Earth Hour ปิดไฟให้โลกคลายร้อน

Earth Hour 2022
Share

 

Earth Hour ปิดไฟให้โลกคลายร้อน

 

โดย… SUS10

หลายคนอาจจะเคยเห็นภาครัฐ ภาคเอกชนออกมารณรงค์ให้ทุกคนปิดไฟเป็นเวลา 1 ชั่วโมงกันมากมายหลายโครงการและทำกันมานานเกิน 10 ปีแล้ว บางคนอาจคิดว่าปกติเราก็ปิดไฟกันตอนเข้านอนอยู่แล้ว เกิน 1 ชั่วโมงด้วยซ้ำ และยิ่งกว่านั้นยังเลยเถิดไปถึงความสงสัยที่ว่า ทำไมไม่ไปทำเรื่องอื่นที่ช่วยประหยัดพลังงานมากกว่านี้ จริงๆ แล้ว เมื่อเร็วๆ นี้ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เผยว่า กรุงเทพมหานครมีการจัดกิจกรรมปิดไฟ 1 ชั่วโมง อย่างต่อเนื่อง โดยเชิญชวนทุกภาคส่วนปิดไฟดวงที่ไม่จำเป็น มาตั้งแต่ปี 2551 – 2564 สามารถลดกระแสไฟฟ้าได้ 22,398 เมกะวัตต์ ลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 12,235.40 ตัน คิดเป็นมูลค่า 80.90 ล้านบาท

นี่ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ จึงทำให้มีการรณรงค์โครงการที่เรียกว่า Earth Hour กันอย่างจริงจังและต่อเนื่องในทั่วโลก

เอิร์ธอาวเออร์ (Earth Hour) ถือเป็นโครงการสำคัญระดับโลก ที่รณรงค์ให้ปิดไฟเป็นเวลา 1 ชั่วโมง ซึ่งรวมไปถึงปิดโทรทัศน์ เครื่องเสียง เครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ด้วยฯลฯ โดยปกติจะเป็นเสาร์สุดท้ายของเดือนมีนาคม ในปีนี้ตรงกับวันที่ 26 มีนาคม โครงการนี้ เริ่มจัดขึ้นครั้งแรกโดยกองทุนสัตว์ป่าโลก (World Wildlife Fund : WWF) เพื่อกระตุ้นให้คนหันมาตระหนักถึงปัญหาเรื่องภาวะโลกร้อนมากขึ้น เพราะปัญหาการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศล้วนมาจากฝีมือมนุษย์ทั้งสิ้น

เอิร์ธอาวเวอร์ จึงกลายเป็นโครงการที่ทั่วโลกให้ความสนใจ แม้แต่ในประเทศไทยเองหลายภาคส่วนก็หันมาให้ความสำคัญกันมากขึ้นเช่นกัน แม้แต่ผู้ขายไฟฟ้า อย่างการไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเอง ก็ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับโครงการนี้ พร้อมจัดกิจกรรมรณรงค์อย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับหลายองค์กร ต่างร่วมใจกันโปรโมทกันทั้งภายในและภายนอกองค์กร ถ้าอยากรู้ลองค้นหาคำว่า “เอิร์ธอาวเออร์” ในกูเกิ้ลดูได้ว่า ใครบ้างที่ร่วมกิจกรรมนี้บ้าง

ทำไมต้องปิดไฟ…

ก็เพราะการใช้พลังงานทำให้โลกร้อนมากขึ้น!!! ตราบใดที่เรายังใช้พลังงานในชีวิตประจำวัน ทั้ง “ทางตรง”และ”ทางอ้อม” ทางตรงก็เช่น การใช้ไฟฟ้าในชีวิตประจำวันตั้งแต่ตื่นนอนไปจนถึงในขณะหลับ ทางอ้อมได้แก่เมื่อต้องเดินทางด้วยรถโดยสาร อย่างรถเมล์ก็มีการใช้พลังงานฟอสซิล หรือเมื่อเดินเข้าไปร้านสะดวกซื้อ ตั้งแต่ประตูอัตโนมัติเปิดออก แอร์คอนดิชั่น ตู้แช่ และผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในนั้นก็ได้มาจากการใช้พลังงานทั้งหมดในการผลิต ยกตัวอย่างน้ำดื่ม เพราะเราดื่มกันทุกวัน ใน 1 ขวด ถ้าพิจารณาดูดีๆ จะพบว่า ตั้งแต่กระบวนการทำน้ำให้สะอาดจนเราสามารถดื่มได้ การขวดบรรจุ การติดฉลาก การขนส่ง การแช่เย็น ล้วนต้องใช้พลังงานไฟฟ้าเข้ามาเกี่ยวข้อง หรือมองไปรอบๆ สำนักงาน บ้าน หรือโรงเรียน คุณเห็นอะไรบ้างที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานไฟฟ้าเลย โต๊ะ เก้าอี้ แผ่นไม้ ดินสอ ปากกา กระดาษ บลาๆ ล้วนเกี่ยวข้องทั้งสิ้น บางคนอ่านมาถึงตรงนี้จะบอกว่าก้อนหินไง … ผิดครับ เพราะก้อนหินก้อนนั้นกว่าจะมาถึงที่บ้าน หรือที่ออฟฟิศ มันจะต้องผ่านการขนส่งทางรถมาแน่นอน อย่างน้อยๆ การสร้างอาคารก็ต้องขนดิน หิน มาจากที่อื่น แล้วก้อนหินที่อยู่ที่บริษัทจะเหลือรึ และนั่นคือการใช้พลังงาน หรือจะเรียกว่า ก้อนหินก้อนนั้น “มีการใช้พลังงานทางอ้อมอยู่เบื้องหลัง”

ทำไมการใช้พลังงานทำให้โลกร้อนขึ้น

นั่นเป็นเพราะแหล่งพลังงานที่เรานำมาเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าส่วนใหญ่มาจากแหล่งพลังงานฟอสซิล ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นก๊าซเรือนกระจกที่เราให้ความสำคัญมากที่สุด และถูกปล่อยมากกว่าก๊าซชนิดอื่นๆ  ที่สำคัญมันถูกปล่อยด้วยน้ำมือมนุษย์มากถึงร้อยละแปดสิบเลยทีเดียว จากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ได้แก่ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน (ถ้าใครยังขี่ม้า หรือนั่งเกวียน อยู่ในป่าลึกไม่มีไฟฟ้าใช้ก็รอดตัว เพราะคุณไม่ได้สมคบคิดในการทำให้โลกร้อน) เริ่มตั้งแต่ ตื่นนอน เดินทางออกนอกบ้าน และเข้านอน เราใช้พลังงานกันตั้งแต่กี่โมงถึงกี่โมง ผมเชื่อเหลือเกินว่าแทบจะ 24 ชั่วโมงเลยทีเดียว แค่การที่คุณเดินเข้าห้าง นั่นถือว่าคุณมีส่วนร่วมในการใช้พลังงานแล้ว… อ่า..อาจจะคล้ายการที่คุณเดินเข้าบ่อน แต่ไม่ได้เล่นการพนัน ก็โดนตำรวจจับได้เช่นกัน

เราลองย้อนไปยังโลกของเราในช่วงเวลาก่อนที่จะมีมนุษย์เกิดขึ้น ทุกสิ่งมักเป็นไปตามกลไกของธรรมชาติ จากเมล็ดพันธุ์เล็กๆที่มาจากแมลงผสมเกสรตัวผู้กับตัวเมีย จนกลายเป็นต้นไม้เติบโตจากกระบวนการสังเคราะห์แสงโดยการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รอบๆ ตัว หรือในชั้นบรรยากาศ และคาร์บอนไดออกไซด์จะถูกสะสมไว้ทั้งที่ใบ กิ่ง ลำต้น และรากใต้ดิน โดยทั่วไปใน “เนื้อไม้จะมีคาร์บอนเป็นองค์ประกอบมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์” แล้วแต่ชนิดและสายพันธุ์ของต้นไม้ เมื่อใบไม้ร่วงหล่นสู่พื้น หรือต้นไม้ตายลง ค่อยๆ ย่อยสลายตามกระบวนการธรรมชาติ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ เสื่อมสลาย และดับไป เมื่อเวลาผ่านไปดินก็จะช่วยปกปิด และกักเก็บคาร์บอนเหล่านี้ในชั้นดิน เมื่อเกิดการทับถมเรื่อยๆ นับล้านปีทุกสิ่งก็จะแปรสภาพเป็นถ่านหินที่ปัจจุบันมนุษย์เสาะแสวงหาและนำมาเปลี่ยนให้เป็นพลังงาน นอกจากนี้อีกแหล่งพลังงานที่ใกล้ตัวเรามากที่สุดอย่างปิโตรเลียมก็เช่นกัน มีองค์ประกอบหลักคือคาร์บอนถึง 83-87 เปอร์เซ็นเลยทีเดียว

นั่นไงล่ะ… ธรรมชาติอุตส่าห์ปกปิดเก็บมันเอาไว้ลึกสุดขั้ว เพื่อให้โลกเกิดสมดุล ไม่ร้อน ไม่เย็นจนเกินไป แต่มนุษย์ก็ยังขุดมันขึ้น เพื่อปลดปล่อยมันสู่ชั้นบรรยากาศของโลก ส่งผลให้โลกร้อนขึ้น ประกอบกับการตัดไม้ทำลายป่า ทำให้ระบบนิเวศเสียหาย ทำให้ต้นไม้แพร่พันธุ์ได้น้อยลง เพื่อให้เห็นภาพได้ง่ายขึ้น ขอเรียกต้นไม้ว่า “แท่งเก็บคาร์บอนก็แล้วกัน” ซึ่งขณะที่แท่งเก็บคาร์บอนมีน้อยลง สวนทางกับการใช้พลังงานที่มากขึ้น เราต้องมีแท่งเก็บคาร์บอนสักกี่อันโลกของเราจึงจะเกิดสมดุลในยุคอินเทอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่ง เรามีการใช้พลังงานจากอุปกรณ์อัจฉริยะทั้งหลายที่เกิดขึ้นด้วยเจนเนอเรชั่นใหม่ๆ ที่มีการประมวลผล และการแสดงผลที่ดีมากขึ้น ทำอะไรต่อมิอะไรได้มากขึ้น และที่สำคัญกินไฟมากขึ้น

ถ้าประเทศไทยลองสร้างเมืองต้นแบบที่การใช้พลังงานมาจากพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานไฟฟ้าที่มาจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ คงจะดีไม่น้อย เราอาจจะไม่จำเป็นต้องมีวันเอิร์ธอาวเออร์ กันอีกต่อไป เพราะพลังงานหมุนเวียนที่ใช้ไม่ก่อมลพิษเหมือนพลังงานฟอสซิล

จริงๆ แล้ว เราสามารถมีส่วนร่วมในการรณรงค์แบบง่ายๆ ในทุกวัน อาจไม่ถึงขึ้นต้องติดแผงโซลาร์เซลล์กันทุกบ้าน แค่หันมาช่วยกันคนละนิดคนละหน่อย ปิดไฟดวงที่ไม่จำเป็นต้องใช้ ลดการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่จำเป็น ปรับอุณหภูมิแอร์ให้สูงขึ้นนิดหน่อย เพียงเล็กน้อยเหล่านี้ เมื่อรวมกันหลายๆ คน ก็จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ที่ช่วยคลายร้อนให้โลกได้เช่นกัน

SUS10

SUS10

ตัวแทนคนธรรมดา ที่ชื่นชอบเรื่องของความยั่งยืน ทั้งการใช้ชีวิต เทคโนโลยี และธุรกิจ

Related Articles