สีสันของวันสตรีสากล สู่อนาคตที่ยั่งยืน
รู้หรือไม่ วันสตรีสากลมี theme สี และความหมายเชิงสัญลักษณ์ที่แฝงอยู่..
สีที่เป็นสัญลักษณ์ของวันสตรีสากล หรือ International Women’s Day คือ ม่วง เขียว และขาว
อะไรคือความหมายของสีเหล่านี้ และสีเหล่านี้ สื่อถึงอะไร
สีม่วง คือ สีแห่งความมีเกียรติ ความเที่ยงธรรม
สีเขียว คือ สีแห่งความหวัง
สีขาว คือ สีของแนวคิดในการต่อสู้ที่แสดงถึงพลังบริสุทธิ์
วันสตรีสากลในทุกปี ตรงกับวันที่ 8 มีนาคม และแน่นอนว่าที่มาย่อมเกิดจากแนวคิดในการเรียกร้องเพื่อความเป็นธรรมของ “สตรี” ที่มีต้นกำเนิดจากการประท้วงของแรงงานสตรีในรัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี 1907 เพื่อเรียกร้องค่าแรงและเวลาทำงานที่เป็นธรรม รวมไปถึงสิทธิให้สตรีได้มีส่วนร่วมในการโหวตเลือกตั้ง นั่นคือจุดตั้งต้น จนผ่านมาหลายทศวรรษ ผ่านหลายเหตุการณ์เรียกร้องในหลายประเทศ จนกลายเป็นสัญลักษณ์ และมีการเฉลิมฉลองวันนี้ในที่สุด นั่นคือที่มาฉบับย่อ
จวบจนปัจจุบัน มีการจัดงาน วันสตรีสากล อย่างเป็นทางการเพื่อแสดงถึงบทบาทของสตรีในภาคต่างๆ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ซึ่งในบางประเทศ อย่างรัสเซีย ยังได้ถือเอาวันนี้ เป็นวันหยุดประจำชาติ ที่ธุรกิจหยุดทำการ คนหยุดงาน เด็กนักเรียนหยุดเรียน สำคัญกันขนาดนั้นเลยทีเดียว
มาถึงวันนี้ วันสตรีสากล ขยายมาสู่บทบาททางสังคมมากขึ้น แต่ยังคงจุดมุ่งหมายเดิม คือการรณรงค์เพื่อสร้างความทัดเทียมของบทบาทสตรีในสังคมในแง่มุมต่างๆ เพราะในโลกปัจจุบัน ผู้หญิงได้รับการยอมรับว่าเป็นขุมพลังที่สร้างการเปลี่ยนแปลงยิ่งใหญ่ได้ไม่แพ้เพศใด (ในปัจจุบันเรามีเพศทางเลือกด้วย)
Theme สำหรับวันสตรีสากล ในปี 2022 นี้ ก็คือ “Gender equality today for a sustainable tomorrow” ซึ่งก็คือการสร้างความทัดเทียมทางเพศ เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน โดยจะพูดถึงบทบาทของสตรี ในการขับเคลื่อนเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงสู่อนาคตที่ยั่งยืน กับการมีส่วนร่วมเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญไม่แพ้เรื่องของสงคราม หรือข้อขัดแย้งระดับประเทศ เพราะ “โลกร้อน” เป็นเรื่องสำคัญระดับ “โลก” ไม่ใช่แค่บางเมือง บางประเทศ หรือบางภูมิภาค และต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคน “บนโลก” ในการมีส่วนร่วม เพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติที่มีสาเหตุมาจากโลกร้อน
คำตอบเดียวของเรื่องนี้ คือ “การสร้างความยั่งยืน” ในทุกรูปแบบ
ผู้หญิง ได้รับการยอมรับว่ามีความเสี่ยงต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มากกว่าผู้ชาย และเป็นผู้ที่พึ่งพาอาศัยทรัพยากรธรรมชาติมากมายในหลายบทบาท หลายต่อหลายคนเป็นผู้นำที่มีพลัง และเป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง เพื่อลดผลกระทบ และมีส่วนร่วมในแคมเปญหรือโครงการความริเริ่มสำคัญมากมายในทั่วโลก
Theme ในปีนี้ ยังล้อไปกับ theme หลักของ CSW66 ซึ่งเป็นการประชุมคณะกรรมาธิการว่าด้วยสถานภาพสตรีครั้งที่ 66 ของสหประชาชาติ เพื่อให้บรรลุความทัดเทียมทางเพศ และส่งเสริมศักยภาพของผู้หญิงและเด็กผู้หญิงทุกคนเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สภาพแวดล้อม ตลอดจนกำหนดโปรแกรมและนโยบายเพื่อลดความเสี่ยงในเรื่องเหล่านี้
สีสันของในปีนี้ คือการที่ UN Women ได้ร่วมมือกับศิลปิน Burcu Köleli นักวาดภาพประกอบชื่อดังในกรุงวอชิงตัน ที่มีบทบาทของการเป็นทั้งเฟมินิสต์ และนักสิ่งแวดล้อม ผู้เชื่อมั่นในพลังของศิลปะที่สร้างการเปลี่ยนแปลง มาวาดภาพประกอบสำหรับ theme “Gender equality today for a sustainable tomorrow” ในสีสันที่สดใสและทรงพลัง ที่สะท้อนความอ่อนโยนแต่แข็งแกร่งของ “สตรี”
ข้อมูล: www.thailand.un.org
ภาพประกอบ: Burcu Köleli