“อากาศสุดขั้ว” โอกาสสุดท้ายมนุษยชาติ?

Share

 

“อากาศสุดขั้ว” โอกาสสุดท้ายมนุษยชาติ?

 

เพิ่งประกาศการเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 2 มีนาคมที่ผ่านมา ราวกับอุณหภูมิโลกจะเพิ่มขึ้นฉับพลัน

ยัง…ยังก่อน นี่เป็นเพียงขั้นเริ่มต้น กรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่าเดือนเมษายนจะร้อนได้มากกว่านี้-อีกมากนัก!

ทุกปีเมื่อถึงหน้าร้อนเราจะได้ยินข่าวภัยแล้ง การเกิดไฟป่าบ่อยครั้ง และรุนแรงมากขึ้นทุกที ไม่นับปัญหาอุทกภัยเฉียบพลัน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความแปรปรวนของสภาพอากาศ

ประเด็นหนึ่งที่บรรดานักวิชาการผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกำลังถกเถียงกันอย่างจริงจังคือ ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่ส่งผลให้เกิดสภาวะอากาศแบบสุดขั้ว (Climate Extremes) เช่นกรณีการเกิดไฟป่าครั้งรุนแรงที่สุดที่รัฐนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลียในปี พ.ศ.2562-2563 เผาทำลายพื้นที่ไป 107,000 ตารางกิโลเมตร อาคารบ้านเรือนพังเสียหาย 5,900 แห่ง มีผู้เสียชีวิตถึง 28 คน พบว่าสภาพอากาศสุดขั้วเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับต้นศตวรรษที่ 20

หากไม่สามารถหยุดภาวะโลกร้อนและอุณหภูมิเฉลี่ยโลกไม่ให้สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียสตามความตกลงปารีส จะทำให้สภาพไฟป่าแบบนี้มีโอกาสเกิดขึ้นมากกว่าถึง 4 เท่าในไม่กี่ปีข้างหน้า

ประเทศไทยก็เช่นกัน เริ่มเห็นผลกระทบจากก๊าซเรือนกระจกชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น ภาวะน้ำท่วมที่มาเร็วและรุนแรงขึ้น ภัยแล้ง การเกิดไฟป่า การระบาดของเชื้อโรค เป็นต้น นักวิชาการยอมรับว่าสภาพอากาศที่แปรปรวนอย่างหนัก แม้กระทั่งการคาดการณ์ฝนตกยังทำได้ยาก บางวันมีทั้งร้อน ฝนตก พอพลบค่ำอากาศเย็น

flood

Germanwatch องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรซึ่งจัดลำดับประเทศที่มีความเสี่ยงด้านภูมิอากาศโลก (Global Climate Risk Index-CRI) โดยวิเคราะห์และจัดลำดับประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเกิดภาวะอากาศสุดขั้ว (extreme weather event) เช่น พายุ ไฟป่า ลูกเห็บ น้ำท่วม คลื่นความร้อน เป็นต้น ติดต่อกันเป็นปีที่ 16 รายงานผลการศึกษาประจำปี 2021 พบว่าประเทศไทยมีความเสี่ยงด้านภูมิอากาศโลกสูงเป็นอันดับ 9 ของโลก จากทั้งหมดประมาณ 180 ประเทศ

ภูมิอากาศแบบสุดขั้ว กับโลกร้อน เกี่ยวข้องกันอย่างไร?

บีบีซี ไทย เคยรายงานถึงปรากฏการณ์การเกิดภาวะอากาศแบบสุดขั้ว โดยอธิบายถึงความเชื่อมโยงกับภาวะโลกร้อนว่า ในบริเวณที่มีความกดอากาศสูง มวลอากาศร้อนถูกกดลงและกักไว้อยู่กับที่ ส่งผลให้อุณหภูมิทั้งทวีปพุ่งสูงขึ้น ที่เมืองลิตตัน ทางฝั่งตะวันตกของแคนาดา อุณหภูมิสูงถึง 49.6 องศาเซลเซียส มากกว่าสถิติเดิมเกือบ 5 องศาเซลเซียส กลุ่มเครือข่ายความร่วมมือด้านสภาพภูมิอากาศนานาชาติ หรือ World Weather Attribution ระบุว่าคลื่นความร้อนรุนแรงแบบนี้แทบจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากไม่ใช่เพราะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

thermometer

ยิ่งอุณหภูมิโลกเพิ่มมากขึ้น ยิ่งเกิดคลื่นความร้อนนานขึ้น เมื่อมีคลื่นความร้อนที่หนักและนานกว่าเดิม ภาวะแล้งก็อาจรุนแรงกว่าเดิม ขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เป็นผลให้เกิดความร้อนอย่างยาวนานและเกิดขึ้นซ้ำๆ ทำให้พื้นดินและต้นไม้ขาดความชุ่มชื้น จึงเสี่ยงต่อการเกิดไฟป่าและลุกลามไปอย่างรวดเร็ว

ที่น่าสนใจคือ รายงานผลสรุปในการศึกษาความเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมและภูมิอากาศโลก เมื่อปลายปีที่แล้วของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ของสหประชาชาติ ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่า กิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ทำให้โลกเกิดความเปลี่ยนแปลงชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในรอบหลายพันปี

ตัวอย่างเช่น ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โลกมีสภาพอากาศร้อนทำลายสถิติสูงสุดที่เคยบันทึกไว้ในช่วง 170 ปี รวมทั้งคลื่นความร้อนและสภาพอากาศแบบสุดขั้วก็เกิดขึ้นบ่อยครั้ง รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นเกือบ 3 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงปี 1901-1971 และมีความเป็นไปได้ว่าระดับน้ำทะเลจะเพิ่มสูงขึ้นเกือบ 2 เมตรก่อนสิ้นศตวรรษนี้ และเพิ่มขึ้น 5 เมตร ภายในปี 2150 ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ในประเทศตามแนวชายฝั่งทะเล

ไอพีซีซี ยังคาดการณ์ว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนประการหนึ่งคือ เขตอาร์กติกจะไม่มีน้ำแข็งเหลืออยู่เลยในช่วงฤดูร้อน สภาพอากาศแบบสุดขั้วเช่นฝนตกหนักจนน้ำท่วมและความแห้งแล้งรุนแรงชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จะปรากฏให้เห็นบ่อยครั้งขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงไฟป่าครั้งใหญ่จะพบได้มากขึ้นในหลายภูมิภาคของโลก

นี่ไม่ใช่คำทำนายของนอสตราดามุส แต่มาจากการรวบรวมสถิติล้วนๆ แล้วนำมาสังเคราะห์โดยผู้เชี่ยวชาญระดับโลก เพื่อย้ำให้เราทุกคนต้องตระหนักโดยไม่ตระหนกเกินกว่าเหตุว่า เราซึ่งหมายถึงทุกหน่วยงาน ทุกองค์กร และมนุษย์ทุกคนต้องลงมือตั้งแต่บัดนี้ ช่วยกันดูแลโลกใบนี้อย่างจริงจัง

…เพราะเราไม่มีทั้ง Plan B และไม่มีทั้งโลกใบที่สองให้เริ่มต้นใหม่.

 

 

rabbit2themoon

rabbit2themoon

คอลัมนิสต์หน้าไม่ใหม่ เคยพำนักอยู่ใต้ชายคามติชน ประจำกอง บก.นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ก่อนขยับมาเป็นผู้สื่อข่าวเซ็กชั่นประชาชื่น เขียนสัมภาษณ์บุคคล-สกู๊ปเชิงไลฟ์สไตล์-ท่องเที่ยว-อาหาร-จิปาถะ สถานะปัจจุบัน นอกจากเป็นคอลัมนิสต์ ยังเป็นนักเขียนอิสระ เขียนบทความเชิงประชาสัมพันธ์

Related Articles