เตรียมตัวอย่างไร เมื่อต้องพา รถยนต์ไฟฟ้า คันใหม่เข้าบ้าน

Share

 

การพา “รถยนต์ไฟฟ้า” คันใหม่เข้าบ้าน บางคนนั้นเครียดขนาดเท่าพา ลูกสะใภ้ ของแม่เข้าบ้านกันเลยทีเดียว เพราะมันไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายแบบไม่ต้องคิดอะไรมาก และมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ต้องเตรียม แต่ก็ไม่ได้ยากเกินไป และยิ่งเตรียมตัวได้ดีเท่าไหร่ ก็จะยิ่งช่วยลดภาระความปวดหัวของคุณได้ในระยะยาวเลยทีเดียว

 

หลายคนอาจยังไม่ค่อยเข้าใจว่า ทำไม การรับรถยนต์ไฟฟ้า เข้ามาใช้งานแทนรถยนต์เติมน้ำมันทั่วไป ต้องเตรียมตัวหรือเตรียมพร้อมอะไรมากมายขนาดนั้น ในขณะที่หลายคนอาจเริ่มรู้สึกว่า “มันเป็นเรื่องยากลำบากกับชีวิตขนาดนั้นเลยหรือ?” ในความเป็นจริง มันอาจไม่ใช่เรื่องยากอะไรเท่าไหร่ เพียงต้องอาศัยการปรับตัวและสร้างพฤติกรรมรูปแบบใหม่ที่เราไม่คุ้นเคยมากกว่า

ครั้งนี้ Innomatter.com ได้รวบรวมบรรดาเรื่องที่คุณอาจจะต้องปรับเปลี่ยน “พฤติกรรม” ในการใช้รถยนต์ หรือบางเรื่องก็จะเป็นข้อมูลที่ช่วยในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงบ้านหรือที่อยู่อาศัย เพื่อให้พร้อมต่อการมีสมาชิกใหม่ที่ชื่อว่า “รถยนต์ไฟฟ้า”

 

  1. ตรวจสอบ และปรับเปลี่ยนไฟฟ้าในบ้าน (ตามความจำเป็น)

สำหรับบ้านพักอาศัยใหม่ๆ โดยเฉพาะที่เป็นแบบหมู่บ้านจัดสรรรุ่นใหม่ หลายโครงการมีการขอกระแสไฟฟ้าแบบ 3 เฟส ติดตั้งให้กับบ้านอยู่แล้ว โดยเฉพาะกลุ่มบ้านที่มีราคาระดับ 10 กว่าล้านบาทขึ้นไป หรือบางโครงการแม้ว่าจะติดตั้งไฟฟ้าแบบเฟสเดียว แต่ก็มีการขอมิเตอร์ไฟฟ้าที่รองรับการใช้กำลังไฟฟ้าปริมาณสูงเผื่อเอาไว้ด้วย บางโครงการถึงขนาดเดินสายไฟในขนาดที่เหมาะสมกับการติดตั้งอุปกรณ์ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าเตรียมไว้ให้อย่างเรียบร้อย

แต่หากบ้านใครเป็นบ้านเก่าอายุเกิน 10 ปี ก็ต้องบอกว่าการสำรวจครั้งนี้ของคุณ อาจมาพร้อมค่าใช้จ่ายที่เป็นตัวเลขพอสมควร เพราะบ้านพักอาศัยที่อายุเกินกว่า 10 ปีนั้น ส่วนใหญ่จะติดตั้งมิเตอร์ที่รองรับปริมาณการใช้ไฟฟ้าในขนาด 15/45 Amps เท่านั้น

ซึ่งแปลว่าปริมาณการใช้ไฟฟ้าผ่านมิเตอร์ขนาดนี้ปกติจะอยู่ที่ 15 Amps สูงสุดไม่เกิน 45 Amps เมื่อคำนวณเป็น Watts แล้วก็จะได้ที่ 3.3 kWh. – 10kWh. แต่ส่วนใหญ่แล้วการคำนวณการใช้ไฟจะใช้ค่าเฉลี่ยก็จะอยู่ที่ประมาณไม่เกิน 5kWh. ซึ่งแปลว่าปริมาณการใช้งานขนาดนี้คือ ตัวเลขรวมของเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหมดที่มิเตอร์หรือหม้อไฟยอมให้ไฟฟ้าผ่านได้ไม่เกินค่าสูงสุดของมิเตอร์

เมื่อเล่ามาถึงตรงนี้ อาจเกิดคำถามว่า “แล้วจะไปยังไงต่อ” ตกลงต้องเปลี่ยนมิเตอร์ไหม่หรือไม่ วิธีการเริ่มต้นง่ายๆ คือ ให้คุณลองดูข้อมูลรถยนต์ไฟฟ้าคันใหม่ที่คุณจะซื้อหรือคาดว่าจะซื้อก่อน ว่าชุดแปลงไฟฟ้าที่เรียกว่า On-board Charger ของรถนั้นกินกระแสเท่าไหร่ เช่น Ora Goodcat นั้น อยู่ที่ประมาณ 7kWh. ทีนี้ถ้าบ้านที่คุณอยู่ ทั้งบ้านมีคุณแค่คนเดียว และไม่ได้ใช้ไฟมากมาย ตัวอย่างเช่น ตกกลางคืนเข้านอน เปิดพัดลมแค่ 1 ตัวเท่านั้น

ถ้าเป็นแบบนี้ก็จะสบาย ไม่ต้องไปเปลี่ยนมิเตอร์ให้เสียเงิน แต่สิ่งที่ต้องทำก็คือ ให้คุณแยกสายไฟออกมาเพื่อใช้สำหรับจ่ายให้กับชุดเครื่องชาร์จไฟรถต่างหาก โดยขนาดทองแดงในสายไฟนั้นจะต้องมีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่น้อยกว่า 4 มม. เพื่อป้องกันความร้อนสะสมที่เกิดขึ้นในระหว่างชาร์จ และผลพลอยได้ก็คือกระแสไฟฟ้าสามารถไหลเข้าเครื่องชาร์จได้อย่างสะดวก ถือเป็นเคล็ดลับอันหนึ่งที่จะไม่ทำให้มิเตอร์ไฟนั้นวิ่งเร็วจี๋อีกด้วย

แต่…หากว่าคุณอยู่คนเดียวหรือมีคนอยู่ด้วยก็ตาม แต่เปิดแอร์นอนเย็นฉ่ำสบายอุราตลอดทั้งคืนทุกคืน เมื่อคำนวณโดยประมาณการแล้ว เครื่องปรับอากาศ (แอร์บ้านธรรมดา) ขนาด 12,000 btu. ปกติจะกินกระแสไฟอยู่ที่ประมาณ 1.1 kWh. และยังเครื่องไฟฟ้าจิปะถะ อย่างตู้เย็นเป็นต้น เมื่อรวมกระแสไฟทั้งหมดแล้ว จะเห็นว่ามันอาจจะเริ่มใกล้จุด Peak ของมิเตอร์ขนาด 15/45 Amps เข้าไปแล้ว

ด้วยตัวแปรการใช้ชีวิตที่ไม่ใช่แค่ นอนมืดเปิดพัดลมอย่างเดียว และไม่ได้ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าใดๆ จึงเป็นจุดที่ทำให้หลายคนเลือกตัดสินใจขอเพิ่มปริมาณกระแสไฟฟ้าเข้าบ้าน เรียกง่ายๆ ถ้าเป็นเมื่อก่อนที่เราไปติดต่อกับการไฟฟ้าก็คือ การขอเพิ่มขยายขนาดมิเตอร์ไฟฟ้า แต่เมื่อมีรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามา ทางหน่วยงานไฟฟ้าทั้งสองอย่าง การไฟฟ้านครหลวง (MEA) และ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ต่างเข้าใจดีถึงความจำเป็น จึงได้จัดทำระเบียบการขอขยายมิเตอร์ไฟสำหรับการใช้กับรถยนต์ไฟฟ้าที่สะดวกและง่ายต่อผู้ใช้งาน โดยภาพรวมในประการแรกก็คือ การยกเลิกค่าธรรมเนียมในการการขอขยายไฟจากทั้งสองหน่วยงาน แต่ต่างกันในรายละเอียดเล็กน้อย

ที่มา : กระทรวงพลังงาน และ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

สำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพฯ สมุทรปราการและนนทบุรี เรียกว่าเป็นเขตปริมณฑล หากต้องการขอขยายมิเตอร์ไฟฟ้าสำหรับใช้ร่วมกับรถยนต์ไฟฟ้านั้น ทางการไฟฟ้านครหลวง จะขอให้ผู้อาศัยดำเนินการในส่วนของการเตรียมเดินสายไฟฟ้าเมนเข้าบ้านเส้นใหม่ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นตามมาตรฐานที่ทาง MEA กำหนดไว้ พร้อมกับเปลี่ยนชุดเบรกเกอร์ให้ได้ตามขนาด และเดินสายไฟแยกสำหรับต่อเข้าชุดเครื่องชาร์จโดยทำการแยกวงจรจากระบบไฟบ้านเดิม หลังจากดำเนินการเสร็จ ทาง MEA จะส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบและทำการเชื่อมระบบเข้ากับสายเมนในการจ่ายไฟฟ้าเข้าบ้าน โดยที่ทาง MEA นั้นจะมีบริการให้เฉพาะการเพิ่มขนาดมิเตอร์ให้ใหญ่ขึ้นตามปริมาณการใช้ไฟฟ้า จะไม่สามารถยกมิเตอร์ออกและแยกเป็นสองวงจรได้

แตกต่างจากทาง PEA อยู่นิดเดียวตรงที่ สำหรับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคหรือ PEA  จะมีทางเลือกโดยเปิดโอกาสให้ผู้ใช้ไฟฟ้านั้นสามารถขยายขนาดมิเตอร์ไฟ หรือบางรายอาจเลือกที่จะขอแยกหรือขอมิเตอร์ไฟเพิ่มสำหรับวงจรการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าได้เลย ซึ่งแล้วแต่ว่าผู้ใช้ไฟจะสะดวกอย่างไร

อีกเรื่องที่อยากแนะนำ สำหรับผู้ที่ไปขอเพิ่มขนาดหรือขอแยกมิเตอร์ไฟ ในเมื่อไปขอทั้งที ก็อาจขอเปลี่ยนไปใช้มิเตอร์แบบที่เรียกว่า ToU (Time of Use) มิเตอร์ไฟแบบนี้จะแตกต่างจากมิเตอร์ธรรมดาอยู่เล็กน้อย อย่างแรกคือมันเป็นมิเตอร์ไฟแบบดิจิทัล และอย่างที่สอง รูปแบบของการคิดค่าไฟนั้นจะมีอัตราเรียกเก็บโดยแบ่งเป็น 2 ช่วงเวลา

ช่วงแรกเรียกว่า Peak Time คือช่วง 9.00-22.00 น. วันจันทร์ – ศุกร์ และ Off Peak คือ 22.00-9.00 น. วันจันทร์ – ศุกร์ และเสาร์อาทิตย์ และวันหยุดราชการ (ไม่รวมวันหยุดชดเชย) อัตราการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟ 12-24 kWh ณ ปัจจุบันอยู่ที่ Peak Time ประมาณ 5.2 บาท และ Off Peak 2.6 บาท ต่อหน่วย แต่หากเป็นกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า 12kWh อัตราจะอยู่ที่ ประมาณ 5.8 บาทในช่วง Peak และ 2.64 บาท ต่อหน่วยในช่วง Off

ข้อดีของการเปลี่ยนมาใช้ มิเตอร์แบบ ToU คือ คุณสามารถเลือกเวลาในการชาร์จไฟที่มีอัตราค่าไฟฟ้าที่ถูกกว่าปกติได้ บางคนอาจจะได้ชุดเครื่องชาร์จแบบธรรมดา สิ่งที่ต้องทำก็คือ แค่ตั้งเวลาเดินลงจากบ้านมาเสียบชาร์จไฟรถหลังเวลา ToU ก็ได้ แต่ปัจจุบันมีรถหลายรุ่นที่มีฟังก์ชั่นในการตั้งเวลาการชาร์จไฟฟ้าเข้ารถได้ หรือลองมองหาเครื่องชาร์จที่มีฟังก์ชั่นตั้งเวลาทำงานร่วมกับมิเตอร์แบบ ToU ซึ่งปัจจุบันมีให้เลือกมากมาย

อ่านถึงตรงนี้แล้ว น่าจะมีคนเริ่มแปลกใจว่าทำไมไม่แนะนำให้เปลี่ยนไปใช้ไฟแบบ 3 เฟสแทน ที่ยังไม่แนะนำให้เปลี่ยนถึงขนาดนั้น เหตุผลประการแรกก็คือ การจะเปลี่ยนไปใช้ไฟบ้านแบบ 3 เฟส นั้น หากบ้านคุณไม่ได้ออกแบบระบบไฟฟ้าภายในบ้านเตรียมไว้ก่อนมันคือ งานช้าง ค่าใช้จ่ายอาจบานปลาย เพราะระบบไฟฟ้าบ้านแบบ 3 เฟสนั้นมีรายละเอียดที่มากกว่าระบบไฟบ้านปกติ อีกทั้งค่าแรงและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการปรับเปลี่ยน เมื่อบวก ลบ คูณ หาร แล้ววิธีนี้อาจจะดูไม่ค่อยคุ้มเท่าไหร่

ประการที่สอง การเปลี่ยนไฟบ้านแบบ 3 เฟส อาจไม่ค่อยคุ้ม หากคุณมีการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าเพียงคันเดียว เพราะเมื่อลองพิจารณารถยนต์ไฟฟ้าที่เข้ามาขายในบ้านเราทั้งตอนนี้และในอนาคตนั้น ต้องยอมรับว่ามีไม่กี่รุ่นเท่านั้นที่มี On-Board Charger ที่ขนาดใหญ่เกินกว่า 7 kWh. ที่มีเห็นตอนนี้ก็มี Tesla ที่รับที่ 11 kWh. และที่ใหญ่สุดน่าจะเป็น Porsche Tycan แต่ก็ต้องเป็นรุ่นที่ได้รับการอัพเกรดเพิ่มออปชั่น On-Board ที่ 22 kWh. ซึ่งก็น้อยคนนักที่จะเพิ่มออปชั่นนี้มา ไปเติมเอาออปชั่นการรับ DC Charge 220 kWh. แบบนั้นยังดูน่าสนใจกว่า

 

  1. ปรับวิธีคิด วางแผนมากขึ้น เลิกพฤติกรรม (รถ) ไปตายเอาดาบหน้า

หมดเรื่องที่ชาร์จในบ้านที่ต้องเตรียมและปรับเปลี่ยนไปแล้ว อีกเรื่องที่ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าจะต้องปรับคือ พฤติกรรม เพราะหากยังเคยชินกับรูปแบบเดิมๆ คือไม่มีการวางแผนการใช้พลังงานระหว่างเดินทาง รอไปตายเอาดาบหน้า อาจจะต้องพบกับความยากลำบากที่รออยู่ นี่คือข้อแนะนำในการปรับเปลี่ยนทัศนคติในการเติมพลังงานให้รถยนต์ไฟฟ้า

Man charging his electric car at charge station and using smartphone Credit picture : <a href=”https://www.freepik.com/photos/hybrid-car”>Hybrid car photo created by frimufilms – www.freepik.com</a>

แม้ว่าสถานีชาร์จไฟแบบความเร็วสูงมีจำนวนมากขึ้น และอัตราการเติบโตก็อยู่ในแนวโน้มที่ดี แต่ข้อเท็จจริงก็คือ จำนวนปั๊มน้ำมันก็ยังเยอะกว่าปั๊มเติมไฟฟ้าให้รถ EV และที่สำคัญกว่านั้น คือเรื่องการกระจายตัวของปั๊ม ที่มักจะยังกระจุกตัวอยู่ตามเมืองใหญ่และหัวเมือง ซึ่งปัจจุบันระยะห่างระหว่างสถานีชาร์จในประเทศไทยโดยเฉลี่ยยังอยู่ที่ประมาณ 200 กิโลเมตร เมื่อเทียบกับประเทศอื่นอย่างสหรัฐอเมริกา ที่ตัวเลขเฉลี่ยของระยะห่างอยู่ที่ 75 กิโลเมตรเท่านั้น

จำกัดเรื่องตัวแปรเอาไว้ก่อน  เมื่อพูดถึงสถานีชาร์จตามทางที่เรียกกันว่า เป็นสถานีชาร์จแบบความเร็วสูง จะพูดถึงกลุ่มที่มีกำลังไฟในการชาร์จตั้งแต่ 50kWh. ขึ้นไปเท่านั้น เพราะหากมองความเป็นจริงแล้ว ตู้ชาร์จที่มีกำลังไฟมากที่สุดตามรายทาง ณ ตอนนี้คือ 150 kWh. ซึ่งตัวเลขระดับนี้หรือใกล้เคียงนี้ คุณจะได้เห็นอย่างมากสุดคือตอนที่เริ่มเสียบหัวชาร์จเข้าไป เพราะการป้อนกำลังไฟด้วยกระแสสูงๆ เป็นเวลานานนั้นทำให้เกิดความร้อน และอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพแบตเตอรี่ในระยะยาวได้

ทำให้เห็นอยู่เป็นประจำว่า แม้รถยนต์ไฟฟ้าที่รองรับการชาร์จแบบ DC ความเร็วสูงได้เกิน 150 kWh. หรือ 200 kWh. นั้นไม่เกิน 15-20 นาที SoC หรือ State of Charge ก็จะพยายามป้อนไฟเข้าไปที่ประมาณไม่เกิน 70% ของความสามารถที่รองรับได้ ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ ช่วงความจุที่แบตเตอรี่ส่วนใหญ่ใช้กันในวันนี้ ไม่ว่าจะเป็น LiFePO4 (ลิเธียม ไอรอน ฟอสเฟต) หรือ NMC (นิเกิล แมงกานีส โคบอล) รองรับการชาร์จเร็ว 20-80% นั่นหมายความว่าหลังจากชาร์จเลย 80% ไปแล้วอัตราความเร็วในการชาร์จนั้นจะช้าลงมาก (ส่วนใหญ่จะเร็วกว่าชาร์จแบบ AC แต่ไม่มาก)

หากพฤติกรรมการเติมน้ำมันของคุณคือ จะเติมก็ต่อเมื่อไฟแดงตรงเข็มน้ำมันเตือนใกล้หมด และแวะเติมปั๊มที่ใกล้สุดแถวนั้น คุณต้องรีบปรับพฤติกรรมใหม่หากจะเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า

คุณต้องมีการวางแผนการเดินทางที่ค่อนข้างรอบคอบ เช่น ในชีวิตประจำวัน หากคุณเดินทางในระยะไปกลับจากบ้านและที่ทำงานโดยปกติ ก็อาจจะยังไม่ใช่ปัญหา แต่หากวันไหนต้องเดินทางด้วยระยะทางที่ไกลกว่าเดิมและมีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ไฟฟ้าเหลือต่ำกว่า 20% ก่อนถึงบ้าน แผนสำรองขั้นพื้นฐาน คือการหาข้อมูลว่าเส้นทางที่สัญจรนั้นจะผ่านจุดไหนที่มีสถานีชาร์จไฟแบบความเร็วสูงหรือ DC อยู่บ้าง โดยที่อาจจะแวะชาร์จแค่ 20-30 นาที พอให้เพิ่มระยะให้อุ่นใจได้อีกสัก 25-50% หรือง่ายๆ คือให้จัดการธุระเสร็จสรรพแล้วยังสามารถกลับบ้านได้โดยไม่ต้องลุ้นใช้บริการรถลาก

และหากวันหนึ่ง คุณอยากขับรถไฟฟ้าคันนี้ออกต่างจังหวัดที่ไกลกว่า พัทยา อยุธยา หัวหิน ปากช่อง เพราะปลายทางที่ยกตัวอย่างมานั้น คุณอาจจะยังหาสถานีชาร์จแบบ DC ได้มากมายตามเส้นทางเหล่านั้น แต่ถ้าไกลเกินนั้นก็อาจจะต้องขุดวิชาลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ ในการอ่านแผนที่และคำนวณระยะทางไว้ให้ดี แต่ปัจจุบัน Google ช่วยคุณได้ อาจยังไม่ต้องรื้อฟื้นวิชาลูกเสือ เนตรนารีแต่อย่างใด

ที่สำคัญ เมื่อต้องเดินทางไกลจริงๆ อย่าลืมหาเสบียงติดรถไว้ด้วย เพราะแม้สถานีชาร์จไฟจะเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง แต่ร้านค้าที่อยู่ในสถานีชาร์จโดยเฉพาะต่างจังหวัดส่วนใหญ่ไม่ได้เปิดตลอด เพราะฉะนั้นเพื่อเป็นการไม่เสียอารมณ์การมีเสบียงติดเอาไว้บ้างก็จะช่วยเพิ่มอรรถรสในการรอ อิ่มท้องก่อนค่อยว่ากัน

ยังมีหลายเรื่องให้บอกเล่า ถึงการปรับตัวเพื่อต้อนรับการมาของรถยนต์ไฟฟ้า แต่หากใครมีไอเดียอะไรดีๆ นอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น สามารถแบ่งปันร่วมกันได้

innomatter

innomatter

ข่าวไอที นวัตกรรม พลังงาน และความยั่งยืน

Related Articles