เข้าใจ “Bipolar” ภัยเงียบทางอารมณ์ ใช่ว่า แค่…เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย

Bipolar) หรือโรคอารมณ์สองขั้ว องค์การอนามัยโลกระบุว่าเป็นโรคที่ก่อให้เกิดความสูญเสียเนื่องจากความเจ็บป่วยหรือพิการมากเป็นอันดับ 6 ของโลก
Share

 

โลกของเรามีประชากรราว 7.6 พันล้านคน มีผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามากถึงร้อยละ 4 หรือราว 300 ล้านคน โดยประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคซึมเศร้าถึง 1.5 ล้านคน หรือร้อยละ 2.2 ของคนไทยทั้งหมด ในจำนวนนี้ฆ่าตัวตายสำเร็จถึง 4,000 คนต่อปี

 

หันกลับมาที่โรคไบโพลาร์ หรือโรคอารมณ์สองขั้ว องค์การอนามัยโลกระบุว่าเป็นโรคที่ก่อให้เกิดความสูญเสียเนื่องจากความเจ็บป่วยหรือพิการมากเป็นอันดับ 6 ของโลก โดยมีผู้ป่วยถึง 1 ใน 5 ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ และเป็นโรคที่มีคนไทยป่วยมากเป็นอันดับ 3 ในบรรดาโรคทางจิตเวช

น่าสนใจว่า ไบโพลาร์เป็นโรคทางอารมณ์ที่ผู้ป่วยจะมีความแปรปรวนทางอารมณ์สูง ทำให้บางช่วงผู้ป่วยอาจมีอาการซึมเศร้า สลับกับช่วงเวลาที่อารมณ์ดี ครึกครื้น หรืออาจหงุดหงิดง่ายกว่าปกติ นั่นหมายความว่าทั้งสองโรคนี้มีอาการที่ทับซ้อนกัน เหมือนยอดภูเขาน้ำแข็งใต้น้ำซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการสูญเสียได้เช่นเดียวกัน

ขณะที่ปัจจุบันเริ่มมีผู้ที่เข้าใจผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามากขึ้น แต่ผู้ป่วยไบโพลาร์จำนวนไม่น้อยที่ยังถูกมองว่า ก็แค่อารมณ์แปรปรวน ทำให้โอกาสที่จะเข้าถึงการรักษายิ่งน้อยลง และเสี่ยงต่อการถูกทิ้งจากสังคมรอบข้าง

เครือข่ายโรคไบโพลาร์ของทวีปเอเชีย  International Bipolar Foundation และสมาพันธ์โรคไบโพลาร์สากล จึงร่วมกันขับเคลื่อนสร้างความตระหนักให้สังคมโลกเห็นความสำคัญของโรคไบโพลาร์ หยุดการตีตรา และใช้แว่นการมองใหม่อย่างเข้าใจ เพราะโรคนี้อยู่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด โดยถือเอาวันที่ 30 มีนาคม เป็นวันไบโพลาร์โลก (World bipolar day)

<a href="https://www.freepik.com/free-vector/anxiety-concept-illustration_21864011.htm#query=bipolar&position=22&from_view=search&track=sph">Image by storyset</a> on FreepikBipolar Disorder คืออาการของโรคที่มีอาการอย่างไร

โรคไบโพลาร์ หรือโรคอารมณ์สองขั้ว เป็นโรคทางอารมณ์ที่ผู้ป่วยจะมีความแปรปรวนทางอารมณ์สูง ช่วงที่อารมณ์ดีอย่างผิดปกติ หรือภาวะมาเนีย (Mania) จะรื่นเริงเกินกว่าที่ควรจะเป็นอย่างไม่สมเหตุสมผล ช่างพูดช่างคุย แต่หากอารมณ์ร้ายขึ้นมาก็อาจมีลักษณะของความก้าวร้าว กับอีกช่วงหนึ่งคือ ภาวะซึมเศร้า (Depressive) ที่ผู้ป่วยจะมีอาการเหมือนกับโรคซึมเศร้า เช่น การแยกตัวออกไป รู้สึกเบื่อหน่ายไม่อยากทำอะไร กินไม่ได้ นอนไม่หลับ

ซึ่งอารมณ์แปรปรวนที่ว่าไม่ได้เปลี่ยนไปมาอย่างปุบปับ แต่อาจเกิดขึ้นช่วงระยะเวลาหนึ่ง หรือเป็นอยู่ยาวนานแล้วหายไป จากนั้นเปลี่ยนสลับมาเกิดอารมณ์อีกขั้ว หรืออาจเป็นอารมณ์ขั้วใดขั้วหนึ่งติดต่อกันหลายๆ รอบ ไม่มีอาการใดอาการหนึ่งแน่นอนตายตัว การสังเกตความเปลี่ยนแปลงของผู้ป่วยจึงเป็นเรื่องสำคัญ เช่น เคยเป็นคนเรียบร้อยไม่ค่อยพูด กลายเป็นคนพูดคุยไม่หยุด เสียงดัง กล้าแสดงออกมากเกินไป หรือจากคนที่มีความมั่นใจสูง กลายเป็นคนปล่อยตัว เงียบลง ซึมเศร้า เก็บตัว หรือป่วยบ่อยๆ หากพบคนใกล้ชิดมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปเป็นคนละคน ควรพาไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัย

โรคที่จัดการไม่ยาก ถ้าเข้าใจ

สาเหตุของโรคไบโพลาร์เชื่อว่าเกิดจากการทำงานของการหลั่งสารสื่อประสาทในสมองไม่สมดุล อาจได้รับแรงกระตุ้นจากปัจจัยภายนอกที่กระทบกระเทือนจิตใจ เช่น ความผิดหวังหรือเสียใจที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงฉับพลัน การเจ็บป่วยทางกาย หรือปัญหาความสัมพันธ์ต่อบุคคลใกล้ชิด เป็นต้น รวมทั้งปัจจัยด้านพันธุกรรม โดยพบว่าผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัว โดยเฉพาะญาติที่ใกล้ชิดทางสายเลือดเคยป่วยเป็นไบโพลาร์จะมีความเสี่ยงมากถึง 4-6 เท่า ของผู้ไม่มีประวัติ

ปัจจุบันแม้จะยังไม่มีวิธีที่รักษาให้หายขาด โดยเป็นการรักษาตามอาการและระดับความรุนแรงของโรค เพื่อควบคุมอาการให้มีผลกับผู้ป่วยน้อยที่สุด ซึ่งนอกจากรักษาด้วยยาเพื่อให้สารสื่อประสาทในสมองอยู่ในระดับปกติแล้ว ผู้ป่วยอาจต้องรับการรักษาด้วยวิธีบำบัด เช่น การรับคำปรึกษาจากแพทย์ การเข้าร่วมกลุ่มผู้บำบัด เป็นต้น เพื่อให้มีความเข้าใจตนเองและสามารถจัดการรับมือกับอารมณ์ตนเองได้

ทั้งนี้ ไบโพลาร์เป็นโรคทางอารมณ์ที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับทุกคน การดูแลสุขภาพจิตใจจึงเป็นเรื่องสำคัญ สำหรับผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพียงเท่านี้เราจะสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้เช่นคนอื่น.

ข้อมูล : สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย

 

สำหรับท่านผู้อ่านที่สนใจติดตาม บทความ และสาระน่ารู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลง และรูปแบบการใช้ชีวิต สามารถติดตามอ่านข่าวสารและบทความเพิ่มเติมได้ ที่นี่

rabbit2themoon

rabbit2themoon

คอลัมนิสต์หน้าไม่ใหม่ เคยพำนักอยู่ใต้ชายคามติชน ประจำกอง บก.นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ก่อนขยับมาเป็นผู้สื่อข่าวเซ็กชั่นประชาชื่น เขียนสัมภาษณ์บุคคล-สกู๊ปเชิงไลฟ์สไตล์-ท่องเที่ยว-อาหาร-จิปาถะ สถานะปัจจุบัน นอกจากเป็นคอลัมนิสต์ ยังเป็นนักเขียนอิสระ เขียนบทความเชิงประชาสัมพันธ์

Related Articles