เดินเลียบคลอง-ฉลอง 10 ปี ชิมเมนูฮาลาลโบราณสูตรเด็ด ย้อนดูเส้นทางความสำเร็จการพัฒนาการท่องเที่ยววิถีชุมชนมุสลิมโบราณเจริญกรุง 103

Share

 

ตลาดริมคลองเจริญกรุง 103

10 ปีก่อน หากมีใครพูดถึง “ตลาดสตรีทฟู้ดฮาลาล” คงเป็นเรื่องแปลก เพราะยังไม่เคยมีใครคิดที่จะทำมาก่อน แต่เพราะปัจจัยหลายๆ ด้านที่เปิดเข้ามาในเวลาใกล้เคียงกัน เรื่องแปลกจึงกลายเป็นเรื่องจริง

ตลาดอาหารฮาลาล ภายในชุมชน​สวนหลวง​1 เจริญกรุง 103 อันเป็นชุมชนมุสลิมโบราณที่มีประวัติสืบย้อนไปถึงในสมัยของรัชกาลที่ ๑ จึงได้เปิดตัวในชื่อ “ตลาด​ริม​คลอง​เจริญ​กรุง​103” ตั้งแต่เดือนกันยายน ปี 2556 เป็นต้นมา

ตลาดอาหารฮาลาล กับการผันตัวเป็นชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

“การมาถึงของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ทำให้เราอยากจะสร้างแหล่งท่องเที่ยวพร้อมตลาดที่ขายอาหารฮาลาลเพื่อรองรับพี่น้องทั้งชาวไทยและนักท่องเที่ยวมุสลิมจากประเทศอื่นๆ เพราะในเวลานั้น ตลาดอาหารฮาลาลยังไม่มีเกิดขึ้นอย่างแน่นอน” คุณนา-จิตรลัดดา แสงน้อยอ่อน ประธานตลาดริมคลองเจริญกรุง 103 ชุมชนสวนหลวง 1 นั่งเล่าเรื่องราวที่ผ่านมาให้ฟัง (แอบบอกว่าที่นั่งคุยกันคือที่ “กุโบร์” หรือสุสาน อันเงียบสงบและร่มเย็น เป็นที่ที่ทำให้การพูดคุยลื่นไหลจริงๆ)

คุณนา-จิตรลัดดา แสงน้อยอ่อน ประธานตลาดริมคลองเจริญกรุง 103 ชุมชนสวนหลวง 1

“เรามองว่าเรามีความพร้อม เรามีพื้นที่ที่โบราณ เรามีสวน มีความเป็นชุมชนธรรมชาติ มีภูมิปัญญาด้านอาหารที่สืบทอดติดตัวมาตั้งแต่ครั้งปู่ย่าตาทวดที่อพยพถิ่นฐานมาจากปัตตานีตั้งแต่สมัยต้นกรุง ที่สำคัญ เราอยากที่จะให้ทุกคนรู้จักเรา รู้จักชุมชนมุสลิมแห่งนี้ผ่านอาหาร ผ่านวัฒนธรรมชุมชนและทุกสิ่งที่เราเป็น เราอยากที่จะรักษาอัตลักษณ์ประจำพื้นถิ่นของชุมชนให้คงอยู่คู่ต่อไป 10 ปีที่แล้วเราเลยมีความเห็นที่ตรงกันในการเปิดตลาดอาหารฮาลาลเพื่อสนับสนุนแนวการท่องเที่ยววิถีชุมชนมุสลิมขึ้น ที่เราใช้คำว่า “ตลาดฮาลาล” เพราะในกรุงเทพฯ สมัยนั้นไม่มีนะตลาดเฉพาะอาหารฮาลาลแบบนี้” 

กว่าจะถึงวันนี้ เส้นทางการเปิดตลาดฮาลาลเพื่อคนในชุมชนไม่เคยเป็นเรื่องง่าย

คุณนาเล่าว่า ก่อนจะเปิดตลาด ทางชุมชนได้มีการทำแผนการท่องเที่ยว แผนการเปิดตลาดชุมชน มีการทำเวทีประชาคมพูดคุยกับคนในชุมชนเพื่อขอความคิดเห็นและแนวทาง จนที่สุดสามารถเปิดตลาดวันแรกในวันที่ 1 กันยายน 2556 ซึ่งในช่วงเวลานั้นจนถึงสามปีแรก ตลาดเปิดแค่เพียงวันอาทิตย์แรกของเดือนเพียงวันเดียว แต่หลังจากนั้นถึงปัจจุบัน ตลาดอาหารฮาลาลแห่งนี้ขยับมาเปิด 2 วัน ทุกเสาร์-อาทิตย์แรกของแต่ละเดือน

“เราเริ่มต้นกันเองด้วยเงินสนับสนุนที่มาจากผู้สนับสนุนและเงินที่พวกเราช่วยกันหาเพื่อมาทำเต้นท์ขายอาหาร 10 ปีที่แล้ว เราทำกันเองไม่มีใครมาโปรโมทให้ เราเริ่มต้นด้วยการซีร็อกซ์ทำใบปลิวเพื่อเอาไปเดินแจกคนตามป้ายรถเมล์ ท่าเรือ หน้าห้างสรรพสินค้า ขอเจรจากับทางเอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ ฟรอนต์ (Asiatique The Riverfront) ขอการสนับสนุนที่จอดรถสำหรับคนที่อยากมาเที่ยวในชุมชน มีการประสานการทำงานกับทางเขต เชิญชุมชน 29 ชุมชนที่อยู่รอบๆ ให้เข้ามาเที่ยวกัน กระทั่งทำรถแห่เพื่อให้ตลาดฮาลาลของชุมชนเป็นที่รู้จัก ต้องบอกว่านี่คือความภูมิใจที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวร่วมแรงร่วมใจกันของพวกเราพี่น้องในชุมชน  ช่วงแรกที่เปิดตลาดเรามีกว่า 100 ร้านค้า ขายได้หมดบ้าง ขายได้ครึ่ง-แจกครึ่งบ้าง ทุกสถานการณ์ เราผ่านมาด้วยกันทั้งหมด ยังมีช่วงของสถานการณ์ทางการเมือง สถานการณ์เศรษฐกิจ และล่าสุดสถานการณ์ COVID ที่เราต้องปิดชุมชนไปนานถึง 14 เดือน และเราก็พร้อมแล้วในการกลับมาและการก้าวต่อไป”

ภูมิปัญญาทางอาหารมรดกตกทอดเพื่อการสร้างรายได้จากรุ่นสู่รุ่น

“เราเปิดตลาดอาหารฮาลาลเพราะเราตั้งใจที่จะเอาตลาดเข้าชุมชน เพื่อให้คนในแต่ละครอบครัวสามารถทำงานหารายได้จากบ้านได้ เด็กในบ้านมีกิจกรรมให้ทำ และชุมชนมีการพัฒนา เชื่อหรือเปล่าว่าช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ตลาดบ้านๆ แบบเราทำให้ผู้สูงอายุไม่ซึมเศร้า แต่ละท่านได้ออกมาเดินดูความคึกคักของตลาด ได้ออกมาพบปะพูดคุยกับผู้คนที่คุ้นชินหรือคนที่เดินทางผ่านมาเที่ยวในชุมชน ที่สำคัญ นี่กลายเป็นความภูมิใจของ “ส.ว.” ในการที่จะถ่ายทอดความรู้ ถ่ายทอดสูตรอาหาร สูตรขนมของครอบครัวให้เป็นมรดกของลูกหลานต่อไป ตอนที่เราเปิดตลาด ท่านๆ ที่เป็นผู้ทรงภูมิปัญญาของเราดีใจมาก เขามองว่าเขาไม่มีอะไรจะให้นอกจากความรู้ด้านอาหารและการค้าขาย ถ้าไม่มีตลาด สิ่งเหล่านี้ก็จะตายไปกับคนรุ่นเก่า เขาหวังว่าจะมอบมรดกอาหารนี้ให้เป็นการส่งต่ออาหาร สืบทอดรสมือจากรุ่นหนึ่งไปยังอีกรุ่นในครอบครัว ไม่ใช่แค่การเปิดหาสูตรในกูเกิ้ลเพื่อมาทำขาย แต่นี่คือเรื่องราวของการส่งต่อภูมิปัญญาและสืบสานกันยาวๆ ต่อไป”

คุณนาบอกอีกว่าจากการพูดคุยกันในชุมชน มีเสียงบอกว่าการเปิดตลาดฮาลาล 2 วันภายในชุมชน สามารถสร้างรายได้ที่เทียบเท่ารายได้เกือบทั้งเดือนของเขา ซึ่งนี่คือความสำคัญของตลาด เพราะเมื่อใดที่มีตลาด เมื่อนั้นความคึกคักหรือเศรษฐกิจของชุมชนก็จะกลับมา ที่สำคัญ นอกเหนือจากรายได้ ยังมีอีกหลายมิติที่ทำให้ตลาดอาหารฮาลาลเพื่อการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมแห่งนี้มีคุณค่า มีความหมาย นั่นคือการเกิดความภูมิใจในท้องถิ่น ความภูมิใจในการพัฒนาชุมชนให้กลายเป็นชุมชนที่เข้มแข็งด้วยการรักษาอัตลักษณ์ของอาหารมุสลิมโบราณพื้นถิ่นเอาไว้อย่างแข็งแรง

ตำนานอาหารสูตรเด็ดของตลาดริมคลองเจริญกรุง 103

ถ้าใครจะมาเดินตลาดแห่งนี้ ขอเตือนก่อนว่าตั้งแต่ปากทางเข้าก็มีของอร่อยวางตั้งประหนึ่งกับดักรออยู่เป็นระยะแล้ว ใครที่ใจไม่แข็งพอ อาจกวาดทุกอย่างติดมือมาได้ตั้งแต่ต้นทาง

ข้าวบริยานี่ แกงสูตรเข้มข้น

สำหรับใครที่เป็นสายเนื้อ ที่นี่มีเมนูเนื้อที่ห้ามพลาด โดยเฉพาะข้าวบริยานี่ (Biryani) ที่คนโบราณเรียกข้าวบุหรี่ หรือข้าวหมกของคนปัจจุบัน ที่หุงด้วยข้าวบัสมาติเม็ดเรียวสวยที่หอมกลิ่นเครื่องเทศนานาชนิดทั้งหญ้าฝรั่น กระวานเขียว ยี่หร่า ใบกระวาน มีทั้งหมกเนื้อ หมกไก่ หมกแพะ แกงมาซาล่า แกงกุรุหม่าที่รสชาติเข้มข้น ซุปขาแพะ ซุปหางวัว ที่วางเรียงรายในร้านที่ตั้งอยู่ไม่ห่างกัน

ข้าวหมกแพะที่เข้มข้นจากข้าวบาสมาตีเม็ดเรียวสวยหอมกลิ่นเครื่องเทศบางเบา 

รอยะห์ ส้มตำมาเลย์

ถ้ามาตลาดอาหารฮาลาล ชุมชนสวนหลวง 1 อีกหนึ่งที่ห้ามพลาดคือ “รอยะห์” หรือเรียกกันว่าส้มตำมาเลย์ของป้าฝัก-สุนี ศรีสุวรรณ ที่ทำรอยะห์ขายมากว่า 50 ปี จนทุกวันนี้กลายเป็นอีกหนึ่งตำนานของชุมชน รอยะห์ของป้าฝักทำมาจากผลไม้และผักดิบกรอบๆ​ อย่างมันเทศ​ มันแกว​ แครอท​ มะละกอ ที่ฝานบางๆ ก่อนคลุกเคล้าเข้ากับน้ำจิ้มที่ตำจากกะปิ​ น้ำตาลปี๊ป พริก​ ให้เคี้ยวกันอร่อยกรุบกรับไปอีกแบบ

ป้าฝักกับรอยะห์ หรือส้มตำมาเลย์อีกหนึ่งตำนานของชุมชน

“ตั้งแต่เด็กก็จำได้ว่าพอกลับมาจากโรงเรียนต้องวิ่งมาซื้อรอยะห์ หรือส้มตำมาเลย์ใส่กระทงมากินเล่น เมื่อก่อนนี้มี 3 ร้าน แต่ตอนนี้เหลือแต่ของป้าฝักร้านเดียวแล้ว ที่นี่เรากินรอยะห์เหมือนเป็นขนมชุมชน เหมือนๆ ที่คนอีสานกินส้มตำแบบนั้นเลย” คุณนาเท้าความให้ฟัง

นาซิดาแฆ – ข้าวมันแกงเนื้อ

นาซิดาแฆ (อ่านว่า นาซิ ดาแกฺ) คือชื่อเรียกอาหารพื้นเมืองในภาษามลายูปัตตานี ที่ปรุงด้วยข้าวเจ้าผสมกับข้าวเหนียวและหางกะทินึ่งสุกก่อนใส่ฮาลือบอ หรือเครื่องเทศ แล้วคลุกเคล้าให้เข้ากัน รับประทานกับแกงปลาโอ แกงไก่ หรือแกงไข่ แต่สำหรับที่ชุมชนแห่งนี้ นาซิดาแฆถูกจัดเป็นชุดเพื่อกินคู่กับแกงเนื้อเข้มข้นโดยเฉพาะในราคาที่ย่อมเยาอย่างน่าตกใจ จากข้อมูล นาซิดาแฆถือเป็นอาหารสำคัญในพิธีต่างๆ เช่น ในงานแต่งงาน งานฉลองวันฮารีรายอ รวมถึงงานเลี้ยงรับรองแขกแบบพื้นเมือง

ขนมบูตู

ขนมบูตู เป็นขนมมุสลิมเก่าแก่โบราณ หารับประทานยากในปัจจุบัน ตัวขนมด้านในมีไส้ที่ทำจากน้ำตาลมะพร้าว ส่วนข้างนอกทำจากแป้งทำจากข้าวสารแช่น้ำแล้วตากแห้งก่อนที่จะนำมาบดเองจนได้แป้งเนื้อละเอียด เป็นขนมที่ต้องรับประทานตอนร้อน เหมาะรับประทานเข้าคู่กับกาแฟในตอนเช้าที่ให้รสอร่อยเข้ากันดี เป็นอีกหนึ่งขนมโบราณที่หากินยากแถมกระบวนการทำต้องมีการเตรียมวัตถุดิบล่วงหน้าเป็นสัปดาห์ก่อนเปิดตลาด สามารถพบร้านขนมบูตูได้ตั้งแต่ต้นทาง

ขนมซูยี

ปกติไม่ใช่สายขนม แต่ขนมซูยีตกเราได้อยู่หมัดจริงๆ กับกลิ่นหอมหวานๆ ของนมผสมกลิ่นเครื่องเทศอ่อนๆ  สำหรับที่นี่ ซูยีทำจากนมสด นมข้น น้ำ เคี่ยวด้วยกันกับใบกระวาน ไม้หวานหรืออบเชย กานพลู ก่อนที่จะผสมแป้งซูยีที่นำเข้าจากต่างประเทศ เม็ดแป้งซูยีจะพองตัวคล้ายเม็ดสาคูแต่เป็นเม็ดที่เล็กละเอียดกว่ากันให้เนื้อสัมผัสที่นุ่มละมุน ไม่หวานมาก รับประทานไปพร้อมกับอัลมอนด์และลูกเกดที่เติมปิดท้าย เพราะเป็นขนมหวานที่ให้พลังงานจึงทำให้เป็นที่นิยมในช่วงเดือนถือศีลอด และวันพิเศษต่างๆ สำหรับซูยีของที่ชุมชนสวนหลวงนี้จะเป็นแบบน้ำ สามารถกินได้ทั้งร้อนและเย็น ในขณะที่บางสูตรในชุมชนอื่นๆ อาจมาในลักษณะของขนมนิ่มๆ แบบเป็นก้อนก็ได้

ขนมดอกโดน

เขาว่านี่คืออีกขนมท้องถิ่นภาคใต้ที่ห้ามพลาดเมื่อมาที่นี่ ทำให้เดินหาร้านเพื่อมารอซื้อโดยเฉพาะ ที่สำคัญขนมนี้คิวสั่งยาวมาก

ส่วนผสมของขนมนี้ทำจากแป้ง ไข่ไก่ และน้ำตาลโตนด ซึ่งเมื่อเทลงแม่พิมพ์แล้วปิดฝา ขนมที่เริ่มสุกจะให้กลิ่นที่หอมหวานลอยออกมายั่วจมูก เป็นขนมที่ต้องใช้ความชำนาญในการคุมไฟเพื่อให้เนื้อขนมสุกนุ่มหอมเท่ากัน และต้องใช้ความเชี่ยวชาญในการโยนเพื่อพลิกขนมในแม่พิมพ์เมื่อขนมด้านล่างสุกขึ้นมา แม้ไม่ใช่สายขนม แต่โดนขนมอีกหนึ่งของที่นี่ตกไปจนได้ด้วยรสขนมที่ละมุน หอมกลิ่นไข่อ่อนๆ และที่สำคัญไม่หวาน ให้ความรู้สึกหนุบหนับที่ละมุนยิ่งเมื่อกินคู่กับมะพร้าวขูดแล้วจะยิ่งอร่อยด้วยรสชาติที่ตัดกัน

จริงๆ อาหารอร่อย และอาหารห้ามพลาดยังมาไม่หมด ยังมี ข้าวยำ ยำทวาย สมองวัวทอด ก๋วยเตี๋ยวกะทิ ก๋วยเตี๋ยวแกง อาหารมุสลิมร้อนๆ ที่พร้อมตักราดข้าว ฯลฯ ไปจนถึงขนมโบราณหากินยากอย่างขนมบูตู ขนมอาปม ครองแครง ขนมฝักบัว ขนมบาเยีย ขนมโปลี โรตีโรย ขนมหัวเราะ มะตะบะ และอีกมากมายก็หาได้ที่นี่ อาหารบางรายการอาจพบเห็นได้จากที่อื่น แต่ต้องบอกว่าอาหารแม้จะประเภทเดียวกัน แต่สูตรลับในการปรุงของแต่ละบ้าน หรือแต่ละชุมชนต่างมีทีเด็ดของตัวเองที่ไม่เหมือนกัน

เสน่ห์อีกอย่างของตลาดอาหารฮาลาลแห่งนี้ ไม่ได้อยู่แค่อาหารอร่อย วัตถุดิบที่ทำมีคุณภาพ และราคาย่อมเยาเท่านั้น หากแต่ยังรวมไปถึงรอยยิ้มของพ่อค้าแม่ขายและคนในชุมชนที่พร้อมยิ้มรับทักทายคนแปลกหน้าและหน้าแปลกที่เข้ามาเดินในชุมชนแม้ว่าคุณจะไม่ได้ซื้ออาหารจากร้านค้าเหล่านั้นเลยก็ตาม นอกจากนี้ ภายในชุมชนยังมีบ้านที่จัดเป็นจุดพักรับประทานสรรพอาหารที่ซื้อมาหอบหิ้วมาตลอดทาง อันเป็นน้ำใจที่ชาวชุมชนมีให้กันและเผื่อมายังคนเดินตลาดอีกด้วย

และทั้งหมดนี้คือจุดเด่นของตลาดอาหารฮาลาลริมคลองเจริญกรุง 103 ที่กำลังเริ่มก้าวต่อไปในปีที่ 11  ในชุมชนสวนหลวง 1 ที่ต้องห้ามพลาดแห่งนี้

 

พระจันทร์สีเงิน

พระจันทร์สีเงิน

พระจันทร์สีเงิน นักท่องเที่ยวเชิงจิตวิญญาณ ผู้ตามหารอยเท้าและเรื่องราวระหว่างการเดินทาง ของโบราณสถาน ธรรมชาติรอบตัว และวัฒนธรรมการกินอยู่ของชุมชนต่างๆ รักการถ่ายภาพและการถ่ายทอดลมหายใจของสรรพสิ่งผ่านภาพถ่าย

Related Articles