จากตอนที่แล้ว เราได้คุยกันเรื่องพื้นฐานสำหรับ สิ่งที่ต้องคิด ในการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเดินทางท่องเที่ยว คราวนี้เราลองมาออกแบบหน้าตากันดูจริงๆ แล้วว่า มันจะพาเราไปได้ถึงไหนกัน
ก่อนอื่นขอเอาข้อมูลอีกตัวเดียวมาเล่าให้คนใช้รถยนต์ไฟฟ้าหรือที่เตรียมตัวหรือกำลังศึกษาว่าจะเปลี่ยนตัวเองจาก มนุษย์ฟอสซิล มาสู่มนุษย์ไฟฟ้าที่ทำลายโลกน้อยหน่อย (ทุกวันนี้ ยังมีเหล่าผู้ต่อต้านรถยนต์ไฟฟ้าที่ยังตั้งคำถามตลอดว่า รถยนต์ไฟฟ้าไม่ได้ช่วยให้โลกสะอาดขึ้น เพราะกระแสไฟฟ้าก็ได้มาจากการเผาฟอสซิลอยู่ดี ก็อยากจะบอกว่าวันนี้เอาเฉพาะในประเทศไทยนั้นกระแสไฟฟ้าที่นำมาให้บริการแต่ผู้ใช้ทั่วไปนั้น มีสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนและพลังงานสีขาวเกือบถึงครึ่งของปริมาณการผลิต และกำลังเพิ่มจำนวนมากขึ้นทำให้เห็นว้าแนวโน้มของการเผาฟอสซิลเพื่อปั่นไฟฟ้ากำลังจะใช้เพื่อสำรองพลังงานที่ได้จากพลังงานสะอาด)
ข้อมูลอีกตัวที่อยากนำเสนอและอยากให้ทุกคนเข้าใจไว้ก็คือ ตามปกติชีวิตประจำวันนั้นในแง่ของการชาร์จพลังงานให้รถไฟฟ้านั้น 60% นั้นจะเป็นการชาร์จพลังงานจากที่บ้านหรือที่อยู่อาศัยของตัวเอง และอีก 20% คือการชาร์จจากสถานที่ในชีวิตประจำวันต่างๆ เช่นห้างหรือออฟฟิศ ซึ่งส่วนใหญ่ทั้งสองสถานนี้ที่จะเป็นระบบการชาร์จแบบช้าหรือปานกลาง ด้วยเครื่องชาร์จแบบ AC มากที่สุดที่ทำได้ถ้าบ้านหรือที่ทำงานของคุณนั้นมีไฟ 3 เฟส ก็จะได้กำลังไฟ 22 kWh ที่เหลืออีก 20% นั้นก็จะเป็นการชาร์จด้วยระบบความเร็วสูงตั้งแต่ 50-150 kWh ซึ่งโดยปกติแล้วก็มักจะใช้ในตอนที่เดินทางเกินกว่าระยะเดินทางของตัวรถ
และที่สำคัญ ในการชาร์จแบบเร็ว นั้น ปกติจะเติมพลังกันในช่วงของปริมาณแบตเตอร์รี่ 20-80% เพื่อเป็นการต่อระยะไปถึงจุดชาร์จต่อไป และโดยมารยาทของการใช้สถานีชาร์จไฟฟ้านั้นคนส่วนใหญ่ก็จะเติมพลังกันอยู่ที่ประมาณขนาดนี้ เพราะเครื่องชาร์จแบบ DC ยุคใหม่นั้นหลังจากระดับแบตเตอร์รี่ที่เกินกว่า 80% นั้นจะทำการลดกำลังไฟฟ้าลง เช่น ในช่วง 20-80% นั้นอาจจะได้เก็นกำลังไฟในระดับ 130-140 kWh แต่หลังจากนั้นอาจจะลดถึงต่ำกว่า 50 kWh เพื่อเป็นการถนอมอายุแบตเตอร์รี่ไปในตัว
ถึงเวลาออกเที่ยวกันเสียที
เราลองวางแผนวันหยุดสุดสัปดาห์นี้สัก 3 วัน 2 คืน รัศมีการเดินทางก็น่าจะอยู่ที่ประมาณไม่เกิน 500 กิโลเมตรจากกรุงเทพ ลองคำนวณคร่าวๆ ถ้าเป็นทะเลก็ได้ประมาณเกาะช้าง หรือปราณบุรี ถ้าเป็นทางเหนือก็น่าจะได้สักประมาณเพชรบูรณ์ หรือถ้าแถบอีสานก็วิ่งไปได้ถึงขอนแก่นกันเลยทีเดียว
ซึ่งในระยะดังกล่าวนั้น ไม่ต้องห่วงเรื่องสถานีชาร์จเลย เพราะตามทางของจุดหมายตามระยะนี้สถานีชาร์จไฟฟ้ามีเพียบ อย่างถ้าคุณจะไปเกาะช้าง เอาชัวร์ๆ ก็คือช่วงจังหวัดจันทบุรีนั้นมีให้คุณเลือกได้เลยตั้งแต่อำเภอท่าใหม่ไปถึงเกือบถึงอำเภอขลุง ส่วนในจังหวัดตราดนั้นอีกไม่นานก็น่าจะมีขึ้นมาให้บริการ
แต่ถ้าคุณวางแผนที่จะเดินทางไกลกว่านั้น ก็จำเป็นต้องหาสถานีชาร์จไฟฟ้า ยกตัวอย่างเช่น หากต้องการเดินทางไปเชียงใหม่ ระยะทางก็อยู่ที่ประมาณ 690 กิโลเมตร จากการสำรวจจากแอปพลิเคชันค้นหาสถานีชาร์จรถไฟฟ้าอย่าง PlugShare ปัจจุบันเราพบว่ามีสถานีชาร์จไฟฟ้าเกิดขึ้นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นสถานีชาร์จแบบความเร็วสูงที่มีกำลังชาร์จถึง 50-150 kWh (ซึ่งอันนี้ต้องเลือกว่าคุณเลือกใช้ของยี่ห้ออะไร ปัจจุบันเท่าที่พบจะแต่แต่ PEA Volta และ Elecx by EGAT ที่สามารถบริการได้ในความเร็วระดับสูงสุดคือ 150 kWh)
แต่โดยทั่วไปของผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้านั้น จะไม่ได้ขับให้ปริมาณไฟฟ้าในแบตเตอร์รี่เหลือน้อยต่ำกว่า 20% และเพื่อความปลอดภัยส่วนใหญ่นั้นจะขับรถในระยะทางและระยะเวลาไม่เกิน 300 กิโลเมตรและประมาณ 2-3 ชั่วโมงไม่เกินนี้ เพื่อไม่ให้ร่างกายนั้นอ่อนล้าเกินไป
เมื่อเปรียบเทียบระยะทางแล้ว ก็พบว่าส่วนใหญ่นั้นจะแวะเติมพลังงานของรถและคนอยู่ที่ช่วงแระมาณจังหวัดนครสวรรค์หรือบางคนอาจจะยืดระยะไปถึงจังหวัดกำแพงเพชร ระยะทางที่ใช้ก็อยู่ประมาณ 234 -351 กิโลเมตร ซึ่งถือว่าเป็นระยะเวลาที่คนปกตินั้นต้องลงมายืดเส้นยืดสาย ผู้โดยสารก็ต้องแวะเข้าห้องน้ำและที่สำคัญก็คือตั้งแต่นครสวรรค์ถึงกำแพงเพชรนั้น มีร้านอาหารอร่อยๆ ได้แวะเติมพลังมากมาย อีกอย่างถ้าไม่เติมตอนนี้ไปหาเอาข้างหน้าอาจจะได้อาหารกินกันตายเอาได้
กลับมาที่การเดินทางสู่เชียงใหม่ หลังจากที่แวะเติมพลังทั้งคนและรถแล้วเป้าหมายต่อไปที่รถ EV ส่วนใหญ่นั้นมองไว้ก็คือ Stop สุดท้ายก่อนเข้าเชียงใหม่ก็คือ จังหวัดตากหรือลำปาง หลังจากนั้นพอถึง เชียงใหม่ นี่ ปั๊มเติมไฟฟ้านี่ ปะเล๊อะ เกลื่อนเต็มเมืองเลยทีเดียว
ทีนี้ลองเปลี่ยนปลายทางมาทางเส้นอีสานกันบ้าง เช่น หากคุณต้องไปเยี่ยมญาติที่จังหวัดอุดรธานีหรืออุบลราชธานี Stop แรกที่จะต้องแวะก่อนก็น่าจะเป็น เชื่อนลำตะคอง เพราะว่ามีสถานีชาร์จให้เลือกมากมายหลายยี่ห้อ ส่วนใหญ่ตอนนี้จะเลือกใช้บริการของ ปตท. เพราะตามต่างจังหวัดก็จะได้เครื่องที่เป็นแบบชาร์จเร็ว 120-150 kWh แต่ที่ได้รับความนิยมมากเพราะว่าช่วงนี้ยังเปิดให้ชาร์จฟรีไม่เกิน 50 นาทีถึง 1 ชั่วโมง
ส่วนเส้นลงไปทางใต้นั้นคนส่วนใหญ่นั้นจะแบ่งการแวะพักบ่อยหน่อย เพราะเส้นทางนี้เท่าที่ดูแล้วยังมีการตั้งสถานีชาร์จอยู่ตามจังหวัดใหญ่ๆ Stop แรกของการแวะก็คือแถวๆ ปราณบุรี เหมือนเดิมก็คือแวะพักคนและรถและหาของกิน Stop ที่สองก็จะไปอยู่แถวๆ จังหวัดชุมพร
จุดแวะพักถัดไปก็คือ นครศรีธรรมราช ถึงตอนนี้ระยะทางเทียบกับเส้นทางเชียงใหม่แล้วก็เกินระยะไปแล้ว จาก นครศรีธรรมราช นั้นปลายทางอีกแค่ 200 กว่ากิโลก็ไปถึง สงขลา เรียบร้อย แต่ถ้าจะไป เบตง ก็อาจจะต้องเติมไฟฟ้าอีกสักครึ่งถังเพื่อไปให้ถึง
โดยสรุปก็คือ ถ้าวันนี้คุณมีรถยนต์ไฟฟ้าที่มีระยะการเดินทางประมาณ 500 กิโลเมตร หรือ 400 กลางๆ ตามการใช้งานจริง คุณสามารถขับรถของคุณเดินทางได้ตั้งแต่เหลือยันใต้สุดของประเทศ ออกไปตะวันออกสุดและออกไปทางอีสานก่อนข้ามไปฝั่งลาวได้เหมือนกัน
โดยที่ปลายทางเหล่านี้ก็มีสถานีชาร์จไฟฟ้าพร้อมให้คุณตั้งต้นขากลับด้วย เพราะไม่อย่างนั้นลุ้นกันหัวใจจะวาย เพราะเมื่อสักสองปีที่แล้ว แค่ขับรถยนต์ไฟฟ้าไปเที่ยวแค่พัทยายังลุ้นแทบตายว่าจะถึงแล้วจะกลับมากรุงเทพยังไง
ตัวเลข 3,084 คัน ของรถยนต์ไฟฟ้าที่มีการจองในงานแสดงรถยนต์ตอนต้นปี 2022 เป็นสัญญาณที่ดีที่ว่าต่อไปจะได้เห็นรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ถ้าอัตราการเติบโตยังเป็นอย่างนี้ต่อไปรถยนต์คันต่อไปของหลายคนก็จะกลายเป็นรถยนต์ไฟฟ้า และเรื่องคำถามการหาสถานีชาร์จก็จะไม่เป็นประเด็นอีกต่อไป ในอีกไม่กี่ปีปัญหานี้อาจจะไปเกิดกับคนที่ยังใช้รถยนต์น้ำมันก็ได้ อาจะเกิดชุมชนคนแชร์ ปั๊มน้ำมัน ในอนาคตอีกไม่นานก็ได้