Metaverse อาจไม่ใช่พื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับทุกคนในสังคม

ม.มหิดล หวั่นเป็นดาบสองคม เตือนเฝ้าระวังผลกระทบต่อเด็กและกลุ่มเปราะบาง แนะป้องกันก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ที่สายเดินแก้
Share

 

ม.มหิดล หวั่นเป็นดาบสองคม เตือนเฝ้าระวังผลกระทบต่อเด็กและกลุ่มเปราะบาง

 

หากเรามองย้อนไปถึงที่มาของเทคโนโลยีใหม่ที่เกิดขึ้นบนโลกมนุษย์ในทุกยุคทุกสมัย ล้วนเกิดขึ้นเพื่อการแข่งขันทางเศรษฐกิจที่ได้เปรียบ แต่แทบไม่มีเทคโนโลยีใดเลยที่จะคิดคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมในระยะยาวและสร้างขีดจำกัดของการบริโภค รวมทั้งรวมต้นทุนความรับผิดชอบต่อสังคมนั้นไว้ตั้งแต่แรก

ในขณะที่ทุกคนกำลังตื่นเต้นเพลิดเพลินกับเทคโนโลยีแห่งโลกเสมือนจริงของเมตาเวิร์ส จะมีสักกี่คนที่มองเห็นอนาคตของปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็กและกลุ่มเปราะบางที่พร้อมจะหัวเราะและร้องไห้ไปกับโลกใหม่แต่ขาดความรู้เท่าทัน

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัวมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัญหาเด็กติดเกมที่ว่ารุนแรงและเรื้อรังแล้ว เมื่อเข้าสู่ยุคเมตาเวิร์สที่สามารถทำให้ผู้คนหลุดเข้าไปอยู่ในโลกเสมือนจริงได้อย่างเต็มตัวแล้ว ยิ่งพบว่าจะทวีความรุนแรงได้มากกว่า

ที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด คือ ผลกระทบต่อสุขภาวะจากการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนทางอารมณ์ (stress hormone) ที่ยิ่งจะทำให้เด็ก และกลุ่มเปราะบางเกิดความก้าวร้าว หรือซึมเศร้า ซึ่งจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรม จากการเสพติดเกมหรือเชื่อมต่อสังคมในเมตาเวิร์สโดยขาดการควบคุมดูแลที่เหมาะสม

ซึ่ง “พฤติกรรม” เกิดจากการทำงานของสมองที่นำมาซึ่งประสบการณ์ ความทรงจำ และทัศนคติ สามารถส่งเสริมให้เป็นไปในทางสร้างสรรค์และเกิดความสมดุล เช่น การเล่านิทานโดยใช้สื่อดิจิทัลแต่เพียงเป็นส่วนประกอบ โดยไม่ควรปล่อยให้เด็กเรียนรู้แต่เพียงลำพัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็กควรมีพ่อแม่ หรือผู้ปกครองคอยเล่าให้ฟัง และพูดคุยกับเด็กด้วย

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ได้แนะนำว่า การออกแบบเมตาเวิร์สควรสร้างขึ้นด้วยจิตสำนึกแห่งความรับผิดชอบต่อสังคม เช่นเดียวกับการออกแบบโรงงานอุตสาหกรรม ที่จะต้องมีการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพก่อนทุกครั้ง

ดังนั้น เพื่อการเติบโตทางเทคโนโลยีที่สมดุล ทุกฝ่ายจะต้องร่วมด้วยช่วยกันในการออกแบบระบบ ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ ผู้บริโภค พ่อแม่ผู้ดูแล รวมทั้งเด็กๆ ที่เป็นผู้ใช้ จะต้องเรียนรู้ไปด้วยกัน มีเป้าหมายที่สร้างสรรค์ และอยู่ภายใต้กรอบแห่งความรับผิดชอบร่วมกัน

ในปี 2565 สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล เตรียมใช้เทคโนโลยีเมตาเวิร์สเป็นตัวช่วยประกอบการสร้าง “ศูนย์ฝึกการดูแลเด็กเสมือนจริง” สำหรับพ่อแม่มือใหม่ ผู้ดูแลเด็ก คุณครู หรือผู้ส่งเสริมการเรียนรู้เด็กทุกประเภท รวมทั้งเยาวชน ในด้านการใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ พร้อมกับการเรียนรู้ผลกระทบ และการส่งเสริมการเรียนรู้ให้เกิดการใช้ให้ถูกวิธี

สำหรับการใช้เทคโนโลยีไอทีในเด็กและเยาวชนนั้น รองศาสตราจารย์ นายแพทย์อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ กล่าวว่าผู้ใหญ่ควรรับผิดชอบอย่างเต็มที่ในการสร้างสิ่งแวดล้อมหรือระบบนิเวศที่ปลอดภัยในการใช้ไอที สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี และเด็กที่อายุมากกว่า 13 ปีต้องให้ข้อมูลทั้งทางบวกและทางลบโดยไม่ปิดบังและสร้างการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะให้เด็กโตกลุ่มนี้สามารถใช้ไอทีด้วยความรับผิดชอบ

โดยได้มีการปรับปรุงพื้นที่ ณ บริเวณชั้น 3 ของสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดลให้เป็น “ศูนย์ฝึกการดูแลเด็กเสมือนจริง” ซึ่งจะมีการใช้Virtual Reality – VR หรือ เทคโนโลยีการจำลองภาพเสมือนจริงแบบ 360 องศา ด้วยแว่นตา VR และAugmented Reality – AR หรือ เทคโนโลยีการผสานโลกเสมือนจริงให้เข้ากับโลกแห่งความเป็นจริงด้วยซอฟต์แวร์และอุปกรณ์เชื่อมต่อต่างๆ มาประกอบเพื่อการเรียนรู้อย่างสมบูรณ์ต่อไป

รวมทั้งการเรียนรู้เรื่องผลกระทบต่อสุขภาพ เนื่องจากการใช้เทคโนโลยีผิดวิธีควบคู่กันไปด้วย ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ดูแลเด็กทุกประเภทได้เห็นประโยชน์และโทษของความเจริญทางเทคโนโลยีและประยุกต์ใช้ในการเลี้ยงดูเด็กต่อไปด้วย

innomatter

innomatter

ข่าวไอที นวัตกรรม พลังงาน และความยั่งยืน

Related Articles