โลกถล่ม พระจันทร์ทลาย เมื่อ Luna-UST แห่ง Terra พัง สะเทือนทั้งตลาดคริปโตฯ แล้วไงต่อดี??

Share

 

โลกถล่ม พระจันทร์ทลาย เมื่อ Luna-UST แห่ง Terra พัง สะเทือนทั้งตลาดคริปโตฯ แล้วไงต่อดี??

 

เรื่องโดย…ลลิตา ศรีรัตนชัย อดีตผู้สื่อข่าวสายไอที ไทยรัฐออนไลน์

 

ใครเป็นแฟนมาร์เวลคงอินกับชื่อ Terra และ Luna ได้ไม่ยาก เพราะหมายถึงโลก และ พระจันทร์ แถมยังเป็นชื่อที่มีความหมายดีสำหรับชาวคริปโตฯ แล้ว Terra ก็ทำได้สำเร็จจริงที่พาเหรียญ Luna พุ่งทะยาน To da moon ไปแตะที่ 120 USdollar แต่แล้ววันหนึ่งโลกก็ถล่ม ราคาเหรียญ Luna แทบสิ้นมูลค่า เหลือเพียง 0.00016 USdollar ขณะที่ UST เหลือเพียง 0.06535 USdollar (ราคา ณ วันที่ 24/5/2022)

ปรากฏการณ์เหรียญ Luna และเหรียญ UST ซึ่งเป็น stablecoin ของ Terra Chain ถล่มจนแทบไม่เหลือมูลค่านั้นสะเทือนวงการคริปโตฯ เป็นอย่างมาก เนื่องมาจากมูลค่าตลาดที่มากติดอันดับ top 3 ในตลาดคริปโตฯ มาตลอดปีที่ผ่านมา ทำให้นักลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนหน้าใหม่ทั้งหลายต่างอกสั่นขวัญผวาไปตามๆ กัน ผลคือทำให้ความเชื่อมั่นในตลาดคริปโตฯ สั่นคลอน แถมยังเปิดช่องให้หลายฝ่ายโจมตีตลาดคริปโตฯ แบบกระทืบซ้ำ ทั้งยังเข้าทางฝั่ง regulator ทั้งหลายที่พยายามออกกฏมาควบคุมตลาดคริปโตฯ ให้มีเสียงดังขึ้นมาอีกระลอก

ก่อนอื่นเรามาดูกันว่าเหตุการณ์นี้มันเกิดขึ้นได้อย่างไร โดยเริ่มจากการทำความเข้าใจกระบวนการทำงานของระบบทั้งหมดเสียก่อน

รู้จัก Luna-UST

Luna คือสกุลเงินดิจิตอลหลักที่ใช้ทำธุรกรรมต่างๆ บนแพลตฟอร์ม Terra Blockchain ส่วน UST คือ stablecoin ของ Terra ซึ่งถูกตรึงราคาให้มีมูลค่า 1 UST = 1 US Dollar ผ่านมูลค่าและปริมาณของเหรียญ Luna ในตลาดซื้อขายเหรียญคริปโตฯ โดยใช้วิธีเขียนโปรแกรมขึ้นมาควบคุมการทำงานให้เป็นไปโดยอัตโนมัติ จึงเรียก stablecoin ประเภทนี้ว่าเป็น Algorithmic Stablecoin

วิธีการควบคุมมูลค่าเหรียญ UST ด้วยเหรียญ Luna

เอาแบบให้เข้าใจง่ายๆ การตรึงราคาเหรียญ UST ให้เท่ากับราคา USDollar แบบ 1:1 นั้นทำด้วยการสร้างและเผาเหรียญ Luna โดยหาก 1 UST มีมูลค่าสูงกว่า 1 USDollar เมื่อไหร่ แสดงว่ามีจำนวนเหรียญ UST ในตลาด exchange เหลือน้อยทำให้มูลค่าพุ่งสูงขึ้น ระบบจะทำการเผาเหรียญ Luna เพื่อเสกเหรียญ UST ขึ้นมาแล้วเอาไปเทขายในตลาดทำให้ปริมาณเหรียญ UST เพิ่มขึ้น ราคาก็จะลดลงจนเข้าจนเท่ากับ 1 USDollar แต่ถ้าราคา UST ลดลงจนเหลือต่ำกว่า 1 USDollar แสดงว่ามีเหรียญ UST ในตลาดมากเกินไปทำให้ราคาถูกลง ระบบก็จะสั่งให้เผาเหรียญ UST ทิ้งเพื่อลดจำนวนเหรียญลงไป แล้วเอาไปเสกเหรียญ Luna ออกมาที่ราคาเท่ากับ 1 USDollar เพื่อเอาไปเทขายในตลาด ด้วยกลไกดังกล่าวจะรักษาสมดุลทำให้ UST มีมูลค่าคงที่เท่ากับ 1 USDollar อยู่ตลอดเวลา

เหตุการณ์ไม่คาดฝัน เมื่อธานอสแปลงร่างเป็นวาฬ

แม้ว่า Algorithmic Stablecoin ดูเหมือนจะทำงานได้ดี แถมยังมีเสถียรภาพมาได้เป็นปี แต่ใช่ว่าจะไม่มีจุดอ่อน แล้วเหตุการณ์ก็เริ่มขึ้นในวันที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมา เมื่อมีวาฬตัวใหญ่ยักษ์มองเห็นจุดอ่อนแล้วหวังใช้จุดอ่อนนี้มาทำกำไรด้วยเกมการเงินที่ไร้ความปราณี

มีการคาดเดาว่าวาฬโหดตัวนี้ มีแผนทำกำไรจากการ short sale Bitcoin (ในตลาด future) ด้วยการทำยังไงก็ได้ให้ Bitcoin ราคาร่วงลงแรงๆ เขาจึงต้องหาเหยื่อที่ถือครอง Bitcoin เป็นจำนวนมากพอแล้วทำให้เหยื่อต้องถูกบังคับขาย Bitcoin ไปในตลาดในคราวเดียวอย่างจำใจ ซึ่งเหยื่อที่ว่านี้ก็คือ LFG – Luna Foundation Guard หรือ กองทุนป้องกันราคาเหรียญ Luna ที่ได้มีการก่อตั้งขึ้นมาแล้วซื้อ Bitcoin รวมทั้งเหรียญคริปโตฯ อื่นๆ มาถือครองไว้เป็นจำนวนมาก เพื่อเป็นทรัพย์สินหนุนหลังเอาไว้ปกป้องราคาของเหรียญ Luna ยามฉุกเฉินนั่นเอง

วาฬโหดได้เริ่มโจมตีเหยื่อครั้งแรกด้วยการเทขาย UST ครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ทำให้ราคา UST ลดลงมามาเหลือ 0.98 USDollar แต่ก็ไม่สำเร็จ เมื่อทาง Terra เข้ามาพยุงราคา UST ให้กลับมาเป็น 1 USDollar ได้สำเร็จ แต่ใครจะรู้ว่านั่นแค่เพียงปฐมบท เมื่อของจริงเริ่มขึ้นอีกครั้งในอีกสองวันถัดมา วาฬโหดเทขาย UST อีกรอบเป็นมูลค่ากว่า 250 ล้านUSDollar บน Binance Exchange ทำให้ราคา UST ร่วงลงทันที สร้างความตื่นตระหนกให้กับนักลงทุนรายย่อยอย่างมาก จึงแห่เข้ามาร่วมเทขาย UST เพื่อเปลี่ยนไปเป็นเหรียญ Stablecoin สกุลอื่น ซ้ำเติมให้ UST ราคายิ่งร่วงหนักลงไปอีกแตะที่ 0.65 USDollar ดึงให้ราคาเหรียญ Luna ลงตามไปด้วย เพราะตามระบบแล้วจะต้องมีการเผาเหรียญ UST เพื่อเสกเหรียญ Luna ขึ้นมาเพื่อขายในตลาด แต่ปรากฏว่ากลไกอัลกอริธึมทำงานไม่ทันกับราคาที่ตกลงอย่างรวดเร็วจากการเทขายเป็นปริมาณมหาศาลของนักลงทุนในตลาด ทำให้ราคาของทั้งเหรียญ UST และ Luna ดิ่งลงแบบปักหัวทิ่มดิน จนในที่สุด LFG ก็ต้องออกมาเทขายสินทรัพย์ที่ถือครองอยู่ ซึ่งก็คือ Bitcoin เพื่อหวังพยุงราคา UST ให้กลับมาอยู่ที่ 1 USDollar เหมือนเดิม ดึงให้ราคา Bitcoin ร่วงลงรุนแรง เข้าทางวาฬโหดตามแผนที่วางไว้ แต่ในที่สุดก็ไม่สามารถพยุงราคาไว้ได้ Terra จึงต้องพ่ายแพ้ต่อเกมการเงินอันแสนโหดนี้อย่างย่อยยับ

ส่วนวาฬโหดตัวนั้นคาดการณ์ว่าฟันกำไรไปเละจากการเปิดสถานะ Short Bitcoin เอาไว้ ไม่ต่ำกว่า 900 ล้าน USDollar หรือราว 33,000 ล้านบาท

ผิดที่ใคร?

แม้ว่านี่จะดูเป็นเกมการเงินที่โหดร้าย แต่จะว่าใช่ความผิดของวาฬผู้นี้เพียงผู้เดียวก็ไม่ถูก เพราะ Terra เองนั้นก็ทำลายสมดุลโลกการเงินมานานพอดู โดยแหกกฏ Impossible Trinity หรือ นโยบายการเงินระหว่างประเทศที่ไม่สามารถเกิดขึ้นพร้อมกันได้ทั้งสามข้อ อันประกอบไปด้วย การเคลื่อนย้ายเงินทุนได้อย่างเสรี การกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนให้คงที่ และการกำหนดนโยบายการเงินอย่างอิสระ

Terra แหกกฏทุกข้อ โดยปล่อยให้มีการเคลื่อนย้ายเงินเข้าออกแพลตฟอร์มได้อย่างเสรี และยังกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ ระหว่าง UST และ USDollar แถมยังกำหนดนโยบายการเงินอย่างอิสระด้วยการให้ผลตอบแทน (Yeild) หรือดอกเบี้ยเงินฝากบนแพลตฟอร์มของตัวเองสูงถึง 19-20% เพียงเพื่อเล่นเกมการตลาดหวังดึงให้มีผู้เข้ามาถือครอง UST เป็นจำนวนมาก ซ้ำรอยวิกฤตต้มยำกุ้งของไทยที่ถูกจอร์จ โซรอส สั่งสอนด้วยการโจมตีค่าเงินบาทจากการเห็นจุดอ่อนที่ไทยแหกกฏ Impossible Trinity ในครั้งนั้น

จะว่าไปแล้ววาฬโหดเปรียบเสมือนธานอสที่รวบรวม infinity stones สำเร็จแล้วดีดนิ้วเปาะเดียว ทรัพยากรมนุษย์หายไปครึ่งโลก แต่เบื้องลึกธานอสมีเจตนาดีหวังสร้างสมดุลให้กับจักรวาลแถมยังเหลือทรัพยากรมนุษย์ไว้ให้อีกตั้งครึ่ง ทว่าพี่วาฬโหดผู้นี้มีเจตนาหวังฟันกำไรโดยถล่มโลก (Terra) ยับเหลือซากราคาไว้ไม่ถึงครึ่งด้วยซ้ำ หรือว่าแท้จริงแล้วเขาอาจจะเห็นความไร้สมดุลบน Terra มาเนิ่นนานแล้วหวังทลายระบบนิเวศน์นี้ให้สิ้นซากเพื่อให้ทุกอย่างกลับคืนสู่สมดุลอีกครั้ง

แม้แต่ทางฝั่งนักลงทุนเองจะบอกว่าตนเองเป็นผู้เสียหายเพียงอย่างเดียว โดยไม่ร่วมรับผิดใดๆ เลยก็ไม่ใช่ เพราะการลงทุนคือความเสี่ยง และการลงทุนโดยไม่ศึกษาข้อมูล หรือการลงทุนโดยไม่บริหารความเสี่ยงนั้นเปรียบเสมือนการสมัครใจกระโดดเข้ากองไฟเองชัดๆ เมื่อร้อน เมื่อถูกไฟเผาทุรนทุราย จะหาว่าถูกใครถีบเข้ากองไฟก็คงเป็นไปไม่ได้เช่นกัน

ส่อแวว

แม้ตลอดเวลาที่ผ่านมา Terra จะทำให้ Luna และ UST เป็นภาพฝันที่สวยงามของนักลงทุน แต่ใช่ว่าจะไม่เคยมีวี่แววหรือสัญญาณความหายนะเกิดขึ้น เคยมีเสียงคัดค้านเรื่องความไม่มั่นคงของการเป็น Algorithmic stablecoin ออกมาตลอด เพียงแต่ไม่ดังพอจะเล็ดลอดออกมาจากกลุ่มแฟนคลับที่หนาแน่นของ Luna และ UST ได้ แต่สัญญาณเตือนภัยจริงๆ เริ่มปรากฏขึ้นเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม เมื่อมีการประกาศปรับดอกเบี้ยฝาก UST บนแพลตฟอร์มที่ชื่อ Anchor ของ Terra เป็นแบบกึ่งลอยตัว โดยทุกเดือนจะปรับดอกเบี้ยฝากตามปริมาณเงินในคลังสำรอง ถ้าเงินในคลังลดลงก็จะลดดอกเบี้ยลง แต่จะไม่เกิน 1.5% ต่อครั้ง หากเงินในคลังเพิ่มขึ้น ก็จะเพิ่มดอกเบี้ยขึ้น ซึ่งจะไม่เกิน 1.5% ต่อครั้งเช่นเดียวกัน และในเดือนเมษายนเงินสำรองในคลังลดลงไปถึง 38% ในครั้งนั้นจึงมีการปรับลดดอกเบี้ยเงินฝากลงไปเหลือ 18% (ลดจาก 19.5%)

จากเหตุการณ์ดังกล่าวบ่งบอกชัดเจนถึงการเริ่มรับมือไม่ไหวกับภาระการจ่ายดอกเบี้ยให้นักลงทุนที่แห่เอาเงินไปฝากไปบน Anchor ซึ่งเริ่มเป็นสัญญาณเตือนภัยถึงความเสี่ยงและความไม่แน่นอนของแพลตฟอร์ม หากตัดความโลภออกไปเราก็จะสังเกตเห็นถึงสัญญาณอันตรายนี้ได้อย่างชัดเจน เพราะแม้ว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์วาฬถล่มราคา UST และ Luna เองก็ไม่น่าจะสามารถยืนหยัดสร้างผลตอบแทนในระดับนี้ได้ไปอีกนานนัก และนักลงทุนก็อาจจะเริ่มทยอยทิ้งเหรียญทำให้ราคาเริ่มตกลงมาเองในที่สุด

แผนฟื้นฟู Terra เยียวยานักลงทุน

หลังเหตุการณ์ดังกล่าว Terra ได้ประกาศแผนฟื้นฟูระบบนิเวศน์ขึ้นใหม่ โดยเสนอทางเลือกคือการทำ Hard fork หรือการสร้าง Blockchain Terra และเหรียญ Luna ขึ้นมาใหม่จำนวน 1,000 ล้านเหรียญ โดยใช้ชื่อเดิม และไม่ผูกมูลค่าเหรียญเข้ากับเหรียญ UST ส่วน Blockchain Terra และเหรียญ Luna เดิมจะถูกเปลี่ยนชื่อไปเป็น Terra Classic และเหรียญ Luna Classic (LUNC) แทน แล้วเตรียมแจก airdrop เหรียญ Luna ใหม่นี้คืนให้กับนักลงทุนที่ถือครองเหรียญ Luna Classic และเหรียญ UST ตามสัดส่วน โดยให้กับผู้ถือเหรียญ LUNA ก่อนถูกโจมตี (ก่อน 8 พฤษภาคม) 35% ผู้ถือเหรียญ UST ก่อนถูกโจมตี 10% ผู้ถือเหรียญ LUNA หลังถูกโจมตี (ผู้ที่ยังถืออยู่หลังวันที่ 27 พฤษภาคม) 10% และผู้ถือเหรียญ UST หลังถูกโจมตี 20% ที่เหลืออีก 25% มอบให้กลุ่ม Community และอีก 10% ให้กับนักพัฒนา ส่วนอีกทางเลือกหนึ่งคือการทำ Soft fork คือการแก้ไขธุรกรรมบน Blockchain เดิม

Terra ได้แล้วเปิดโหวตในกลุ่ม Community ถึงวันที่ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมา สรุปผลโหวตยกให้ Hard fork ชนะแบบขาดลอย ซึ่งตามแผนจะเริ่มดำเนินการในวันที่ 27 พฤษภาคมนี้

เราเรียนรู้อะไรมาบ้าง

อย่างไรก็ตาม airdrop ที่จะได้มานั้นก็ไม่สามารถเยียวยาบาดแผลของนักลงทุนที่เจ็บตัวในคราวนี้ได้ทั้งหมด จากนี้ไปคงต้องมาลุ้นกันต่อว่าราคาของเหรียญ Luna ใหม่ที่จะเกิดขึ้นนั้นจะสามารถเติบโตต่อไปได้ถึงไหน แต่สิ่งที่สำคัญเหนืออื่นใดคือประสบการณ์และบทเรียนอันล้ำค่าที่จะได้เตือนใจนักลงทุนผู้บาดเจ็บทั้งหลายให้รู้ว่าอะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้ การบริหารจัดการความเสี่ยง (Risk and money management) การกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ (Asset Allocation) พื้นฐานง่ายๆ ที่มักถูกมองข้ามนี่แหละที่จะเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้นักลงทุนทั้งหลายอยู่รอดในตลาดได้อย่างปลอดภัย

อีกคัมภีร์หนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การ Do Your Own Reserch (DYOR) เรียนรู้และศึกษาการทำงาน รวมถึงข้อดีข้อเสียของโปรเจ็กต์ที่จะไปลงทุนด้วยตัวเอง ไม่ใช่แห่ตามกันไปซื้อเพราะใครว่าดีก็เชื่อตามเขา และเมื่อลงทุนไปแล้วก็ต้องคอยติดตามข่าวสารเป็นระยะ เพราะตลาดทุนทั้งหลายเป็นที่รวมแห่งความโลภและความกลัวของมนุษย์ เหตุการณ์ต่างๆ สามารถทำให้ตลาดผันผวนได้ตลอดเวลา หากเรา DYOR มาดีพอ เมื่อมีสิ่งใดมากระทบเราจะพอวิเคราะห์ผลที่จะตามมาได้และวางแผนรับมือที่เหมาะสมได้ทันท่วงที

 

 

 

Related Articles