เยียวยาโลก เยียวยาเรา JAZZ Heal The World จริงไหม?

Share

 

เยียวยาโลก เยียวยาเรา

JAZZ Heal The World จริงไหม?

 

เมษายนในประเทศไทยนับเป็นเดือนแห่งความระอุ ด้วยอุณหภูมิโลกที่ไม่เคยปรานีใคร

นอกจากเทศกาลแห่งการสาดน้ำ ซึ่งปีนี้ด้วยมาตรการเว้นระยะห่างทำให้หงอยๆ กันไป ยังดีที่มีสเปเชียลอีเวนต์ที่พอจะช่วยสร้างความรื่นรมย์ในช่วง Hot ปรอทแทบแตก คือ เทศกาลเพลงแจ๊ส

คอแจ๊สวัยพลบค่ำอาจจะรำลึกไปถึงวันเก่าก่อนช่วงปลายปี เคยนั่งดื่มด่ำบนพื้นหญ้าที่สนามเสือป่าในเทศกาลเพลงแจ๊สคลอสายลมหนาวเบาๆ

วันนี้ลมหนาวไม่มี ถือเอาวาระที่ 30 เมษายน เป็นวันแจ๊สสากล (International Jazz Day) ตามประกาศขององค์การยูเนสโก ชวนกันเฉลิมฉลอง ด้วยเหตุผลที่ว่าดนตรีแจ๊สเป็น soft power ที่สามารถทลายกำแพงความขัดแย้งหรือกำแพงแห่งความไม่เข้าใจกันของคนบนโลกได้

นับเป็นความมหัศจรรย์แห่งศิลปะ มหัศจรรย์แห่งบทเพลง ที่ไม่มีเส้นแบ่งพรมแดน แม้จะฟังรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง แต่ทุกคนสามารถดื่มด่ำในท่วงทำนองที่นักร้องนักดนตรีส่งผ่านตัวโน้ตนั้นได้

เช่น เพลงแจ๊สที่มีจุดเริ่มต้นจากกลุ่มทาสผิวดำชาวแอฟริกันที่ใช้แรงงานที่เมืองนิวออลีนส์ สหรัฐอเมริกา ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 โดยหลังว่างเว้นจากการทำงานหนักกลุ่มคนเหล่านี้จะรวมตัวกันร้องรำทำเพลงโดยนำบทสวดมาผสานเป็นเสียงเพลง ด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัวของดนตรีแจ๊สที่มีความเป็นอิสระ ร้องแบบด้นสดผสานกับจังหวะขัด และการประสานเสียงอันมีเอกลักษณ์ สามารถนำไปผสมกับดนตรีแนวอื่นๆ เกิดเป็นจังหวะเพลงใหม่ๆ เช่น Jazz rock, rhythm and blues, jazz pop, jazz funk เป็นต้น ทำให้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง เป็นเสน่ห์ที่ส่งให้เพลงแจ๊สเป็นที่นิยมไปทั่วโลก

…เป็นที่มาของการยกให้ดนตรีแจ๊สเป็นเสมือนทูตแห่งเสียงเพลงที่ช่วยหลอมรวมคนทั่วทุกมุมโลกให้เป็นหนึ่งเดียว ทุกปีจึงมีการจัดคอนเสิร์ตกันในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย

สำหรับประเทศไทย กมลธรรม เกื้อบุตร ได้เขียนเล่าถึง ดนตรีแจ๊สในสังคมไทยในยุคเริ่มต้นว่า ดนตรีแจ๊สเริ่มเข้ามาในช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 6 เป็นที่นิยมกันเฉพาะในกลุ่มนักเรียนนอก และชาวต่างประเทศที่อาศัยในประเทศไทย

กระทั่งสมัยรัชกาลที่ 7 ผลจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองและนโยบายรัฐที่ต้องการสร้างค่านิยมใหม่ให้ทัดเทียมชาติตะวันตก กำหนดให้ข้าราชการต้องออกงานสังคมในวันหยุดสุดสัปดาห์ด้วยการไปเต้นลีลาศ ทำให้มีการตั้งวงดนตรีแจ๊สชาวไทยขึ้นหลายวง วงดนตรีแจ๊สแบบดิกซีแลนด์ อาทิ วงเรนโบว์โดยหลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ วงมานิตแจ๊สโดย เรือโทมานิต เสนะวีณิน และวงดนตรีแจ๊สแบบบิ๊กแบนด์ ซึ่งตรงกับยุคสวิง (Swing) อาทิ วงกรมโฆษณาการ วงดุริยะโยธิน โดยในยุคเริ่มต้น วงดนตรีแจ๊สมีบทบาทสำคัญ 3 ด้าน คือเพื่อความบันเทิง ประกอบการเต้นรำ และประกอบภาพยนตร์

นอกจากการเป็นทูตวัฒนธรรมสร้างสันติภาพ หลอมรวมดวงใจคนทั้งโลกให้เป็นหนึ่งเดียวในทำนอง Heal The World  ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ งานวิจัยที่พบว่า ดนตรีแจ๊สช่วยรักษาโรค ช่วยสร้างความคิดสร้างสรรค์ได้อีกด้วย

เว็บไซต์ www.claremuldaur.com เล่าถึงเพลงแจ๊สในหลากมิติ หนึ่งในนั้นคือ บทบาทที่ส่งผลต่อการทำงานของสมอง

“เมื่อเราเริ่มฟังเพลงแจ๊สหรือเพลงที่มีจังหวะเร็วจะช่วยไปกระตุ้นอัตราการเต้นของหัวใจให้เพิ่มขึ้น ช่วยทำให้เรารู้สึกได้รับแรงบันดาลใจ ลดความเหนื่อยล้า นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าดนตรีแจ๊สอาจเป็นกุญแจสำคัญในการทำความเข้าใจว่าสมองทำงานได้อย่างไร”

ทั้งนี้ มีการทดลองเปิดดนตรีเบาๆ กับผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองฟังเป็นระยะเวลา 3 เดือน พบว่า ช่วยให้ผู้ป่วยมีสมาธิมากขึ้นร้อยละ 17 ความที่ดนตรีช่วยดึงดูดความสนใจให้ผู้ป่วยจดจ่ออยู่กับเสียงเพลง เป็นผลให้ช่วยบรรเทาอาการปวดหัวไมเกรนลง ลดความดันโลหิตได้อย่างรวดเร็ว ด้วยการกระตุ้นหลอดเลือดให้ขยายตัวประมาณ 30% นั่นหมายถึงการช่วยลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองหรือโรคหัวใจ

การฟังเพลงแจ๊สเป็นเวลาประมาณ 30 นาทียังช่วยเพิ่มระดับอิมมูโนโกลบูลิน (IgA) ซึ่งเป็นโปรตีนขนาดใหญ่ในระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายทำหน้าที่เป็นแอนติบอดี ช่วยป้องกันการติดเชื้อที่เกิดจากไวรัสและแบคทีเรีย

ข่าวว่าวันเสาร์ที่ 30 เมษายนนี้ theCOMMONS ทองหล่อ ชวนกันไปเพิ่ม IgA ตั้งแต่ 15.00-23.00 น. ส่วนใครที่เป็น FC เคนนี จี ต้องไม่พลาด วันเสาร์ที่ 7 พฤษภาคม ที่ทรู อารีน่า หัวหิน กับงาน “International Jazz & Blues Festival 2022 : Wonderful Night Kenny G” เต็มอิ่มตลอด 90 นาที ยังมีสุดยอดฝีมือดนตรีแนวฟิวชั่นแจ๊สนานาชาติอีกเพียบ.

 

rabbit2themoon

rabbit2themoon

คอลัมนิสต์หน้าไม่ใหม่ เคยพำนักอยู่ใต้ชายคามติชน ประจำกอง บก.นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ก่อนขยับมาเป็นผู้สื่อข่าวเซ็กชั่นประชาชื่น เขียนสัมภาษณ์บุคคล-สกู๊ปเชิงไลฟ์สไตล์-ท่องเที่ยว-อาหาร-จิปาถะ สถานะปัจจุบัน นอกจากเป็นคอลัมนิสต์ ยังเป็นนักเขียนอิสระ เขียนบทความเชิงประชาสัมพันธ์

Related Articles