เรื่องน่าตกใจ…โลมาไม่ได้น่ารักเสมอไป ส่องด้านมืดของ “โลมา”

Share

 

ต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมามีข่าวดีจากอำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แจ้งว่าพบวาฬบรูด้า 2 ตัว เข้ามาหากินอย่างสบายใจในทะเลอ่าวไทยใกล้ชายฝั่งระยะที่มองเห็นได้ชัด นับเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปี ซึ่งวาฬบรูด้าจัดอยู่ในสถานะสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ เช่นเดียวกับโลมาอิรวดีที่พบเกยตื้นอยู่บ่อยครั้ง ผลจากการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ นอกเหนือจากสภาวะถูกคุกคามจากการล่า

ทั้งนี้ ในบรรดาสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกลุ่มนี้ ที่เราคุ้นเคยมากสุดคือ โลมา ไม่ว่าจะจากภาพยนตร์หรืออควาเรียมที่จัดแสดงความฉลาดของมัน จนเหมือนเป็นเพื่อนรักของเด็กน้อยทั่วโลก

แต่…เหรียญไม่ได้มีแค่ด้านเดียว!

นักล่าแห่งท้องทะเล

ข้อมูลจากองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) กล่าวถึง “โลมา” ว่าเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ครั้งหนึ่งเคยอาศัยอยู่บนบก แล้วกลับลงไปใช้ชีวิตอยู่ในทะเล นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า โลมาน่าจะมีบรรพบุรุษเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เรียกว่า “เมโซนิกซ์” มีพฤติกรรมการล่าเหยื่อในน้ำ

โลมาเป็นสัตว์ในตระกูล Cetecean หรือตระกูลเดียวกับวาฬ จัดอยู่ในจำพวกวาฬมีฟัน จำแนกออกเป็น 5 ตระกูลใหญ่ๆ ได้แก่ โลมาในมหาสมุทรซึ่งถือเป็นกลุ่มที่มีชนิดพันธุ์มากที่สุดถึง 38 ชนิด และโลมาน้ำจืดอีก 4 ชนิด

ลักษณะเด่นของโลมาคือรูปร่างปราดเปรียว มีความว่องไว เป็นหนึ่งในนักล่าที่ทรงพลัง สามารถเข้าชาร์ตเหยื่อ ไม่ว่าจะเป็นหมึก หรือสัตว์ทะเลตัวอื่นๆ ได้อย่างรวดเร็ว

ความที่เป็นสัตว์สังคม มันมักจะอยู่รวมกันเป็นฝูงตั้งแต่หลักร้อยถึงพันตัว ซึ่งการอยู่ร่วมกันทำให้โลมามีวิวัฒนาการไปสู่การส่งสัญญาณและการสื่อสารระหว่างกันโดยใช้เสียง “คลิก” เสียงกระซิบ หรือเสียงร้องแหลมสูง ทั้งหมดนี้เชื่อมโยงสู่พฤติกรรมอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว คือสัญชาตญาณนักล่า เป็นต้น

โดยธรรมชาติ โลมาจะให้กำเนิดลูกครั้งละ 1 ตัว แม่จะให้นมลูกและเฝ้าดูแลอยู่ช่วงหนึ่ง บางสายพันธุ์อย่างเช่น ออก้า ตัวลูกจะอยู่กับแม่ไปตลอดชีวิต

เปลือยด้านมืดของโลมา

ภาพลักษณ์โลมาของใครหลายๆ คนอาจดูเฟรนด์ลี่ น่ารัก สดใส เป็นมิตรแม้กับเด็กๆ เป็นนักช่วยเหลือ บางตัวช่วยคนจมน้ำด้วยซ้ำ

จึงไม่แปลกที่โลมาจะเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ถูกจับมาเลี้ยงในสวนสัตว์และอควาเรียมมากที่สุด สายพันธุ์ที่นิยมนำมาจัดแสดงกันมากคือ “โลมาปากขวด” โดยพบมากถึง 80% ของโลมาทั้งหมด

แต่…แต่ เหรียญมีสองด้าน โลมาก็เช่นกัน

โดยเฉพาะพฤติกรรมทางเพศที่ก้าวร้าวรุนแรง ตัวอย่างเช่น เมื่อตัวเมียไม่ยินยอมจะมีการไล่ล่า กดดัน หรือแม้กระทั่งทำร้ายร่างกายตัวเมีย เช่น การกัด การชน หรือใช้หางฟาด เพื่อให้ยอมจำนน โดยตัวผู้จะรวมตัวเป็นฝูงกักตัวเมียไว้ในวงล้อม และกระทำการผสมพันธุ์นานเป็นเดือนๆ ถ้าพยายามหลบหนีจะถูกทำร้าย

แล้วถ้าตัวเมียเป็นแม่ลูกอ่อน นั่นหมายความว่าไม่พร้อมผสมพันธุ์ เล่ากันว่ามันจะฆ่าลูกเพื่อให้แม่เป็นโสดอีกครั้ง นอกจากนี้ยังมีรายงานการพบเห็นโลมาตัวผู้พยายามมีเพศสัมพันธ์กับลูกโลมา

น่าสนใจว่า โลมาเป็นสัตว์ที่ผสมพันธุ์ได้ตลอดทั้งปี บางครั้งหาตัวเมียไม่ได้ ตัวผู้ด้วยกันก็ได้ หรือบางทีเจอซากปลาก็เอา ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้นักวิทยาศาสตร์ค่อนข้างให้ความสำคัญ เพราะเป็นเรื่องที่ค่อนข้างซับซ้อนและละเอียดอ่อนมาก จำเป็นต้องนำปัจจัยรอบข้างมาร่วมในการประเมิน เช่นปัจจัยเชิงความสัมพันธ์ทางสังคม การแสดงอำนาจของการเป็นจ่าฝูง หรือปัจจัยทางสภาพแวดล้อม การเพิ่มโอกาสในการขยายเผ่าพันธุ์ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ต้องบอกว่า พฤติกรรมที่ก้าวร้าวเช่นนี้ไม่ได้เกิดกับโลมาทุกตัวทุกสายพันธุ์ เบื้องหลังอาจมีเหตุมาจากสภาพแวดล้อม ความเครียดจากปัจจัยภายนอก เช่น การถูกรบกวนจากกิจกรรมของมนุษย์ที่ส่งผลให้เกิดพฤติกรรมที่รุนแรงขึ้น ทุกวันนี้จึงยังคงมีการศึกษาเพิ่มเติมถึงสาเหตุและผลกระทบที่แท้จริงอันนำไปสู่พฤติกรรมที่ไม่น่ารักเหล่านี้

 

สำหรับผู้ที่ชื่อชอบงานเขียนของ Rabbit2TheMoon สามารถอ่านเรื่องอื่นๆ ก่อนหน้าได้ ที่นี่

rabbit2themoon

rabbit2themoon

คอลัมนิสต์หน้าไม่ใหม่ เคยพำนักอยู่ใต้ชายคามติชน ประจำกอง บก.นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ก่อนขยับมาเป็นผู้สื่อข่าวเซ็กชั่นประชาชื่น เขียนสัมภาษณ์บุคคล-สกู๊ปเชิงไลฟ์สไตล์-ท่องเที่ยว-อาหาร-จิปาถะ สถานะปัจจุบัน นอกจากเป็นคอลัมนิสต์ ยังเป็นนักเขียนอิสระ เขียนบทความเชิงประชาสัมพันธ์

Related Articles