Contactless หลบไป แบบไทยๆ ต้อง QR Credit Payment

Contactless หลบไป แบบไทยๆ ต้อง QR Credit Payment
Share

 

Samsung Pay ก็โบกมือลา ส่วน Apple Pay และ Google Pay ก็ไม่มา แล้วคนไทยมีตัวเลือกแบบไหนที่จะ “รูดปี๊ดๆ” ในยุคโควิด ที่ไม่ต้องสัมผัสกันได้บ้าง

 

“National E-Payment” เป็นนโยบายที่ถูกนำเสนอเมื่อครั้งที่ผู้นำประเทศได้ออกประกาศว่าจะนำพาประชาชนชาวไทยเข้าสู่โลกยุคดิจิทัล หนึ่งในคำที่เรามักได้ยินติดหูกันมากกว่าชื่อโครงการ  นั่นก็คือ PromtPay  หรือ พร้อมเพย์ นั่นเอง ซึ่งเป็นชื่อที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยให้ความสนใจเท่าไหร่ ณ ช่วงเวลานั้น เพราะอาจจะยังหวาดวิตกจากความไม่เข้าใจและได้รับข้อมูลที่บิดเบือนในหลายประเด็น แต่ปัจจุบัน PromtPay กลายเป็นคำสามัญในชีวิตประจำวันที่อยู่คู่กับผู้บริโภคไปแล้ว

PromtPay หรือหลายคนอาจเรียกติดปากว่า QR Payment ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ ถือเป็น Roadmap คนละส่วนกัน แม้ พร้อมเพย์ จะสามารถชำระได้ด้วยการสแกน QR code ก็ตาม และทั้งหมดคือการมุ่งสู่ “National E-Payment” นั่นเอง ถ้าอธิบายสั้นๆ คือระยะแรก เป็นการเปิดตัวระบบ PromtPay ให้เกิดความแพร่หลาย หลังจากนั้นก็ทำให้ QR Payment นั้นเป็นมาตรฐานที่ใช้กันทั่วประเทศในรูปแบบของการใช้จ่ายเงินผ่านระบบดิจิทัล

ศัพท์แสงทางด้านทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ จะเรียกกระบวนการแบบนี้ว่า Micro Payment หรือรายรับรายจ่ายที่เป็นรายการย่อย ซึ่งเป็นการใช้จ่ายระดับประชากรทั่วไปที่ยอดเงินไม่ได้เยอะมาก สถิติ ณ ปัจจุบัน ยังไม่ปรากฏแน่ชัด แต่จากการเปิดเผยของธนาคารประเทศไทยหลังเปิดใช้งาน พบว่ามีกระแสเงินไหลเวียนผ่านในระดับ 4 แสนล้านบาทภายในเวลา 1 ปีที่มีการใช้งาน ซึ่งคือในปี 2018 และคาดการณ์ว่าจะมีอัตราการเติบโต 10% เป็นอย่างน้อยในแต่ละปี โดยมีอีกตัวเลขที่อ้างอิงยอดธุรกรรมการโอนเงินผ่านทางระบบมือถือในปี 2018 นั้นสูงถึง 5 ล้านล้านบาทเลยทีเดียว (ข้อมูลอ้างอิงจากประมาณการของ ธนาคารแห่งประเทศไทย https://www.bot.or.th/Thai/BOTMagazine/Pages/256303_TheKnowledge_PromptPay.aspx)

หากลองพิจารณาจากตัวเลขในปี 2018 ที่มียอดธุรกรรมอยู่ที่ 4 แสนล้านบาท ซึ่งถ้าคำนวณตามอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่คาดไว้ที่ 10% จนถึงปีนี้ยอดธุรกรรมด้วย PromtPay มีการเติบติย่างมากเพราะคนส่วนใหญ่เข้าใจวิธีการใช้งานเป็นอย่างดี (ยังไม่รวมโครงการสนับสนุนค่าใช้จ่ายเยียวยาในช่วงการระบาดของโควิด-19 อย่าง คนละครึ่ง หรือ เราชนะ ที่นำเทคโนโลยีนี้มาใช้ เพื่ออำนวยความสะดวก) สิ่งนี้เป็นข้อพิสูจน์ว่าการขำระเงินของประชาชนในรูปแบบของดิจิทัลนั้นเกิดขึ้นแล้วอย่างจริงจัง

จาก PromtPay ที่ไม่ได้ซับซ้อน สู่การพัฒนาที่ดีกว่า

จากข้อมูลทางเทคนิค การโอนเงินผ่าน PromtPay นั้นไม่ได้เป็นกระบวนการที่ซับซ้อนมากไปกว่าการนำเอาเลขบัญชีของผู้รับปลายทางเอามาแปลงให้อยู่ในรูป QR Code เรียกว่า Generate รอบเดียวแล้วจบกัน แถมในนั้นไม่ได้มีการเข้ารหัสเพื่อการป้องกันความปลอดภัยใดๆ

ซึ่งในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีการเงิน เรียกว่า Tag29 โดยมีการอธิบายว่าบน QR Code นั้นจะไม่ระบุรายละเอียดใดๆ เกี่ยวกับธุรกรรมนั้น ไม่ว่าจำนวนเงินหรือต้นทางของการโอนเงิน ซึ่งก็คงง่ายกว่าสำหรับการใช้งานในวงกว้างและกับคนจำนวนมาก ที่จำเป็นต้องทำให้ง่ายและเป็นมิตรกับผู้ใช้งานมากที่สุด

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในปัจจุบัน ก็คือการพัฒนา QR Code ให้มีการระบุข้อมูลต่างๆ ในรายละเอียดของธุรกรรมมากขึ้น เช่น มีทั้งจำนวนเงินและเลขบัญชีต้นทางในการทำธุรกรรม แถมที่สำคัญก็คือ ธุรกรรมนั้นๆ สามารถเรียกคืนกลับมาได้ กรณีเกิดข้อผิดพลาดต่างๆ

เทคโนโลยีใหม่นี้เรียกว่า TAG30 คือ การโอน-จ่าย ผ่าน QR Code จริงๆ ซึ่ง ณ ตอนนี้ธนาคารในประเทศไทยส่วนใหญ่ได้ประกาศใช้งานกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยสามารถสแกน QR Code ข้ามธนาคารได้ด้วย

เดิมการจ่ายเงินด้วย QR Payment ไม่สามารถแก้ไขในตัวธุรกรรมได้หากเกิดข้อผิดพลาดเช่น ใส่จำนวนเงินผิด หรือเลขบัญชีผิด ต้องให้เจ้าของบัญชีกดโอนกลับเท่านั้น ซึ่งนั่นคือข้อจำกัดของเทคโนโลยี TAG29 ซึ่งพัฒนามาเพื่อ PromptPay แต่สำหรับ TAG30 ที่พัฒนามาเป็น QR Payment โดยตรง หากกดจำนวนเงินผิด สามารถ Void จำนวนเงินคืนได้ เช่นเดียวกับการรูดบัตรเครดิต

หลังจากที่มีการประกาศและนำ TAG30 มาใช้ในธนาคารหลายแห่งในประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อย สิ่งที่จะเกิดตามมา คือ QR Credit Card คือ สามารถสร้างรหัส QR Code ที่เป็นบัตรเครดิตของผู้ใช้ได้ โดยสามารถสแกน QR Payment จ่ายด้วยบัตรเครดิตผ่านแอพบนมือถือได้ทันที ไม่ต้องหยิบบัตรเครดิตออกมารูดอีกต่อไป

ปัจจุบันทั้ง VISA และ MasterCard ได้รองรับการใช้งานบนเทคโนโลยีนี้แล้ว ทำให้ผู้ใช้งานบัตรเครดิตในหลายธนาคารนั้นสามารถเริ่มใช้บริการชำระเงินหรือจับจ่ายสินค้าต่างๆ ผ่านบัตรเครดิตด้วยวิธีการนี้ได้แล้ว โดยชำระผ่านทางแอพพลิเคชันธนาคารบนมือถือของแต่ละคน

ภาพที่เปลี่ยนไปหลังจากนี้คือ การแข่งขันระหว่างธนาคารจะเพิ่มขึ้น คือ แอพฯ อย่าง SCE EASY, KPLUS รวมถึงธนาคารอื่นๆ จะดีไซน์ให้สามารถสแกน QR Payment และเลือกว่าจะจ่ายจากเงินในบัญชีธนาคาร หรือจะจ่ายด้วย Credit Card

อีกประเด็นที่เราจะเริ่มได้เห็นกันก็คือ การขยายจำนวนเครื่อง EDC เข้าไปในตลาด อาจไม่ใช่สิ่งจำเป็นอีกต่อไป ของเดิมที่มีอยู่ก็ช้กันต่อไป แต่สิ่งที่เพิ่มขึ้นคือ สามารถจ่ายด้วย QR Payment แทน ไม่จำเป็นต้องมีเครื่อง EDC ซึ่งช่วยประหยัดต้นทุนให้ร้านค้าไปประมาณ 2,000 บาท (ต่อเครื่อง) แต่หากร้านค้าต้องการเปลี่ยนมาใช้ระบบนี้ ก็อาจมีค่าใช้จ่ายแรกเข้าในการขอเปิดใช้บริการอยู่บ้าง

อยากใช้งานแล้วต้องทำอย่างไร

เรื่องเทคนิคมักเป็นปัญหาที่ฝ่ายให้บริการต้องสนใจ แต่สำหรับเราที่เป็นผู้ใช้บริการนั้นมีหน้าที่คือ ศึกษาวิธีการใช้งานในฝั่งของเราเท่านั้น และจะบอกว่าสำหรับเราที่อยู่ในบทบาทของผู้บริโภค หรือ “คนจ่ายเงิน” นั้น เป็นเรื่องง่ายเพียงแค่เตรียมบัตรและมือถือให้พร้อมเท่านั้น

ในฝั่งของ ลูกค้า หรือ ผู้ใช้ นั้นเรียกว่านั่งเฉยๆ สิ่งเดียวที่ต้องทำก็คือเพิ่มบัตรเครดิตที่ตัวเองมีตอนนี้ ซึ่ง ณ ปัจจุบัน มีอยู่ 5 เจ้าที่รองรับบริการ QR Credit Payment  คือ Citi, Krungsri, KTC, SCB และ Kasikorn โดยเป็นบัตรที่ออกโดย Visa หรือ Mastercard ก็ตาม หลังจากนั้นก็รอได้เลยว่าวันไหนที่เดินไปเจอร้านค้าไหนที่มีป้าย Scan to Pay หรือลองถามพนักงานดู เพราะเครื่องรูดบัตรรุ่นใหม่ส่วนใหญ่นั้นจะรองรับสิ่งนี้แล้ว

ที่อาจจะเป็นเรื่องที่ซับซ้อนมากขึ้นก็คือ ในฝั่งของร้านค้า สำหรับร้านค้าที่ยังไม่เคยรับชำระด้วยบัตรเครดิตก็เป็นเรื่องง่ายหน่อย โดยสามารถสอบถามพนักงานสาขาที่ไปขอเปิดบริการรับชำระเงินด้วยบัตรเครดิตว่า มีตัวเลือกที่จะใช้ QR Credit Payment หรือไม่ เพราะบางธนาคารนั้นมีตัวเลือกให้ว่าจะเลือกใช้แค่ QR Credit Payment โดยไม่ต้องรับเครื่อง EDC มาเป็นภาระก็ได้ เพราะเครื่อง EDC ที่รับมานั้นมีค่าเช่ารายเดือน

ผู้ใช้ไม่ต้องกังวลว่าจะสับสนกับการสแกนจ่ายผ่าน QR Code ของเดิม เพราะเมื่อคุณแจ้งพนักงานร้านว่าจะชำระด้วยบัตรเครดิตผ่านทาง QR Credit Payment นั้น ตัว QR Code ที่ถูก Gen ขึ้นมาจะใช้ได้เฉพาะกับการจ่ายด้วยรูปแบบ QR Credit Payment นี้เท่านั้น ไม่ปะปนกัน และต้องจ่ายผ่านบัตรเครดิตเท่านั้น

เชื่อว่าบริการนี้จะเข้ามาอำนวยความสะดวกให้กับคนไทยจำนวนมาก แถมกลุ่มที่กำลัง งอน Apple ว่าไม่เปิด Apple Pay ในเมืองไทยเสียที ก็คงลดความอัดอั้นไปได้บ้าง สำคัญว่าอย่าใช้เพลินกันจนสิ้นเดือน..เหมือนสิ้นใจเพราะยอดบานปลายก็พอ

innomatter

innomatter

ข่าวไอที นวัตกรรม พลังงาน และความยั่งยืน

Related Articles