชาวโลกได้ยลกันชัดๆ ในวันแรกของเดือนกุมภาพันธ์นี้ เตรียมตัวกันให้ดี เพราะนี่คือครั้งแรกของการโคจรในรอบห้าหมื่นปีทีเดียว

และดาวหางที่กำลังมา มีชื่อว่า C/2022 E3 (ZTF)

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ดาวหางดวงนี้ใช้ระยะเวลาเดินทางที่แสนยาวนาน นานแค่ไหนดูได้จากการที่มนุษย์โบราณนีแอนเดอร์ทัล (Neanderthal) มนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสต์ที่อยู่ในสกุลเดียวกับมนุษย์ยุคปัจจุบัน และมีชีวิตอยู่บนโลกในทวีปยูเรเชียช่วง 40,000-50,0000 ปีก่อน เป็นมนุษย์กลุ่มแรกบนโลกที่ได้มองเห็นทั้งท้องฟ้ายุคโบราณ และทั้งดาวหางที่แสนจะอายุยืนดวงนี้

จากการมาเยือนดาวโลกเมื่อราว 50,000 ปีที่แล้ว ดาวหาง C/2022 E3 (ZTF) กำลังกลับเข้ามาเยือนดาวโลกสีน้ำเงินดวงนี้อีกครั้ง ตอนนี้หางของดาวหางกำลังลากยาวออกไป และเป็นที่คาดว่าดาวหางจะเข้ามาใกล้โลกที่สุดในวันที่ 1-2 กุมภาพันธ์นี้

ครั้งแรกที่ได้ยินว่าดาวหางดวงนี้เคยมาอวดโฉมเมื่อหลายหมื่นปีก่อน คำถามที่เกิดขึ้นคือนักวิทยาศาสตร์ และ/หรือนักดาราศาสตร์รู้ได้อย่างไรว่าดาวหาง C/2022 E3 (ZTF) เคยมาเยือนโลกในยุคสมัยของมนุษย์นีแอนเดอร์ทัล

ดาวหาง C/2022 E3 (ZTF) ได้มาจากชื่อของโครงการ Zwicky Transient Facility (ZTF) อันเป็นโครงการสำรวจท้องฟ้ามุมกว้างด้วยกล้องโทรทรรศน์ที่ติดตั้งในหอดูดาวพาโลมาร์ รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ด้วยวัตถุประสงค์ในการตรวจหาวัตถุที่มีการเปลี่ยนแปลงความสว่างอย่างรวดเร็ว เช่น ซูเปอร์โนวา ไปจนถึงวัตถุเคลื่อนที่อย่างดาวหางและดาวเคราะห์น้อย ไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้ดาวหางหลายดวงใช้ชื่อเดียวกัน

จากการสำรวจ นักดาราศาสตร์ในโครงการ ZTF ได้ค้นพบดาวหางดวงนี้ในเดือนมีนาคม 2565 ซึ่งผลการคำนวณพบว่าก่อนหน้าดาวหาง C/2022 E3 (ZTF) มีวงโคจรเป็นวงรีที่มีความรีสูง อาจเคยเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มาแล้วเมื่อราว 50,000 ปีก่อน และเป็นไปได้ว่าหลังจากการโคจรมาเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ในครั้งนี้แล้ว ก็จะเคลื่อนห่างออกไป และอาจจะไม่กลับมาอีก!

ดาวหาง C/2022 E3 (ZTF) จะผ่านจุดที่เข้าใกล้โลกที่สุดในคืนวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ถึงเช้ามืดวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ระยะ 0.2839 หน่วยดาราศาสตร์ (หรือ 42 ล้านกิโลเมตร) คาดว่าช่วงที่ใกล้โลกที่สุด ดาวหางจะสว่างที่สุดราวโชติมาตร 5 หรือ 6 ซึ่งเป็นระดับที่อาจเห็นได้จาง ๆ ด้วยตาเปล่าภายใต้ท้องฟ้ามืดสนิท

คืนวันที่ 1 กุมภาพันธ์ เป็นคืนที่ใกล้โลกที่สุด ดาวหางอยู่ในกลุ่มดาวยีราฟ เป็นกลุ่มดาวใกล้ขั้วฟ้าเหนือ ประเทศในละติจูดสูงจะสังเกตได้ดี ส่วนประเทศไทยซึ่งอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร ดาวหางมีตำแหน่งค่อนข้างต่ำ ทำให้ความสว่างลดลงเล็กน้อย (วัตถุท้องฟ้ามีความสว่างน้อยลงเมื่อยิ่งใกล้ขอบฟ้ามากขึ้น) นอกจากนี้ยังมีแสงจากดวงจันทร์สว่างรบกวน ช่วงที่สังเกตได้ดีที่สุดจึงเป็นช่วงก่อนรุ่งอรุณของวันที่ 18-31 มกราคม 2566

กราฟิคจากนาซาแสดงพื้นที่ของ เมฆออร์ท (Oort’s cloud) จุดกำเนิดดาวหางที่ขอบระบบสุริยะ Credit: NASA

 

ก่อนไปดูดาว มาทบทวนความรู้พื้นฐานวัยเยาว์กันเล็กน้อย

ดาวหาง หรือ Comet คือเทหวัตถุจำพวกน้ำแข็งที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ นักดาราศาสตร์ตั้งสมมติฐานว่าดาวหางมีจุดกำเนิดมาจากขอบของระบบสุริยะในบริเวณที่เรียกว่า เมฆออร์ท (Oort’s cloud) ซึ่งเป็นผลึกน้ำแข็งอยู่ที่ขอบของระบบสุริยะ เมื่อมีแรงภายนอกมากระทำ เช่น ซูเปอร์โนวา (Supernova) หรือดาวฤกษ์ระเบิด   ดาวหางจะหลุดออกจากถิ่นกำเนิดและถูกแรงโน้มถ่วงของดวงอาทิตย์ดึงดูดมาเป็นบริวาร วงโคจรของดาวหางจึงยาวไกลและมีความรีมาก ไม่อยู่ในระนาบสุริยวิถี เนื่องจากเมฆออร์ทมีลักษณะเป็นทรงกลมที่ห่อหุ้มดวงอาทิตย์ ดาวหางจึงเคลื่อนที่เข้าดวงอาทิตย์ได้จากทุกทิศทาง

 

ทำไมดาวถึงมีหาง

คำว่า “ดาวหาง” มีที่มาจากลักษณะปรากฏคล้ายหางสัตว์ คำว่า Comet มีรากศัพท์มาจากภาษาละตินว่า (กรีก: κομήτης cometes) ซึ่งมาจากคำภาษากรีก komē มีความหมายว่า “เส้นผมจากศีรษะ” อริสโตเติลเป็นคนแรกที่ใช้ชื่อ komētēs กับดาวหาง เพื่อบรรยายว่ามันเป็น “ดาวที่มีผม” สัญลักษณ์ทางดาราศาสตร์สำหรับดาวหางคือ (☄) ซึ่งเป็นภาพวาดแผ่นกลมกับเส้นหางยาว ๆ เหมือนเส้นผม ภาษาจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ฯลฯ เรียก “ดาวไม้กวาด” (จีน: 彗星) เพราะรูปร่างของมันดูคล้ายไม้กวาดบ้าน

ตามปกติ ส่วนประกอบหลักของดาวหางสามารถแบ่งได้เป็น 3 ส่วน คือ 1. ส่วนที่เป็นของน้ำแข็ง หรือที่เรียกว่า นิวเคลียส (Nucleus) จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อดาวหางเคลื่อนที่เข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้น 2. น้ำแข็งจากนิวเคลียสส่วนหนึ่งจะละลายกลายเป็นบรรยากาศที่ปกคลุมนิวเคลียส เรียกว่า โคมา (Coma) และ 3. ส่วนหางของดาวหางที่แบ่งเป็น 2 ส่วนย่อยคือ หางไอออน (ion tail) ซึ่งเป็นอนุภาคมีประจุจากส่วนโคมาที่ถูกลมสุริยะพัดทำให้มีทิศชี้ออกจากดวงอาทิตย์ หางส่วนที่สองเรียกว่า หางฝุ่น (dust tail) เกิดจากอนุภาคที่ไม่มีประจุจากโคมา โดยส่วนของหางฝุ่นนี้จะโค้งตามการเคลื่อนที่ของดาวหางด้วย

ภาพแสดงส่วนประกอบพื้นฐานของดาวหางเพื่อความเข้าใจง่ายๆ Credit: NASA

 

นอกจากเป็นปรากฏการณ์น่าตื่นตาบนฟากฟ้ายามค่ำแล้ว ดาวหางมีความสำคัญอย่างไร

การศึกษาดาวหางอาจช่วยให้เราสามารถมองเห็นการกำเนิดระบบสุริยะได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น และสามารถอธิบายแหล่งที่มาเกี่ยวกับน้ำบนโลกได้ รวมถึงอาจตอบคำถามได้ว่าสิ่งมีชีวิตบนโลกเกิดขึ้นได้อย่างไร ดาวหางอาจมีบทบาทเป็นผู้ให้ชีวิตบนดาวเคราะห์โลก ในทางกลับกัน วันหนึ่งข้างหน้าอาจมีดาวหางบางดวงพุ่งตรงมายังโลก ยุติชีวิตทั้งหมดบนดาวเคราะห์ดวงนี้ก็ได้ จึงต้องมีการเฝ้าระวัง ติดตาม และเตรียมการหาวิธีหลีกเลี่ยงภัยที่อาจเกิดขึ้นจากดาวหาง ด้วยเหตุนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังคงต้องศึกษาดาวหางต่อไป

 

ถ้าพร้อมแล้ว เตรียมออกไปรอดูดาวหางกัน

 

Credit:    สมาคมดาราศาสตร์ไทย  ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์  Wikipedia คลังความรู้ SciMath

Cover Photo : ดาวหาง C/2022 E3 (ZTF) โดย Michael Jäger

innomatter

innomatter

ข่าวไอที นวัตกรรม พลังงาน และความยั่งยืน

Related Articles