LightYear ล้มจากปัญหาทางการเงิน หรือนี่คือ Theranos อีกชิ้นของวงการยานยนต์ไฟฟ้า

LightYear ล้มจากปัญหาทางการเงิน หรือนี่คือ Theranos อีกชิ้นของวงการยานยนต์ไฟฟ้า วางแผนไม่ดี เงินไม่พอ หรือว่ารู้อยู่แล้วว่ายังไงก็ทำไม่ได้
Share

 

ตกใจกันไปทั่วโลก เมื่อโครงการรถยนต์ไฟฟ้าไอเดียดีที่พยายามรับพลังงานจากฟ้าเคลมตัวเลขสูงสุดวันละ 70 กิโลเมตรรายนี้ ถึงกับยื่นขอล้มละลายหลังจ้างไม่มีเงินทุนพอที่จะประกอบรถส่งลูกค้า มันมีอะไรที่ส่งกลิ่นอยู่หรือไม่ นั่นคือคำถามที่หลายคนสงสัย

 

โชคร้ายที่ Elizabeth Homes ทำให้ไอเดียของเธอกลายเป็นเรื่องแหกตา(แล้วรวย)กับ Theranos ที่ทำเอามหาเศรษฐีระดับต้นๆ หลายคนในโลกนั่งเซ็งกันไป เลยทำให้ทุกครั้งเมื่อเกิดเรื่องแปลกๆ กับธุรกิจที่ดูเหมือนจะเข้ามาเปลี่ยนอนาคตมันก็มักจะมีคนเริ่มระแวงระวังกลัวหลังหักกันมากขึ้น แต่ก็อีกแหละบนโลกใบนี้ก็ยังจะต้องเจอกันไปอีกหลายครั้งแหละเพียงแต่ตอนนี้เรามาดูเรื่องราวของโปรเจกต์ที่เพิ่งล้มนี้กันก่อน

 

Project LightYear เมื่อไฟฟ้าไม่พอ ก็ต้องใช้แดดให้เป็นประโยชน์

ถ้าหากวันแรกที่ โครงการเกิดขึ้นด้วยการจะสร้างยานยนต์ไฟฟ้าที่อาจจะวิ่งได้ไกลด้วยเทคโนโลยีพื้นๆ อย่างแบตใหญ่มอเตอร์ประสิทธิภาพสูง อันนั้นมันก็เหมือนแนวทางเดิมๆ ที่ทุกบริษัทผู้ผลิตใช้กันอยู่ แต่แนวคิดการผสานเทคโนโลยีปัจจุบันเข้ากับเทคโนโลยีอื่นๆ หลายคนกลับคิดไม่ถึงว่ามันจะมารวมกันได้

ด้วยไอเดียนี้ทำให้เกิด Project Lightyear 0 ขึ้น ซึ่งเป็นแนวคิดของการผสานพลังงานสะอาดทุกรูปแบบที่จะมาแทนพลังงานฟอสซิล ทำให้ยานยนต์ในโครงการนี้ออกมาในรูปแบบของการนำเอาไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ที่กำลังเป็นเทรนด์ของยานยนต์ยุคใหม่ เสริมกับการเติมพลังงานที่ฟรีและมีอยู่ตลอดเวลาอย่างแสงแดดด้วยการนำเอาแผงโซลาร์เซลล์ติดตั้งบนหลังคา

Lex Hoefsloot ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท กล่าวว่า รถยนต์ไฟฟ้าเป็นอีกก้าวมาถูกทางในเรื่องของพลังงานสะอาด แต่ทุกวันนี้รถยนต์ไฟฟ้าที่ออกมา ยังต้องพึ่งพาไฟฟ้าที่ผลิตมาจากเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นส่วนใหญ่

“แต่การเพิ่มแหล่งพลังงานใหม่อย่าง ‘ดวงอาทิตย์’ นอกจากจะก้าวไปสู่พลังงานสะอาดอย่างแม้จริง ก็ยังช่วยเพิ่มความมั่นใจว่ารถจะได้รับพลังงานอยู่เสมอ และทำให้เราชาร์จรถน้อยลงมาก”

ข้อมูลทางด้านเทคนิค คุณสมบัติหลักๆ คือ นอกจากจะใช้พลังงานจากการชาร์จผ่านระบบไฟฟ้าปกติแล้ว ก็มาพร้อมกับแผงโซชาร์เซลล์ที่ผลิตพลังงานไฟฟ้าให้กับรถได้ด้วย เพื่อส่งไฟฟ้าไปให้แบตเตอรี่ขนาด 60 กิโลวัตต์-ชั่วโมง การชาร์จไฟฟ้าปกติ 1 ครั้ง สามารถวิ่งได้ไกล 625 กิโลเมตร (ตามมาตรฐานการวัด WLTP)

โดยที่ Gimmick ของรถไฟฟ้าต้นแบบคันนี้คือการชาร์จผ่านแผงโซลาร์เซลล์เต็มวัน (ในสภาพที่ได้รับแดดเต็มที่) วิ่งได้สูงสุด 70 กิโลเมตร และถ้าสภาพอากาศแบบมีเมฆ ก็ยังได้รับพลังงานที่สามารถวิ่งได้ไกล 35 กิโลเมตรต่อวัน (ซึ่งมีคอมเมนต์จากหลายคนในประเทศไทยบอกว่า หากเอาคอนฟิกนี้มาใช้ในเมืองไทยจะมีคนยอมเอารถจอดในลานจอดรถกลางแจ้งมากขึ้น และอาจจะได้ปริมาณไฟเข้าแบตที่มากกว่าในยุโรปแน่นอน)

ด้วยคุณสมบัติเหล่านี้ทำให้ในบางพื้นที่ การใช้รถขับทั่วไปในชีวิตประจำวัน ไม่ต้องชาร์จไฟฟ้าเป็นเวลาหลายเดือน บริษัทยกตัวอย่างว่าหากคุณอาศัยอยู่ในอัมสเตอร์ดัมในช่วงฤดูร้อน นอกจากคุณจะแอบเดินเข้าบางซอยของ Red light district สำหรับสายเขียวแล้ว หากขับ Lightyear 0 ก็สามารถไม่ต้องชาร์จได้นานถึง 2 เดือน หรือถ้าเป็นในโปรตุเกสที่แดดดีมาก ก็อาจวิ่งได้นานถึง 7 เดือนโดยที่ไม่ต้องชาร์จเลยก็เป็นได้

LightYearO

โดยที่ราคาของรถล๊อตแรกถูกกำหนดไว้ที่ 250,000 ยูโร หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 9,250,000 บาท ซึ่งราคาแพงกว่า Tesla Model S เมื่อเปิดตัวครั้งแรกเสียอีก หรือราคาแพงกว่า Lucid Air มากก็เพราะทางบริษัทหวังที่จะนำเอาเงินไปลงทุนกับทำงานกับโปรเจกต์รถใหม่ที่ราคาจับต้องได้ เช่นเดียวกับที่ Tesla เคยใช้วิธีการนี้กับการขาย Tesla Roadster และ Model S รุ่นแรก

แต่ปัญหาแบรนด์หรืออาจจะเรียกว่าปัญหาของผู้ถือสิทธิ์ในการผลิตอย่าง Atlas Technologies B.V. นั้นไม่ได้จบอยู่เท่านั้น อาจเพราะการไม่ได้ถือสิทธิบัตรของส่วนประกอบอื่นๆ เป็นของตัวเองทำให้การสร้างเจ้า LightyearO นั้นก็เจอปัญหามากมายจนมา

Atlas Technologies B.V. วางแผนที่จะเริ่มโครงการ Lightyear2 ตั้งแต่ที่ยังไม่สามารถส่ง LightyearO ถึงมือลูกค้าที่จองไว้ก่อนหน้าเลย ซึ่งก็ไม่ต่างจาก Tesla แต่ที่ต่างกันคือ Tesla นั้นมีโรงงานผลิตมอเตอร์และมีโรงงานแบตเตอรี่ของตัวเองส่วนหนึ่ง ทำให้เรื่องของการจัดการต้นทุนของการผลิต Model S ไม่ได้มีปัญหามากนัก

ถึงเวลาต้องยอมรับว่า LightyearO มันเกิดไม่ได้

เอาจริงๆ ปัญหาของ Atlas Technologies B.V. ไม่ใช่แค่เรื่องของ Supply Chain ที่บริหารจัดการไม่มีประสิทธิภาพอย่างเดียวเสียเมื่อไหร่ แต่มันเป็นเรื่องที่คล้ายๆ กับที่เกิดกับแบรนด์รถยนต์หัวลากบรรทุกที่แรกๆ เรียกว่าเป็น Unicorn ของวงการอย่าง Nikola Motor ที่คุยว่าคิดค้นรถหัวลากพลังงานไฟฟ้าที่ทรงพลังกว่าใครๆ บนโลกนี้

LightYear Executive Team

สุดท้ายสิ่งที่ Nikola Motor คุยในวันนั้นหลายคนก็เข้าไปขุดจนพบว่า บริษัทแห่งนี้เป็นงานลวงโลก เรียกว่าน่าจะสูสีกับการโดนเปิดโปงของ Elizabeth Homes ยูนิคอร์นสายการแพทย์ที่ฝันอยากให้เลือดหยดเดียวตรวจได้ทุกโรค ว่าซั่น

Atlas Technologies B.V. ผู้ผลิต และเจ้าของสิทธิบัตรรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบรนด์ Lightyear ได้รับอนุมัติการยื่นล้มละลาย ผ่านการอ้างเรื่องต้นทุนการพัฒนาที่เกินความคาดหมาย ส่วน Atlas Technologies บริษัทแม่ไม่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้

“เราเสียใจที่ต้องประกาศเรื่องนี้ให้กับพนักงาน ลูกค้า รวมถึงนักลงทุน และซัพพลายเออร์ และหลังจากนี้จะทำงานใกล้ชิดกับฝ่ายกฎหมาย รวมถึงผู้อื่นที่เกี่ยวข้องกับการยื่นล้มละลายครั้งนี้ หวังว่าทุกคนจะเข้าใจ และสนับสนุน Lightyear ต่อไป” Atlas Technologies B.V. แจ้งอย่างเป็นทางการ

แผงโซลาร์หลายพันเซลล์ติดตั้งอยู่บริเวณหลังคา น่าจะเป็นปัญหาอย่างแท้จริงของการทำให้เงินในการพัฒนา Lightyear ทั้งสองรุ่นไปไม่ถึงดวงดาว อย่างแรกคือบริษัทออกมาบอกว่าด้วยต้นทุนที่แพงกว่าที่บริษัทคาดการณ์เอาไว้ทำให้ไม่คุ้มในการผลิตรถคันจริงขึ้นมาได้ โดยมีการบอกว่าบริษัทนั้นได้ว่าจ้าง Valmet บริษัทรับผลิตรถยนต์ในฟินแลนด์ผลิต Lightyear 0 ออกมา 946 คัน

แค่เริ่มผลิตต้นแบบ Atlas Technologies B.V. ก็เห็นแล้วว่าปล่อยไปนี่คือหายนะครั้งใหญ่ แต่เบื้องหลังจริงๆ แล้วนั้นมีแหล่งข้อมูลในทวีปยุโรปเริ่มออกมารายงานแล้วว่า เรื่องต้นทุนเป็นเพียงแค่ส่วนเดียวแต่ปัญหาที่ซ่อนอยู่จริงๆ นั้นคือประสิทธิภาพการทำงานของแผงโซลาร์บนหลังคานั้น ไม่สามารถทำได้ตามที่ขายเอาไว้

เรียกว่าถ้าปล่อยออกไปให้ใครสักคนได้ทดลอง 1 ใน 946 คันนี้ละก็ อาจจะได้เห็นความล้มเหลวกันคาตาได้ เพราะฉะนั้นการประกาศม้วนเสื่อแล้วกลับไปรอให้มีการพัฒนาการของฝั่งเซลล์ผลิตไฟฟ้าด้วยแสงแดดที่ดีกว่าวันนี้ให้ได้น่าจะดีกว่า โดยที่การขอล้มละลายครั้งนี้จะมีผลกับตัว Atlas Technologies B.V. ในฐานะบริษัทผู้ผลิตอย่างเดียว ไม่ได้กระทบกับตัวบริษัทแม่ Atlas Technologies แต่อย่างใด

 

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า แม้ไอเดียดีหรือดูเหมือนดี หรือคิดว่าเทคโนโลยีพร้อมแล้ว เมื่อมาเล่นกับการผลิตจำนวนมากก็ไม่ได้หมายความว่าจะรอดง่าย เพราะบางนวัตกรรมกว่าจะเห็นความสำเร็จ ต้องอาศัยการดูกันยาวๆ เช่นกัน

Related Articles

“เกีย เซลส์ (ประเทศไทย)” จัดงาน “Kia EV Playground” สนามเด็กเล่นแห่งแรกที่เกียชวนเด็กๆ มาเรียนรู้เกี่ยวกับพลังงานสะอาด พร้อมสัมผัส The Kia EV5 และ The Kia EV9 ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 12 พฤษภาคม 2567 ที่เมกาบางนา

“เกีย เซลส์ (ประเทศไทย)” เปิดตัว “The Kia EV5” รถเอสยูวีขนาดกลาง ไฟฟ้า 100% ครบไลน์อัป ที่ให้ความอเนกประสงค์เต็มรูปแบบรุ่นแรกในไทย ราคาพิเศษช่วงเปิดตัวเริ่มต้น 1,249,000 บาท ในงานมอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 45