ถอดรหัสลับ เมื่อรถเมล์ไทยเปลี่ยนชื่อสาย…อีกครั้ง

Share

 

ถอดรหัสลับ เมื่อรถเมล์ไทยเปลี่ยนชื่อสาย…อีกครั้ง

 

กล่าวกันว่า…ความเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นนิรันดร์

การเปลี่ยนชื่อสายรถเมล์ก็เช่นกัน… ล่าสุด มีการเปลี่ยนชื่อสายรถเมล์อีกครั้ง เช่น สาย 1 ถนนตก-ท่าเตียน เปลี่ยนเป็นสาย 3-35 สาย 8 แฮปปี้แลนด์-สะพานพุทธ เปลี่ยนเป็นสาย 2-38 เป็นต้น

เพื่อการจัดระเบียบและเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนอื่นๆ ทั้งระบบรางและเรือให้ครอบคลุมอย่างไร้รอยต่อ

แน่นอนว่า ย่อมเกิดเสียงวิพากษ์สนั่นโซเชียล!

ความที่คุ้นชินกับชื่อสายที่ใช้บริการกันมานานเมื่อมีการเปลี่ยนแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว ไม่เข้าใจที่มาที่ไป สร้างความสับสนไม่มากก็น้อย แม้ว่าจะมีเครื่องมือค้นหา (เสิร์ชเอนจิ้น) ปักหมุดเพื่อให้สะดวกแก่การเดินทาง แต่ต้องยอมรับว่า ไม่ใช่กับทุกคน

ที่สุดแล้วต้องกลับมา ‘ท่องจำ’ กันใหม่เกือบทั้งหมด

ที่สำคัญคือ ระบบขนส่งมวลชนนั้นเป็นบริการพื้นฐานที่ทุกคนควรจะเข้าถึงได้โดยไม่จำกัดวัยและสถานภาพ

ในความเป็นจริงการเปลี่ยนสายรถเมล์ไม่ใช่เรื่องใหม่ เมื่อ 5 ปีก่อนก็มีการทดลองจัดระเบียบรถโดยสารประจำทางเป็นโซน โดยใช้ “สี” แบ่งแยกเป็น 4 หมวดหมู่ สีเขียว (G) สีแดง (R) สีดำ (Y) และสีน้ำเงิน (B) กำกับอยู่หน้าตัวเลขที่เรียงลำดับตามสายที่เปิดใช้บริการก่อน-หลัง

ครั้งนั้นสร้างความงุนงงเป็นวงกว้าง อาทิ ทำไม 543 ก ต้องเปลี่ยนเป็น G38 (สีเขียว) ขณะที่นักวิชาการออกมาวิพากย์ว่าไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ต้องบริหารจัดการระบบขนส่งมวลชนให้สัมพันธ์กันทั้งหมด สอดรับกับความต้องการของประชาชนผู้ใช้บริการ

ทั้งนี้ การกำหนดชื่อสายรถประจำทางโดยทั่วไปไม่ได้ตั้งกันเล่นๆ ในยุคแรกๆ ที่เริ่มให้บริการอาจจะเรียงลำดับตามสายที่เปิดให้บริการก่อนหลัง แต่เมื่อเมืองขยาย มีสายรถมากขึ้น ย่อมต้องมีการจัดระบบระเบียบเพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ

ตัวอย่างเช่น ระบบของ metrobus ในกรุงวอชิงตัน ดีซี ที่ตัวแรกบ่งบอกถึง “กลุ่มสาย” เช่น สาย 52, 54, 59 มีจุดร่วมคือ ให้บริการผ่านถนนเส้นเดียวกันคือ ถนนเลขที่ 14 โดยที่เลข 2, 4, 9 จะบอกถึงซอยแยกย่อย ส่วนสายที่เป็นตัวเลขแปลกๆ จะให้บริการเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วน เป็นต้น

อีกตัวอย่างที่ไม่พูดถึงไม่ได้ “รถเมล์แดง 2 ชั้น” (Red Bus) สัญลักษณ์ของกรุงลอนดอน ด้วยจำนวนรถเมล์ที่มีราว 8,500 คัน มีป้ายรถเมล์ 19,000 แห่ง และมี 673 เส้นทางรถที่กระจายให้บริการอยู่ทุกซอกซอยในกรุงลอนดอน

รถเมล์แดงลอนดอนเปิดให้บริการมาราว 40 ปี ในช่วงแรกการกำหนดสายรถเมล์จะใช้ตัวเลขในการแบ่งโซนเมืองชั้นใน (สาย 300-499) และชั้นนอก (สาย 800-899 ) ก่อนจะเพิ่มตัวอักษรกำกับในปี 1968  เช่น “C” (Central) หมายถึงรถเมล์สายนั้นวิ่งผ่านกลางเมือง “X” (Express) หมายถึงรถด่วน หรือ “N” (Night) บอกว่าเป็นรถที่วิ่งช่วงกลางคืน

ปัจจุบันการรันตัวเลขของรถเมล์แดงแบ่งเป็น 1-599 เป็นสายที่ให้บริการทุกวัน สาย 600-699 ให้บริการเฉพาะวันที่โรงเรียนเปิด และ 700-899 เป็นรถที่ให้บริการพิเศษ

สำหรับรถเมล์ไทยนั้น ใน “แผนแม่บทพัฒนาระบบรถโดยสารประจำทางในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล พ.ศ.2558-2567” จัดทำโดยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวถึงที่มาของการปรับระบบการเดินรถและเปลี่ยนสายรถประจำทาง เหตุผลหนึ่งมาจากเส้นทางเดินรถเดิมมีการทับซ้อนกันมากกว่าร้อยละ 50 ของเส้นทางเดินรถทั้งหมด ที่ปัจจุบันมี 311 เส้นทาง

อีกทั้งความยาวของเส้นทางที่มากกว่า 40 กิโลเมตรมีอยู่ประมาณ 47 เส้นทาง นั่นหมายความว่า เมื่อเส้นทางที่มีระยะการเดินรถยาวมากและตัดผ่านกลางเมือง ในชั่วโมงเร่งด่วนจึงติดกระจุกตัว ทำให้รถขาดระยะ ผู้โดยสารต้องรอรถนาน ขณะเดียวกันเมื่อหลุดจากโซนรถติด รถบางคันจะต้องเร่งทำรอบ

การปฏิรูประบบรถโดยสารประจำทางครั้งนี้ จึงปรับเส้นทางการเดินรถให้ทับซ้อนน้อยลง มีระยะทางสั้นขึ้น พร้อมกับเปลี่ยนชื่อสายรถเมล์

รูปแบบของหมายเลขสายที่กำหนดใหม่จำแนกตามพื้นที่การเดินรถของจุดต้นทางตามทิศของกรุงเทพมหานคร โดยแบ่งเป็น 4 โซน และตามด้วยเลขหมายของสายรถเมล์ตามลำดับก่อนหลังที่เปิดให้บริการ

กล่าวคือ โซนที่ 1 ทิศเหนือ (กรุงเทพฯ โซนเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ ถนนพหลโยธิน) ขึ้นต้นด้วย 1-เลขสาย (1-1 ถึง 1-68), โซนที่ 2 ทิศตะวันตก (กรุงเทพฯ ชั้นในและโซนตะวันตกเฉียงเหนือ) ขึ้นต้นด้วย 2–เลขสาย (2-1 ถึง 2-56), โซนที่ 3 ทิศตะวันออก (กรุงเทพฯ โซนตะวันออกเฉียงใต้ : ถนนสุขุมวิท) ขึ้นต้นด้วย 3-เลขสาย (3-1 ถึง 3-56) และโซนที่ 4 ทิศใต้ (กรุงเทพฯ โซนใต้และตะวันตกเฉียงใต้ ถนนเพชรเกษม) ขึ้นต้นด้วย 4-เลขสาย (4-1 ถึง 4-71)

ซึ่งแตกต่างจากหมายเลขสายรถเดิมที่มีการเรียงตัวเลขสายไปเรื่อยๆ เมื่อมีเส้นทางใหม่ก็เพิ่มตัวเลขเข้าไป

อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันความสับสนของของผู้ใช้บริการ จึงมีการใส่เลขสายเดิมควบคู่กับเลขสายใหม่กำกับไว้ที่หน้ารถด้วยเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี.

 

อ้างอิง:

https://www.mylondon.news/lifestyle/travel/london-buses-night-bus-red-17072357

https://ggwash.org/view/72057/heres-what-that-bus-number-means

 

Related Articles