มัทฉะ มาเนีย ยังคงอยู่ในกระแสความนิยม และนับว่าติดลมบนกลายเป็นส่วนหนึ่งในไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคทั่วโลกไปแล้ว
ส่วนหนึ่งมาจากการเป็นซอฟต์ พาวเวอร์ ที่มากับ เจ-ป๊อป และค่อยๆ รุกคืบเข้าไปอยู่ในหลายๆ สิ่ง เป็นสารสำคัญทั้งในเครื่องอุปโภคบริโภค อาหาร-เครื่องดื่ม โดยเฉพาะไอศกรีมชาเขียว ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในญี่ปุ่น
ปัจจัยเด่นคือ คุณค่าในเชิงสมุนไพรและสรรพคุณทางยาที่สร้างความอัศจรรย์ใจให้กับผู้พบเจอตั้งแต่ครั้งแรกๆ ที่ชาเขียวได้รับการแนะนำตัวอย่างเป็นทางการแก่มนุษย์
กล่าวคือเมื่อครั้งที่ โชกุนมินาโมโตะ ซาเนะโมโตะ ในยุคคามาคุระ ที่ต้องทุกทรมานเพราะพิษจากการร่ำสุราอย่างหนัก ที่ปัจจุบันรู้จักกันดีว่า แฮงก์ หรือเมาค้าง ครั้งนั้นหลังจากได้ดื่มน้ำชาไม่นานอาการทุกข์ทรมานที่ว่าก็หายเป็นปลิดทิ้ง
เหตุการณ์อันลือเลื่องนี้ได้รับการโจษขานและบันทึกอยู่ในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นที่ว่าด้วยกำเนิดของชา
อีกปัจจัยที่สนับสนุนให้โพสิชันนิ่งของชาเขียวค่อนข้างแตกต่างจากเครื่องดื่มอื่นๆ คือ การเป็นเครื่องดื่มในพิธีชงชา เป็นเสน่ห์ของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมญี่ปุ่น ที่ทำให้ชาเขียวได้รับความนิยมไม่เสื่อมคลาย
ทั้งนี้ ต้องอธิบายก่อนว่า คำว่า “ชาเขียว” กับ “มัทฉะ” นั้นไม่เหมือนกันเสียทีเดียว กล่าวคือ “ชาเขียว” จะมาในรูปของใบชาแห้งใช้ชงกับน้ำเป็นเครื่องดื่ม ขณะที่ “มัทฉะ” เป็นผงละเอียดเหมาะกับการใช้ปรุงในขนมหรือไอศกรีม
น่าสนใจว่า “ชาเขียว” เครื่องดื่มที่แสนธรรมดา เหตุใดจึงเข้าไปอยู่ในพิธีกรรมของญี่ปุ่น?
ประเด็นนี้ต้องย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นของชาเขียว ที่ญี่ปุ่นเรียกว่า “เรียวคุชะ” เล่ากันว่าการค้นพบชาเกิดขึ้นที่ประเทศจีน ที่มณฑลยูนนาน เมื่อราว 5,000 ปีก่อน โดยจักรพรรดิจีนผู้มีนามว่า เสินหนงสื่อ จากการทรงลองดื่มน้ำต้มสุกที่ใบชาหล่นใส่แล้วให้ความรู้สึกสดชื่น แต่นั้นชาวจีนก็ได้รู้จักกับ “น้ำชา” เป็นครั้งแรก
ใบชาเป็นที่รู้จักในแผ่นดินซามูไรในยุคเฮอันตอนต้น โดยนักบวชจากวัด Bonshakuji จังหวัดไอจิ ชื่อ Eichu ที่เดินทางไปจีนเพื่อศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับสมุนไพรจีน นำเข้ามาญี่ปุ่น แต่ครั้งนั้นยังเป็นที่นิยมเฉพาะในกลุ่มชนชั้นสูง
ต่อมาในยุคคามาคุระตอนต้น นักบวช Eisai ผู้ก่อตั้งนิกาย Rinzai หนึ่งในพุทธศาสนาเซน ได้นำเมล็ดชามาจากจีนเป็นจำนวนมากพร้อมกับกรรมวิธีการผลิตชา โดยมีการส่งเสริมการปลูกชาเพื่อใช้เป็นสมุนไพรอย่างแพร่หลาย ด้วยพบว่าชานอกจากเป็นเครื่องดื่มดับกระหาย ยังช่วยให้ระบบย่อยอาหารดีขึ้น และช่วยขับสารพิษผ่านทางปัสสาวะ
ยิ่งเห็นความมหัศจรรย์ของสรรพคุณชาที่ช่วยให้โชกุนมินาโมโตะ ซาเนะโมโตะ หายจากอาการทุกข์ทรมานเพราะการร่ำสุรา ความศรัทธาที่มีต่อชายิ่งพอกพูนมากขึ้น นักบวช Eisai ถึงกับออกเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับชาไปทั่วญี่ปุ่น นับแต่นั้นมาชาจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งในพิธีกรรมบางอย่าง ในฐานะเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพเพื่อการรักษาโรค
สำหรับพิธีชงชาแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่น (Chanoyu) เว็บไซต์ marumura.com ให้ข้อมูลว่า เริ่มมีขึ้นในยุคมุโระมาจิ โดยมีการผสมผสานทางด้านความคิด จิตวิญญาณ และการสร้างสรรค์ศิลปะในแบบธรรมชาติ รวมทั้งให้ความสำคัญกับภาชนะที่ใช้ในพิธีชงชา อย่างไรก็ตาม การดื่มชายังเป็นที่นิยมในการพบปะสังสรรค์ของชนชั้นนักรบ ที่มีการร้องเล่นเต้นรำไปด้วย
ต่อมานักบวชเซน Shuko Murata ซึ่งไม่เห็นด้วยกับการดื่มชาเพื่อความสนุกสนาน มองว่าการดื่มชาด้วยความเรียบง่ายและมีสมาธิในแบบของเซนจะช่วยให้จิตใจสามารถพัฒนาขึ้นได้อย่างสมบูรณ์ จึงออกแบบห้องพิธีชงชาขนาดเล็ก สนับสนุนการชงชาตามอุดมคติของนักบวช Eisai โดยผสมผสานจิตวิญญาณของนิกายเซนเข้าไปด้วยในพิธีชงชา
อย่างไรก็ตาม กว่าที่พิธีชงชาและการดื่มชาจะขยายวงกว้างลงมาถึงชนชั้นล่างก็เมื่อเข้าสู่ยุคเอโดะ
ชาเขียวญี่ปุ่นเริ่มเป็นที่รู้จักในระดับเวิลด์ไวด์ หลังมีการเปิดท่าเรือการค้าโยโกฮามาใน ปี 1859 โดยเสน่ห์และความนิยมชาเขียวจับใจผู้บริโภคและได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว
ทุกวันนี้ ชาเขียวนอกจากจะเป็นเครื่องดื่มประจำชาติญี่ปุ่นแล้ว จึงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง…ไปทั่วโลก.