“แร่ใยหิน” วายร้าย ทำลายสุขภาพปอด ทำไมไทยยังไม่หยุดใช้!

Share

 

เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2554 ประเทศไทยมีมติเกี่ยวกับมาตรการสังคมไทยไร้แร่ใยหิน ตั้งเป้าสังคมไทยปลอดแร่ใยหิน โดยมีมาตรการการบริหารจัดการ การฟุ้งกระจายของแร่ใยหินในวัสดุต่าง ๆ ที่หมดอายุการใช้งานในชุมชน และส่งเสริมให้มีการวิจัยเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ทางเลือกทดแทนการใช้แร่ใยหินในประเทศไทย

นอกจากนี้ยังมีการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คมส.) ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2565 เกี่ยวกับข้อเสนอแนวทางการขับเคลื่อนมติเกี่ยวกับแร่ใยหิน* จำนวน 4 ข้อเสนอ ประกอบด้วย

1) เสนอให้รัฐต้องออกกฎหมายห้ามใช้แร่ใยหินอย่างถาวร เนื่องจากส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนทุกกลุ่ม

2) เสนอให้ สธ. ที่กำกับโรงพยาบาล-สถานบริการด้านสาธารณสุข และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่กำกับดูแลโรงเรียน-สถานศึกษาทั่วประเทศ เป็นหน่วยงานนำร่องในการยกเลิกวัสดุที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบในการก่อสร้างอาคารสถานที่

3) เสนอให้กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงแรงงาน รวมถึงรัฐบาลทั้งคณะ ควรมีนโยบายชัดเจนเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนในภาพใหญ่ร่วมกันของทุกกระทรวงในระดับประเทศ

4) เสนอให้กรมอนามัย ซึ่งมีกฎกระทรวงการจัดการมูลฝอยที่เป็นพิษหรืออันตรายจากชุมชน พ.ศ. 2563 ภายใต้ พ.ร.บ.สาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดนิยามมูลฝอยและแนวทางปฏิบัติให้ครอบคลุมถึงการจัดการแร่ใยหิน

อ้างอิง https://www.thecoverage.info/news/content/3167

แสดงให้เห็นว่าปัญหาของ ‘แร่ใยหิน’ เป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนรวมถึงประชาชนทุกคนควรหันมาให้ความสำคัญ และตระหนักถึงอันตรายจากแร่ใยหินให้มากขึ้น เนื่องจากส่งผลเสียต่อสุขภาพของประชาชนอย่างรุนแรง ทำให้อัตราการเสียชีวิตจากโรคร้ายที่เกิดจากแร่ใยหินเพิ่มขึ้น เช่น โรคปอด มะเร็งปอด มะเร็งเยื่อหุ้มปอด เป็นต้น

 

สถานการณ์แร่ใยหินในต่างประเทศ

องค์การอนามัยโลก WHO มีการสนับสนุนและส่งเสริมมาตรการยกเลิกการใช้แร่ใยหินอย่างไม่หยุดยั้ง โดย IARC (International Agency for Research on Cancer) หน่วยงานหนึ่งภายใต้องค์การอนามัยโลก (World Health Organization) ได้ประเมินสารเคมีหรือกิจกรรมต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดมะเร็งในมนุษย์ ซึ่งได้ระบุใน IARC monograph 100C โดยชี้แจงว่า แร่ใยหินทุกชนิดรวมถึง Chrysotile เป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ เนื่องจากมีหลักฐานชัดเจนจากการวิจัยในมนุษย์ว่าก่อให้เกิดมะเร็ง โดยมีอย่างน้อย 2 งานวิจัยที่ทำการศึกษาเฉพาะแร่ใยหิน Chrysotile กับมะเร็งในคน และพบว่าแร่ใยหิน Chrysotile มีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งในคน

ดังนั้นจึงทำให้องค์การอนามัยโลกได้ระบุใน World Health Assembly resolution 60.26 ให้ดำเนินการรณรงค์ทั่วโลกเพื่อกำจัดโรคจากแร่ใยหิน โดยมีกลยุทธ์การดำเนินการ คือ 1) การยุติการใช้ใยหินทุกชนิด ซึ่งเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด 2) ดำเนินการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้วัสดุทดแทนแร่ใยหิน 3) ดำเนินการใช้มาตรการป้องกันการรับสัมผัสแร่ใยหินระหว่างการผลิต การใช้ และการรื้อถอน และ 4) พัฒนาการคัดกรอง วินิจฉัย รักษา ฟื้นฟูทางการแพทย์และทางสังคมสำหรับโรคจากแร่ใยหิน และจัดทำทะเบียนคนที่รับสัมผัสแร่ใยหินทั้งในอดีตและปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ทั่วโลกจึงมีการตื่นตัวเรื่องการยกเลิกการใช้แร่ใยหินมาจนถึงปัจจุบัน

 

ประเทศไทยกับการนำเข้าแร่ใยหิน

สำหรับประเทศไทย นับตั้งแต่วันที่มีมติจากสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2553 เกี่ยวกับมาตรการสังคมไทยไร้แร่ใยหิน ผ่านมาราว 13 ปี สังคมอาจตั้งคำถามว่า เหตุใดประเทศไทยจึงยังมีการนำแร่ใยหินมาเป็นส่วนประกอบของวัสดุต่าง ๆ เช่น ท่อซีเมนต์ กระเบื้องมุงหลังคา ผ้าเบรกและคลัทช์ โดยอุตสาหกรรมเหล่านี้ยังมีการนำเข้าแร่ใยหินจากต่างประเทศมาใช้ในปริมาณที่ยังสูงอยู่ ซึ่งเหตุผลของการนำแร่ใยหินมาใช้ในอุตสาหกรรมเหล่านี้เป็นเพราะแร่ใยหินมีคุณสมบัติที่ทนทาน ทนความร้อน เมื่อนำไปใช้กับสินค้าที่ต้องทนร้อนทนไฟสูง แร่ใยหินจึงตอบโจทย์การใช้งานมากที่สุด จึงทำให้ประเทศไทยยังไม่บรรลุเป้าหมายในการยกเลิกแร่ใยหินในปัจจุบัน

 

ทำไมประเทศไทยควรปลอดแร่ใยหิน

หลายคนอาจคิดว่า ‘แร่ใยหิน’ เป็นเรื่องไกลตัว ผู้คนอาจไม่มีการสัมผัสได้โดยตรง หารู้ไม่ว่าเราสามารถสัมผัสแร่ใยหินได้ในรูปแบบของ “ฝุ่นใยหิน” ซึ่งฝุ่นใยหินมีอณูที่เล็กมาก ทำให้เราสูดดมเข้าไปได้โดยไม่รู้ตัวเป็นระยะเวลานาน ๆ ตัวอย่างเช่น ผ้าเบรกรถยนต์ที่มีการใช้งานตามท้องถนน เราไม่อาจรู้ได้เลยว่าจุดที่เรายืนอยู่ เรามีการสูดดมเอาฝุ่นใยหินเข้าไปมากน้อยแค่ไหน หรือแม้แต่อาคารเก่า ๆ ของบ้านใกล้เรือนเคียงที่มีการรื้อถอน เราก็อาจจะได้สัมผัสฝุ่นใยหินที่ปลิวมาโดยไม่รู้ตัว ยังไม่นับผู้ที่ต้องทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมที่มีแร่ใยหินโดยตรง ซึ่งสามารถสัมผัสสูดดมได้มากที่สุด

 

แนวทางการป้องกันการสัมผัสฝุ่นใยหินหรือแร่ใยหิน

การสวมใส่หน้ากาก หมวก ถุงมือ สำหรับผู้ที่ต้องสัมผัสแร่ใยหินโดยตรง หรือแม้แต่ประชาชนทั่วไปที่ใช้ชีวิตอยู่บนท้องถนน ใกล้อาคารเสื่อมสภาพ อาจพอป้องกันไม่ให้ร่างกายสูดดมหรือสัมผัสแร่ใยหินโดยตรงได้ แต่ยังนับเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ นอกจากนี้ยังมีการดื่มและใช้น้ำประปาที่มาจากท่อซีเมนต์ที่ส่วนผสมจากแร่ใยหิน ซึ่งทำให้ผู้บริโภคไม่สามารถรู้ได้เลยว่าสัมผัสแร่ใยหินไปหรือยัง ดังนั้นสิ่งเดียวที่จะช่วยให้ชีวิตของประชาชนไทยปลอดภัยจากแร่ใยหินได้ คงจะมีเพียงมาตรการเดียว นั่นคือการยกเลิกการใช้และนำเข้าแร่ใยหินจากต่างประเทศ รวมถึงสนับสนุนให้มีพัฒนาวัสดุต่าง ๆ ที่มีความทนทานแต่ปลอดภัย เพื่อทดแทนการใช้แร่ใยหินได้ในอนาคต

innomatter

innomatter

ข่าวไอที นวัตกรรม พลังงาน และความยั่งยืน

Related Articles