ส่งความมืดและแสงดาวกลับคืนสู่ฟากฟ้า กับภารกิจ Dark Sky
จำได้กันหรือเปล่าว่าครั้งสุดท้ายที่ได้นอนมองดูดาวเต็มฟ้าคือเมื่อใด
ล่าสุดที่ได้นอนดูดาวท่ามกลางความมืดคือเมื่อตอนที่แบกเป้ขึ้นเหนือไปนอนภูเขาสูงห่างไกลตัวเมืองและแสงสีเมื่อปลายปี อาจเพราะยังไม่ใช่ฤดูล่าทางช้างเผือก ฟ้าจึงยังไม่มืดสนิทแต่ก็มืดมากพอที่จะเห็นดวงดาวกระพริบพราวอยู่บนฟ้า
แต่ว่าตั้งแต่เมื่อไหร่กันที่ฟ้าไม่เคยมืดอีกเลยแม้เมื่อเข้ายามค่ำ ตั้งแต่เมื่อไหร่ที่แสงไฟที่เราคุ้นเคยในชีวิตประจำวันได้กลายเป็นสิ่งที่เรียกกันว่า “มลภาวะทางแสง” หรือ Light Pollution ที่กำลังส่งผลกระทบให้กับการดำรงชีวิตของทั้งคนและสัตว์ ส่งผลต่อสุขภาพ ต่อระบบนิเวศในวงกว้างในปัจจุบัน
เป็นเวลากว่า 150 ปีมาแล้ว อาจจะค่อยๆ เริ่มตั้งแต่ปี 1860 ที่เซอร์ โจเซฟ สวอน คิดค้นหลอดไฟขึ้นมาได้ ตามด้วยโทมัส เอดิสัน ที่สร้างหลอดไฟแบบไส้พร้อมระบบไฟฟ้า จนถึงปัจจุบันที่ทำให้ฟากฟ้ายามค่ำคืนสูญเสียความมืดที่จำเป็นกับการใช้ชีวิตของทั้งคนหรือของสัตว์น้อยใหญ่ให้กับแสงสว่างจากหลอดไฟ ทั้งหลอดไฟในบ้าน หลอดไฟอุตสาหกรรม หลอดไฟบนท้องถนน ป้ายบิลบอร์ดขนาดใหญ่ และอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก
มลภาวะทางแสง และผลกระทบ
มลภาวะทางแสง คือภาวะความสว่างจากแสงสว่างภายนอกอาคารในระดับที่สูงกว่าระดับที่เหมาะสมต่อการมองเห็น หรือเกินกว่าความจำเป็นต่อการประกอบกิจกรรมยามค่ำคืน ซึ่งเป็นผลจากการติดตั้งแหล่งกำเนิดแสงอย่างไม่ระมัดระวัง ไม่ได้ควบคุมปริมาณและทิศทางให้เหมาะสมกับบริเวณที่จำเป็นต้องใช้ มลภาวะทางแสงแบ่งออกเป็น 4 ประเภทหลัก ได้แก่ แสงเรืองบนท้องฟ้า (Sky Glow) แสงจ้าบาดตา (Glare) แสงรุกล้ำ (Light trespass) และแสงสับสน (Clutter) แสงที่ก่อให้เกิดความสับสนในการขับขี่หรือการจอดของเครื่องบิน
อาจเพราะคนเราคุ้นชินกับการมีชีวิตอยู่ท่ามกลางแสงประดิษฐ์ อยู่ในแสงสว่างจากหลอดไฟมาทั้งชีวิตทำให้มองเห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากแสงได้ไม่เด่นชัด ทั้งที่จริงๆ แล้วแสงประดิษฐ์เหล่านี้กำลังคุกคามต่อสุขภาพของผู้คน สัตว์ในธรรมชาติ ตลอดจนห่วงโซ่อาหารและระบบนิเวศในระยะยาว
การลดมลภาวะทางแสง ดีต่อมนุษย์และสัตว์โลกอย่างไร
เริ่มจากสุขภาพของมนุษย์ ในอดีตระบบร่างกายของเราทำงานสอดคล้องกับช่วงเวลากลางวัน กลางคืน ที่เปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ หรือที่เรียกว่า “นาฬิกาชีวิต (Circadian Clock)” แต่การใช้แสงในปัจจุบันทำให้นาฬิกาชีวิตเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ เพราะแสงสว่างในเวลากลางคืนส่งผลต่อการนอนหลับและการหลั่งสารเมลาโทนิน (Melatonin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่สร้างมาจากต่อมไพเนียลที่อยู่ในบริเวณสมองส่วนกลาง ต่อมไพเนียลจะสร้างสารเมลาโทนินออกมาสู่กระแสเลือดในเวลาที่ไม่มีแสงหรือมีแสงสว่างน้อย และหยุดหลั่งเมื่อเจอแสงสว่าง โดยปกติเมื่อมีการหลั่งสารเมลาโทนิน จะทำให้รู้สึกง่วงนอน ช่วยให้หลับสนิท สุขภาพดี ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ เพิ่มระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ช่วยลดคลอเรสเตอรอล และช่วยให้การทำงานของต่อมไทรอยด์ ตับอ่อน รังไข่ อัณฑะ ต่อมหมวกไตดีขึ้น แต่หากมีแสงรบกวนการนอน สารเมลาโทนินจะหลั่งน้อยลง การทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกายแปรปรวน ไม่ว่าจะเป็นการตื่น การนอนหลับ หรือการหลั่งฮอร์โมน สิ่งที่ตามมา คือ ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน โรคอ้วน ความดันโลหิตสูง และมะเร็งเต้านม เป็นต้น
นอกจากผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ มลภาวะทางแสงยังส่งผลโดยตรงต่อพฤติกรรมและการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์ปีก สัตว์น้ำหรือแม้แต่สิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก เช่น แมลง และจุลินทรีย์ เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังสิ่งมีชีวิตอื่นในห่วงโซ่อาหาร และระบบนิเวศอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง
มลภาวะทางแสงทำให้แมลงสับสนระหว่างสถานที่วางไข่ตามแหล่งน้ำธรรมชาติกับบริเวณพื้นผิวมันวาวที่ไม่เหมาะสม เช่น ผิวถนน หรือแอ่งน้ำขัง ซึ่งส่งผลกระทบต่อจำนวนประชากรแมลงที่มีผลต่อระบบนิเวศในระยะยาว
มลภาวะทางแสงสร้างผลกระทบด้านการนำทางให้กับเต่าทะเล ตามปกติ แม่เต่าจะขึ้นมาวางไข่บนหาดทรายในเวลากลางคืน และเมื่อลูกเต่าออกจากหลุมฟักไข่จะอาศัยแสงเรืองจากขอบฟ้าเพื่อหาทางลงทะเล แต่แสงไฟจากเมืองทำให้ลูกเต่าที่เพิ่งเกิดเข้าใจผิดและหลงทิศเดินเข้าหาความตายที่เกิดจากแสงในเมือง
มลภาวะทางแสงสร้างความสับสนให้กับนกอพยพบางชนิดที่อาศัยแสงจันทร์และแสงดาวเป็นเครื่องนำทางทั้งในการย้ายถิ่นและการหาอาหาร ในประเทศสหรัฐอเมริกา มีนกอพยพจำนวนมากบินเข้าหาแสงไฟของอาคาร ประภาคาร หรือแม้แต่เรือสินค้า ทำให้มีนกตายกว่าปีละ 100 – 1,000 ล้านตัวจากการบินชนกระจกหรือติดภายในตัวอาคาร และยังมีกรณีที่แสงไฟจากตัวเมืองทำให้นกอพยพหลงทิศทางบินจนหมดแรง และเสียชีวิตลง
สัตว์มากมายอาศัยช่วงเวลากลางคืนเพื่อจับคู่ผสมพันธุ์ เช่น กบ เขียด อึ่งอ่าง คางคก เป็นต้น สัตว์เหล่านี้อาจสับสน รู้สึกไม่ปลอดภัย จนอาจหยุดการจับคู่ผสมพันธุ์ ทำให้อัตราการผสมพันธุ์ต่ำลง
เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด – คืนความมืดและแสงดาวให้ฟากฟ้า
เพื่อช่วยให้การใช้พลังงานแสงและการลดมลภาวะที่เกิดขึ้นจากแสง โครงการเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด หรือ Dark Sky Thailand โดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) จึงเกิดขึ้นพร้อมการรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนที่สนใจสามารถเข้าร่วมโครงการเพื่อคืนความมืดที่สมดุลและมีคุณภาพกลับสู่ธรรมชาติ
เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดแบ่งออกเป็น 4 ส่วน
- อุทยานท้องฟ้ามืด (Dark Sky Park) อันเป็นเขตอนุรักษ์ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ที่รักษาและสงวนท้องฟ้าในเวลากลางคืนให้มีความมืดที่เหมาะสมด้วยวิธีการใช้แสงสว่างอย่างระมัดระวัง ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะทางแสงที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ และเพื่อเป็นพื้นที่สังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ เป็นแหล่งเรียนรู้ แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และเชิงดาราศาสตร์ โดยต้องมีค่าความมืดท้องฟ้าอยู่ในระดับที่สามารถมองเห็นดาวเคราะห์ ดาวฤกษ์ กลุ่มดาว กระจุกดาว เนบิวลา หรือทางช้างเผือกได้ด้วยตาเปล่า
- ชุมชนอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด (Dark Sky Communities) หรือเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ชุมชน หมู่บ้าน ที่รักษาความมืดในพื้นที่ อาทิ อ่างเก็บน้ำ เขื่อน สวนสาธารณะ ภายใต้การร่วมมือและสนับสนุนจากประชาชน มีค่าความมืดท้องฟ้าอยู่ในระดับที่สามารถเห็นวัตถุท้องฟ้าต่างๆ เช่น กลุ่มดาว ทางช้างเผือกด้วยตาเปล่า
- เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดส่วนบุคคล (Dark Sky Properties) หรือเขตอนุรักษ์ในพื้นที่ส่วนบุคคล เช่น รีสอร์ท โรงแรม ฟาร์ม ศูนย์การเรียนรู้ ที่ มีค่าความมืดท้องฟ้าอยู่ในระดับที่สามารถสังเกตเห็นวัตถุท้องฟ้าได้ด้วยตาเปล่า
- เขตอนุรักษ์ท้องฟ้าในพื้นที่ชานเมือง (Dark Sky Suburbs) หรือเขตอนุรักษ์ในพื้นที่ชานเมือง มีลักษณะเป็นลานโล่ง สามารถจัดกิจกรรมการสังเกตการณ์ท้องฟ้าได้โดยรอบ มีการใช้แสงสว่างอย่างระมัดระวัง เหมาะสมต่อการใช้งาน มีความปลอดภัยและสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่มาใช้บริการพื้นที่ มีค่าความมืดท้องฟ้าอยู่ในระดับที่สามารถสังเกตเห็นวัตถุท้องฟ้าได้ด้วยตาเปล่า
นอกเหนือจากความร่วมมือจากหลากองค์กร เราเองก็สามารถมีส่วนช่วยในการลดมลภาวะทางแสงได้ไม่ยากด้วยการปรับรูปแบบหลอดไฟที่ใช้ กำหนดพื้นที่ในการใช้แสง ความจ้าและการกระจายของแสงไฟให้เหมาะสมก็ช่วยได้
… มาช่วยกันคืนความมืดให้ท้องฟ้า เพื่อสุขภาพที่ดีของทั้งเราและทุกชีวิตในธรรมชาติไปด้วยกัน….
ที่มาข้อมูลและรูป: DarkSky