CEO ทั่วโลกคาดเศรษฐกิจโลกซบเซาเล็กน้อยในช่วงสั้นๆ และจะฟื้นในระยะ 3 ปี

Share

 

KPMG 2022 CEO Outlook รายงานที่สอบถามจาก CEO ในองค์กรใหญ่กว่า 1,300 แห่ง ระบุว่าส่วนใหญ่มองว่าภาวะซบเซาทางเศรษฐกิจของโลกจะอยู่ในช่วงสั้น และจะฟื้นคืนได้ในระยะ 3 ปี

 

รายงานการสำรวจนี้ สอบถาม CEO มากกว่า 1,300 คนจากองค์กรที่ใหญ่ที่สุดของโลกเกี่ยวกับกลยุทธ์และมุมมองในอนาคต พบว่า ผู้นำร้อยละ 58 คาดว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะเกิดขึ้นเป็นระยะเวลาสั้นๆ และไม่รุนแรง ผู้บริหารระดับสูงร้อยละ 14 ระบุว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยเป็นหนึ่งในข้อกังวลเร่งด่วนที่สุดในปัจจุบัน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากต้นปี 2565 (ร้อยละ 9) ในขณะที่ความเหนื่อยล้าจากการที่ต้องอยู่กับโรคระบาดมาเป็นเวลานาน อยู่ในอันดับต้น (ร้อยละ 15)

  • ผู้บริหารมากกว่า 8 ใน 10 คาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในอีก 12 เดือนข้างหน้า โดยกว่าครึ่งคาดว่าจะไม่รุนแรงและเป็นระยะเวลาสั้นๆ
  • CEO จำนวน 7 ใน 10 เชื่อว่าภาวะถดถอยจะขัดขวางการเติบโตที่คาดการณ์ไว้แต่เดิม
  • อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นเพิ่มสูงขึ้นในด้านการเติบโตระยะยาวของเศรษฐกิจโลก และแนวโน้มของบริษัทเอง

KPMG 2022 CEO Outlook คาดการณ์เกิดภาวะถดถอย

ในปีหน้า ผู้บริหารทั่วโลกมากกว่า 8 ใน 10 คน (ร้อยละ 86) คาดการณ์ว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยร้อยละ 71 คาดการณ์ว่าจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของบริษัทสูงถึงร้อยละ 10 ผู้บริหารระดับสูงส่วนใหญ่เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตที่คาดการณ์ไว้ (ร้อยละ 73) อย่างไรก็ตาม สามในสี่ (ร้อยละ 76) ได้มีการดำเนินการเพื่อป้องกันองค์กรจากภาวะเศรษฐกิจที่จะถดถอยไปเรียบร้อยแล้ว

แม้จะมีข้อกังวลเหล่านี้ ผู้บริหารระดับสูงก็รู้สึกมั่นใจมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในด้านการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วง 6 เดือนข้างหน้า (ร้อยละ 73) มากกว่าในเดือนกุมภาพันธ์ (ร้อยละ 60) เมื่อเคพีเอ็มจีได้สำรวจซีอีโอ 500 คน สำหรับ CEO Outlook Pulse นอกจากนี้ ผู้นำร้อยละ 71 เชื่อมั่นเกี่ยวกับแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในช่วง 3 ปีข้างหน้า (เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 60 ในต้นปี 2565) และเกือบ 9 ใน 10 (ร้อยละ 85) เชื่อมั่นในการเติบโตขององค์กรในช่วง 3 ปีข้ปางหน้า

บิลล์ โทมัส ประธาน และซีอีโอ เคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า “วิกฤตที่ไม่เกิดขึ้นบ่อยๆ เช่น โรคระบาดทั่วโลก ความตึงเครียดทางการเมือง แรงกดดันด้านเงินเฟ้อ และปัญหาทางการเงิน ได้เกิดขึ้นติดต่อกันในระยะเวลาสั้นๆ และส่งผลต่อมุมมองของซีอีโอทั่วโลก แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจคือความกังวลอันดับต้นสำหรับผู้นำธุรกิจในขณะนี้ แต่ก็น่ายินดีที่จะเห็นความเชื่อมั่นในหมู่ผู้บริหารเกี่ยวกับบริษัทของตนเองและแนวโน้มการเติบโตในระยะยาว”

“เหตุการณ์ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้สร้างความวุ่นวายให้กับแวดวงธุรกิจเป็นอย่างมาก ผลการสำรวจของเราทำให้เห็นข้อดีท่ามกลางวิกฤติ ว่าการต่อสู้เพื่อเอาชนะบททดสอบเหล่านี้ทำให้ผู้บริหารมีความมั่นใจเรื่องความยืดหยุ่นของแต่ละองค์กรมากยิ่งขึ้น และมีความมุ่งมั่นมากยิ่งขึ้นในการรับมือกับความไม่แน่นอนที่เผชิญอยู่ในปัจจุบัน”

เจริญ ผู้สัมฤทธิ์เลิศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เคพีเอ็มจี ประเทศไทย เมียนมาร์ และลาว “ด้วยความท้าทายและปัญหาใหม่ๆ ที่ส่งผลต่อธุรกิจอย่างต่อเนื่อง บริษัทต่างๆ ในประเทศไทยต้องมั่นใจว่าพนักงานของท่านมีทักษะที่เหมาะสมในการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงและมีความยืดหยุ่น การเพิ่มทักษะและเรียนรู้ทักษะใหม่เป็นกุญแจสำคัญ นอกจากนี้ การกระจายห่วงโซ่อุปทานและรูปแบบธุรกิจที่หลากหลายจะช่วยบรรเทาความท้าทายและการหยุดชะงักของธุรกิจอันเป็นผลมาจากความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ เศรษฐกิจ และด้านอื่นๆ” เจริญ ผู้สัมฤทธิ์เลิศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เคพีเอ็มจี ประเทศไทย เมียนมาร์ และลาว กล่าว

ประเด็นการคงและลดจำนวนพนักงาน ยังคงเป็นสิ่งที่ CEO คิดหนัก

จากความวุ่นวายทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง มีสัญญาณบ่งชี้ว่าการลาออกครั้งใหญ่อาจค่อยๆ ลดลง โดยซีอีโอร้อยละ 39 ได้ดำเนินการคงจำนวนพนักงานแล้ว และร้อยละ 46 กำลังพิจารณาลดจำนวนพนักงานในช่วง 6 เดือนข้างหน้า อย่างไรก็ตาม ในช่วง 3 ปีข้างหน้า มีการคาดการณ์ในเชิงบวก โดยมีเพียงร้อยละ 9 เท่านั้นที่คาดว่าจำนวนพนักงานจะลดลงอีก

ความไม่แน่นอนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์โดยการนำดิจิทัลมาใช้ในระยะยาว ตามรายงาน KPMG 2022 CEO Outlook

ในขณะที่ความไม่แน่นอนในปัจจุบันผลักดันให้ซีอีโอให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลต่อไป ธุรกิจร้อยละ 40 ได้หยุดกลยุทธ์การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลไว้ชั่วคราว และอีกร้อยละ 37 วางแผนที่จะดำเนินการตามขั้นตอนดังกล่าวในอีก 6 เดือนข้างหน้า

ในระยะยาว ผู้บริหารระดับ CEO มากกว่าหนึ่งในสี่เชื่อว่าการพัฒนาสู่ระบบดิจิทัลและการเชื่อมต่อทางธุรกิจมีความสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายการเติบโตในอีก 3 ปีข้างหน้า ร้อยละ 74 ยังเห็นด้วยว่าการลงทุนเชิงกลยุทธ์ด้านดิจิทัล และสิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และ บรรษัทภิบาล (Governance) หรือ ESG ขององค์กรนั้นเชื่อมโยงกันอย่างแยกไม่ออก

การให้ความสำคัญในการป้องกันความเสี่ยงด้านชื่อเสียงและเทคโนโลยี

เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่และก่อให้เกิดดิสรัปชันได้กลายเป็นความเสี่ยงสูงสุดต่อการเติบโตของธุรกิจในช่วง 3 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ ซีอีโอยังได้ระบุความเสี่ยงด้านอื่น ๆ อีกหลายประการที่มีความเสี่ยงสูงสุดต่อการเติบโต ได้แก่ ความเสี่ยงด้านชื่อเสียง ปัญหาด้านกฎระเบียบและการปฏิบัติงาน และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

ความเสี่ยงด้านชื่อเสียง เช่น ความเข้าใจที่คาดเคลื่อนกับลูกค้าหรือความคิดเห็นสาธารณะ สร้างความกังวลให้กับซีอีโอมากขึ้น เมื่อเทียบกับต้นปี 2565 (ร้อยละ 10 ในเดือนสิงหาคมเทียบกับร้อยละ 3 ในเดือนกุมภาพันธ์) เพื่อตอบสนองต่อความท้าทายด้านภูมิรัฐศาสตร์ องค์กรร้อยละ 51 หยุดทำงานกับรัสเซียและร้อยละ 34 วางแผนที่จะทำเช่นนั้นในช่วง 6 เดือนข้างหน้า

Cyber Security ไม่ใช่ประเด็นใหญ่อีกต่อไป เพราะองค์กรส่วนใหญ่พร้อมป้องกันไว้แล้ว

การรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ตกอันดับความเสี่ยงต่อการเติบโต จาก 5 อันดับแรกในปีที่แล้ว โดยมีซีอีโอเพียงร้อยละ 6 เท่านั้นที่ระบุว่าเป็นความเสี่ยงสูงสุด (ร้อยละ 17 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565) อย่างไรก็ตาม ความปลอดภัยทางไซเบอร์ทวีความสำคัญ โดยซีอีโอร้อยละ 77 ระบุว่าองค์กรมองว่าการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลเป็นหน้าที่เชิงกลยุทธ์และเป็นแหล่งความได้เปรียบทางการแข่งขัน ซีอีโอจำนวน 7 ใน 10 คน (ร้อยละ 73) เชื่อว่าความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ยังก่อให้เกิดความกังวลต่อการโจมตีทางไซเบอร์ขององค์กร

กว่าสามในสี่ขององค์กร (ร้อยละ 72) มีแผนรับมือการโจมตีจากแรนซัมแวร์ (Ransomware) อย่างไรก็ตาม ซีอีโอจำนวนมากขึ้นตระหนักว่าองค์กรของตนไม่พร้อมสำหรับการโจมตีทางไซเบอร์ โดยเกือบหนึ่งในสี่ (ร้อยละ 24) ยอมรับเช่นนั้นในปี 2565 เทียบกับร้อยละ 13 ในปี 2564

เริ่มมีแรงกดดันทางด้าน ESG เพิ่มมากขึ้น

ในด้านความท้าทายที่สำคัญที่สุดในการสื่อสารประสิทธิภาพของ ESG ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซีอีโอเกือบหนึ่งในห้า (ร้อยละ 17) ระบุถึงความสงสัยของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวกับการฟอกเขียว (Greenwashing) เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 8 ในปี 2564 ซีอีโอมากกว่า 1 ใน 3 (ร้อยละ 38) กล่าวว่าองค์กรของตนไม่สามารถถ่ายทอดเรื่องราว ESG ที่น่าสนใจได้ดีพอ ผู้ตอบแบบสอบถามเกือบสามในสี่ (ร้อยละ 72) ยังเชื่อว่าผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจะเพ่งเล็งประเด็น ESG ต่างๆ เช่น ความเท่าเทียมทางเพศ ผลกระทบต่อสภาพอากาศ ฯลฯ มากยิ่งขึ้นต่อไป

ในแง่ทาเลนท์ เมื่อเทียบกับช่วงต้นปี 2565 ผู้บริหารระดับสูง เชื่อว่าการมีความสามารถและทักษะที่เหมาะสมเป็นกุญแจสำคัญในการบรรลุเป้าหมายการลดคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ หรือเป้าหมายอื่นๆ ที่ใกล้เคียงกัน เกือบหนึ่งในสี่ (ร้อยละ 22) กล่าวว่าการขาดทักษะและความเชี่ยวชาญเป็นอุปสรรคต่อการนำโซลูชันไปใช้ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 16 เมื่อต้นปีนี้

แรงกดดันทางเศรษฐกิจทำให้การบรรลุเป้าหมาย ESG ชะลอตัวลง

CEO ระดับโลกตระหนักถึงความสำคัญของการปฏิบัติการด้าน ESG ต่อธุรกิจของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการปรับปรุงประสิทธิภาพทางการเงินและขับเคลื่อนการเติบโต ผู้บริหารระดับสูงร้อยละ 69 สังเกตเห็นความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการรายงานและความโปร่งใสเกี่ยวกับ ESG ที่เพิ่มขึ้น จากร้อยละ 58 ในปี 2564

ผู้บริหารระดับสูงเกือบครึ่ง (ร้อยละ 45) เห็นด้วยว่าความก้าวหน้าด้าน ESG ช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพทางการเงินขององค์กร เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 37 ในปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจยังคงดำเนินต่อไป ซีอีโอจำนวนครึ่งหนึ่งได้หยุดโครงการ ESG ลงชั่วคราวหรือพิจารณาโครงการ ESG ที่มีอยู่หรือที่วางแผนไว้ในอีก 6 เดือนข้างหน้า และร้อยละ 34 ได้ดำเนินการหยุดโครงการชั่วคราวไปแล้ว

 

หากสนใจข่าวความเคลื่อนไหวและบทความที่เกี่ยวข้องในแวดวงธุรกิจ สามารถติดตามเพิ่มเติมได้ ที่นี่

innomatter

innomatter

ข่าวไอที นวัตกรรม พลังงาน และความยั่งยืน

Related Articles