EV Home Charger เรื่องวุ่นๆ ของวัยรุ่นขับ EV

EV Home Charger กลับมาเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงในสังคมชาวรถไฟฟ้า ว่าแบบไหนดี, แรงเท่าไหร่ 3 เฟส เลยดีไหม เรื่องนี้จะเล่าว่าแบบไหนเหมาะ
Share

 

ปัญหา Charging Station ที่เริ่มบ่นกันว่าไม่พอแล้ว เรื่องที่ชาร์จในบ้านก็เริ่มเกิดประเด็นคำถามกันมากขึ้นเรื่อยๆ เราเลยรวบรวมคำถามที่หลายคนยังไม่เข้าใจในประเด็นของการติดเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าเองที่บ้าน เสียเงินครั้งเดียวให้มันสบายใจกันไปนานๆ

 

โดยรวมแล้วปัญหาเรื่องการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในบ้านเราก็เริ่มมีให้เห็นกันในหลายเรื่องหลายประเด็นมากขึ้น แต่ก็อีกนั่นแหละเรื่องแบบนี้ล้วนเคยเกิดขึ้นมาแล้วในหลายๆ ประเทศ ทั้งประเด็นของจำนวนหัวชาร์จในสถานีเติมไฟฟ้าสาธารณะที่กระจายอยู่ ณ ปัจจุบันเริ่มไม่พอเพียงต่อจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าที่เริ่มมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ

กับเรื่องของ EV Home Charger ยังคงเป็นอีกเรื่อง ที่ทำเอาหลายคนงงหรือหลงประเด็นกันไปหลายหลาก คราวนี้เราขอหยิบเรื่องเวียนหัวที่หลายคนออกมาบ่นบนสังคมโซเซียลกันดีกว่า เผื่อคนที่เข้าวงการใหม่ๆ จะได้ใช้เป็นข้อมูลในการเตรียมตัวแบบ ชัด ครบ จบ ในรอบเดียว

ข้อแรกจะติด EV Home Charger นี่ต้องถึงขนาดขอไฟ 3 เฟส เลยไหม?

แม้ว่าตอนนี้ทั้ง MEA (การไฟฟ้านครหลวง) และ PEA (การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค) นั้นจะอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้ไฟของทั้งสององค์กร ทั้งในรูปแบบของการขอขยายขนาดมิเตอร์ไฟฟ้าให้มีขนาดใหญ่ขึ้น ไปจนถึงการขอใช้ไฟฟ้ารูปแบบ 3 เฟส ที่ง่ายขึ้นและมีค่าใช้จ่ายที่ลดลง

แม้กระทั่งการออกรูปแบบที่ง่ายกว่านั้น ในรูปของบริการวงจรที่สองแยกออกจากของเดิมที่เคยใช้งานอยู่ โดยสามารถขอได้ทั้งแบบ เฟสเดียวและ 3 เฟส ตามความต้องการ

ขอขอบคุณ : รูปภาพจาก ช่างไฟ.คอม (www.changfi.com)

แต่เราๆ ที่เป็นลูกค้าที่ซื้อรถมามักจะได้ยิน วลี เด็ดๆ จากพนักงานขายและเจ้าหน้าที่ของโชว์รูมจำหน่ายรถที่ได้รับการอบรมมาเป็นไดอะล็อกตอนไปอบรมสินค้า ซึ่งมักพูดถึงการติดตั้งตู้ชาร์จรถไฟฟ้าที่บ้านว่า “เพื่อประสิทธิภาพสูงสุด ที่บ้านลูกค้าต้องเปลี่ยนเป็นไฟฟ้าแบบ 3 เฟส ครับ”

 เรามาดูกันว่า สิ่งที่เซลล์พูดนี่มันเป็นเรื่องจริงไหม ตอบได้ตอนนี้เลยก็คือมีทั้งจริงและไม่จริง

อย่างแรกสิ่งที่เราอยากให้พิจารณากันก่อนก็คือ หากตอนนี้คุณเป็นเจ้าของรถยนต์ไฟฟ้าแล้ว 1 คัน โดยเราไม่สนว่าเจ้ารถยนต์ไฟฟ้าที่ซื้อมานั้นเป็นแบรนด์จีนหรืออเมริกาหรือยุโรปก็ตาม แต่ที่อยากให้ค้นหาข้อมูลก่อนก็คืออัตราความเร็วในการรับปริมาณการชาร์จสูงสุดในโหลด AC หรือแบบไฟบ้านนี่แหละ ว่ารถที่มีอยู่นั้นรับสูงสุดที่เท่าไหร่

ถ้าในสเปคบอกว่ารถยนต์คันที่มีอยู่รับปริมาณความเร็วที่ 7 kWh. นั่นหมายความว่าไม่มีความจำเป็นที่คุณจะต้องขวนขวายไปขอเพิ่มจากไฟฟ้า 1 เฟส ไปเป็นแบบ 3 เฟส แต่ถ้าหากเจ้าของบ้านกลัวว่าเมื่อติดตั้งตู้ชาร์จรถไฟฟ้าแล้วอาจทำให้ไฟตก ก็ทำแค่ไปขอขยายมิเตอร์ไฟฟ้าจากเดิมที่อาจจะเป็นขนาด 15/45 แอมป์ ไปเป็น 30/100 แอมป์

โดยรถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศจีนที่มีขายในประเทศไทยส่วนใหญ่ จะรองรับปริมาณการชาร์จที่ 7 kWh. ไม่ว่าจะเป็น Ora, MG, Neta เป็นต้น

แต่ถ้าเกิดคุณซื้อรถหรูในแนว Tesla, BMW หรือ Porsche ที่รองรับปริมาณการชาร์จได้ถึง 11 kWh. และอยากชาร์จไฟที่บ้านได้เต็มประสิทธิภาพ ก็ควรต้องมีการเปลี่ยนจากระบบไฟฟ้า 1 เฟส เป็น 3 เฟส เพื่อทำให้เครื่องชาร์จที่จะนำไปติดตั้งนั้นสามารถจ่ายปริมาณไฟฟ้าได้เท่านั้น โดยที่ระบบ 3 เฟสส่วนใหญ่นั้นจะเริ่มที่ 11 kWh. สูงสุด 22 kWh. ปัจจุบันมีเพียง Porsche Taycan เท่านั้นที่สามารถเพิ่ม Option ให้กับระบบชาร์จที่รับได้ถึง 22 kWh.

ข้อสอง ซื้อ EV Home Charger รุ่นใหญ่สุดไปเลยดีไหม?

สำหรับข้อที่สอง ก็เป็นเรื่องที่ไม่ค่อยต่างจากข้อแรกสักเท่าไหร่ แต่เรื่องนี้มักจะไปเจอกับผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่อาจจะไม่ได้รับเครื่องชาร์จที่แถมมาตอนซื้อรถ หรือสำหรับบางคน อาจได้แถมมาแต่ใช้การไม่ได้หรือใดๆ ก็ตาม ก็ต้องมองหาอุปกรณ์เครื่องชาร์จตัวใหม่

หลายครั้งเวลาที่ผู้เขียนบทความเดินผ่านบูธขายอุปกรณ์ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่บ้านตามงานแสดงสินค้าต่างๆ สิ่งหนึ่งที่บรรดาพี่เซลล์น้องเซลล์ทั้งหลายมักจะนำเสนอสินค้ารุ่นแพงและแรงที่สุดให้ ด้วยคำพูดที่ว่า “ซื้อเผื่อไว้ดีกว่าพี่” แต่พนักงานขายเหล่านั้นบางทีก็ไม่ได้มองว่ารุ่นถูกสุดต่างจากท๊อปสุดนี่ ราคามันต่างกันในระดับ 2 หมื่นกว่าโดยเฉลี่ย

3 Phrases Home EV Charger

กลับมามองว่า “ซื้อเผื่อไว้ดีกว่าพี่” นั้นมีผลดีบ้างไหม ถ้ามองแบบโลกสวยและคิดว่าอุปกรณ์ที่เลือกมาติดที่บ้านนั้นมาจากแบรนด์สินค้าที่มีคุณภาพและมีส่วนประกอบภายในที่มีประสิทธิภาพมาก อุปกรณ์เหล่านี้แน่นอนว่าสามารถมีอายุการใช้งานมากกว่า 10 ปีโดยเฉลี่ย แต่คำถามคือคุณในฐานะของผู้บริโภคทั่วไปจำเป็นที่จะต้องรู้จักสินค้าหรือแบรนด์ของเครื่องชาร์จรถไฟฟ้าที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพสูงระดับโลกหรือไม่

กลับมาเรื่องที่ว่า “ซื้อเผื่อ” ที่มักโดนเซลล์ป้ายยาขายก็คือ เซลล์ส่วนใหญ่มักจะพยายามป้ายยาขายเครื่องชาร์จสำหรับไฟฟ้าระบบ 3 เฟสเพื่อนำมาใช้กับระบบไฟฟ้าเฟสเดียว ถึงแม้ว่าอุปกรณ์ส่วนใหญ่นั้นจะสามารถใช้งานร่วมระบบกันได้แต่ปัญหาก็คือการจ่ายเงินที่มากเกินกว่าที่จำเป็น

การซื้อเผื่อเหลือเผื่อขาดนั้นควรเกิดขึ้นในกรณีเดียวคือ คุณเป็นเจ้าของรถยนต์ไฟฟ้าในบ้านมากกว่า 1 คัน คันหนึ่งอาจจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้าระดับพื้นฐานที่รองรับปริมาณไฟต่ำสุดที่ 7 kWh. ส่วนอีกคันคือ Porsche Taycan พร้อมออปชัน On-board Charger ขนาด 22 kWh. และต้องใช้งานชาร์จไฟร่วมกันทุกวัน ถึงจะเกิดความคุ้มในเงินที่จ่ายออกไป

แถมอย่าลืมถ้าจะติด Home Charger แบบนั้นก็ต้องไปเปลี่ยนระบบไฟฟ้าแบบ 3 เฟส วุ่นวายเอาเรื่องจริงๆ

 

ยังมีเรื่องวุ่นๆ งงๆ อีกหลายเรื่อง ที่กำลังจะเกิดขึ้นกับสังคมไทยหลังจากการมาของรถยนต์ไฟฟ้า ขออย่างเดียวคือใจเย็นๆ ค่อยเป็นค่อยไป เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ของสังคมมันยังคงต้องปรับตัวกันไปเรื่อยๆ เราค่อยๆ เรียนรู้ไปด้วยกัน อย่าเพิ่งด่วนตัดสินใจวู่วามเพราะความอยากได้เพียงอย่างเดียว การติดอาวุธด้วยความรู้ จะช่วยไม่ให้เสียเปรียบ และได้รับประโยชน์ในการใช้งานสูงสุด

 

สำหรับท่านผู้อ่านที่สนใจติดตามข่าวสารและบทความทางด้านยานยนต์ โดยเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้า สามารถติดตามเพิ่มเติมได้ ที่นี่

Related Articles