สัมผัสนั้น สำคัญไฉน.. ทำไมหุ่นยนต์ต้องรับรู้

สัมผัสนั้น สำคัญไฉน.. ทำไมหุ่นยนต์ต้องรับรู้
Share

 

เมื่อ ‘สัมผัส’ คือการเปลี่ยนโฉมหน้าของเกม ผู้คิดค้น และนักพัฒนาในตลาดหุ่นยนต์ จึงหัวจะปวดกันไป กับการตามสัมผัสมาใส่ให้หุ่นยนต์

 

ไปดูบริษัทสตาร์ทอัพในเอดินเบอร์ก ว่าทำอย่างไรถึงก้าวข้าวความท้าทายในการพัฒนาสัมผัสให้กับหุ่นยนต์ได้

บริษัทสตาร์ตอัพชื่อ Touchlab จากสหราชอาณาจักร เป็นหนึ่งในบริษัทที่กำลังมุ่งมั่นพัฒนาผิวสัมผัสอิเล็กทรอนิกส์แบบบางอย่างจริงจัง เพื่อทำให้หุ่นยนต์สามารถรับรู้ถึงการสัมผัสแบบมนุษย์ได้

ลองนึกภาพหุ่นยนต์ที่ทำงานในทุ่งเก็บสตรอเบอร์รี่อย่างประณีตด้วยความแคล่วคล่องว่องไว แต่แฝงไว้ด้วยความนุ่มนวลเฉกเช่นมนุษย์ หรือหุ่นยนต์ที่ได้รับมอบหมายให้ทำงานเสี่ยงต่ออันตราย หากใช้มนุษย์ทำ เช่น หุ่นยนต์ที่สามารถจัดการกากนิวเคลียร์ได้อย่างระมัดระวังเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายจากระดับรังสีที่สูงเกินมนุษย์รับได้  หรือหุ่นยนต์ที่รู้สึกไวต่อการสัมผัส เมื่อต้องดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาลที่มีสภาพร่างกายอ่อนแอหลังผ่าตัด นั่นคือตัวอย่างที่ Dr. Zaki Hussein ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง Touchlab ยกตัวอย่างให้เห็นความเป็นไปได้ในการพัฒนาหุ่นยนต์ มาช่วยในรูปแบบต่างๆ และงานนี้ การพัฒนา e-skin คือพระเอก ที่สามารถจำลองการสัมผัสอย่างมนุษย์ให้กับหุ่นยนต์ได้

Touchlab เพิ่งได้รับเงินสนับสนุนลงทุนขั้นต้นจาก Octopus Ventures ในการประดิษฐ์ e-skin ที่ว่ากันว่า มีความบางกว่าผิวหนังมนุษย์แต่มีความทนทาน สามารถจับสัมผัสได้ลึกซึ้ง โดย Dr. Zaki ยังเผยว่าผิวหนังประดิษฐ์นี้สามารถทนต่อสภาพแวดล้อมที่รุนแรงเช่นกรดและอุณหภูมิสูงและต่ำมากได้ แม้ว่าการพัฒนาผิวหนังของหุ่นยนต์จะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดประการหนึ่งสำหรับผู้ผลิตหุ่นยนต์คือความสามารถในการสร้างผิวที่บอบบางได้ราวกับมนุษย์ เพื่อช่วยให้สามารถจับวัตถุได้มากขึ้น

Dr. Zaki ยังเล่าต่อว่า e-skin ที่คิดค้นโดย Touchlab นั้น ใช้สายไฟเพียง 4 เส้น (ที่แต่ละเส้นนั้นมีขนาดเพียงเส้นผมของคน) เพื่อสร้างวัสดุที่ปรับแต่งได้ สามารถวัดการสัมผัส วัดแรง และจับตำแหน่งได้ โดยสามารถนำไปหุ้มให้กับหุ่นยนต์รุ่นใหม่หรือหุ่นยนต์รุ่นเดิมที่มีอยู่แล้ว หรือแม้กระทั่งหุ่นยนต์ที่ทำงานโดยอาศัยการควบคุมจากมนุษย์ในระยะไกลก็ตาม

แนวคิดนี้เกิดจากการวิจัยเบื้องต้นในระดับปริญญาเอกด้านผิวหนังอิเล็กทรอนิกส์ ของ Dr. Zaki ในการพัฒนาโมดูล Deformable Patch เพื่อจับการเปลี่ยนของรูปทรง สำหรับการให้ยาหรือการวินิจฉัยผู้ป่วย ซึ่งนำไปสู่การสร้าง Touchlab ขึ้น โดยปัจจุบันตั้งอยู่ที่ Higgs Center for Innovation, The Royal Observatory ในเอดินเบอร์ก และมีแผนจะย้ายไปที่ The National Robotarium ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยและพัฒนาชั้นนำด้าน AI และวิทยาการหุ่นยนต์

หากการพัฒนาสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี หนังที่เราได้เคยดู และตื้นตันกันมาเกี่ยวกับสัมพันธภาพทางใจระหว่างมนุษย์และหุ่นยนต์ หรือหุ่นยนต์ที่มีหัวใจเป็นมนุษย์ อย่าง WALL-E ที่กินใจคนทั้งโลก รับและตอบสนองความรู้สึกกับมนุษย์ได้ทุกรูปแบบ ก็อาจอยู่ไม่ไกลเกินจริง..มนุษย์เอง ก็อาจปล่อยให้เรื่องสัมผัสเป็นหน้าที่ของหุ่นยนต์ และหันมาพัฒนาทักษะ การสื่อสารกับหุ่นยนต์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อปลดปล่อยศักยภาพระหว่าง มนุษย์ และจักรกล ได้เต็มที่

Related Articles